Skip to main content
sharethis

รมช.พาณิชย์เผย ส่งออกเดือน เม.ย.59 พลิกกลับมาหดตัว 8.0% หลังกระแสการค้าโลกยังเปราะบาง ขณะที่นำเข้าติดลบ 14.92% สภาอุตฯ เผยดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมก็ลด เหตุหยุดยาว

25 พ.ค. 2559 สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตัวเลขการส่งออกของไทยเดือน เม.ย. 2559 กลับมาหดตัว 8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามกระแสการค้าโลกที่ยังมีความเปราะบาง เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลกยังไม่มีความชัดเจน ประกอบกับปัจจัยด้านราคาสินค้าเกษตรและน้ำมันที่หดตัวสูงที่เป็นแรงกดดันให้มูลค่าขยายตัวต่ำกว่าปริมาณส่งออกที่เพิ่มขึ้น อีกทั้ง ประเทศคู่ค้าหลายประเทศชะลอการนำเข้าลง และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกเชิงลบที่ส่งผลต่อมูลค่าการส่งออกไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ดี การส่งออกของไทยมีสถานการณ์ที่ดีกว่าประเทศอื่นๆ มาก แสดงว่าไทยยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาด (Market Share) ในตลาดและสินค้าส่งออกสำคัญไว้ได้ สะท้อนให้เห็นว่าความสามารถทางการแข่งขันของไทยยังอยู่ระดับที่ดี 

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้เร่งดำเนินการ เพื่อการขับเคลื่อนการส่งออกของไทย ปี 2559 อย่างต่อเนื่องทั้งในด้านขยายการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน เร่งรัดขยายตลาดส่งออกเชิงรุก แก้ไขปัญหาข้อจำกัดทางการค้าร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน รวมถึงการส่งเสริมการค้าบริการและส่งเสริมผู้ประกอบการไปดำเนินธุรกิจในต่างประเทศเพื่อสร้างโอกาสทางการค้า และความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการ 

ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ เม.ย.ลดลง เหตุหยุดยาว

ขณะที่ เจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน เม.ย.  2559 พบว่าปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 85.0 จากระดับ 86.7 ในเดือนมี.ค. เนื่องจากเดือนเม.ย. มีวันทำงานน้อยมีวันหยุดต่อเนื่องในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทำให้การใช้กำลังการผลิตลดลงโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ปูนซีเมนส์ พลาสติก และปิโตรเคมี เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อการแข็งค่าของเงินบาทที่กระทบต่อขีดความสามารถในการส่งออกและปัญหาภัยแล้งทำให้ขาดแคลนวัตถุดิบ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตในอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น

ขณะที่ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 97.2 ลดลงจากระดับ 98.3 ในเดือนมีนาคม เนื่องจากผู้ประกอบการยังกังวลต่อกำลังซื้อในภูมิภาคที่ฟื้นตัวช้า จากความรุนแรงของปัญหาภัยแล้ง ราคาน้ำมันในประเทศที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น  ความผันผวนของอัตราแลกเลี่ยน รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะมาตรการที่มิใช่ภาษี  ทั้งนี้ ต้องการให้ผู้ประกอบการเร่งใช้ประโยชน์ในการทำธุรกิจจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) มากขึ้น

ศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร รองประธาน ส.อ.ท. เปิดเผยถึงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือน เม.ย. 2559 พบว่า ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้นต่อสภาวะเศรษฐกิจโลก  อัตราแลกเปลี่ยน และราคาน้ำมัน ส่วนปัจจัยที่ผู้ประกอบการกังวลลดลง ได้แก่ สถานการณ์การเมืองในประเทศ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ และสำนักข่าวไทย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net