Skip to main content
sharethis

6 มิ.ย.2559 จากกรณีเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมา ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีมติเอกฉันท์เห็นว่า มาตรา 61 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ประชามติมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเนื้อหาในวรรคสองมีการบัญญัติคำว่า "รุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย" นั้น มีความไม่ชัดเจนและคลุมเครือ นำไปสู่ความสับสนของประชาชน ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น และอาจทำให้การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ดำเนินการโดยดุลพินิจของตัวเอง จนทำให้กระทบสิทธิของประชาชนที่อาจนำไปสู่ความเสียหาย จึงเห็นควรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เฉพาะมาตรา 61 วรรคสอง ส่วนข้อความในมาตรา 61 วรรคสาม และวรรคสี่ นั้นที่ประชุมเห็นว่าเป็นเรื่องของบทกำหนดโทษ ซึ่งเป็นดุลพินิจของผู้ออกกฎหมาย และเป็นดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณา ทั้งนี้คาดว่าจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ภายในสัปดาห์นี้ โดยคำร้องดังกล่าวเป็นของ จอน อึ๊งภากรณ์  ผู้อำนวยการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

ข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ รายงานว่า วันนี้ (6 มิ.ย.59) ผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผู้ร้อง) ได้เสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตาม รัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ.2557 ม.45 วรรคหนึ่ง โดยผู้ร้องเห็นว่าบทบัญญัติ ม.61 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่าง รธน. พ.ศ.2559 เป็นบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนเกินความจำเป็นและกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณาและการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นของประชาชน บทบัญญํติดังกล่าวจึงมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรธน.ชั่วคราว พ.ศ.57 ม.4 
 
ผู้ร้องจึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า บทบัญญัติใน ม.61 ดังกล่าว มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (ฉ.ชั่วคราว) พ.ศ.2557 ม.4
 
สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะได้เสนอคำร้องเรื่องดังกล่าวต่อองค์คณะตุลาการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยว่าจะรับคำร้องหรือไม่รับคำร้องต่อไป 

โฆษกศาลรธน.รับจะรีบเสนอคำร้องผู้ตรวจฯให้ตุลาการวินิจฉัยโดยเร็ว

สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า พิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญและโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า สำหรับการพิจารณาคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน เบื้องต้นทางสำนักงานฯไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาการพิจารณา แต่จะเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโดยเร็วที่สุด ส่วนตุลาการจะนำมาพิจารณาเมื่อใดขึ้นอยู่กับตัวคำร้องว่า มีรายละเอียดที่ชัดเจนสามารถพิจารณาได้ทันทีเลยหรือไม่ หรือหากคำร้องยังไม่ชัดเจนอาจจะต้องการขอเอกสารเพิ่มเติมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรืออาจจะต้องเชิญบุคคลเข้าชี้แจง ทั้งหมดขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของตุลาการ เบื้องต้นตุลาการรับทราบแล้วว่ามีการยื่นร้องเรื่องดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม พิมลยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมในสัปดาห์นี้เลยหรือไม่  เนื่องจากต้องดูรายละเอียดของคำร้องก่อน ไม่อยากกำหนดว่าต้องเข้าที่ประชุมสัปดาห์นี้ แต่จะดำเนินการโดยเร็ว

กกต.พร้อมชี้แจง หากศาลรธน.รับคำร้องผู้ตรวจฯ

ขณะที่ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้งให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความมาตรา 61 วรรคสองของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติขัดรัฐธรรมนูญชั่วคราวดังกล่าวว่า เบื้องต้นต้องรอศาลรัฐธรรมนูญว่า จะรับหรือไม่รับคำร้อง ถ้าศาลรับพิจารณาก็ต้องดูว่าจะเรียกให้ใครไปชี้แจง ซึ่งอาจจะเชิญผู้เกี่ยวข้องไปชี้แจงเช่น สนช.ซึ่งทราบว่าสนช.ได้มอบหมายบุคคลที่จะเข้าชี้แจงไว้แล้ว ส่วนกกต.ถ้าขอให้ไปชี้แจงก็พร้อมจะส่งตัวแทนไป กระบวนการร่างกฎหมายมีหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องให้คนที่เข้าใจดีที่สุดเป็นฝ่ายไปชี้แจงกับศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนที่นปช.เรียกร้องให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการทำประชามติยุติปฏิบัติหน้าที่เพื่อรอศาลวินิจฉัยก่อนนั้น ยืนยันว่าไม่สามารถทำได้ ตราบใดที่กฎหมายบังคับใช้อยู่ก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ไป ไม่เช่นนั้นจะถูกร้องฟ้องละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้ 

“ถ้าศาลวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญชั่วคราว ฝ่ายที่มีบทบาทในการยกร่างฯต้องเป็นผู้เสนอแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติใหม่ โดยอาจจะให้รัฐบาล สนช.หรือกกต.เป็นผู้ยกร่างฯแก้ไข หรือจะตัดเอาวรรคดังกล่าวออก รวมถึงอาจเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแล้วส่งให้สนช.พิจารณาให้ความเห็นชอบ จากนั้น ก็ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อประกาศใช้ต่อไป นอกจากนี้ กกต.จะมาดูว่าระเบียบหรือประกาศของกกต.ขัดแย้งกับพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯหรือไม่ ถ้าขัดแย้งก็จะแก้ไขให้สอดคล้อง”สมชัย กล่าว 
 
ต่อกรณีคำถามว่าศาลจะพิจารณาแล้วเสร็จภายใน 7 ส.ค.หรือไม่ สมชัย กล่าวว่า ไม่มีใครตอบได้ หรือเร่งรัดใครได้ ควรให้เวลาศาลพิจารณาอย่างเพียงพอ และยืนยันอีกครั้งว่ากกต.ไม่มีอำนาจเลื่อนวันออกเสียงประชามติได้ แต่สามารถขยับให้อยู่ให้อยู่กรอบ 120 วัน ซึ่งขยับไปอีกได้แค่ 4 วันและจะทำให้การลงมติจะไม่ตรงกับวันหยุด ยกเว้นจะแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวจึงจะเลื่อนได้ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net