Skip to main content
sharethis
นักเศรษฐศาสตร์คาดเศรษฐกิจไทยปี 2559 เติบโตได้ที่ระดับ 3.2-3.5% ดีขึ้นกว่าปี 2557 ขยายตัวเพียงแค่ 0.8% และ ปี 2558 กระเตื้องขึ้นเป็น 2.8% จะมีแรงกดดันจากชาติตะวันตกเพิ่มมากขึ้นอีกหากไม่สามารถกลับคืนสู่ประชาธิปไตยและการเลือกตั้งได้
 
29 พ.ค. 2559 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตได้ประเมินผลงาน "2 ปีเศรษฐกิจไทยหลังรัฐประหาร: อนาคตและความหวังและ ภารกิจในการปรับโครงสร้างและปฏิรูปเศรษฐกิจในปีที่สาม" ว่าประเมินเศรษฐกิจไทย 2 ปีหลังรัฐประหาร อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงกระเตื้องขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี พ.ศ. 2557 ที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองและมีการปิดกรุงเทพฯ หรือ Shut Down Bangkok ตลอดระยะเวลา 8 ปีหลังการรัฐประหาร 2549 วิกฤตการณ์ทางการเมืองได้เกิดขึ้นโดยตลอด ในระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมามีการชุมนุมประท้วงบนท้องถนนประมาณ 700 กว่าวันสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและเกิดการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจและการลงทุนจำนวนมาก สูญเสียทรัพยากรในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ให้ดีขึ้นและในช่วงเวลา 8 ปีมีรัฐบาลมากถึง 7 รัฐบาล นายกรัฐมนตรีและรักษาการนายกรัฐมนตรี 9 ท่าน สะท้อนความอ่อนแอของเสถียรภาพทางการเมือง ทำให้เศรษฐกิจไทยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำกว่าอัตราการเติบโตของกลุ่มประเทศอาเซียนและทำให้สูญเสียโอกาสในการลงทุนและเศรษฐกิจอย่างมาก ปัญหาสะสมดังกล่าวได้บ่อนเซาะให้ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยอ่อนแอลง ลดทอนความสามารถในการแข่งขัน ส่งผลให้ภาคส่งออกไทยติดลบต่อเนื่องและล่าสุดอัตราการขยายตัวทางส่งออกเดือนเมษายนก็ติดลบสูงถึง 8%
 
อนาคตเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับประชาธิปไตยที่มั่นคง เสถียรภาพทางการเมืองและการแก้ไขปัญหาวิกฤติความขัดแย้งทางการเมืองให้ได้ สำหรับรัฐประหาร 2557 ครบรอบ 2 ปีแล้วคงต้องรอดูว่าจะแก้ปัญหาความขัดแย้งได้อย่างไรหรือไม่ หรือ ทำให้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิมรัฐประหารจะเป็นเพียงกลไกในการระงับความขัดแย้งได้ในระยะสั้นเท่านั้นหากไม่สามารถสถาปนาความเป็นนิติรัฐ ระบบยุติธรรมที่ทุกคนเชื่อมั่น รัฐธรรมนูญที่เป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่ กติกาที่เป็นประชาธิปไตย 
 
การออกแบบรัฐธรรมนูญให้รัฐบาลเข้มแข็ง สถาบันพรรคการเมืองมีคุณภาพ ระบบตรวจสอบถ่วงดุลเข้มแข็ง รัฐบาลที่มีคุณภาพดีขึ้นหลังการเลือกตั้ง ประชาธิปไตยที่มีคุณภาพและเข้มแข็งจะเป็นดัชนีชี้วัดว่าผลงานของ คสช. มีประสิทธิผลอย่างไร และสิ่งนี้จะทำให้ระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ สังคมเกิดสันติธรรม ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และ ไทยจะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคและก้าวพ้นกับดักทศวรรษแห่งความถดถอยและขัดแย้งไปได้ 
 
เศรษฐกิจไทยปี 2559 เติบโตได้ที่ระดับ 3.2-3.5% ดีขึ้นกว่าปี 2557 ขยายตัวเพียงแค่ 0.8% และ ปี 2558 กระเตื้องขึ้นเป็น 2.8% จากภาคการลงทุนและภาคการท่องเที่ยวดีขึ้น ภาคการบริโภคที่กระเตื้องขึ้นอย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยจะมีแรงกดดันจากชาติตะวันตกเพิ่มมากขึ้นอีก หากเราไม่สามารถกลับคืนสู่ประชาธิปไตยและการเลือกตั้งได้ตามกรอบเวลาที่มีการคาดหวังเอาไว้ คสช. และ รัฐบาล ประสบความสำเร็จในการจัดระเบียบทางเศรษฐกิจบางเรื่อง มีการทวงคืนผืนป่าและพื้นที่สาธารณะให้กลับมาเป็นของแผ่นดิน การประมูลและการจัดซื้อจัดจ้างด้วย e-biding ที่เพิ่มความโปร่งใสในโครงการลงทุนภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ การบังคับใช้กฎหมายและการทำให้เกิดนิติรัฐจะเป็นผลดีต่อประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจ การประกอบการ การลงทุนในประเทศไทยสร้างความเชื่อมั่น
 
ภาคการลงทุน ในส่วนของการลงทุนภาครัฐปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนจากการติดลบ -7.3% ในปี พ.ศ. 2557 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 29.8% ในปี พ.ศ. 2558 โดยเติบโตสูงสุดในไตรมาสสี่ที่ 41.2% และ คาดว่าจะเติบโตได้ในระดับ 12-13% ในปี พ.ศ. 2559 ในส่วนของการลงทุนภาคเอกชนนั้น มีการฟื้นตัวอย่างช้าๆ และ คาดว่าจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดหากสามารถกลับคืนสู่การเลือกตั้งด้วยความเรียบร้อย โดยในปี พ.ศ. 2557 การลงทุนภาคเอกชนติดลบ -1% ในปี พ.ศ. 2558 ติดลบ -2% และ พ.ศ. 2559 คาดว่าจะเริ่มเป็นบวกเล็กน้อยประมาณ 2.1% 
 
ภาคการบริโภคหลัง 2 ปีของการรัฐประหารโดย คสช. ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก โดยปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเป็นผลจากหนี้ครัวเรือนในระดับสูง รายได้เกษตรกรลดลง ประชาชนส่วนใหญ่รายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก การบริโภคเติบโตในระดับ 0.6% ในปี พ.ศ. 2557 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 2.1% ในปี พ.ศ. 2558 และคาดว่ากระเตื้องขึ้นเพียงเล็กน้อยในปี พ.ศ. 2559 ที่ระดับ 2.3% เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมเติบโตเป็นบวกต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ภาคท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างชัดเจนจากจำนวนนักท่องเที่ยวติดลบ -6.5% ในปี พ.ศ. 2557 มาเป็น เติบโตเป็นบวก 20% ในปี พ.ศ. 2558 และคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในปี พ.ศ. 2559 อาจแตะระดับ 33 ล้านคน (ขยายตัวเพิ่มขึ้น 10.4%) ทำรายได้ 1.685 ล้านล้านบาท (ขยายตัวเพิ่มขึ้น 10.6%) ส่วนภาคเกษตรกรรมปรับตัวลดลงทั้งมูลค่าและผลผลิต โดยอัตราการขยายการผลิตภาคเกษตรขยายตัวเป็นบวกเล็กน้อยที่ ในปี พ.ศ. 2557 หดตัวร้อยละ -3.8 ในปี พ.ศ. 2558 และยังคงขยายตัวติดลบต่อเนื่องในไตรมาสแรกของปี พ.ศ. 2559 ที่ระดับร้อยละ -1.5 ภาวะดังกล่าวเป็นคำอธิบายว่าทำไมคนส่วนใหญ่ยังไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้นเนื่องจากประชากรส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรมที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภัยแล้งและราคาพืชผลที่ตกต่ำ ราคาและรายได้ที่ไม่สอดคล้องกับกลไกตลาดซึ่งเกษตรกรเคยได้รับจากการรับจำนำและการประกันราคาในอดีตมีแรงกดดันจากปัญหาหนี้สาธารณะมากขึ้นตามลำดับ รายได้ของเกษตรกรที่ดีขึ้นช่วงหนึ่งได้จากการแทรกแซงราคาได้ทรุดตัวลงหลังจากมีการยกเลิกมาตรการดังกล่าวเนื่องจากมีข้อจำกัดฐานะทางการคลังมากขึ้น มีความเสียหายจากการรั่วไหลทุจริต 
 
ดร.อนุสรณ์ กล่าวถึง ภารกิจของ คสช. ควรทำในช่วงต่อไปว่า ข้อแรก ต้องทำให้เกิดกระบวนการสร้างความสมานฉันท์ปรองดองและบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ ข้อสอง ดำเนินการเพื่อให้ประเทศไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตยและการเลือกตั้งอย่างเรียบร้อย สาม ดำเนินการปฏิรูปในเรื่องต่างๆและวางรากฐานและส่งมอบภารกิจเพื่อการปฏิรูปให้กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต่อไปสี่ เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ เร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนระบบราง การบริหารจัดการน้ำ และอื่น ๆ ให้เป็นไปตามเป้าหมาย ห้า ดำเนินการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในกรอบวงเงิน 6 แสนกว่าล้านบาทให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใสและเข้าถึงประชาชน ห้า ประสานกับธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ให้เกิดปัญหาหนี้เสียที่อาจเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปลายปีและดูแลไม่ให้เงินบาทผันผวนมากเกินไป (มีโอกาสอ่อนตัวมากกว่าปรกติในช่วงปลายปี) ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาจะแข็งค่าขึ้นจากปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ หก ฟื้นฟูภาคเกษตรกรรมและเพิ่มรายได้ให้ผู้ใช้แรงงานและเกษตรกรรายย่อย โดยควรพิจารณาปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้กับผู้ใช้แรงงาน เจ็ด เปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมการลงประชามติรัฐธรรมนูญในเดือนสิงหาคม หลีกเลี่ยงการกำกับควบคุมที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ แปดรื้อฟื้นทบทวนคดีค่าโง่ทั้งหลายที่รัฐบาลต้องจ่ายค่าเสียหายจำนวนมากจากการทุจริตคอร์รัปชันและสัญญาสัมปทานที่ไม่เป็นธรรม เพื่อให้รัฐและประชาชนผู้เสียภาษีมีงบประมาณมากขึ้นในการพัฒนาประเทศ รัฐบาล และ คสช. ควรพัฒนาระบบและกลไกเพื่อให้โครงการขนาดใหญ่ สัมปทานต่างๆในปัจจุบันและอนาคตไม่เกิดปัญหาค่าโง่ขึ้นมาอีกเช่นที่ผ่าน ๆ มา ไม่ว่าจะเป็นโครงการค่าโง่คลองด่าน ค่าโง่ทางด่วน ค่าโง่รถดับเพลิง กทม. ค่าโง่โฮปเวลล์ เป็นต้น
 
2 ปีที่ผ่านมา มีความคืบหน้าในการปฏิรูประบบวิจัยและระบบการศึกษาได้ดีระดับหนึ่งอันจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการยกระดับผลิตภาพ สร้างสรรค์นวัตกรรม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ปีที่สามของ คสช.ก่อนการเลือกตั้ง (1 ปีกว่า ๆ ที่เหลืออยู่) เพิ่มงบประมาณทางด้านการวิจัยและการสร้างนวัตกรรมให้อยู่ในสัดส่วนเดียวกับประเทศพัฒนาแล้ว วางรากฐาน 10 ยุทธศาสตร์ของแผนการศึกษาแห่งชาติ 15 ปีให้เข้มแข็งและรัฐบาลในอนาคตสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดช่วง 
 
ดร.อนุสรณ์ ได้กล่าวให้ความเห็นอีกว่าสนับสนุนรัฐบาลเดินหน้าเก็บภาษีที่ดินเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและปฏิรูปที่ดินด้วยการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พร้อมลดภาษีด้วยการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคลเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน กระตุ้นให้เกิดการทำงาน การลงทุนและขยายกิจการเพิ่มขึ้น การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจและการปรับโครงสร้างการบริหารกิจการภาครัฐควรทำให้เกิดเป็นผลสำเร็จ รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมในการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเนื่องจากยังไม่มีความคืบหน้าในเรื่องนี้มากนัก นโยบายการการปรับโครงสร้างประชากรและเพิ่มประชากรในวัยทำงานควรดำเนินการอย่างเหมาะสม การปฏิรูประบบสวัสดิการให้มีความยั่งยืนทางการเงิน 
 
การผ่านกฎหมายภาษีที่ดินและการปฏิรูปที่ดิน โดย สนช. และรัฐบาล คสช. จะเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปภาษีทั้งระบบเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้นและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาลในการนำไปพัฒนาประเทศ อยากให้รัฐบาลเดินหน้าจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโดยปรับเปลี่ยนอัตราและเพดานเริ่มจัดเก็บให้เหมาะสมเพื่อไม่ให้กระทบชนชั้นกลาง ภาษีทรัพย์สินทั้งภาษีมรดกและภาษีที่ดินจะเป็นประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนในระยะยาว รวมทั้งจะเป็นผลงานสำคัญในเรื่องการปฏิรูปเศรษฐกิจ การกระจุกตัวของการถือครองที่ดินในสังคมไทยถือว่าเป็นปัญหาที่อยู่ในระดับรุนแรงมากๆเนื่องจากกลุ่มที่ถือครองที่ดินสูงสุด 20% แรกถือครองที่ดินมากกว่ากลุ่มที่ถือครองที่ดินต่ำสุด 20% ล่างสุดมากถึง 325 เท่า นอกจากนี้กลุ่มที่ถือครองที่ดินสูงสุด 20% แรกนี้ยังถือครองที่ดินคิดเป็น 80% กว่า และ คนที่ร่ำรวยที่สุดของประเทศนี้ 10% แรกถือครองที่ดินเกือบ 90% ของทั้งประเทศ นอกจากนี้จากผลการวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินยังพบว่า มีค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคหรือการกระจายการถือครองที่ดินสูงถึง 0.89 การที่ค่า Gini Coefficient มีค่าสูงเกือบ 0.9 สะท้อนถึงความไม่ธรรมและความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจที่รุนแรงพร้อมกันนี้ควรลดภาษีด้วยการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคลเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน กระตุ้นให้เกิดการทำงาน การลงทุนและขยายกิจการเพิ่มขึ้น ผศ. ดร. อนุสรณ์ ได้กล่าวอ้างงานวิจัยสำคัญต่างๆเพื่อชี้ให้เห็นว่า ระบอบประชาธิปไตยจะส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวมากกว่าโดยเฉพาะมิติทางด้านความเป็นธรรมและการกระจายรายได้เช่นBarro (1996), Glasure, Lee and Norris (1999), Plumper and Martin (2003), Doucouliagos and Ulubasoglu (2008), Rodrik and Wacziarg (2005) เป็นต้นแสดงถึง ความสัมพันธ์ของระดับประชาธิปไตย การใช้กฎอัยการศึกษาและการจำกัดเสรีภาพ(การปกครองแบบรวมอำนาจ) กับ การพัฒนาเศรษฐกิจ พบข้อสรุปจากงานวิจัยสำคัญๆ สอดคล้องกันว่า “ในระยะยาว ระบอบประชาธิปไตยทำให้เสถียรภาพและการขยายตัวทางเศรษฐกิจดีขึ้นมากกว่าระบอบอำนาจนิยมหลายเท่าตัวเพราะการมีส่วนร่วมของประชาชนและเสรีภาพในการประกอบการ เสรีภาพทางความคิดและการแสดงออกทำให้เกิดนวัตกรรมและงานสร้างสรรค์ นอกจากนี้ยังพบว่า ประเทศที่มีประชาธิปไตยในระดับสูง ความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจจะสูงขึ้น ความเหลื่อมล้ำลดลง เสถียรภาพของสังคมสูงกว่า ความแตกแยกต่ำกว่า สถาบันต่างๆมีความเข้มแข็งและธนาคารกลางมีความเป็นอิสระมากกว่า การเป็นประชาธิปไตยมีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจผ่านสี่ช่องทางคือ ทุนกายภาพดีกว่า ทุนมนุษย์สูงกว่า ทุนทางสังคมและการเมืองมากกว่าระบอบอำนาจนิยม (Persson and Tabellini 2006) นอกจากนี้ระบอบประชาธิปไตยยังเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจได้ดีกว่าระบอบอำนาจนิยม (Rodrik 2007) อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยภายใต้ระบอบประชาธิปไตยในประเทศกำลังพัฒนา ทำให้รัฐบาลจากการเลือกตั้ง ไม่สามารถพลักดันนโยบายสาธารณะดีๆที่เป็นประโยชน์ในระยะยาวได้หากต้องเสียคะแนนนิยม ขณะที่ปัญหาการทุจริตในการเลือกตั้งและการทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมืองทำให้ระบอบประชาธิปไตยในประเทศที่มีปัญหาดังกล่าวอ่อนด้อยลงทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผล การทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งขึ้นจึงต้องปฏิรูปกระบวนการเข้าสู่อำนาจของนักการเมืองให้สามารถคัดกรองคนดีมีความรู้ความสามารถสู่ระบบการเมือง ทำให้พรรคการเมืองพัฒนาสู่ความเป็นสถาบัน ให้มีการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่องไม่สะดุดลงด้วยรัฐประหารเป็นระยะๆ ย่อมทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งและมีคุณภาพในการตอบสนองต่อการแก้ปัญหาของประเทศและประชาชน และไม่ทำให้เกิดเผด็จการจากการเลือกตั้ง 
 
ดร.อนุสรณ์กล่าวอีกว่าหากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ต้องมีกระบวนการในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นไปตามกรอบเวลาเลือกตั้งเดิมจึงไม่กระทบต่อเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของนักลงทุนและเนื้อหารัฐธรรมนูญใหม่ต้องสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและยึดถือหลักการประชาธิปไตย หากรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ จะไม่มีผลบวกหรือผลลบอย่างมีนัยสำคัญต่อภาพรวมของภาวะเศรษฐกิจในปีนี้ ส่วนการลงทุนภาคเอกชนน่าจะดีขึ้นอย่างชัดเจน แต่จะต้องติดตามว่ารัฐธรรมนูญซึ่งมีเนื้อหาหลายประการไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยฉบับนี้จะนำมาสู่การเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งด้วยความเรียบร้อยหรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรีและสมาชิกวุฒิสภาจะนำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่หรือไม่หากมีวิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่จากประเด็นที่มานายกรัฐมนตรี ที่มาสมาชิกวุฒิสภาการให้อำนาจตุลาการและอำนาจองค์กรอิสระโดยไร้การตรวจสอบถ่วงดุล ผลกระทบทางเศรษฐกิจ การลงทุน การท่องเที่ยวน่าจะมากกว่าวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2535 เนื่องจาก ปัจจัยทางเศรษฐกิจไม่ได้เป็นบวกเหมือนเมื่อช่วงเกิดเหตุการณ์พฤษภา 2535
 
คสช. รัฐบาล และ ทุกภาคส่วนในสังคม มีหน้าที่ในการป้องกันไม่ให้เหตุการณ์วิกฤติทางการเมืองรอบใหม่ดังกล่าวเกิดขึ้น เศรษฐกิจปีที่สามของ คสช. จึงปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องและสังคมสงบสันติ 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net