Skip to main content
sharethis

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และด้านสังคม เสนอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มกำลังซื้อ แนะแรงงานต้องสร้างแนวร่วม หยุดวาทกรรม 'ปรับค่าจ้างกระทบค่าครองชีพ' เน้นต้องสร้างพลังต่อรองทางการเมือง หนุนสหภาพแรงงานเป็นฐานระบบประชาธิปไตย


 ที่มาภาพ Nongmai Vijan


นักสื่อสารแรงงาน เว็บ VoiceLabour.org รายงานเนื้อหาจากการสัมมนาเรื่อง “ทำไมค่าจ้างขั้นต่ำต้องเท่ากันทั่วประเทศ” เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2559 ที่สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 4 ห้องจั๊คส์ อัมโยต์ จัดโดย เครือข่ายวิชาการเพื่อสังคมเป็นธรรม (JuSNet) ร่วมกับ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า เนื่องจาก คสรท.ได้มีการสำรวจข้อมูลค่าครองชีพของผู้ใช้แรงงานเมื่อเดือนมกราคม – มีนาคม 2558 จาก 12 พื้นที่ทั่วประเทศ โดยมีจำนวนตัวอย่าง 2,933 คน พบว่าค่าใช้จ่ายของแรงงานในพื้นที่ค่อนข้างสูง โดยนำมาคำนวณแม้ว่าจะตัดในส่วนค่าเช่าบ้านไปแล้ว สรุปว่าค่าจ้างที่แรงงานพออยู่ได้แบบอัตคัดนั้นเฉลี่ยอยู่ที่ 360 บาทต่อวัน แต่ก็ยังต้องมีการทำงานล่วงเวลา

จากนั้นทาง คสรท.ได้นำข้อมูลผลการสำรวจเสนอต่อสาธารณะ พร้อมกับให้ทางอนุกรรมการค่าจ้างระดับจังหวัดนำข้อมูลนี้เป็นฐานคิดในการเสนอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากัน รวมถึงได้ยื่นหนังสือต่อรัฐบาลเพื่อให้คณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) นำมาเป็นข้อมูลพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างทั่วประเทศ เนื่องจากค่าสาธารณูปโภค ราคาสินค้าปรับขึ้นตามค่าครองชีพ และรัฐเองก็ไม่มีนโยบายควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคจนส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วหน้า ทำให้ผู้ใช้แรงงานต้องทำงานล่วงเวลาจนคุณภาพชีวิตแย่ ซึ่งแม้ว่ารัฐบาลจะพูดถึงการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อการปรับขึ้นค่าจ้างตามฝีมือแรงงาน แต่ก็ไม่สามารถครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่มให้ได้ประโยชน์สูงสุดได้ นอกจากนี้ การไร้อำนาจต่อรองของแรงงาน ซึ่งสืบเนื่องจากการไม่มีการรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงานจึงเป็นปัญหาที่ทำให้แรงงานส่วนใหญ่ได้รับเพียงค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อยังชีพไม่สามารถเรียกร้องปรับขึ้นค่าจ้างที่สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำได้

รศ.ภก.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการเรียกร้องให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำว่า คนที่มาทำหน้าที่ปฏิรูปประเทศเองยังไม่ได้เข้าใจถึงความสำคัญ มองว่าการรับฟังเสียงของแรงงานยังไม่ใช่หน้าที่ และกล้าๆ กลัวๆ ในการที่จะทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนที่จะส่งเสียงความต้องการของประชาชนอย่างแรงงาน หรือผู้เดือดร้อน

ระบบทุนเข้ามาคุกคามแรงงานอย่างหนัก ซึ่งเกิดขึ้นตอนนี้หลายกรณี รัฐต้องมองว่าค่าจ้างขั้นต่ำคือการประกันรายได้ขั้นต่ำของแรงงานแรกเข้าทำงาน และหากต้องการเพิ่มมากกว่าเดิมแรงงานต้องเรียกร้องเติมค่าจ้างให้มากขึ้นเอง จากประวัติศาสตร์ตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 ค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 12 บาท วันนี้ ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 เพิ่มขึ้นยังไม่มากนักหากเทียบกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น การพัฒนาเศรษฐกิจ โรงงานตั้งอยู่บนพื้นที่ของความเสี่ยงด้านความปลอดภัย สิ่งแวดล้อมและสุขภาพคนงาน รัฐก็ละเลยที่จะดูแล วันนี้ยังมีโรงงานที่ใช้แร่ใยหินในการผลิต ทั้งที่มีอันตรายทั้งต่อตัวของแรงงานและผู้ใช้ พวกเรารู้ว่าแร่ใยหินและเหมืองแร่มีอันตราย ถ้านายจ้างจ่ายค่าจ้างวันละพันบาทก็คงไม่ทำแน่ แต่แรงงานไม่รู้ข้อมูลด้านผลกระทบต่อชีวิต เขามองเพียงค่าจ้างรายได้ จึงหวังเพียงรัฐบาลจะดูแลให้นายจ้างมีความรับผิดชอบต่อชีวิตของแรงงานด้วย

นางสุนี ไชยรส ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมความเสมอภาคและความเป็นธรรม วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การต่อสู้เรียกร้องเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ ถือเป็นปัญหามาตลอด และเมื่อลูกจ้างต้องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อไร สิ่งที่ต้องตอบต่อสังคมคือ หากปรับขึ้นค่าจ้าง ค่าครองชีพจะปรับขึ้นไปด้วยและส่งผลกระทบกับประชาชนคนส่วนใหญ่หรือไม่ นี่เป็นเสียงสะท้อนของสังคมถึงแรงงานทุกครั้ง รวมถึงหากปรับขึ้นค่าจ้างสูงเมื่อไรนายจ้างจะย้ายฐานการผลิต ส่งผลกระทบให้โรงงานต้องปิดตัว แรงงานก็ตกงาน เป็นโจทย์ที่ต้องร่วมกันแก้ และทำอย่างไรให้สังคมเข้าใจ ซึ่งชนชั้นกลางต้องเข้ามาร่วมเคลื่อนโดยไม่มีคำถาม มองเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างเป็นโจทย์ร่วมของสังคม

สุนีชี้ว่า อีกประเด็นคือเรื่องค่าจ้างเท่ากันทั่วประเทศ รัฐส่งเสริมเรื่องของการกระจายการลงทุนไปต่างจังหวัด จึงมองว่าหากค่าจ้างไม่เท่ากัน การลงทุนก็จะเกิดซึ่งในความเป็นจริงคือ ค่าครองชีพเท่ากันหมดแล้ว ไม่มีที่ไหนที่สินค้าราคาถูกกว่ากัน ค่าจ้างขั้นต่ำต้องเท่ากันทั่วประเทศเพราะชีวิตแรงงานไม่ต่างกัน

ศาสตราภิชาน รศ.ดร.แล ดิลกวิทยรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สังคมและคนทั่วไปไม่เข้าใจเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั้งที่เป็นเพียงการปรับขึ้นค่าจ้างพื้นฐานเท่านั้น และค่าจ้างแรงงานถือเป็นเพียงเสี้ยวเดียวหรือร้อยละ 1 ของต้นทุนการผลิตของค่าใช้จ่ายของนายจ้าง ขณะที่ทุนผูกขาดด้านสินค้าอุปโภคบริโภค เมื่อต้นทุนขยับขึ้นเพียงหนึ่งในร้อย ค่าครองชีพต้องปรับขึ้นด้วย ซึ่งเป็นวาทกรรมของกลุ่มทุนและรัฐที่สร้างขึ้น และสังคมรวมถึงคนชั้นกลางชั้นล่างก็มองว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันแบบปรับขึ้นค่าจ้างเท่าไรก็ไม่ทันค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงขึ้น โดยไม่ได้คิดว่าถึงไม่ปรับขึ้นค่าจ้างราคาสินค้าก็ปรับตัวขึ้นตามราคาน้ำมันหรือองค์ประกอบอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับค่าจ้างแรงงานเพียงแค่เสี้ยวหนึ่งของต้นทุน

สิ่งที่น่าแปลกใจคือทำไมไม่มีใครบ่นเมื่อรัฐประกาศปรับขึ้นเงินเดือนให้กับข้าราชการ และรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเมื่อประกาศปรับค่าครองชีพก็ปรับขึ้นเช่นกัน และดูเหมือนว่าการปรับขึ้นค่าจ้างข้าราชการจะดูง่ายมากกว่าการที่จะปรับค่าจ้างขั้นต่ำแรงงาน เพราะค่าจ้างของราชการ รัฐวิสาหกิจไม่เกี่ยวกับต้นทุนทางธุรกิจ

การที่มีการแยกจังหวัดด้านการปกครอง ไม่ได้มีการแบ่งเขตเศรษฐกิจหรืออัตราค่าครองชีพ ราคาสินค้าเลย รัฐมองว่าแรงงานคงหากินอาหาร หาปู ปลา ไข่มดแดง พืชผักได้ตามบ้าน จึงให้ค่าจ้างต่ำหน่อยตามศักยภาพพื้นที่ หากในเมืองก็ค่าจ้างสูงหน่อยเพราะหากินแบบชนบทไม่ได้ รัฐมองว่าต้องดูเป็นรายจังหวัดไปเพราะค่าครองชีพต่ำ สูงต่างกัน การที่แรงงานมีค่าจ้างต่ำจะจูงใจให้เกิดการลงทุน อันนี้ก็คงไม่ใช่ตามที่รัฐคาดหวังแน่นอน เพราะมีต้นทุนอย่างอื่นที่สูงกว่า

เรื่องค่าจ้างในท้องถิ่นเป็นมุมมองของผู้ปกครอง แต่ในความเป็นจริงคือวิถีชีวิตของแรงงานไม่ใช่ชาวบ้านอีกต่อไป วิถีชีวิตแรงงานคือทำงานในโรงงาน ทำงานล่วงเวลาเหมือนกันทุกจังหวัด คงไม่มีเวลาที่จะไปหาไข่มดแดง หักฟืนปลูกข้าวกิน วันหยุดก็คงเข้าห้างซื้อข้าวปลาอาหารไว้กินไว้ใช้เหมือนกัน ซึ่งต้นทุนของแรงงานจึงเท่ากัน ค่าครองชีพเท่ากัน การที่จะใช้ค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อจูงใจการลงทุน การพูดถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อการลงทุนค่าจ้างต่ำ การลดภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุน ก็เป็นอีกมาตรการของรัฐที่จะกดค่าจ้างให้ต่ำ

อีกวาทกรรมคือการมีส่วนร่วมในการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานจะขึ้นหรือไม่อยู่ที่องค์กรไตรภาคี คือนายจ้างและลูกจ้าง แต่ปัญหาคือความเป็นตัวแทนลูกจ้างมาจากไหนกัน หากเป็นจังหวัดที่ไม่มีสหภาพแรงงาน เพราะว่าความเป็นตัวแทนต้องรู้ถึงความต้องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ว่าคุณภาพชีวิตของแรงงานจะดีไม่ได้ถ้าค่าจ้างต่ำเกินไป แต่ว่าตัวแทนที่อ้างว่าเป็นแรงงานกลับมีมติไม่ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ อันนี้คงต้องไปดูว่าเป็นตัวแทนของใคร เป็นตัวแทนแรงงานจริงหรือไม่ คิดว่าค่าจ้างขั้นต่ำก็พอกับคำว่าคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่ต้องดำรงอยู่ได้อย่างสมศักดิ์ศรี และค่าจ้างขั้นต่ำไม่ใช่ตัวแปรในการลงทุน หรือการย้ายฐานการผลิต เพราะว่าจะอยู่หรือไปนายจ้างตัดสินใจบนพื้นฐานอย่างอื่น เช่นความสะดวกของถนนหนทาง การขนส่ง ปัจจัยอื่นๆ ที่ถือเป็นต้นทุนการผลิต ซึ่งค่าจ้างเพียงร้อยละ 1 เท่านั้นของต้นทุน จะปิดหรือเปิดไม่เกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ที่ได้ยินเป็นเพียงวาทกรรม เขาชี้ว่า ค่าจ้างขั้นต่ำไม่ใช่แค่ค่าจ้างในการต่อลมหายใจแรงงาน แต่ต้องอยู่ได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

แลกล่าวถึงกรณีรัฐพูดถึงการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพแรงงงานและค่าจ้างว่า ที่ผ่านมา นายจ้างวัดคุณภาพผลงานอยู่แล้วและบอกว่าต่ำเสมอ ถามว่าแล้วใครจะเป็นคนประเมินเรื่องฝีมือ และส่งเสริมเรื่องการพัฒนาฝีมือให้ดีขึ้น ดังนั้น นายจ้างก็ต้องลงทุน รัฐบาลก็ต้องสนับสนุน

ดร.ศยามล เจริญรัตน์ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คณะกรรมการค่าจ้างกลาง และคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดนั้นใช้ระบบตัวแทนสามฝ่ายเท่าๆ กัน ถามว่าใครเป็นตัวแทน ในเมื่อสหภาพแรงงานมีน้อย ไม่ครบทุกจังหวัด  แล้วใครเป็นตัวแทนที่จะบอกว่าจะปรับขึ้นค่าจ้างหรือไม่

การเรียกร้องปรับขึ้นค่าจ้างกระทบกับใครบ้าง มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบจากสังคม ซึ่งกังวลเรื่องค่าครองชีพที่ปรับตัวขึ้นสูง แรงงานข้ามชาติจะเข้ามาทำงานในประเทศไทยมากขึ้น นายจ้างจะปิดกิจการ ย้ายฐานการผลิต ซึ่งจากผลสำรวจ 2 ปีหลังปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ของสถาบันอนาคตไทยศึกษา ที่เผยแพร่เมื่อเดือนสิงหาคม 2557 พบว่า จากที่มีการคาดการว่าเงินเฟ้อจะสูงขึ้นร้อยละ 7 แต่ความจริงปี 2554-2556 อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยกลับอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3 เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยร้อยละ 2.6 ช่วงปี 2551-2553 ซึ่งเป็นช่วงก่อนมีนโยบาย นั่นหมายความว่า แม้ราคาข้าวของขึ้นแต่ก็ไม่ได้รุนแรงเท่าที่คาดการณ์

ในเรื่องสถานประกอบการ รายงานดังกล่าวพบว่า แม้จะมีสถานประกอบการปิดตัวลงเพิ่มขึ้น 2.4 เท่า คือประมาณ 7,000 รายในช่วงปี 2551-2553 เป็นประมาณ 16,000 รายในช่วงปี 2554-2556 ก็พบว่าในจังหวัดที่ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นมาก สัดส่วนการจ้างงานในกลุ่มจังหวัดดังกล่าวไม่ได้ลดลงมากแต่อย่างใด โดยเฉพาะใน 20 จังหวัดที่ได้ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มสูงสุด จังหวัดที่มีการจ้างงานลดลงมากที่สุดก็ยังลดลงเพียงร้อยละ 0.5  ส่วนความกังวลว่าจะตกงานเพิ่มขึ้น พบว่าความจริงแล้ว อัตราคนว่างงานเฉลี่ยกลับลดลง คือจากร้อยละ 1.1 ในช่วงปี 2551-2553 กลายเป็นร้อยละ 0.7 ในช่วงปี 2554-2556

หลายส่วนจึงสวนทางกับที่มีการมโน หรือกังวลกัน แต่ก็ไม่ใช่ว่าการขึ้นค่าจ้างครั้งนั้นไม่มีปัญหาเลย คือนอกจากเรื่องสถานประกอบการที่ปิดกิจการมากขึ้นดังกล่าวไปแล้ว รายงานยังพบว่ามีแรงงานที่ได้ค่าจ้างน้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ จากร้อยละ 22 ในช่วงปี 2551-2553 และเป็นร้อยละ 30 ช่วงปี 2554-2556 และถูกลดสวัสดิการลงร้อยละ 20 ซึ่งอยู่ในร้อยละ 2 ของค่าจ้างทั้งหมด และรายได้อื่นๆ เช่นค่าทำงานล่วงเวลา เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตได้เท่าเดิม แต่แบกต้นทุนส่วนค่าจ้างเพิ่มขึ้น

จะเห็นว่าการปรับขึ้นค่าจ้างนั้น นายจ้างเดือดร้อนบ้างแต่เล็กน้อย แต่หากไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้าง คนที่เดือดร้อนคือระดับมหภาคในส่วนของประชาชน เพราะแรงงานต้องเลี้ยงดูคนทั้งครอบครัว ถามว่าค่าจ้าง 300 บาททำให้แรงงานมีเงินเพียงพอในการดำรงชีวิตและเข้าถึงชีวิตที่ในระดับพื้นฐานหรือไม่

จากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติชี้ว่า รายจ่ายครัวเรือนจากข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ปี 2558 มีค่าเฉลี่ยทั่วประเทศที่ครัวเรือนละ 12,410 บาทต่อเดือน คิดเป็นเฉลี่ยคนละ 4,000 บาทต่อเดือน แต่การสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี 2557 รอบ 6 เดือน ปี 2558 พบว่ามีค่าใช้จ่ายครัวเรือนละ 20,818 บาท และ 21,892 ตามลำดับ ในขณะที่ค่าจ้าง เดือนละ 9,000 บาท (คิดแบบทำงานไม่มีวันหยุด) พบว่ารายจ่ายของคนไทยสูงขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 7.4 หมายความว่าค่าจ้างแรงงานในปัจจุบันไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ และหากจะมีการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมควรมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้เพิ่มมากขึ้นหรือไม่ และหากต้องการให้มีมาตรฐานคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ใช่แค่พออยู่ได้ควรปรับค่าจ้างขึ้นเท่าไร

การที่จะปรับค่าจ้างให้ได้แบบ Win-Win คือต้องมีการสร้างแรงจูงใจให้กับภาคธุรกิจ เช่น มาตรการทางภาษี รวมถึงสร้างมาตรการสนับสนุนผู้ผลิตขนาดเล็กเอสเอ็มอี มีการสร้างผลิตภาพ ผ่านนโยบายต่างๆ โดยต้องมีหน่วยงานหลักในการดูแล ซึ่งปัจจุบันมีสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ การพัฒนาฝีมือแรงงาน มีการอบรมเฉพาะทางให้กับธุรกิจแต่ละสาขา เตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ตลาด และสร้างหน่วยงานในการดูแลติดตามในเรื่องการคำนวณค่าครองชีพที่เหมาะสม เพื่อให้มีการสร้างมาตรฐานค่าครองชีพ เป็นฐานข้อมูลสำหรับปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ให้เป็นเส้นทางเดียวกัน และการสร้างแรงงานก็ต้องให้เป็นความต้องการของตลาดหากไม่เช่นนั้นก็จะเป็นแรงงานฝีมือที่ไม่ต้องการของตลาด

ผศ.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นหรือไม่ ไม่ใช่แค่เรื่องข้อมูล แต่เป็นเรื่องจุดยืนของผู้บริหารประเทศที่เหลือแล้วว่าจะยืนข้างนายจ้าง หรือว่าจะยืนข้างแรงงาน เป็นเรื่องอำนาจการต่อรองทางการเมืองด้วย ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องคณะกรรมการค่าจ้างกลาง หรืออนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเท่านั้น เพราะไม่ว่าจะเสนอให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างหรือไม่ คนที่ตัดสินใจสุดท้ายยังคงเป็นอำนาจรัฐบาล ซึ่งเลือกที่ยืนแล้วว่าจะอยู่ข้างไหน และนายจ้างก็ต้องการที่จะมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ ต้องการผลิตสินค้าที่ได้คุณภาพและสร้างกำไรสูงสุด ขณะที่ลูกจ้างต้องการค่าจ้างที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี และเพียงพอต่อการเลี้ยงดูครอบครัวด้วย

แรงงานถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขัน จากการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศ ไทยพบว่า ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นต่ำกว่าผลิตภาพแรงงาน หรือ Labour Productivity ในช่วงปี  2544-2553 ค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 2.2 น้อยกว่าผลิตภาพแรงงานที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5.9 โดยที่ผลิตภาพแรงงานในที่นี้คือ ผลิตภาพแรงงานรวม เพราะไม่ได้มีการแยกออกเป็นผลิตภาพแรงงานขั้นต่ำเอาไว้ แต่เมื่อเทียบค่าจ้างทั่วไปเฉลี่ยกับผลิตภาพแรงงานก็พบว่าค่าจ้างทั่วไปเฉลี่ยก็เพิ่มขึ้นต่ำกว่าผลิตภาพแรงงานเช่นกัน จึงสรุปได้ว่าแรงงานทั่วไปและแรงงานขั้นต่ำยังได้รับผลตอบแทนของค่าจ้างต่ำกว่าที่ควรจะเป็น จึงควรสนับสนุนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ การบริโภคและการลงทุนในประเทศ การขึ้นค่าแรงย่อมกระตุ้นอำนาจซื้อ การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคและการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก กำลังซื้อของเศรษฐกิจภายในของไทยร้อยละ 42 มาจากเงินเดือนและค่าจ้าง หากยกระดับกำลังซื้อนี้ด้วยการเพิ่มค่าจ้างได้ ก็จะมีผลต่อคนทุกกลุ่มด้านรายได้เพิ่มขึ้น การกำหนดนโยบายการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต้องพิจารณาให้เกิดดุลยภาพระหว่างความสามารถในการแข่งขัน และความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ

เขาเห็นด้วยกับการที่ค่าจ้างเท่ากันทั่วประเทศ และควรปรับเพิ่มเพื่อให้เพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีคุณภาพและมีเงินออมบ้าง มีเงินดูแลครอบครัวบ้าง ก็ให้มีการเสนอโดยการต่อรองของแรงงานแต่ละพื้นที่ ซึ่งการรวมตัวของแรงงานเพื่อสร้างอำนาจต่อรองมีความสำคัญ หากไม่มีการรวมตัวกัน ไม่สร้างอำนาจต่อรอง รัฐก็ควรดูแลค่าจ้างขั้นต่ำพื้นฐานให้อยู่ได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างมีศักดิ์ศรีด้วย

ส่วนแนวคิดที่ว่าหากมีการปรับขึ้นค่าจ้างจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานมีแรงงานข้ามชาติเข้ามาเพิ่มมากขึ้น หรือว่าจะมีการย้ายฐานการผลิตของนายจ้างไปประเทศที่มีค่าจ้างที่ต่ำกว่านั้น เขามองว่า การนำเข้าแรงงานข้ามชาตินั้นขึ้นอยู่กับความต้องการแรงงานของนายจ้างซึ่งอ้างว่า มีความขาดแคลนแรงงานมากกว่า ซึ่งตอนนี้จากข้อมูลนั้นมีแรงงานข้ามชาติกว่า 3 ล้านคน ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยและนี่คือตัวเลขที่พอตรวจสอบได้ ซึ่งก็มาตามความต้องการของนายจ้าง ส่วนการย้ายฐานการผลิต จากตัวเลขก็ไม่มากซึ่งก็เป็นอุตสาหกรรมที่ต้องย้ายอยู่แล้ว เพราะต้องการแรงงาน หรือต้องการที่จะใช้แรงงานราคาถูก ถามว่าทำไมประเทศไทยจึงก้าวข้ามไม่พ้นการเป็นแรงงานราคาถูก ดูตัวอย่างประเทศจีนที่เริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมมีแรงงานค่าจ้างต่ำกว่าประเทศไทย ต่อมาตอนนี้ค่าจ้างสูงกว่าประเทศไทย ประเทศไทยควรใช้การพัฒนาแรงงานให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน และไม่ควรใช้นโยบายค่าจ้างลอยตัวให้แต่ละพื้นที่ รายจังหวัดกำหนดค่าจ้างเอง เพราะจะทำให้แรงงานเคลื่อนย้ายมากระจุกตัวสู่พื้นที่ที่มีค่าจ้างที่สูงกว่า เพียงแค่ข้ามถนน และแรงงานเองก็ต้องมองถึงอนาคตว่าจะมีส่วนร่วมทางการเมืองเพื่อกำหนดนโยบายด้านแรงงานได้อย่างไร และอย่างไรก็ตามสหภาพแรงงานถือเป็นพื้นฐานของแนวคิดประชาธิปไตย ต้องมีอำนาจการต่อรอง ตอนนี้ไร้อำนาจไร้พลังทำให้รัฐบาลเลือกยืนข้างนายทุนเรื่องปรับหรือไม่ปรับขึ้นค่าจ้าง แรงงานต้องสร้างอำนาจต่อรองให้ได้

 


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://voicelabour.org/?p=24408

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net