Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ภาพที่หัวหน้า คสช. ถูกรุมล้อมจากประชาชนเพื่อขอถ่ายรูปเซลฟี่ราวกับซุปเปอร์สตาร์จากเกาหลี (ไม่แน่ใจว่าเป็นเกาหลีใต้หรือเกาหลีเหนือ) นั้นอาจทำให้หลายคนคิดไปไกลว่า คสช. ได้รับความนิยมล้นหลามจากคนไทยทั้งประเทศ

ความจริงแล้วในทุกรัฐบาลย่อมมีทั้งคนรักและคนเกลียดเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป ดังนั้นการที่จะตัดสินความนิยมในรัฐบาลด้วยภาพถ่ายเพียงไม่กี่ภาพจึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

คสช. หมายมั่นปั้นมือถึงความสำเร็จในการลงประชามติรัฐธรรมนูญว่า จะช่วยปฏิรูปประเทศไทยได้ ด้วยความไม่วางใจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง คสช. จึงขอเป็นผู้แต่งตั้ง ส.ว. เสียเองเพื่อสานต่อภารกิจของ คสช. อย่างน้อย 5 ปี พร้อมพ่วงคำถามพิเศษเพื่อหวังให้ ส.ว. เหล่านี้มีอำนาจเลือกนายกฯได้

หลายคนอาจคิดว่า ประชามติกับการเลือกตั้งไม่เกี่ยวกัน แต่สำหรับประชาชนหาเช้ากินค่ำ หรือที่มักเรียกกันว่า “ชนชั้นล่าง” อาจไม่ได้คิดเช่นนั้น  

ก่อนการรัฐประหาร 2557 เรามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหลายรัฐบาล แต่รัฐบาลเหล่านี้ต้องเผชิญความยุ่งยากจากการชุมนุมทางการเมืองของฝ่ายที่เห็นต่าง

เห็นได้ชัดว่า ช่วงการชุมนุมทางการเมืองในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ คนในกรุงเทพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง-ชนชั้นสูง เนื่องจากการปิดถนนกีดขวางการจราจร ขณะที่ชาวชนบทได้รับผลกระทบน้อยกว่ามาก

เมื่อ คสช. เข้ามาบริหารประเทศสามารถสยบการชุมนุมทางการเมืองของทุกฝ่ายลงได้อย่างราบคาบ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนในกรุงเทพ โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมาจะสนับสนุน คสช. 

แต่การที่ คสช. ปรับเปลี่ยนนโยบายประกันราคาผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าว และยางพารา ส่งผลให้ราคาผลผลิตทางการเกษตรเหล่านี้ตกต่ำอย่างหนักเป็นสิ่งที่สร้างผลกระทบต่อชาวชนบทอย่างรุนแรง ซ้ำร้ายภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปียิ่งซ้ำเติมชาวชนบทเข้าไปอีก ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือ ชาวชนบท

เม็ดเงินจากภาคการเกษตรหดหายอย่างมากทำให้ชีวิตของชาวชนบทที่เผชิญกับความยากลำบากอยู่แล้วยิ่งยากลำบากขึ้นไปอีก ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ 

คสช. อ้างว่า เศรษฐกิจโลกตกต่ำเป็นผลให้เศรษฐกิจไทยต้องตกต่ำตามนั้น คำถามจึงอยู่ที่ว่า เศรษฐกิจไทยตกต่ำตามเศรษฐกิจโลกจริงหรือ ?

อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ปี 2000-2014



อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในอาเซียน ปี 2000-2014

ข้อมูลจากธนาคารโลก (World Bank) ระหว่างปี 2000-2014 แสดงให้เห็นว่า ช่วงปี 2001-2003 เป็นช่วงของรัฐบาลพลเรือนอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยค่อนข้างสูงคือ จากร้อยละ 2.17 ต่อปีในปี 2001 เป็นร้อยละ 7.14 ต่อปีในปี 2003 เป็นไปตามประเทศเกือบทุกประเทศในอาเซียน แต่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยสูงกว่าหลายประเทศมากจนขยับจากอันดับที่ 9 ของอาเซียนขึ้นมาอยู่เป็นอันดับที่ 3 ของอาเซียน รองจากพม่าและกัมพูชา

ในปี 2005 เป็นช่วงที่เริ่มมีการชุมนุมทางการเมืองของฝ่ายตรงข้าม อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 6.37 ต่อปีในปี 2004 เหลือร้อยละ 4.6 ต่อปี แม้ว่าจะเป็นไปตามประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียน แต่ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำกว่าหลายประเทศจนอันดับร่วงมาอยู่เกือบรั้งท้ายของอาเซียน เหนือกว่าบรูไนเท่านั้น

ช่วงรัฐบาลทหารปี 2006-2007 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอยู่ภาวะทรงตัวร้อยละ 5.04-5.09 ต่อปี เป็นไปตามประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียน ยกเว้นฟิลิปปินส์และติมอร์ เลสเต ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสวนกระแส แต่อันดับของไทยก็ยังคงอยู่เกือบรั้งท้ายของอาเซียน เหนือกว่าบรูไนเท่านั้น

หลังการเลือกตั้งปี 2008 ที่ทำให้ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีถึง 2 คนภายในปีเดียวกัน และผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยก็ตกอยู่ในภาวะดิ่งเหวเหลือร้อยละ 2.48 ต่อปี และร้อยละ - 2.33 ในปีถัดมา แม้จะเป็นไปตามหลายประเทศในอาเซียน แต่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยหดตัวรุนแรงที่สุด ฉุดรั้งให้ประเทศไทยร่วงมาอยู่อันดับสุดท้ายของอาเซียนในปี 2009

ในปี 2010 แม้จะมีการชุมนุมทางการเมืองของฝ่ายตรงข้าม แต่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอยู่ภาวะก้าวกระโดด โดยขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 7.81 ต่อปี เป็นไปตามประเทศเกือบทั้งหมดในอาเซียน ยกเว้นพม่าและติมอร์ เลสเต ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง แต่ด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่สูงกว่าหลายประเทศ ส่งผลให้ประเทศไทยขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 4 ของอาเซียน

ในปี 2011 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยหดตัวรุนแรงอีกครั้งจนเหลือร้อยละ 0.08 ต่อปี ด้วยภาวะเศรษฐกิจไทยที่เกือบไม่เติบโต ฉุดรั้งให้ประเทศไทยร่วงมาอยู่อันดับสุดท้ายของอาเซียนอีกครั้ง

ในปี 2012 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยกลับมาก้าวกระโดดอีกครั้ง โดยขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 6.49 ต่อปี สวนกระแสหลายประเทศในอาเซียน ผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นไปอยู่อันดับที่ 6 ของอาเซียน

ช่วงปี 2013-2014 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมืองของฝ่ายตรงข้ามและการรัฐประหาร อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยทรุดตัวลง 2 ปีติดต่อกันจนลงมาเหลือร้อยละ 0.71 ต่อปี ฉุดรั้งให้ประเทศไทยลงมาอยู่ที่อันดับสุดท้ายของอาเซียนอีกครั้งในปี 2014

แม้ประเทศไทยไม่อาจฝืนกระแสเศรษฐกิจโลกได้ แต่ข้อมูลเหล่านี้บ่งบอกว่า การชุมนุมทางการเมืองส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ส่วนการรัฐประหารซึ่ง คสช. เชื่อว่า จะช่วยกอบกู้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยได้กลับไม่ได้ช่วยอะไร ดังนั้นการที่ คสช. พยายามสร้างภาพมายาเรื่องเศรษฐกิจจึงไม่ใช่ของจริง

 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net