โฆษกร่างรธน.ฉ.บวรศักดิ์ วิจารณ์ร่างมีชัย ชี้หลักประกันสุขภาพเป็นสิทธิไม่ใช่การสงเคราะห์

อดีตโฆษกกมธ.ร่างรธน. ฉ.บวรศักดิ์ กังวลปมสิทธิสุขภาพที่เคยกำหนดให้ได้รับอย่างถ้วนหน้า แต่ร่าง รธน.ฉบับที่จะลงประชามติกำหนดให้เฉพาะผู้ยากไร้ อัดเป็นแนวคิดที่ถอยหลัง และจะทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพที่เคยเป็นสิทธิ กลายเป็นโครงการสงเคราะห์เพื่อผู้ยากไร้

 

เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ที่ผ่านมา สำนักข่าว Hfocus เจาะลึกระบบสุขภาพ รายงานว่า สุภัทรา นาคะผิว อดีตโฆษกคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ มีชัย ฤชุพันธ์ ว่า ถ้าเราใช้รัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 เป็นมาตรฐาน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความแตกต่างกัน เรื่องแรก คือ ฉบับ อ.มีชัยได้เปลี่ยนเรื่องของสุขภาพ เดิมทีการเขียนการบริการด้านสาธารณสุขจะอยู่ในหมวดสิทธิ ในฉบับนี้เปลี่ยนเป็นหน้าที่ของรัฐซึ่งทำให้เกิดความแตกต่างมาก ถ้าระบุเป็นสิทธิประชาชนก็จะสามารถมีหลักประกันและยกขึ้นมาอ้างได้หากว่าเขาไม่ได้รับสิทธิอันนั้น การระบุเป็นสิทธินั้น รัฐมีหน้าที่ปกป้องคุมครองรวมทั้งมีหน้าที่สงเสริมให้ได้รับสิทธิเหล่านั้น แล้วถ้าประชาชนไม่ได้รับสิทธินั้นๆ ในรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 ในมาตรา 26/27/28 โดยเฉพาะ 28 วรรค 2 เขียนไว้ว่าถ้าบุคคลไม่ได้รับสิทธิที่ระบุในรัฐธรรมนูญสามารถยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้หรือสิทธิที่เรียกร้องในศาลได้ แต่ถ้าระบุเป็นหน้าที่ของรัฐ รัฐจะทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ ประชาชนไม่สามารถฟ้องศาลได้

เรื่องที่สอง ถ้าไปเทียบ ฉบับ อ.บวรศักดิ์ ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 ได้ระบุรับรองด้วยสิทธิการเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างมีคุณภาพทั่วถึงเท่าเทียมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ถือว่ามีพัฒนาการมาเรื่อยๆ เป็นลำดับ จากเดิมก็มองเป็นเรื่องสงเคราะห์ผู้ยากไร้ แต่รัฐธรรมนูญฉบับร่างของ อ.บวรศักดิ์ก็ไม่ได้พูดถึงเรื่องผู้ยากไร้อีกแล้ว เพราะยกระดับจากการสงเคราะห์เป็นสิทธิเป็นมาตรฐาน ซึ่ง ณ ปัจจุบันตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมาที่เรามี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เกิดขึ้นถือว่าประเทศได้ทำให้เกิดสวัสดิการทั่วหน้าในเรื่องสุขภาพ หมายความว่าประชาชนคนไทยทุกคนมีหลักประกันสุขภาพ ซึ่งเดิมก็มีเฉพาะข้าราชการกับคนที่เป็นลูกจ้างในสถานประกอบการคือใช้สิทธิประกันสังคม แต่พอปี 45 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้คนที่เหลือประมาณ 48 ล้านคนมีประกันสุขภาพซึ่งเป็นการปฏิรูปครั้งใหญ่ของประเทศไทยถือว่าเป็นสวัสดิการทั่วหน้า

รื้อมายาคติ 'บัตรทอง' ไม่ใช่ประชานิยมของเพื่อไทย แต่เป็นรัฐสวัสดิการ

สุภทัรา กล่าวว่า  ประเด็นเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น นับว่ามีความเข้าใจผิดอยู่หลายส่วนเหมือนกัน มีคนเข้าใจว่าบัตรทองเป็นนโยบายประชานิยมของพรรคเพื่อไทย แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ นี่คือเรื่องรัฐสวัสดิการ เป็นสวัสดิการทั่วหน้าโดยใช้ระบบภาษีจริงๆ ข้าราชการก็ใช้ภาษี ประกันสังคมก็ใช้ภาษีส่วนหนึ่ง บัตรทองก็ใช้ภาษีเต็มร้อย ถ้าพูดถึงวันนี้ความเหลื่อมล้ำสำคัญ คือ คนที่อยู่ในประกันสังคมซึ่งมีประมาณ 10 ล้านคน ยังเป็นคนกลุ่มเดียวที่ยังต้องมีส่วนร่วมในการจ่ายค่าสุขภาพของตัวเอง ในขณะที่บัตรทองกับข้าราชการ คือ ใช้ภาษีอากร 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ต้องมีการร่วมจ่าย

ส่วนภาคประชาสังคมซึ่งเราเองรู้สึกว่าเป็นเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพที่ได้ผลักดันกันมา เราคิดว่าทุกคนมีส่วนร่วมอยู่แล้ว ร่วมจ่ายผ่านภาษี ไม่มีใครอยากไปนอนเล่นๆ ที่โรงพยาบาลโดยไม่เป็นอะไร แต่การมีแนวคิดให้ผู้ใช้บัตรทองร่วมจ่าย ณ จุดบริการนั้น คำถามสำคัญคืออันนี้จะยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพมากขึ้น อย่าลืมว่าถ้าให้มีระบบร่วมจ่ายย้อนไปดูในรายละเอียดจริงๆ ค่าใช้จ่ายที่มันเพิ่มขึ้น อะไรที่เป็นปัญหา ต้องไปแก้ในจุดนั้น

ยกตัวอย่างว่า กลุ่มข้าราชการซึ่งรัฐดูแลอยู่มี 5 ล้านคน ค่าใช้จ่ายตกหัวละประมาณ 11,000 - 12,000 บาทต่อคน/ต่อปี ในขณะที่บัตรทองตอนที่อยู่ที่ประมาณ 3,100 บาท ต่างกันประมาณ 4 เท่า ซึ่งต้องไปดูว่าทำไมในขณะที่ดูแลคน 5 ล้านคนในเงิน 6 หมื่นล้านบา แต่ดูแลคน 48 ล้านคนใช้เงินแสนกว่าล้านบาท ทำไมต่างกันมากขนาดนั้น ซึ่งต้องไปทำให้มีการบริหารจัดการที่ดีขึ้น เราจึงเสนอว่าถึงเวลาแล้ว ถ้าจะปฏิรูป ถ้าจะใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือ ก็จะทำให้เป็นระบบสุขภาพกองทุนเดียวก็จะเป็นทางเดียว เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำการใช้สิทธิ์ประโยชน์ที่ไม่เท่าเทียมกัน

“นั่นเป็นโจทย์ที่รัฐบาลควักกระเป๋าเดียวกันแล้ว คุณจะไปเสียค่าใช้จ่ายการบริหารทั้ง 3 กองทุน มันเปลืองกว่าไหม มันถึงเวลาที่เราจะปฏิรูปจริงๆ” สุภัทรา กล่าว

ทั้งนี้สิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลเป็นสิทธิพื้นฐานที่รัฐต้องดูแลเหมือนกันทุกคน  มาตรฐานการรักษาต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน มีจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะปฏิรูปตรงนี้ คิดว่าต้องยกระดับขึ้นไป ไม่มีการแบ่งแยกกองทุน ซึ่งจะทำให้บุคลาการสาธารณสุจทำงานได้ง่ายขึ้น ประชาชนเพียงแค่บัตรประชาชนใบเดียวไม่ต้องถามสิทธิ สามารถเข้ารับการรักษามาตรฐานเดียวกันทั้งหมดซึ่งเข้าใจว่าจะดีกับทุกฝ่าย และจะทำให้รัฐสามารถมีการต่อรองราคายาและเวชภัณฑ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัดงบประมาณประเทศ เพราะอย่าลืมว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพนั้น 70% เป็นค่ายา จะช่วยประหยัดเงินไปได้เยอะ

ส่วนปัญหาใหญ่ในระบบสุขภาพของเรา ที่รัฐสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์เหมือนกับไปส่งเสริมธุรกิจทางการแพทย์ซึ่งมีผลกระทบต่อกัน ซึ่งถ้าเราไม่ควบคุมดูแลการเติบโตของธุรกิจทางการแพทย์จะกระทบกับการทำงานระบบสุขภาพ จะกลายเป็นว่า พอรักษาคนต่างชาติ จะคิดเงินที่แพงขึ้นมันจะดึงราคาในระบบให้สูงขึ้น ซึ่งรัฐต้องเข้าไปแทรกแซงตลาดอันนี้ปล่อยเสรีไม่ได้ ประเทศเราเองเป็นหนึ่งในประเทศที่ยอมให้โรงพยาบาลเอกชนให้เข้าตลาดหลักทรัพย์

ยกร่างบวรศักดิ์ให้สิทธิรับบริการสาธารณสุขมีคุณภาพมาตรฐานเท่าเทียม

“ในสมัยที่เป็นกรรมาธิการยกร่างได้เพิ่มถ้อยคำในร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ อ.บวรศักดิ์ เราเขียนเพิ่มมากขึ้นกว่าฉบับที่ผ่านมาก็คือการระบุว่าสิทธิที่ได้รับบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพมาตรฐานที่เท่าเทียม เราต้องพูดถึงชุดที่มีสิทธิประโยชน์อันเดียวกันด้วย ซึ่งอันนี้ไม่มีในรัฐธรรมนูญในฉบับนั้นมาก่อน ที่สำคัญคือย้ายไปหมวดหน้าที่ของรัฐ

และอีกหนึ่งเรื่องที่น่ากังวลมาก คือ เรื่อง ในร่างรัฐธรรมนูญนี้ ระบุว่า เรื่องระบบสุขภาพเป็นหน้าที่ของรัฐ ซึ่งคาดเดาว่ารัฐมีหน้าที่จัดให้ตามกำหนดที่พึงอยู่แล้ว อาจจะมีการย้อนกลับไปสงเคราะห์ผู้ยากไร้ ไม่ได้ให้ถ้วนหน้าอย่างที่มี ก็อ้างได้ว่างบไม่พอ แต่จะมาให้บัตรทองร่วมจ่ายโดยอ้างว่าไม่ได้เสียภาษีก็ไม่ถูก ดังนั้นถ้าเป็นแบบนี้เข้าใจว่า คงยอมรับร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้” สุภัทรา กล่าว

แนะสร้างระบบสุขภาพเป็นมาตรฐานกองทุนเดียวอย่างชัดแจน

สุภัทรา ได้ให้ข้อเสนอแนะการจัดการระบบสุขภาพ ว่า 1.ขอให้เป็นสุขภาพมาตรฐานกองทุนเดียวอย่างชัดแจน 2. อาจจะมีมาตรการรองรับคนไม่มีสัญชาติไทยให้ชัดเจนหรือมีการพูดเรื่องกลุ่มนักท่องเที่ยวด้วย ต้องคิดให้ชัด มีมาตรการดูแลเรื่องสุขภาพในฐานะเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานกับคนทุกคนกับคนในพื้นแผ่นดินไทยอย่างไรให้ชัดเจน โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติเพราะว่าทุกคนเป็นมนุษย์ ทุกคนความศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดังนั้นแรงงานข้ามชาติก็ควรจะได้รับการดูแลเพราะเค้าได้เข้ามาช่วยเรื่องเศรษฐกิจบ้านเราอยู่เยอะ ดังนั้นถ้าเราทำระบบสุขภาพที่รองรับกลุ่มที่ยังไม่ได้อยู่ในระบบในไทยอย่างชัดเจนจะช่วยได้

ส่วนอีกข้อเสนอ คือ เราควรจะยกเลิกการร่วมจ่ายของกลุ่มประกันสังคมเพราะยังเป็นกลุ่มเดียวที่ยังต้องจ่ายค่าสุขภาพ รัฐควรจะจ่ายค่าหัวให้เท่ากับบัตรทอง เงินที่เก็บจากลูกจ้างเอาไปสมทบกับส่วนชราเพิ่มเพิ่มขึ้น เพื่อต้องมีเงินออมใช้ในยามสูงวัยมากขึ้น อันนั้นเป็นประเด็นในการเหลื่อมล้ำในสังคม 

“ถ้าหากข้อเรียกร้องของภาคประชาชนไม่ได้บรรจุในรัฐธรรมนูญคงต้องเคลื่อนไหวต่อ เพราะสุดท้ายเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องชีวิตคนอยู่ในชีวิตประจำวันทุกคน และถึงอย่างไรยังเชื่อว่า สภาพความเป็นจริงผู้ให้บริการสุขภาพ ยังคงต้องมีคุณธรรมเละจริยธรรมอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราอยากเห็นว่ามีการพัฒนาระบบเชิงสร้างสรรค์มากขึ้น ที่สำคัญถ้าทำตามข้อเสนอเหล่านี้ ซึ่งข้อเสนอเราช่วยประหยัดงบประมาณ และสร้างการมีส่วนร่วมภาคประชาชนในการดูแลสุขภาพให้มากขึ้น เราพยามทำอยู่แล้ว เราอยากเห็นคนที่ไม่เจ็บไม่ป่วย เรียกว่าป้องกันไว้ดีกว่า เพราะฉะนั้นการทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมสร้างเสริมสุขภาพในกลุ่มเฉพาะที่ดูมีความเสี่ยงของสุขภาพในวิถีชีวิตจะช่วยให้ได้เยอะ” สุภัทรา กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท