Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


“แก้ทอมซ่อมดี้ คืนสตรีสู่สังคม”

“เปลี่ยนทอมให้เป็นเธอ” 


วลีสั้น ๆ ที่ฟังดูเผิน ๆ อาจเหมือนเป็นเหมือนถ้อยคำล้อเล่น  สนุก ๆ สำหรับผู้ชายบางคน   และอาจฟังดูธรรมดาสำหรับใครอีกหลาย ๆ คน แต่สำหรับทอม ดี้  หรือผู้หญิงที่รักเพศเดียวกันทุกคน นอกจากจะฟังยังไงก็ขำไม่ออกแล้ว ยังกลับรู้สึกว่ากำลังถูกคุกคามทางเพศอีกด้วย  เพราะลึกลงไปในคำพูดเหล่านี้ คือการสื่อถึงการใช้ “การข่มขืน” เป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนวิถีทางเพศให้ผู้หญิงรักเพศเดียวกัน กลายเป็นผู้หญิงรักต่างเพศ

ในแง่ของที่มาของคำ ไม่ชัดเจนว่าถ้อยคำเหล่านี้เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่อย่างน้อย ๆ ก็น่าจะอยู่ในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 40 ปีมานี้ นับจากที่สังคมไทยได้รู้จักกับคำว่า “ทอม” ในความหมายของผู้หญิงที่มีบุคลิกท่าทางการแสดงออก การแต่งตัวแบบผู้ชาย และมีคนรักเป็นผู้หญิง หรือ ดี้

ที่น่าสนใจก็คือ ในขณะที่ภาษาและถ้อยคำอาจเกิดขึ้นใหม่ได้เรื่อย ๆ หากคำพูดที่แฝงไปด้วยนัยของความรุนแรง กระทั่งถึงการกระทำที่เป็นการล่วงละเมิดทางเพศต่อทอม ดี้ และหญิงรักหญิง เป็นปรากฎการณ์ที่มีมานานแล้ว และยังคงเกิดขึ้นมาโดยตลอด เพียงแต่อาจไม่เป็นข่าว เพราะผู้ถูกกระทำไม่ต้องการแจ้งความดำเนินคดี เหมือนกรณีการถูกข่มขืนอื่น ๆ ที่ผู้ถูกกระทำกลับกลายเป็นฝ่ายที่ต้องอับอาย และรู้สึกผิด  แทนที่จะเป็นผู้ที่ล่วงละเมิด!

อับอายทั้งจากการถูกกระทำชำเรา ทั้งจากการถูกตอกย้ำว่าถึงอย่างไรทอมก็สู้ผู้ชายไม่ได้  ( ทั้งในแง่ของอำนาจในการปกป้องตนเอง และในแง่ของการแสดงความเป็นผู้ชายที่ไม่ว่าจะอย่างไรก็เป็นได้ไม่เท่า ไม่เหมือน ) ทั้งการจำยอมต้องยอมรับว่าถึงอย่างไรทอมก็ยังคงเป็นเพศหญิง ( ในทางสรีระ ) อยู่วันยังค่ำ นอกจากนี้ในกรณีที่การถูกล่วงละเมิดทางเพศนำไปสู่การตั้งครรภ์ ผู้เสียหายที่เป็นทอม ดี้ หรือหญิงรักหญิง ยังถูกบีบให้ต้องยอมรับสภาพ “ความเป็นหญิง” “ความเป็นแม่” ที่จะมาถึงในอีกไม่ช้า  ไม่ว่าตนเองจะต้องการหรือไม่ก็ตาม และต้องทนอยู่กับความหวาดกลัว  ความคับแค้น และความอับอายจากเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ไปตลอด

กรณีที่เกิดขึ้นจริงในชนบทแห่งหนึ่งทางภาคเหนือเมื่อหลายปีก่อน เยาวชนที่เป็นทอมคนหนึ่ง ถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยผู้ชายที่รู้จักกันอย่างผิวเผิน ผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายแก้ปัญหาโดยการจับให้ทอมแต่งงานกับผู้ชายที่ล่วงละเมิดทางเพศเธอ เนื่องจากฝ่ายชายเป็นผู้ที่มีฐานะ และไม่ต้องการถูกดำเนินคดีในข้อหาพรากผู้เยาว์ ขณะที่ฝ่ายครอบครัวของผู้เสียหายยินยอมประนีประนอมเพื่อรักษาหน้าตาของครอบครัว โดยที่ไม่สนใจว่าลูกของตนจะรู้สึกอย่างไร   ในพื้นที่เดียวกันนี้เอง  เยาวชนที่เป็นทอมอีกคนหนึ่งถูกเพื่อนผู้ชายที่ร่วมวงกินเหล้าด้วยกันล่วงละเมิดทางเพศและตั้งครรภ์  ทำให้ต้องออกจากโรงเรียน และสุดท้ายก็ต้องกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวในวัยไม่ถึง 18 ปี  เสียงที่ได้ยินตามมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็คือ พ่อแม่ของทอมที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศกลับบอกว่า พวกเขายอมรับ “การตั้งครรภ์” ( จากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ) ของลูกได้มากกว่า ยอมรับในความเป็น “ทอม” ของลูกเสียอีก

ในขณะที่สังคมมีมายาคติเกี่ยวกับการข่มขืน ( ในกรณีของผู้หญิง ) ว่าส่วนหนึ่งเกิดจากความผิดของผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวโทษเรื่องการแต่งตัวของผู้หญิง เรื่องการที่ผู้หญิงพาตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์ หรือสถานที่อันตรายเอง (  เช่น การไปอยู่ในที่เปลี่ยวในยามวิกาล การอยู่กับผู้ชายตามลำพังสองต่อสอง ) หรือผู้หญิงไม่ฉลาดเองที่ไว้วางใจบุคคลใกล้ชิดที่เป็นผู้ชาย ( สมาชิกในครอบครัว แฟน หรือเพื่อนสนิท ) มากจนเกินไป เพราะเชื่อว่ามีแต่คนแปลกหน้าเท่านั้นที่จะเป็นผู้กระทำความรุนแรงทางเพศ

ความเปราะบางของ “ทอม” หรือผู้หญิงรักเพศเดียวกัน ต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศยังเกี่ยวข้องกับเรื่อง ความหมั่นไส้ ความเกลียดชังการแสดงออกในความไม่เป็นผู้หญิงตามแบบที่สังคมคาดหวัง ทั้งการแสดงความเป็นชาย หรือการมีคู่เป็นผู้หญิงด้วยกัน ทำให้ผู้ชายรู้สึกเสียหน้า หรือถูกดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นชาย

ขณะที่ทอมเองก็มองว่าตนเองมีความเป็นชาย สามารถปกป้องคุ้มครองดูแลแฟนที่เป็นผู้หญิงได้ และคิดว่าการแสดงออกในความเป็นชายของตนจะได้รับการยอมรับจากเพื่อนผู้ชายในระดับเดียวกันกับที่ผู้ชายปฏิบัติต่อกัน อีกทั้งยังมั่นใจว่ารูปลักษณ์ความเป็นทอมย่อมไม่เป็นที่ดึงดูดใจสำหรับผู้ชาย ซึ่งทำให้ไม่เสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศในแบบเดียวกับที่ผู้หญิงเสี่ยง 

แต่เพราะการข่มขืนมีมิติที่ลึกไปกว่ามายาคติเรื่องการแต่งตัว การแสดงออกภายนอก ความเป็นคนแปลกหน้า ( หรือคนคุ้นเคย ) หรือความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งมึนเมาที่นำไปสู่กระตุ้นเร้าอารมณ์ความรู้สึกทางเพศ...การข่มขืนจึงเป็นเรื่องของการไม่เคารพสิทธิ ไม่เคารพความเป็นส่วนตัว ไม่เคารพในการเลือกที่จะมีวิถีทางเพศที่แตกต่างของผู้อื่น เป็นเรื่องการใช้อำนาจของคนที่มีอำนาจเหนือกว่ากระทำต่อคนที่มีอำนาจด้อยกว่า

เมื่อรวมเข้ากับความเชื่อเรื่องเพศที่นิยมเพศวิถีแบบรักต่างเพศแบบเหนียวแน่น ที่มีสมการว่ารักเพศตรงข้าม การปฏิบัติตนตามอัตลักษณ์ทางเพศตามที่สังคมกำหนดเพศสรีระที่มีมาตั้งแต่กำเนิด และการมีเซ็กส์เพื่อมีลูก เท่ากับถูก ส่วนการรักเพศเดียวกัน  รักสองเพศ การแสดงออกตรงข้ามเพศกำเนิด หรือแตกต่างไปจากอัตลักษณ์ทางเพศแบบที่สังคมกำหนด และการมีเซ็กส์เพื่อความสุขทางเพศ ไม่ได้เพื่อการมีลูก เท่ากับผิด   ผลก็คือ ต่อให้ทอมจะรู้สึก แสดงออก ยืนยัน หรือทำทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนผู้ชายอย่างไร พวกเธอก็ยังคงมีสรีระเป็นผู้หญิง มีมดลูก ยังท้องได้อยู่ดี  และเพราะสังคมไทยยังไม่เลิกมองว่า การรักเพศเดียวกันเป็นความป่วยไข้  และไม่เคยยอมรับว่าการรักเพศเดียวกันเป็นรูปแบบวิถีทางเพศที่ปกติอีกรูปแบบหนึ่ง นี่จึงเป็นข้ออ้างที่สนับสนุนให้ผู้ชายสามารถกระทำความรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิงรักเพศเดียวกันได้โดยไม่รู้สึกผิด  ( เพื่อแก้ไข หรือเปลี่ยนกลับให้กลายมาเป็นผู้หญิงที่มีวิถีทางเพศแบบรักต่างเพศ ) ทั้งที่แท้จริงแล้วเบื้องหลังการกระทำนั้นไม่ใช่อะไรอื่นนอกจาก การแสดงอำนาจของความเป็นชาย และความเกลียดชังต่อบุคคลรักเพศเดียวกันเท่านั้น

ที่ผ่านมาในประเทศไทยยังไม่เคยมีการสำรวจ และวิเคราะห์ว่า มีบุคคลรักเพศเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น ทอม ดี้ หญิงรักหญิง ชายรักชาย หรือบุคคลข้ามเพศ ทั้งผู้หญิงข้ามเพศ และผู้ชายข้ามเพศจำนวนเท่าไหร่ที่เผชิญกับเหตุการณ์การถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยเฉพาะด้วยสาเหตุจากความเกลียดชังความเป็นคนรักเพศเดียวกัน  ในต่างประเทศประเทศที่มีสถิติการข่มขืนสูงที่สุดในโลกอย่างสาธารณรัฐอัฟริกาใต้ พบว่ากรณีการข่มขืนที่มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้น คือการข่มขืนผู้หญิงที่รักเพศเดียวกันโดยอ้างว่าเพื่อทำให้ผู้หญิงเหล่านี้กลับมามีเพศวิถีแบบรักต่างเพศ หรือการข่มขืนที่มีที่มาจากความเกลียดชังความเป็นคนรักเพศเดียวกัน ( homophobic rape ) ซึ่งทำให้หญิงรักหญิงในอัฟริกาใต้ต้องดำเนินชีวิตอยู่ภายใต้ความหวาดผวา และต้องคอยระวังตัวอยู่ตลอดเวลาเพราะรู้ว่าตนเองตกเป็นเป้าหมายของการถูกข่มขืน

แม้จะไม่มีสถิติตัวเลขที่บ่งชี้ว่าหญิงรักหญิงในสังคมไทยตกอยู่ในสถานการณ์ความเสี่ยงสูงต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศเช่นเดียวกับประเทศอัฟริกาใต้หรือไม่ ( ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหน่วยงานที่ดำเนินงานเกี่ยวข้องกับเรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิง ไม่ได้ให้ความสำคัญ หรือตระหนักถึงประเด็นการล่วงละเมิดทางเพศที่มีสาเหตุมาจากความเกลียดชังความเป็นคนรักเพศเดียวกันแต่อย่างใด )  แต่หากมีใครสักคนถามถึงกรณีทอม ดี้ หรือหญิงรักหญิงถูกข่มขืนขึ้นมาแล้วละก็ เราก็มักจะได้ยินว่ามีกรณีในลักษณะนี้เกิดขึ้นแทบจะในทุกพื้นที่ของประเทศไทยอยู่เสมอ ( ไม่นับกรณีที่พ่อแม่บังคับให้ลูกต้องแต่งงานกับผู้ชายเพื่อให้ “หาย”จากการเป็นหญิงรักหญิง หรือ“หาย”จากการมีคนรักเป็นผู้หญิง  )  และสำหรับทอม ดี้ และหญิงรักหญิงเอง เมื่อได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับการที่หญิงรักหญิงถูกล่วงละเมิดทางเพศมากขึ้น หลายคนก็มีอาการไม่ต่างจากหญิงรักหญิงในอัฟริกาใต้ที่รู้สึกว่าตนเองต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความรู้สึกไม่ปลอดภัย และไม่สามารถแสดงความเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่  เพราะรู้ดีว่าสังคมไทยไม่ใช่สังคมที่ยอมรับการรักเพศเดียวกันอย่างที่เห็นภายนอก

ปฏิกิริยาความหวาดกลัวที่เกิดขึ้นของทอม ดี้ และหญิงรักหญิงยังเกี่ยวข้องกับประสบการณ์การรับรู้ข้อมูลข่าวสารของพวกเธอด้วย ทอมหลายคนอาจไม่ได้ใส่ใจ หรือตระหนักถึงความรุนแรงทางเพศมาก่อน จนมาได้ยินเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับเพื่อน หรือคนรู้จัก หรือจากสื่อ อย่างล่าสุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มีการเผยแพร่วิดีโอคลิปที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับทอมที่ถูกข่มขืนและท้อง เพราะแสดงอาการ “กร่าง” กับผู้ชายเกินเหตุ และเพราะ “เมาจนไม่ได้สติ”  คลิปทั้งสองคลิปผลิตขึ้นโดยนักศึกษาที่เป็นทอม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเตือนเพื่อนทอมด้วยกันให้รู้จักควบคุมตัวเอง อย่าแสดงความเป็นชายมากจนเกินไป อย่าไปท้าทายผู้ชาย อย่าคิดว่าผู้ชายจะมองทอมเท่ากับผู้ชาย หรือไม่คิดจะมีอะไรกับทอม  ในตอนท้ายของคลิปวิดีโอชุดหนึ่ง มีบทสัมภาษณ์ทอมที่อยู่ในวัยนักศึกษา ว่าหากเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นกับตนเอง จะทำอย่างไร คำตอบที่ออกมา สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันว่า ถ้าถูกข่มขืนแล้วท้อง ก็จะยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น จะไม่ไปทำแท้ง  ( เพราะการทำแท้งเป็นสิ่งที่ผิด เป็นบาป ) ไม่คิดสั้นฆ่าตัวตาย ( แบบในคลิปวิดีโออีกชุดหนึ่งที่ทอมที่ถูกข่มขืนตัดสินใจหาทางออกด้วยการจบชีวิตเพราะรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเองไม่ได้ )

ท้ายที่สุดแม้ว่าคลิปวิดีโอทั้งสองชุดนี้จะมีบทสรุปที่ชัดเจนว่า การข่มขืนไม่สามารถเปลี่ยนทอมให้เป็นผู้หญิงรักต่างเพศได้ และถึงแม้จะถูกล่วงละเมิดทางเพศ ก็ไม่ควรตัดสินปัญหาด้วยการฆ่าตัวตาย  แต่เนื้อหาอื่น ๆ ในคลิปวิดีโอนั้น ก็สะท้อนให้เห็นถึงระบบความคิดความเชื่อเรื่องเพศแบบชายเป็นใหญ่  ที่มีอิทธิพล และคอยกำกับควบคุมเพศวิถีของทอม และหญิงรักหญิง ไม่ต่างจากผู้หญิงรักต่างเพศทั่วไป ในแง่ที่ทอมเองควรต้องระมัดระวังควบคุมพฤติกรรมของตนเอง ให้ไม่ไปท้าทายอำนาจของผู้ที่มีเพศสรีระเป็นชาย ไม่พาตนเองไปอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงเอง  และหากถูกล่วงละเมิดทางเพศขึ้นมา ไม่ว่าจะอย่างไรก็ควรยอมรับ และทำหน้าที่ของความเป็นผู้หญิง ความเป็นแม่อย่างดีที่สุด  ไม่ควรคิดที่จะไปทำแท้งเป็นอันขาด

ในยุคสมัยที่บุคคลรักเพศเดียวกันมีการแสดงออกถึงอัตลักษณ์ และเพศวิถีของตนเองอย่างเปิดเผยมากขึ้น จนดูเผิน ๆ เหมือนกับสังคมไทย เป็นสังคมที่เปิดกว้าง เข้าใจ และยอมรับบุคคลที่รักเพศเดียวกันได้ หากในอีกด้านหนึ่งการเพิกเฉยต่อคำพูดเล่น ๆ  ที่แสดงถึงการข่มขู่คุกคามทางเพศต่อผู้หญิงรักเพศเดียวกันอย่าง “แก้ทอมซ่อมดี้ คืนสตรีสู่สังคม”  “เปลี่ยนทอมให้เป็นเธอ”  รวมถึงคำพูดล้อเลียนเสียดสีอื่น ๆ ที่ลึก ๆ แล้วมีนัยไปในเชิงดูหมิ่นเหยียดหยาม ต่อบุคคลรักเพศเดียวกัน ก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสังคมไทยไม่ได้เคารพ  เข้าใจ หรือยอมรับในสิทธิของบุคคลรักเพศเดียวกัน รักสองเพศ และบุคคลข้ามเพศแต่อย่างใดเลย  ในขณะเดียวกันบุคคลที่เป็นทอม ดี้ หญิงรักหญิงเองก็ยังตกอยู่ภายใต้กรอบความคิดแบบชายเป็นใหญ่ และต้องเผชิญกับความรุนแรงซ้ำเดิม ไม่เคยเปลี่ยน ทอมหลายคนไม่ได้ยอมรับเรื่องการทำแท้งว่าเป็นทางเลือก เป็นสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง หลายคนไม่ได้สนใจเรื่องการคุมกำเนิด หรือการป้องกันตนเองจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพราะไม่คิดว่าตนเองมีความเสี่ยง หรือไม่คิดว่าตนเองจะไปมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายอย่างแน่นอน

เนื่องในวันที่มีชื่อยาวเหยียดทั้งในภาษาไทย และภาษาอังกฤษเสียจนจำยากว่า “วันสากลเพื่อยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน และคนข้ามเพศ” วันที่ 17  พฤษภาคมนี้  เราทุกคนสามารถแสดงการมีส่วนร่วมในการเป็นส่วนหนึ่งของการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงที่รักเพศเดียวกันได้อย่างง่าย ๆ ด้วยการเลิกใช้ และ/หรือต่อต้านการใช้คำพูดที่แสดงถึงการดูหมิ่นเหยียดหยาม คำพูดที่มีนัยสื่อถึงความรุนแรงอันมีที่มาจากความเกลียดชังต่อทอม ดี้ และผู้หญิงรักเพศเดียวกัน พร้อมทั้งช่วยกันเผยแพร่ความคิดนี้ต่อ ๆ ไปในกลุ่มคนรอบข้างให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อที่เราจะได้เริ่มต้นก้าวเดินไปสู่สังคมที่เข้าใจ และเคารพในความแตกต่างหลากหลายได้อย่างแท้จริงเสียที

และเพื่อที่วันหนึ่ง วันสากลเพื่อยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน และคนข้ามเพศจะเป็นวันที่มีความหมายสำหรับทุกๆ คน ไม่ใช่มีความหมายอยู่แต่เฉพาะกับกลุ่มบุคคลรักเพศเดียวกัน คนรักสองเพศ และคนข้ามเพศเท่านั้นเหมือนอย่างทุกวันนี้

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net