34 ภาคประชาสังคมชายแดนใต้ตั้งองค์กรสังเกตการณ์ประชามติ

เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ที่ผ่านมา มติชนออนไลน์ รายงานว่า ที่โรงแรมไดฮิชิ อ.หาดใหญ่ มันโสด มะเต๊ะ ประธานภาคีเครือข่ายองค์กรสังเกตการณ์ ลงประชามติจังหวัดชายแดน ติดตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2559 โดยมีตัวแทนเครือข่าย 34 องค์ จาก 8 จังหวัดภาคใต้ เข้าร่วมประมาณ 50 คน โดย มันโสด กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่จะจัดให้มีการลงประชามติในวันที่ 7 ส.ค. ตามมาตรา 7 พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 บัญญัติว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและ เผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย จึงจัดตั้งองค์กรสังเกตการณ์ลงประชามติจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้น โดยมีภาคีเครือข่าย 34 องค์กรเข้าร่วม

“สมาคมสตรีมุสลิม สมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม สมาคมการศึกษาเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ศูนย์ประสานงานการศึกษาอิสลามประจำมัสยิด ชมรมโต๊ะอิหม่าน สมาคมฟัรดูอีน สมาพันธ์โรงเรียนเอกชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ เครือข่ายที่ดินทำกิน จ.พัทลุง เครือข่ายที่ดินทำกิน จ.พัทลุง ชมรมตาดีกาและองค์กรฮัจญ์และอุมเราะห์ จ.ปัตตานี”

มันโสด กล่าวว่า เพื่อให้ประชาชนเข้าใจเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ เชิญชวนประชาชนออกไปใช้สิทธิลงประชามติ เพื่อให้การลงประชามติเป็นไปตามกฎหมายและเกิดความยุติธรรม ป้องกันและดำเนินการกับเจ้าหน้าที่รัฐและ ประชาชนไม่ให้กระทำผิดกฎหมายประชามติ สังเกตการณ์และเฝ้าระวังไม่ให้มีการทุจริต ในการนับคะแนนลงประชามติ และสื่อสารสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องการปกครองระบอบประชามติ

มันโสด กล่าวว่า ก่อนที่ไปลงประชามติ ต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจรัฐธรรมนูญถ่องแท้ก่อน จะรับหรือไม่รับรัฐธรรม และให้ประธานระดับจังหวัดไปสร้างเครือข่ายในระดับอำเภอตำบลและหมู่บ้าน และให้มีการสรรหาประธานระดับอำเภอและตำบล เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ

นปช. จ่อเปิดศูนย์ปราบโกงการทำประชามติ 5 มิ.ย.นี้ 

30 พ.ค.59 เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'TV24 NEWSROOM' รายงานว่า ธนาวุฒิ วิชัยดิษฐ์ และ สมหวัง อัศราษี แกนนำ นปช. เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอความร่วมมือส่งวิทยากรไปให้ความรู้อาสาสมัครของ นปช.ที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบและติดตามการลงประชามติทั่วประเทศ โดยจะเปิดศูนย์ปราบโกงการทำประชามติ ในวันที่ 5 มิ.ย.นี้ ที่อิมพีเรียลเวิลด์ลาดพร้าว โดยหวังว่า กกต.จะช่วยอบรมให้อาสาสมัครเข้าใจกฏหมายประชามติมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะประเด็นใดทำได้ ประเด็นใดไม่สามารถทำได้ ส่วนรูปแบบการตรวจสอบนั้นจะมีความชัดเจนหลังวันที่ นปช.เปิดศูนย์อย่างเป็นทางการ โดยยืนยันว่า การติดตาม การลงประชามติ จะไม่สร้างความวุ่นวาย หรือสร้างความขัดแย้ง รวมถึงการลงพื้นที่ เพื่อคอยเฝ้าระวัง จะไม่มีรูปแบบของการชี้นำเพื่อให้ผลการลงประชามติออกมาในทางหนึ่งทางใด แต่เชื่อว่า การลงประชามติครั้งนี้ จะมีกลุ่มคนที่ทำผิดกฏหมายประชามติเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในฝากฝั่งของคนที่ต้องการให้ผลประชามติผ่านความเห็นชอบจากประชาชน

กสม.จี้คสช.ผ่อนสถานการณ์อีก

ข่าวสดออนไลน์ รายงานด้วยว่า อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมือง กล่าวกรณีคสช.จะยกเลิกคำสั่งที่เคยสั่งห้ามบุคคลเดินทางออกนอกประเทศยกเว้นบุคคลที่มีคดีติดตัว ว่า ส่วนตัวถือเป็นสัญญาณที่ดีในการที่จะยกเลิกการจำกัดสิทธิเสรีภาพการเดินทางของบุคคล นับเป็นแนวทางที่ดีมากและหวังว่าจะนำมาสู่การเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีสิทธิและเสรีภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้สิ่งที่ประชาชนร้องเรียนมากก็คือประเด็นสิทธิการแสดงความคิดเห็นโดยเฉพาะช่วงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากกลุ่มชาวบ้านทั่วไปยังไม่มีความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ส่วนตัวคิดว่ารัฐบาลควรผ่อนปรนและเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ถกแถลงร่างรัฐธรรมนูญเพราะจะเป็นการให้ความรู้กับประชาชน

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท