'กลุ่มผู้ป่วยจากการทำงาน' ยกคดีอักษร เป็นคดีประวัติศาสตร์ หลังศาลสั่งให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหาย

17 พ.ค. 2559 รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 16 พ.ค. ที่ผ่านมา เวลา 9.30 น. ที่ ศาลแรงงานกลาง บันลังค์ 10 ชั้น 3 อ่านคำพิพากษาฎีกา คดีแดงเลขที่3158/2555 โดยมี อักษร อรรคติ เป็นโจทก์ฟ้อง บริษัทเอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด ในคดีแพ่งศาลแรงงาน ซึ่งยื่นฟ้องไว้ที่ศาลเมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2554

โดยศาลได้พิจารณาคดีที่ อัคษร เป็นโจทก์ ฟ้อง ว่าเข้างานเมื่อวันที่ 3 ต.ค. 48 ตำแหน่งพนักงานฝ่ายผลิต มีหน้าที่ยกสินค้าขึ้นรถ และรับสินค้าเข้าเก็บในโกดังเพื่อรอจัดส่งต่อไปตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา จากนั้นอักษรเริ่มมีอาการปวดหลังและรักษาตัวมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 และปวดมากขึ้นเรื่อยมา ไปพบแพทย์วินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท และใช้สิทธิกองทุนเงินทดแทน และรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เมื่ออาการเริ่มดีขึ้น อักษร กลับเข้าทำงาน แต่ถูกจำเลยใช้ให้ทำงานในลักษณะเดิม ทั้งที่แพทย์มีความเห็นว่าโจทก์ไม่สามารถทำงานตามปกติได้อีกต่อไป จนเป็นเหตุให้อักษรเจ็บป่วยอีก ทำให้นายอักษรสูญเสียรายได้และไม่สามารถทำงานกับนายจ้างอื่นได้ การกระทำของจำเลยถือเป็นการประมาทเลินเล่อ 

ศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหาย ให้อักษร เป็นเงิน 180,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี  ของต้นจนกว่าชำระเสร็จ แต่จำเลยได้อุทธรณ์คดีนี้ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาพิจารณาแล้วว่าการอุทธรณ์ของจำเลยเป็นการโต้แย้งในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฏหมาย จึงเป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานกลางและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2552 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง จึงพิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลย โดยศาลให้ปฎิบัติตามคำพิพากษาภายใน 7 วันนับจากวันนี้  โดยการต่อสู้คดีของ อักษร ใช้เวลาประมาณ 5 ปี 

สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ซึ่งอักษรเป็นหนึ่งในสมาชิกด้วย ได้เขียน ขอบคุณผู้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือคดีนี้  เช่น บุญยืน สุขใหม่ ที่เขียนคำฟ้อง ทนายที่ทำหน้าที่ในคดีนี้ แพทย์ทุกท่านที่วินิจฉัยอย่างตรงไปตรงมา แพทย์เชี่ยวชาญทางด้านอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม จากคลินิกโรคจากการทำงาน รพ.นพรัตน์ราชธานี  พยาน  และ ศาล และสหภาพแรงงาน  แกนนำสุขภาพพื้นที่อยุธยา ที่ทำให้คนงานจนๆ คนหนึ่งได้รับความเป็นธรรม ถึงแม้การสูญเสียอวัยวะ จะไม่สามารถทดแทนได้ด้วยเงินทองแต่อย่างใด แต่เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ต้องย่อมได้รับสิทธิการคุ้มครองตามกฎหมาย และหลักสิทธิของมนุษยชน

สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ ระบุด้วยว่า กรณีแบบนี้ยังมีอีกจำนวนมากในโรงงานอุตสาหกรรมทุกๆประเภทที่ใช้แรงคนทั้งชายและหญิงยังถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะสูญเสียความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายจนไม่สามารถขายแรงงานได้อีกต่อไป คนงานจำนวนมากที่ป่วยแล้วทำงานไม่ไหว ไม่รู้สิทธิ  ไม่เข้าสู่กองทุนเงินทดแทน ต้องถูกเลิกจ้าง หรือไม่ก็ลาออกงานไปโดยไม่ได้รับการดูแลรักษา กลับไปเป็นภาระครอบครัวและสังคม  สิ่งที่รัฐจะต้องเข้ามาดูแลในเรื่องของกฎหมายที่ยังอ่อนแอล้าหลัง  โดยเฉพาะกฎหมายคุ้มครองคนทำงานในโรคเออโกโนมิคส์  โรคโครงสร้างกระดูก  ในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองคนงานในโรคนี้เลย โดยเฉพาะกระทรวงแรงงานต้องเร่งศึกษาและออกกฏหมายนี้มาบังคับใช้เพื่อคุ้มครองแรงงานโดยด่วนเพื่อการรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมในปัจจุบันต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท