Skip to main content
sharethis
ผู้แทนรัฐสภายุโรปย้ำ รัฐบาลไทยต้องเปิดให้อภิปรายร่างรัฐธรรมนูญอย่างเสรี ไม่เช่นนั้นการปรองดองจะไม่เกิดขึ้น พร้อมระบุสมาชิกสภายุโรปเข้าใจดีว่า ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์และธรรมเนียมปฏิบัติของตนเอง และไม่คิดที่จะชี้นำในเรื่องใด
 

แวร์เนอร์ ลันเก้น ประธานกลุ่มความสัมพันธ์กับประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอาเซียน (DASE) ภาพจากเฟซบุ๊ก Banrasdr Photo 

18 พ.ค. 2559 จากวานนี้ (17 พ.ค.59) คณะสมาชิกรัฐสภายุโรป นำโดย แวร์เนอร์ ลันเก้น ประธานกลุ่มความสัมพันธ์กับประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอาเซียน (DASE) พร้อมด้วยคณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนแห่งรัฐสภายุโรป รวม 8 ราย ได้เข้าพบ ปัญญรักษ์ พูลทรัพย์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ รักษาการแทนปลัดกระทรวงการต่างประเทศ  ที่กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเยือนประเทศไทย ระหว่างวันที่ 17-19 พ.ค. 2559 โดยมีกำหนดการพบปะทุกภาคส่วน อาทิ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)  คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และภาคเอกชน รวมทั้ง พรรคการเมือง เช่น พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นเรื่องการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่จะจัดขึ้นในวันที่ 7 ส.ค. นี้

วันนี้ (18 พ.ค.59) บีบีซีไทย - BBC Thai รายงานด้วยว่า ลันเก้น กล่าวย้ำว่า การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และการดำเนินตามแผนสู่ประชาธิปไตยของรัฐบาลไทย จะต้องเปิดให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดต้องสามารถอภิปรายถกเถียงถึงข้อดีและข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างเปิดเผย ครอบคลุม และมีเสรีภาพ การออกกฎหมายที่ระบุว่าผู้วิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญอาจถูกลงโทษ จึงเป็นเรื่องที่สมาชิกรัฐสภายุโรปค่อนข้างกังวล เพราะอาจทำให้ตีความไปได้ว่า กระบวนการลงประชามติไม่มีเสรีภาพเพียงพอ และการปรองดองไม่อาจจะเกิดขึ้นได้หากไม่มีการเคารพความคิดเห็นของคนทุกกลุ่มทุกฝ่าย
 
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบจากการลงมติของประชาชน จะมีมาตรการคว่ำบาตรไทยหรือไม่ ลันเก้น ระบุว่า จะต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้ง และหารือกับตัวแทนสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) เนื่องจากสมาชิกสภายุโรปไม่ใช่ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจ พร้อมย้ำว่าสมาชิกสภายุโรปเข้าใจดีว่า ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์และธรรมเนียมปฏิบัติของตนเอง และไม่คิดที่จะชี้นำในเรื่องใด
 
อย่างไรก็ตาม สมาชิกสภายุโรปเกรงว่า รัฐบาลทหารอาจยื้ออำนาจและทำให้ประชาชนตกอยู่ในความหวาดกลัว ทั้งการที่ประเทศไทยมีแนวโน้มว่าจะถูกกองทัพแทรกแซงในทุกครั้งที่เกิดปัญหาความขัดแย้งภายในขึ้น ก็ยังเป็นเรื่องที่น่ากังวลเช่นกัน แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีความหวังว่า ประเทศไทยจะกลับคืนสู่ประชาธิปไตยได้ในที่สุด โดยประเมินจากการพูดคุยกับตัวแทนฝ่ายต่าง ๆ ของไทย พบว่าแต่ละฝ่ายมีความตั้งใจที่จะผลักดันกระบวนการปรองดอง รวมถึงพยายามสานต่อด้านความร่วมมือต่าง ๆ ตลอดจนต้องการรื้อฟื้นการเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) ที่หยุดชะงักไปนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารปี 2557
 
ส่วนประเด็นอื่น ๆ ที่รัฐบาลไทยและสมาชิกรัฐสภายุโรปได้หารือกันนอกจากนี้ ได้แก่ การสานต่อความร่วมมือด้านการแก้ปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชน การบังคับใช้แรงงาน การทำประมงผิดกฎหมาย สถานการณ์แรงงานข้ามชาติ และปัญหาการค้ามนุษย์
 

Banrasdr Photo 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net