สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: พวกเดนตายจากการปฏิวัติ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เกษียร เตชะพีระ ได้กล่าวถึงผู้เขียน หรือที่จริงแล้วหมายถึงคนรุ่นเดือนตุลาทั้งรุ่นที่มีประสบการณ์ร่วมกันว่า เป็นรุ่นของ “พวกเดนตายจากการปฏิวัติ” (มติชนสุดสัปดาห์ 15-21 เมษายน 2559) ประเด็นนี้มีความน่าสนใจอย่างมากในการอธิบายอัตลักษณ์ของคนรุ่นเดือนตุลาที่พัฒนามาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อทบทวนประสบการณ์ของกลุ่มคนเดือนตุลา ซึ่งส่วนมากจะมีอายุระหว่าง 57-63 ปีในขณะนี้ คือคนรุ่นที่เกิดและใช้ชีวิตวัยเด็กราวสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และโตเป็นวัยรุ่นสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร หมายถึงว่า คนรุ่นนี้ก็คือคนที่ผ่านวัยเด็กภายใต้การเมืองยุคเผด็จการ เหตุการณ์ระหว่างประเทศคือยุคสงครามเย็นที่สหรัฐและสหภาพโซเวียตเผชิญหน้ากันบนเวทีการเมืองโลก และเกิดความตึงเครียดของแนวโน้มสงครามนิวเคลียร์

เรื่องราวทางการเมืองในวัยเด็ก เช่น การโฆษณาให้เห็นว่าอเมริกาเป็นมหามิตร ต่อต้านคอมมิวนิสต์และเกลียดชังจีนแดง ชาตินิยมต่อต้านเจ้านโรดมสีหนุเพราะถูกปลูกฝังว่าเขมรแย่งชิงเขาพระวิหารของไทย เอาใจช่วยเวียดนามใต้และเป็นปฏิปักษ์กับเวียดนามเหนือ ต่อมาแนวโน้มแห่งการเป็นกบฏของชีวิตวัยรุ่นคือ การทำตัวรกไว้ผมยาว (ฮิปปี้) การแต่งกายแบบม็อด (เสื้อตัวโต-กางเกงเล็กขาลีบ) และแบบเดป (กางเกงขาบานทะโรค) เพลงที่ร้องและฟังในวัยเด็กคือเพลงลูกทุ่งของสุรพล สมบัติเจริญ เพลงลูกกรุง-สุนทราภรณ์ โทรทัศน์ขาวดำ-2 ช่อง และภาพยนตร์ไทย 16 มม. แสดงโดยมิตร-เพชรา

แต่ภายใต้ชีวิตวัยรุ่นถึงสมัยแห่งการเป็นนักศึกษาคือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมครั้งใหญ่ ได้แก่ การล่มสลายของระบอบถนอม-ประภาส และบ้านเมืองเปลี่ยนจากเผด็จการมาเป็นประชาธิปไตยจากกรณี 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 จากนั้นก็เกิดปรากฏการณ์ครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ที่ขบวนการนักศึกษามีบทบาทนำ หมายถึงว่าคนหนุ่มสาวอายุเพียงช่วงวัย 20 ไม่เกิน 25 เข้าไปมีบทบาทในทางการเมืองและสังคมอย่างมาก แนวหน้าของคนหนุ่มสาวยุคเดือนตุลาตื่นตัวรับลัทธิมาร์กซ์ กลายเป็นนักเคลื่อนไหวสังคมนิยม ความคิดฝันที่สร้างขึ้นคือ การสถาปนาสังคมใหม่ที่มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน และประชาชนพ้นจากความทุกข์ยาก

ความเป็นคนเดือนตุลาแห่งยุคสมัยคือ การเข้าร่วมขบวนการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม ความคิดฝันเช่นนี้นำเอานักศึกษาคนหนุ่มสาวไปเผชิญหน้าอย่างรุนแรงกับชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมสุดขั้วที่มุ่งจะรักษาระเบียบเก่าของสังคมโดยไม่เลือกวิธีการ ในที่สุดจึงนำมาซึ่งการกวาดล้างปราบปรามในกรณี 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ซึ่งกลายเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลอันสำคัญครั้งหนึ่งในสังคมไทย

