ราชทัณฑ์ยันไม่มีซ้อม ‘อาเด็ม’ แค่เรียกร้องความสนใจต่างชาติ-HRW เสนอตั้งกก.ตรวจสอบ

<--break- />


การแถลงข่าวของกรมราชทัณฑ์


ภาพจากแฟ้มภาพประชาไท

18 พ.ค. 2559 เวลา 13.30 น. ที่กรมราชทัณฑ์ มีการแถลงข่าวกรณีนายอาเด็ม คาราดัก และนายเมียไรลี ยูซุฟู สองผู้ต้องหาคดีระเบิดแยกราชประสงค์ ซึ่งออกมาขึ้นศาลทหารวานนี้และตะโกนบอกผู้สื่อข่าวว่ามีการทำร้ายร่างกายพวกเขาระหว่างควบคุมตัว และร้องเรียนต่อศาลผ่านล่ามภาษาอุยกูร์ว่าในขณะถูกควบคุมตัวในเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี ได้ถูกทำร้ายร่างกายถึง 2 ครั้งภายในเดือนนี้จากเจ้าหน้าที่ที่ควบคุมตัว พร้อมทั้งอ้างว่ามีร่องรอยฟกช้ำตามลำตัว รวมทั้งเจ้าหน้าที่ควบคุมไม่ให้รับประทานอาหารฮาลาล โดยผู้พิพากษากล่าวว่าจะดำเนินการสอบสวนและพิจารณาคำขอร้องของเขาต่อไปนั้น

กรมราชทัณฑ์ได้ออกมาชี้แจงเรื่องดังกล่าว โดยนายกอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรมและรักษาการอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้แถลงใน 4 ประเด็น คือ 1.ยืนยันว่าเรือนจำพิเศษในมทบ.11 อยู่ในความดูแล การบริหารงานของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ไม่มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปร่วมดูแล การตั้งเรือนจำดังกล่าวเพื่อควบคุมตัวผู้ต้องขังคดีร้ายแรง และเหมือนกันกับที่เคยตั้งเรือนจำหลักสี่ที่เอาไว้คุมขังนักโทษการเมืองจากการชุมนุมปี 2553

2.หลังนายอาเด็มอ้างว่าถูกซ้อม นายแพทย์วีระกิตต์ หาญปริพรรณ์ ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ได้เข้าไปตรวจร่างกายในเช้าวันนี้ไม่ปรากฏว่ามีร่องรอยการถูกทำร้ายจากบบุคคลอื่นดังกล่าวอ้าง

3.หลังนายอาเด็มร้องเรียนว่าไม่ได้รับประทานอาหารฮาราลตามหลักศาสนา ยืนยันว่าเรือนจำได้จัดเตรียมอาหารดิบนำไปปรุงที่เรือนจำชั่วคราวในมทบ.11 ตามหลักศาสนาอิสลามแก่ผู้ต้องหาทั้งสอง

4. เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่ออาเด็มกลับถึงเรือนจำเมื่อเย็นวานนี้ เขาได้กล่าวขอโทษ (Sorry) ต่อหัวหน้าผู้ควบคุมเรือนจำในเรื่องที่เกิดขึ้น พร้อมเข้ามากอดและกล่าวว่า "ขอโทษในเรื่องที่เกิดขึ้น ต่อไปจะปฏิบัติตนให้อยู่ในระเบียบวินัยของเรือนจำ"  ซึ่งพอจะอนุมานได้ว่า การแสดงออกดังกล่าวเป็นเพียงการเรียกร้องความสนใจจากสื่อมวลชน ซึ่งอาจจะส่งผลไปถึงองค์กรสิทธิมนุษยชนให้มาสนใจ และนอกจากนี้ทางเรือนจำได้เคยรายงานว่า อาเด็มมีพฤติกรรมในการเรียกร้องความสนใจ เช่น การไม่รับประทานอาหาร และพยายามทำร้ายร่างกายตนเอง โดยการต่อยกำแพงห้องขังอยู่หลายครั้ง

“ เอาเป็นว่าด้วยเกียรติและวิชาชีพของหมอ และด้วยเกียรติของผม ยืนยันว่าไม่มีแน่นอน ผมย้ำกับผู้บัญชาการไม่ต่ำกว่า 5ครั้ง ว่าไม่มีการทำร้ายร่างกายแน่นอน” กอบเกียรติกล่าว

ขณะที่เช้าวันนี้ เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “ไม่จริง เขาก็สร้างเรื่องไป พวกคุณจะไปฟังทำไม จะไปทำได้อย่างไร ไม่ได้ทำหรอก” เมื่อถามถึงกรณีที่นายนายอาเด็ม ได้เปิดเสื้อเพื่อแสดงให้เห็นรอยฟกช้ำว่าถูกทำร้ายร่างกายนั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่มี เขาทำเองหรือไม่ ตนดูอยู่ยืนยันว่าไม่มีการเปิดเสื้ออะไร เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนสถานที่ควบคุมตัวผู้ต้องหา พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ก็เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ที่ต้องทำตามกฎหมาย ตนไม่ทราบ และไปสั่งให้ทำอะไรไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของศาลดำเนินการ ตนไม่เกี่ยว

ส่วนเพจบีบีซีไทย รายงานคำให้สัมภาษณ์ของนายชูชาติ กันภัย ทนายความของนายอาเด็มกล่าวว่า เหตุการณ์เมื่อวานเกิดขึ้นที่หน้าศาลซึ่งตนเองไม่เห็นเหตุการณ์แต่ยืนยันว่าลูกความได้แถลงต่อศาลและศาลจดบันทึกเอาไว้ ซึ่งตามกระบวนการแล้วกรมราชทัณฑ์จะต้องให้แพทย์ตรวจร่างกายและทำรายงานกลับไปยังศาล

ด้านสุณัย ผาสุก ที่ปรึกษาประจำประเทศไทยของฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Right Watch) กล่าวว่า กรณีที่มีการซ้อมหรือทำร้ายผู้ต้องขังเราเรียกร้องให้มีการตรวจสอบที่โปร่งใส ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยรูปแบบที่ดีที่สุดของกระบวนการคือต้องมีหลายฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม คือ ราชทัณฑ์ กสม. ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่เป็นอิสระและมีความน่าเชื่อถือ องค์กรสิทธิมนุษยชนที่ได้รับเรื่องร้องเรียน แต่ในทางปฏิบัติมาตรฐานแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นเลย ปฏิกิริยาที่เกิดมักเร่งรีบออกมาปฏิเสธว่าไม่ใช่เรื่องจริง รวมถึงอาจเกินเลยไปถึงขั้นตอบโต้ผู้ร้องเรียนว่ามีเจตนาไม่บริสุทธิ์และมีการฟ้องคดีเช่น กรณีของทนายเบญจรัตน์ มีเทียน ถูกหน่วยงานราชการฟ้องหลังเอาข้อร้องเรียนเรื่องถูกซ้อมหรือถูกซ้อมของลูกความมาเปิดเผย ซึ่งเป็นแนวโน้มที่น่ากังวลมาก

“การสอบสวนโดยฝ่ายเดียวและมีลักษณะรวบรัด ไม่ใช่การสอบสวนที่มีส่วนร่วมหลายฝ่าย จึงไม่ใช่การสอบสวนที่เป็นกลาง โปร่งใส เชื่อถือได้ การร้องเรียนเรื่องซ้อมทรมาน ลำพังอ้างเกียรติภูมิของผู้แถลงข่าวอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีหลักฐานทางการแพทย์ ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายเข้าถึงเหยื่อโดยทันที”สุณัยกล่าวและว่า การตรวจสอบเรื่องนี้ต้องมีมาตรฐานซึ่งเป็นการทำตามพันธกรณีที่ไทยไปเป็นภาคีของอนุสัญญาต่อต้านการซ้อมทรมานแล้ว

สุณัยกล่าวว่า ก่อนหน้านี้เคยเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้ค่ายทหารเป็นที่คุมขัง เนื่องจากแม้ในสถานการณ์ปกติการตรวจสอบการซ้อมในเรือนจำก็ตรวจสอบได้ยากอยู่แล้ว กว่าผู้ต้องหาจะได้บอกทนายความหรือญาติก็ผ่านเวลานาน หลักฐานไม่เหลือแล้ว

“โอกาสในการที่ผู้ต้องขังจะร้องเรียนเรื่องพวกนี้มันน้อยอยู่แล้ว ยิ่งหลังการทำรัฐประหารและมีการคุมขังในค่ายทหารทำให้เขาเหลือช่องทางแค่เพียงตอนนำตัวมาขึ้นศาลและการตรวจสอบการซ้อมทรมานแทบเป็นไปไม่ได้เลย” สุณัยกล่าว

ส่วนกรณีที่รักษาการอธิบดีกรมราชทัณฑ์กล่าวว่า การแยกคุมขังทั้งคู่ในสถานที่พิเศษ ไม่ใช่เรือนจำทั่วไปเพื่อความปลอดภัยของผู้ต้องหาด้วยนั้น สุณัยกล่าวว่า นั่นแสดงว่าคนในหน่วยงานราชทัณฑ์เองก็ไม่ไว้ในระบบของตัวเองซึ่งเป็นเรื่องที่น่าวิตกที่ผู้บริหารระดับสูงไม่มั่นใจความปลอดภัยในสถานที่ที่ตัวเองมีอำนาจบังคับบัญชาอยู่ นอกจากนี้กรณีระเบิดราชประสงค์เป็นคดีร้ายแรงที่สะเทือนความรู้สึกของคนทั่วไปเพียงคดีเดียวหรือ เพราะในเรือนจำมีผู้ต้องหาที่ทำผิดคดีสะเทือนขวัญและสุ่มเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยในระดับเดียวกันแต่ก็ยังควบคุมตัวและดูแลความปลอดภัยในเรือนจำชั่วปกติได้
 

ราชทัณฑ์ตอบคำถามนักข่าวหลังการแถลง

กอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรมและรักษาการอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดแถลงข่าวโต้ 2 ผู้ต้องหาที่แสดงออกแจ้งข่าวกับสื่อมวลชนระหว่างถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลทหารว่ามีการซ้อมพวกเขา โดยภายหลังการชี้แจงยืนยันปากคำแพทย์ที่เข้าตรวจร่างกายผู้ต้องหาทั้ง 2 คนเมื่อเช้านี้ว่าไม่มีร่องรอยการถูกซ้อม กอบเกียรติยังตอบข้อซักถามของผู้สื่อข่าวหลังการแถลงข่าว ดังนี้

“เราคงทราบกันดีว่าคดีนี้เป็นคดีระเบิดราชประสงค์ มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก และเป็นคดีสำคัญที่เกี่ยวกับความมั่งคงความปลอดภัย จำเป็นต้องหาสถานที่ที่เหมาะสม ซึ่งที่ มทบ. เป็นพื้นที่ในเขตทหาร ในพื้นที่นี้เราก็ประกาศเป็นเรือนจำชั่วคราว โดยเราเพียงแต่ยืมอาคารของทหาร แต่ว่าการควบคุมการบริหาร ทุกอย่างยังอยู่ภายใต้การบริหารของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เหมือนที่เคยทำมาแล้วในกรณีของเรือนจำชั่วคราวหลักสี่ที่คุมขังผู้ต้องหาทางการเมือง ก็เหมือนกันอย่างนั้น”กอบเกียรติกล่าว

ผู้สื่อข่าว: จะมีการย้ายเรือนจำจากเรือนจำในมทบ.11 มาอยู่ในเรือนจำทั่วไปหรือไม่

กอบเกียติ: การย้ายเรือนจำก็เป็นอีกสเต็ปหนึ่ง ต้องดูทั้งข้อดีข้อเสียว่าเป็นอย่างไร  เพราะการอยู่ในเรือนจำแบบนั้นมีความมั่นคง แข็งแรง ปลอดภัย แต่มาอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มันจะปะปนกับคนอื่น พื้นที่มันน้อย อาจจะถูกทำร้าย คดีนี้ทำคนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก และไม่รู้ว่าคนที่โกรธแค้นมีมากแค่ไหน เดินๆ อยู่ถ้าควบคุมไม่ได้ อาจถูกทำร้าย ได้

ผู้สื่อข่าว: ได้มีการสอบถามจำเลยไหมว่าแรงจูงใจที่แสดงออกดังกล่าวเกิดจากอะไร

กอบเกียรติ: ไม่ได้ถามรายละเอียด ถ้าตามรายละเอียดเดี๋ยวจะเป็นการว่าเราติดใจไปตามล้างตามเช็ด เดี๋ยวจะเป็นประเด็นขึ้นมาอีก แต่อย่างที่เรียนไป กลับไปในเรือนจำเมื่อวานเขาก็เป็นปกติ อันนี้เราอนุมานเองว่าการแสดงออกเรียกร้องความสนใจพวกองค์การสิทธิ เพราะกลับไปเขาก็ปกติ เขาขอโทษผู้คุม

ผู้สื่อข่าว: ที่แพทย์เข้าไปตรวจสอบเรื่องทำร้ายร่างกาย มีภาพหรือหลักฐานมายืนยันหรือไม่

กอบเกียรติ: ไม่ได้ถ่ายมา เพราะในนั้นไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ แต่คนที่ไปคือแพทย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชทัณฑ์เลย อันนี้ก็ต้องยืนยันในวิชาชีพ ถ้าแพทย์พูดความเท็จก็ถึงขั้นอาจถอนใบประกอบวิชาชีพได้ เป็นความรับผิดชอบของแพทย์อย่างชัดเจน

ผู้สื่อข่าว: ข้อมูลก่อนหน้านี้จากทนายความจำเลยระบุว่า ตอนถูกคุมขังใน มทบ. 11 ว่าการปฏิบัติไม่เหมือนเรือนจำหลักสี่ คือ1.ญาติเข้าเยี่ยมไม่ได้ 2.ทนายความเวลาเข้าพบหรือพูดคุยกับผู้ต้องหาก็มีทหารอยู่ร่วมในการพูดคุย เรื่องนี้จริงเท็จแค่ไหน และขอคำยืนยันว่ามีทหารร่วมดูแลผู้ต้องหาในเรือนจำกับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์หรือไม่

กอบเกีรยติ: ทหารดูแลข้างนอก เพราะเป็นพื้นที่ของเขา  ส่วนภายในเรือนจำเป็นความรับผิดชอบของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

ผู้สื่อข่าว: ตอนนี้มีผู้ต้องขังกี่ราย ที่อยู่ในเรือนจำในมทบ.11นี้

กอบเกียรติ: เหลืออยู่ 5 ราย เป็นคดีที่ค่อนข้างจะเกี่ยวกับความมั่นคง ก็มีคดีนี้ 2 ราย อีก3 รายก็เป็นคดีที่ค่อนข้างจะสำคัญ ไม่อยากไว้ปะปนบุคคลทั่วไป

ผู้สื่อข่าว: ทำไมผอ.โรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่มาร่วมแถลงด้วยจะได้ให้รายละเอียดที่ชัดเจน

กอบเกียรติ: ท่านยังไม่กลับ แต่ถ้าอยากฟัง เดี๋ยวต่อโทรศัพท์และให้ท่านพูด นี่เพิ่งรายงานผลเมื่อเที่ยง หลังจากไปมาเมื่อตอน 10 โมงเช้า เพื่อให้ชัดเจน ท่านผอ. ก็ให้พยาบาลไปตรวจดูตั้งแต่เย็นเมื่อวาน ผมก็บอกพยาบาลไม่เหมือนหมอ เอาหมอจริงๆ ไปดีกว่า เรื่องโรคภัยไข้เจ็บก็ดูแลเป็นประจำ อย่างเมื่อเดือนที่แล้วก็พามา รพ.ราชทัณฑ์ คราวที่แล้วเป็นปัสสาวะขัด ถ้าพบว่ามีอาการผิดปกติก็จะพามา รพ.และตรวจรักษากันที่นี่

ผู้สื่อข่าว: พฤติกรรมอาเด็มในเรียกร้องทั้งองค์กรสิทธิต่างประเทศ และประเด็นการเมืองด้วย มองว่าอย่างไร

กอบเกียรติ: ถ้าประเด็นการเมืองต้องเป็นเรื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สมช.ที่เกี่ยวกับความมั่นคง ส่วนของเราคงทำได้ดีที่สุดเรื่องการควบคุมว่าควบคุมอย่างไรให้เป็นไปตามหลักสากล ควบคุมการปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเป็นอยู่ การรักษาพยาบาล การปรึกษาทนายความ อันนี้เป็นหน้าที่ที่เราต้องทำเพื่อให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล

ผู้สื่อข่าว: หลังจากนี้หากมี กสม. หรือองค์กรสิทธิระหว่างประเทศเข้าเยี่ยมจะอนุญาตหรือไม่

กอบเกียรติ: คิดว่าไม่มีปัญหา แต่ก็คงเป็นคราวๆ ไป เพราะถ้าบ่อยเกินก็ลำบากในการบริหารจัดการ จริงๆ ไม่ได้เป็นเรื่องลึกลับ เราเคยพาสื่อเข้าไป เมื่อหลายเดือนที่แล้ว พวกท่านก็เห็น

ผู้สื่อข่าว: หลายคนไม่ค่อยเชื่อเรื่องไม่โดนทำร้ายร่างกาย วันนี้พอมีภาพยืนยันไหม

กอบเกียรติ: เอาเป็นว่า ให้นายแพทย์พูดผ่านโทศัพท์ดีไหม ภาพไม่ได้ถ่ายไว้ ถ้าเอาตอนนี้เดี๋ยวต่อโทรศัพท์ให้ เรือนจำเอาโทรศัพท์เข้าไปถ่ายรูปไม่ได้ ให้หมอยืนยันไหม... เอาเป็นว่าด้วยเกียรติและวิชาชีพของหมอ และด้วยเกียรติของผม ยืนยันว่าไม่มีแน่นอน ผมย้ำกับผู้บัญชาการไม่ต่ำกว่า 5ครั้ง ว่าไม่มีการทำร้ายร่างกายแน่นอน

ผู้สื่อข่าว: มีข้อเรียกร้องจากทนายหรือตัวจำเลยหรือไม่ว่าอยากย้ายมาอยู่ในเรือนจำทั่วไป

กอบเกียรติ: เขาก็ขอกับศาลไปอย่างนั้น แต่เราก็ต้องดู ชั่งระหว่างเรื่องความปลอดภัยของเขาด้วย และความปลอดภัยในการคุมด้วย มันจะคุ้มไหม ถ้าอยู่ในเรือนจำปกติ แล้วเกิดเรื่องอะไรขึ้นมา แล้วกลายเป็นเราบกพร่องอีก ตอนนี้ในนั้นมี10 ห้อง แต่มีผู้ต้องขัง 5 ห้อง ก็เป็นห้องเดี่ยว ห้องใครห้องมัน

ผู้สื่อข่าว: จำเลยแถลงต่อศาลเรื่องถูกทำร้าย กรมราชทัณฑ์ต้องเขียนรายงานศาลด้วยใช่หรือไม่

กอบเกียรติ: ตอนนี้ศาลยังไม่ได้ถามมา ถ้าศาลถามมาเราก็คงต้องรายงานศาลไป อันนี้เป็นข้อเท็จจริง เราไม่มีอะไรหนักใจ ถามมาตอบไป อยากได้อะไรก็ให้ไป

ผู้สื่อข่าว: มีการส่งจิตแพทย์ดูอาเด็ม และยูซุฟูไหม เขาเคยมีอาการคลุ้มคลั่งไหม และมีแนวโน้มนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้เหรือเปล่า

กอบเกียรติ: ยังไม่ถึงขนาดนั้น อันนี้ก็อยู่ที่ความเห็นแพทย์ เหมือนไปโรงพยาบาล ถ้าแพทย์เห็นว่ามีความจำเป็นต้องเจอแพทย์เฉพาะทางอย่างจิตเวท เราก็คงต้องส่งไป แต่ตอนนี้ยังไม่ถึงขนาดนั้น ยังไม่มีอะไรบ่งบอกว่าต้องส่งไป

ผู้สื่อข่าว: ตอนที่ผอ.โรงพยาบาลราชทัณฑ์เข้าไปตรวจ ไปพร้อมล่ามด้วยหรือไม่ เนื่องจากเขาไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้

กอบเกียรติ: เราไปดูสภาพทั่วไป เกี่ยวกับการถูกซ้อมก่อน แต่ตอนพยาบาลเรือนจำไปดูทุกอาทิตย์ก็มีล่ามคอยดูว่าเขาเจ็บป่วยตรงไหน แต่วันนี้ไปดูประเด็นที่เขาถูกซ้อมก่อน เพื่อว่าเวลาแถลงข่าวจะได้แถลงได้อย่างเต็มปากเต็มคำ

เดี๋ยวคุณหมอคงทำรายงานหลักฐานขึ้นมา มันไม่มีอะไร เขาทำอะไรก็คงมีเหตุผลของเขา ทั้งนี้สิ่งที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดความเสียหายกับเรา ในฐานะคนที่ถูกพาดพิงก็จำเป็นจะต้องแถลงข่าว และขอน้องๆช่วยลงข่าวให้ประชาชนและองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ ได้รับทราบทั่วกัน

หมายเหตุ มีการเพิ่มเติมเนื้อหา เวลา  21.30 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท