Skip to main content
sharethis

เมื่อทหารทำตัวเป็น ตำรวจ ศาล อัยการ ผู้คุม และกองเซ็นเซอร์  iLaw ออกรายงานอัด คสช.  2 ปีที่อยู่ในอำนาจ รัฐเลือกที่จะปราบปรามคนที่แสดงออกในทางไม่เห็นด้วยกับการบริหารประเทศของคสช. อย่างแข็งขัน ไม่ว่าจะปราบปรามด้วยกระบวนการกฎหมายปกติ หรือกฎหมายพิเศษก็ตาม

 

20 พ.ค. 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ได้เผยแพร่รายงาน 5 ชิ้น ในวาระ 2 ปี การยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. ภายใต้ชื่อ '24 เดือน คสช. อำนาจทหารเหนือระบบยุติธรรม'

ซึ่ง อ่านรายงานแต่ละส่วนได้ที่นี่ : 

24 เดือน คสช.: อำนาจทหารเหนือระบบยุติธรรม เมื่อทหารทำตัวเป็นตำรวจ http://freedom.ilaw.or.th/report/24monthsarrest

24 เดือน คสช.: อำนาจทหารเหนือระบบยุติธรรม เมื่อทหารทำตัวเป็นศาลและอัยการ http://freedom.ilaw.or.th/report/24mothstrial

24 เดือน คสช.: อำนาจทหารเหนือระบบยุติธรรม เมื่อทหารทำตัวเป็นผู้คุม http://freedom.ilaw.or.th/report/24monthsprison

24 เดือน คสช.: อำนาจทหารเหนือระบบยุติธรรม เมื่อทหารทำตัวเป็นกองเซ็นเซอร์ http://freedom.ilaw.or.th/report/24monthscensorship

24 เดือน คสช.: อำนาจทหารเหนือระบบยุติธรรม เมื่อทหารไม่ได้คืนแต่ "ความสุข" http://freedom.ilaw.or.th/report/24monthsnothappy

 

 

โดย iLaw ระบุด้วยว่า ตลอดสองปีที่ คสช. อยู่ในอำนาจ รัฐเลือกที่จะปราบปรามคนที่แสดงออกในทางไม่เห็นด้วยกับการบริหารประเทศของคสช. อย่างแข็งขัน ไม่ว่าจะปราบปรามด้วยกระบวนการกฎหมายปกติ หรือกฎหมายพิเศษก็ตาม

iLaw สรุปด้วยว่า กฎหมายที่ถูกนำมาใช้กว้างขว้างมากขึ้น เช่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, มาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีการบังคับใช้กฎหมายที่มากเกินกว่าตัวบทหลายกรณี เช่น การกดถูกใจในเฟซบุ๊ก การโต้ตอบกับบุคคลอีกฝ่ายโดยไม่ติเตียน แม้แต่การโพสต์เฟซบุ๊กเพื่อล้อเลียนผู้บริหารประเทศ ก็ล้วนถูกตั้งข้อหาว่าเป็น "ภัยความมั่นคง" ทั้งสิ้น ยังมีกฎหมายพิเศษอีกหลายฉบับที่ออกโดยคณะรัฐประหาร เช่น การประกาศห้ามการชุมนุมทางการเมือง การประกาศให้พลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร นับถึงวันครบสองปีของการรัฐประหาร มีผู้ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 อย่างน้อย 67 คน มีผู้ถูกตั้งข้อหาชุมนุมทางการเมือง อย่างน้อย 85 คน

ภายหลังการยกเลิกกฎอัยการศึก "คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558" ที่อาศัยอำนาจมาตรา 44 ก็เข้าแทนที่ ผลในทางปฏิบัติ คือ การใช้อำนาจปราบปรามอย่างไรขอบเขตยังมีอยู่ต่อเนื่องไม่ต่างกัน คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/255 ยังสถาปนาเจ้าหน้าที่ทหารให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม โดยมีอำนาจสอบสวนร่วมกับตำรวจ ให้อำนาจทหารควบคุมตัวบุคคลได้สูงสุด 7 วัน ในช่วงระยะ 7 วัน บางคนอาจถูกเรียกไปพูดคุยสั้นๆ และปล่อยตัวในวันเดียวกัน และบางคนอาจต้องค้างคืนในค่ายทหารหลายวัน บางคนอาจถูกสอบสวนและทำบันทึกไว้เป็นหลักฐาน บางคนต้องเซ็นข้อตกลงว่าจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง หลายกรณีคนที่ถูกควบคุมตัวอ้างว่าถูกซ้อมหรือข่มขู่ให้รับสารภาพ โดยในระหว่างการควบคุมตัวของทหารทุกคนจะไม่มีสิทธิพบทนายความ หรือติดต่อญาติ และทหารจะไม่เปิดเผยสถานที่ควบคุมตัว กระบวนการนี้ทำให้ทหารกลายเป็นด่านแรกที่คัดกรองการตั้งข้อหา

เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารส่งไม้ต่อให้ตำรวจส่งฟ้อง เจ้าหน้าที่ทหารก็ยังสามารถเข้าร่วมเป็นพนักงานสอบสวนกับตำรวจได้ คดีส่วนใหญ่ที่ทหารเกี่ยวข้องในกับจับกุมและสอบสวน จะอยู่ใต้ประกาศคสช. ฉบับที่ 37/2557 ที่ให้พลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร เมื่อขึ้นศาลทหารจะพบกับอัยการที่เป็นทหาร และผู้พิพากษาที่เป็นทหาร คดีที่จำเลยปฏิเสธจะสืบพยานอย่างล่าช้า และมีหลายคดีที่ศาลทหารกำหนดโทษหนัก โดยเฉพาะคดีมาตรา 112  นับถึงวันครบสองปีของการรัฐประหาร มีพลเรือนต้องขึ้นศาลทหารในคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างน้อย 167 คน

สุดท้ายเมื่อจำเลยถูกศาลสั่งให้ต้องอยู่ในเรือนจำ ในยุคคสช. ยังมีการจัดตั้งเรือนจำพิเศษขึ้นภายในค่ายทหาร ทำให้ทหารเข้ามาอยู่เหนือระบบยุติธรรมแบบครบวงจร ตั้งแต่เป็นการออกกฎหมาย การจับกุม การตั้งข้อกล่าวหา การสอบสวน การดำเนินคดี การตัดสินคดี และการรับโทษ

"เมื่ออำนาจทหารอยู่เหนือระบบยุติธรรม คนจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการปกครองของทหารย่อมได้รับผลกระทบ นับถึงวันครบสองปีของการรัฐประหาร มีคนอยู่ในเรือนจำเพราะการแสดงออกทางการเมืองอย่างน้อย 44 คน และมีคนต้องลาจากแผ่นดินที่เป็นบ้านเกิดอย่างน้อย 200 คน" iLaw ระบุ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net