แต่การกวาดล้างปราบปรามไม่อาจจะหยุดยั้งอุดมการณ์แห่งคนหนุ่มสาว ดังนั้น คนเดือนตุลาจำนวนมากจึงเลือกเส้นทางปฏิวัติโดย “เข้าป่าจับปืน” เดินทางเข้าสู่เขตป่าเขา เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเพื่อปฏิวัติสังคมต่อไป แต่การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ระหว่างประเทศและความขัดแย้งในขบวนการปฏิวัติทำให้คนเดือนตุลาได้ตระหนักว่า เป้าหมายในการปฏิวัติสังคมไทยไม่ได้เป็นสิ่งที่บรรลุโดยง่าย การปฏิวัติจบลงด้วยความพ่ายแพ้และพังทลายของพรรคคอมมิวนิสต์ฯ คนเดือนตุลาจึงกลายเป็น “สิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์” (คำของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล) ตั้งแต่ราว พ.ศ. 2524 เป็นต้นมา คนเดือนตุลาต้องกลับมาสู่สังคมเก่า ต้องมา “โตเป็นผู้ใหญ่” ด้วยการใช้ชีวิตปรกติ หาทางดิ้นรนทำมาหากินและสร้างครอบครัว และลดบทบาททางการเมืองลง

เมื่อเวลาผ่านไป คนเดือนตุลาส่วนข้างมากประสบความสำเร็จในการสร้างที่ยืนในสังคม บ้างก็ประสบความสำเร็จในทางธุรกิจในระดับที่น่าพอใจ บ้างก็ใช้ชีวิตเป็นข้าราชการ บางส่วนกลายเป็นนักวิชาการที่โดดเด่น บ้างก็อาศัยประสบการณ์ที่เคยทำงานกับชาวบ้านระดับล่างหันไปทำงานด้านองค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอ และประสบความสำเร็จในการสร้างขบวนการเอ็นจีโอจนเข้มแข็ง แต่บางส่วนก็เข้าไปทำงานด้านการเมือง และกลายเป็นผู้มีบทบาทอยู่แทบทุกพรรค แต่เมื่อเกิดวิกฤตทางการเมือง เช่น กรณีพฤษภาประชาธรรม พ.ศ. 2535 คนเดือนตุลาจำนวนมากก็กลับเข้ามามีบทบาทสนับสนุนการเคลื่อนไหวและมีส่วนสำคัญที่ทำให้กรณีนี้ประสบความสำเร็จ

สถานการณ์พัฒนามาจนถึงวิกฤตทักษิณและการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 คนเดือนตุลาส่วนมากซึ่งมีอายุราว 50 ปี และกลายเป็นผู้ใหญ่ของสังคม ได้แตกแยกออกเป็น 2 ส่วน และขัดแย้งกันอย่างหนัก ส่วนหนึ่งกลายเป็นผู้สนับสนุนฝ่ายพันธมิตรคนเสื้อเหลืองสลิ่ม และในที่สุดก็มาสนับสนุนการเคลื่อนไหวของ กปปส. และการรัฐประหารของกองทัพเมื่อ พ.ศ. 2557 อีกส่วนหนึ่งกลายเป็นผู้สนับสนุนขบวนการคนเสื้อแดง คัดค้านการเมืองกระแสหลัก สนับสนุนการต่อสู้ตามแนวทางประชาธิปไตยและคัดค้านรัฐประหาร พ.ศ. 2557

ความหมายของกรณีนี้คือการที่คนเดือนตุลาสูญเสียเอกภาพและเอกลักษณ์ดั้งเดิม เป็นการชี้ว่าการมีอุดมการณ์ร่วมกันเป็นเพียงเรื่องอดีตอันไม่หวนกลับ การเป็นคนเดือนตุลาจึงหมดความจำเป็น เพราะสามารถอธิบายได้ด้วยความเป็นคนเสื้อแดงและเสื้อเหลือง หรือเป็นฝ่ายหนุนรัฐประหารและต้านรัฐประหาร ไม่แตกต่างไปจากกลุ่มอื่นในสังคม

มาถึงวันนี้คนเดือนตุลาในวัย 60 อยู่ในสภาพที่ “ใบตองแห้ง” อธิบายว่า “ทั้งตื้นตันและใจหาย” สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นอนิจจังว่า คนเดือนตุลาได้เคลื่อนมาสู่ช่วงสุดท้ายแห่งชีวิต หลังจากนี้ไม่ว่าจะมีความคิดปัจจุบันแบบไหน อยู่ข้างแดงหรือเหลือง พวกเราก็จะค่อยๆตายจากกันและหมดไป เหมือนคนรุ่น 2475 ที่หมดไปแล้ว หรือคนรุ่น 2490 ที่ใกล้จะหมดแล้ว

ดังนั้น การจัดงาน 6 ตุลา ซึ่งปีนี้ครบรอบ 40 ปี จะเป็นประดุจงานเกษียณของคนเดือนตุลา หลังจากนี้คงต้องเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ที่จะตัดสินว่า คนรุ่นเดือนตุลามีความพิเศษหรือไม่ อย่างไร และสร้างภาระให้คนรุ่นหลังต้องตามล้างตามเช็ดเพียงใด…นี่น่าจะถือว่าเป็นการรำพึงของผู้เขียนเมื่อมีอายุครบ 60 ปี

 

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: คอลัมน์ : ถนนประชาธิปไตย โลกวันนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท