รายงานพิเศษ: ทำหมันหญิงพิการ หรือร่างกายไม่ใช่ของพวกเธอ?

ฉายอคติสังคมมองคนพิการไร้เพศ ไม่ยอมให้ความรู้เรื่องเพศ แต่หญิงพิการกลับเป็นเหยื่อคุกคามทางเพศมากกว่าผู้หญิงทั่วไป 1.5-10 เท่า ซ้ำหญิงพิการหลายรายถูกจับทำหมัน ตั้งคำถาม-พวกเธอมี ‘สิทธิ’ ในเนื้อตัวร่างกายมากแค่ไหน

 

ภาพโดย Erasmus Student Network International (CC BY-ND 2.0)

ประเทศไทยมีผู้หญิงพิการกว่า 800,000 คน แม้จะบอกไม่ได้ว่ามีมากน้อยเพียงใด แต่ในจำนวนนี้มีหญิงพิการที่ถูกละเมิดสิทธิโดยการจับทำหมันแบบไม่รู้ตัว บางส่วนถูกโน้มน้าวให้ทำหมัน และถูกทำให้เชื่อว่า การทำหมันช่วยลดการถูกล่วงละเมิดทางเพศได้ แม้เรื่องน่าเศร้าเหล่านี้จะถูกฉายภาพซ้ำแล้วซ้ำอีก ‘สิทธิ’ ของผู้หญิงพิการก็ยังคงมองแล้วพร่าเลือน

ในอดีตที่ผ่านมา ทัศนคติของผู้อื่นต่อคนพิการและการให้คุณค่าต่อตนเองของคนพิการมักถูกมองข้ามความสามารถเรื่องเพศ มีความเชื่อผิดๆ ว่าคนกลุ่มนี้ไม่มีความรู้สึกทางเพศหรือไม่มีความต้องการทางเพศ เพราะเรื่องเพศมักถูกเชื่อมโยงกับศักยภาพและรูปลักษณ์ รวมทั้งความสวยงามทางร่างกายอยู่เสมอ และยิ่งเห็นเด่นชัดในมุมของผู้หญิงพิการที่มักถูกเลือกปฏิบัติในทั้งสองแง่คือ การเป็นผู้หญิงและการเป็นคนพิการ

"พอนั่งวีลแชร์โอกาสในการเรียนต่อชั้นมัธยมก็หมดไปเพราะสภาพโรงเรียนที่ไม่เอื้อ ความรู้เรื่องเพศที่ว่าน้อยอยู่แล้วในโรงเรียนจึงแทบกลายเป็นศูนย์ ซ้ำร้ายพอเราเริ่มอยู่แต่ในบ้านโอกาสที่จะเจอกับผู้ชายที่ถูกใจ หรือเพื่อนต่างเพศยิ่งน้อยลง จนเหมือนถูกกีดกันออกจากความสัมพันธ์แบบหนุ่มสาว"

เมื่อทัศนคติเช่นนี้ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทย แม้แต่ตัวคนพิการเองก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเติบโตขึ้นในสังคมที่หล่อหลอมให้ต้องเชื่อเช่นนั้นเป็นเสมือนกฎเหล็กที่ทำให้ผู้หญิงพิการหลายคนเลือกที่จะอยู่ในโลกของตนเอง มีชีวิตอยู่กับข้อห้ามและข้อแม้ต่างๆ ตลอดเวลา โดยมีปัจจัยสำคัญอย่างครอบครัวเป็นตัวกำหนด

สังคมมองอย่างไร คนพิการก็เป็นเช่นนั้น

เราอาจมองภาพคนพิการแล้วเห็นปัญหาเรื่องทางลาด ลิฟต์ สิ่งอำนวยความสะดวก ฯลฯ ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก เพราะปัจจุบันหลายกลุ่มทำงานกับเซ็ตความคิดนี้และพยายามผลักดันคำว่า ‘คนพิการ’ ให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งที่จริงๆ แล้ว ปัญหาสำคัญที่ใกล้ตัวคนพิการมากที่สุดและเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลอย่างเรื่อง ‘เพศ’ กลับไม่ถูกหยิบยกมาพูดถึงมากนัก

‘คนพิการเป็นคนไร้เพศ’ ชุดความคิดนี้แฝงตัวอยู่ในทัศนะของคนในสังคมอย่างไม่รู้ตัว งานวิจัยหลายชิ้นสะท้อนว่า คนพิการถูกมองข้ามความแตกต่างของเพศชาย เพศหญิง หรือเพศทางเลือก เนื่องจากถูกภาพของความพิการบดบังไว้อย่างสิ้นเชิง

คนในสังคมมีทัศนคติต่อคนพิการประเภทต่างๆ ในมุมมองที่แตกต่างกัน ผู้พิการทางร่างกายมักถูกมองว่าไร้ความรู้สึกทางเพศหรือไม่มีความต้องการทางเพศ ซ้ำร้ายร่างกายที่ผิดปกติ บิดเบี้ยว หรือขาดหายยังเป็นสิ่งน่าอายที่ต้องการการปกปิดและหลีกเลี่ยงจากสายตาของสังคม ด้วยทัศนคติเช่นนี้ ทำให้คนพิการหลายคน โดยเฉพาะวัยรุ่นหญิงเลือกที่จะเก็บตัวเอง หลีกหนีจากสังคม เพราะไม่เชื่อว่าตนเองจะสามารถมีความรักหรือสร้างครอบครัวได้เหมือนคนอื่น

“พอนั่งวีลแชร์โอกาสในการเรียนต่อชั้นมัธยมก็หมดไปเพราะสภาพโรงเรียนที่ไม่เอื้อ ความรู้เรื่องเพศที่ว่าน้อยอยู่แล้วในโรงเรียนจึงแทบกลายเป็นศูนย์ ซ้ำร้ายพอเราเริ่มอยู่แต่ในบ้านโอกาสที่จะเจอกับผู้ชายที่ถูกใจ หรือเพื่อนต่างเพศยิ่งน้อยลง จนเหมือนถูกกีดกันออกจากความสัมพันธ์แบบหนุ่มสาว ญาติๆ ก็ไม่สนับสนุนให้มีแฟน และบอกว่า หากคบเพื่อนต่างเพศก็จะโดนหลอกและต้องเสียใจ เพราะเราช่วยเหลือตัวเองไม่ได้” ผู้หญิงพิการทางการเคลื่อนไหวกล่าว

การปกปิด การกีดกันนี้ เป็นเหมือนกระจกที่สะท้อนกลับของมุมมองทางเพศ เมื่อหญิงพิการไม่เคยมีความรักและไม่เท่าทันเรื่องเพศได้พบกับใครที่เธอรู้สึกดีด้วย เธอก็มักทุ่มเทหมดตัว หมดใจ และมีจำนวนไม่น้อยที่ผิดหวัง ถูกหลอก หรือไม่ประสบความสำเร็จในความสัมพันธ์นั้น นี่ยิ่งทำให้ปมความรู้สึกว่าตัวเองไม่เป็นที่ต้องการเพิ่มมากขึ้น และยิ่งตอกย้ำต่อสังคมว่า คนพิการเป็นกลุ่มคนที่ไม่ควรมีความรักหรือความสัมพันธ์ใดๆ หากแม้เธอโชคดีได้เจอคนที่ถูกใจ สร้างครอบครัว มีลูก ฯลฯ ภาพเหมารวมว่าสตรีพิการไม่สามารถเป็นแม่ได้ก็ยังคงตามหลอกหลอน นำไปสู่การเลือกปฏิบัติที่แตกต่างออกไป

 

ภาพโดย Michael Hirst (CC BY-NC-ND 2.0)

รูปปั้นแอลลิสัน แลปเปอร์ ศิลปินชาวอังกฤษขณะตั้งครรภ์ เธอไม่มีแขน และมีขาสั้นๆทั้งสองข้าง ก่อสร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ และก้าวข้ามข้อจำกัดทางร่างกายของแม่ซึ่งพิการ รูปปั้นนี้ตั้งอยู่ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ

ด้วยภาพเหมารวมที่ว่าหญิงพิการไม่สามารถตั้งครรภ์และมีลูกได้นี้เอง บ่อยครั้งที่เจ้าหน้าที่ หรือบุคลากรสาธารณสุขจึงเลือกเพิกเฉย ไม่สื่อสารกับคนพิการโดยตรง ทำให้ผู้พิการหญิงขาดโอกาสในการเรียนรู้บทบาทของความเป็นแม่

“หลายครั้งเวลาไปโรงพยาบาลคนเดียว พยาบาลก็จะถามว่า ‘ญาติอยู่ไหนคะ หรือบอกให้ตามญาติด้วย’ตลอด บางครั้งก็ไม่ให้เราไปเขียนเอง ไปบอกอาการเองจนกว่าญาติจะมา และหลายครั้งที่ไปกับญาติ หมอและพยาบาลก็เลือกที่จะหันไปถามญาติ โดยไม่ถามอาการป่วยของเราจากเรา จนทำให้รู้สึกว่าถูกมองข้าม และไม่เข้าใจว่าทำไมเราถึงดูไม่มีตัวตนในสายตาของเขา” หญิงพิการทางการเคลื่อนไหวอีกคนหนึ่งกล่าว

คนพิการเปรียบเสมือนคนไร้ ‘ภูมิคุ้มกัน’ ทางเพศ

เมื่อผู้พิการถูกสังคมมองว่าไม่มีเพศ ผลที่ตามมาคือทำให้คนพิการมีภูมิคุ้มกันเรื่องเพศอยู่ในระดับที่ต่ำมาก แต่ก็เป็นเรื่องขัดแย้งที่น่าเจ็บปวด เมื่องานวิจัยหลายชิ้นพบว่า หญิงพิการตกเป็นเหยื่อของการถูกคุกคามทางเพศมากกว่าผู้หญิงทั่วไปถึง 1.5-10 เท่า และไม่เพียงคนพิการที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เท่านั้นที่ตกเป็นเหยื่อ ณัฐยา บุญภักดี เจ้าหน้าที่โครงการระดับชาติเพื่อเยาวชน กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย หรือยูเอ็นเอฟพีเอ (UNFPA: United Nations Population Fund) กล่าวกับประชาไทว่า คนพิการทางการได้ยินกลับเป็นกลุ่มหลักที่ต้องเผชิญกับความรุนแรงทางเพศ เนื่องจากปัญหาทางด้านการสื่อสารที่ต้องอาศัยภาษามือและล่าม บ่อยครั้งที่คนพิการรู้สึกตะขิดตะขวงใจหากต้องเล่าเรื่องที่มีความเป็นส่วนตัวมากๆ อย่างการโดนข่มขืนแก่ล่าม นั่นทำให้เกิดความยากลำบากในการทำงานกับทั้งแพทย์ ตำรวจและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการเอาผิดผู้กระทำผิด

การล่วงละเมิดและการข่มขืนเป็นการกระทำอย่างหนึ่งที่แสดงถึงอำนาจที่เหนือกว่า และเกิดขึ้นอย่างมีนัยยะต่อคนพิการ ด้วยฐานคิดที่ว่า คนพิการเป็นกลุ่มที่อ่อนแอและไม่สามารถป้องกันตัวเองได้ ฉะนั้น ผู้กระทำผิดจึงมักรู้สึกว่าการล่วงละเมิดคนพิการตอบสนองต่อเป้าหมายการกระทำได้มากกว่าการล่วงละเมิดคนที่สามารถป้องกันตัวเองได้

แน่นอนว่า การศึกษาก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันแก่หญิงพิการ ซึ่งในทางปฏิบัติพบว่ามีเพียงร้อยละ 20 ของเด็กพิการที่เข้าถึงระบบการศึกษา แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กทั้งหมดจะสามารถเรียนรู้เรื่องเพศได้อย่างเข้าใจบนพื้นฐานที่แตกต่างกัน เด็กพิการทางสายตาก็ต้องการองค์ความรู้ที่เขาจะสามารถใช้ได้จริงในลักษณะหนึ่ง หรือเด็กพิการทางร่างกายก็อาจต้องใช้อีกองค์ความรู้หนึ่ง นี่เป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่งต่อครูผู้สอนที่ต้องทำให้แบบเรียนซึ่งออกแบบมาเพื่อ ‘คนปกติ’ เข้าถึงคนพิการได้ จนสามารถเข้าใจและหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากปัจจัยอันตรายทางเพศ

ทำไปเพราะหวังดี-ปกปิดเพื่อป้องกัน

ด้วยภาวะกระอักกระอ่วนใจและขาดองค์ความรู้เช่นนี้ จึงพบว่าพ่อแม่จำนวนไม่น้อยเกิดความกังวลใจมากขึ้นหากมีลูกสาวพิการ จึงเลือกที่จะปกปิด เก็บซ่อนลูกไว้ที่บ้าน ไม่พูดคุยถึงความสัมพันธ์เชิงหนุ่มสาว ไม่ให้ความรู้เรื่องความสัมพันธ์ การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ตลอดจนไม่กล้าพูดถึงการสร้างครอบครัว เพราะเจตคติที่ว่าลูกสาวจะไม่ปลอดภัยหากปล่อยให้เผชิญชีวิตในสังคมโดยลำพัง ทำให้ครอบครัวจำนวนไม่น้อยพยายามหาวิธีต่างๆ เพื่อหวังลดปัจจัยความเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิด หากไม่สามารถลดปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้นได้ การจัดการตัวคนพิการด้วยวิธีการทางการแพทย์จึงเป็นคำตอบสุดท้าย

“คนพิการเป็นกลุ่มที่อ่อนแอและไม่สามารถป้องกันตัวเองได้ ฉะนั้น ผู้กระทำผิดจึงมักรู้สึกว่าการล่วงละเมิดคนพิการตอบสนองต่อเป้าหมายการกระทำได้มากกว่าการล่วงละเมิดคนที่สามารถป้องกันตัวเองได้”

แสงเพลิน จารุสาร แม่ลูกสาม เริ่มสนใจการทำงานกับครอบครัวเด็กพิการ เมื่อรู้ว่าลูกสาวคนเล็ก พิการด้วยภาวะออทิสติกและสมองเล็กกว่าปกติ จนทำให้ไม่สามารถดูแลตัวเองได้แม้แต่เรื่องเดียว การตัดสินใจทำหมัน-ตัดมดลูกจึงก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

“ตอนแรกที่รู้ว่าลูกสาวมีภาวะผิดปกติ ก็เกิดความกระอักกระอ่วนใจ การใช้ชีวิตในช่วงนั้นก็หมดไปกับการพาลูกเข้า-ออกโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ และฝึกพัฒนาการ เมื่อลูกสาวเริ่มเป็นวัยรุ่น คำแนะนำจากหมอ และนักจิตวิทยาเกี่ยวกับสุขภาวะทางเพศก็มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นห่วงเรื่องการจัดการความสะอาด และการควบคุมอารมณ์” เธอกล่าวกับประชาไท

แม้เธอจะมั่นใจว่า สามารถเลี้ยงดู และดูแลความสะอาดให้ลูกได้เป็นอย่างดี แต่การมีประจำเดือนก็ส่งผลอย่างมากต่ออารมณ์ที่รุนแรง และทำให้หงุดหงิดเมื่อต้องใส่ผ้าอนามัย ลูกสาวของเธอทั้งแกะ เกา และล้วงนำผ้าอนามัยออกจนทำให้ต้องเปลี่ยนจากผ้าอนามัยเป็นแพมเพิร์สผู้ใหญ่ เมื่อเห็นว่าการมีประจำเดือน รังแต่จะนำผลเสียมาให้ เธอและครอบครัวจึงตัดสินใจปรึกษาหมอในเรื่องการตัดมดลูกของลูกสาว เพื่อยุติการมีประจำเดือน

อย่างไรก็ดี การทำหมันในคนพิการเป็นเรื่องที่พบเจอได้บ่อย ซึ่งอาจจะบ่อยเสียมากกว่าอัตราการถูกล่วงละเมิด เป็นเรื่องน่าเศร้าว่า ผู้หญิงพิการทางการได้ยินหลายรายถูกทำหมันโดยไม่รู้ตัวตั้งแต่เริ่มเข้าวัยรุ่น เนื่องจากการสื่อสารที่ยากลำบากและศัพท์ภาษามือในเรื่องเพศนั้นไม่ครอบคลุม จึงทำให้การสื่อสารตกหล่นไป เมื่อเธอเหล่านั้นเติบโตเป็นผู้ใหญ่ พร้อมกับความยินดีในเรื่องชีวิตครอบครัวและการมีลูก หลายรายสงสัยว่าทำไมไม่ยอมท้อง หลายรายไม่รู้ว่าตัวเองถูกทำหมันตั้งแต่เป็นวัยรุ่น และนี่สร้างความสะเทือนใจให้แก่ผู้ที่ได้รับรู้เรื่องราวเป็นอย่างมาก

ณัฐยา เจ้าหน้าที่ยูเอ็นเอฟพีเอ กล่าวว่า การทำหมันในคนพิการพบได้บ่อย เนื่องจากปัญหาความกังวลเรื่องการตั้งครรภ์และการถูกล่วงละเมิด แต่แท้จริงแล้ว การทำหมันไม่ได้ช่วยลดหรือป้องกันปัญหาการถูกล่วงละเมิด เพราะคนพิการยังสามารถถูกล่วงละเมิดได้เพียงแต่ไม่ท้อง ซ้ำร้ายการล่วงละเมิดโดยไม่ท้องอาจส่งผลให้เกิดการทำซ้ำและต่อเนื่องมากขึ้น

ในไทย ผู้ดูแลคนพิการสามารถตัดสินใจเสมือนเป็นคนพิการได้ หากคนพิการไม่สามารถตัดสินใจหรือถูกจัดว่าเป็นบุคคลไร้ความสามารถ จึงทำให้ผู้ดูแลมักเลือกวิธีที่ง่ายที่สุดในการจัดการกับตัวคนพิการ สิ่งนี้สะท้อนถึงการทำงานที่เน้นเรื่องการสงเคราะห์ โดยไม่คุ้มครองหรือส่งเสริมในด้านสิทธิเท่าที่ควร

แค่ไหนเรียกละเมิดสิทธิ-คนพิการมีสิทธิแค่ไหน

ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ หรือซีอาร์พีดี (CRPD: Convention on the Rights of Persons with Disabilities) ระบุไว้อย่างชัดเจนถึงพันธกิจของรัฐในการช่วยให้คนพิการได้รับบริการและการดำเนินงานดูแลสุขภาพ ที่รวมไปถึงงานด้านอนามัยเจริญพันธ์และสุขภาวะทางเพศ โดยให้มอบสิทธิการ ‘ตัดสินใจอย่างอิสระ’ กับตัวคนพิการ ถึงกระนั้นการเลือกปฏิบัติก็ยังเกิดขึ้นกับคนพิการ จนเสี่ยงต่อกระบวนการทางการแพทย์ที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสมัครใจ เช่น การบังคับให้ทำหมันหรือยุติการตั้งครรภ์อยู่เสมอ

“การทำหมันในคนพิการพบได้บ่อย เนื่องจากปัญหาความกังวลเรื่องการตั้งครรภ์และการถูกล่วงละเมิด แต่แท้จริงแล้ว การทำหมันไม่ได้ช่วยลดหรือป้องกันปัญหาการถูกล่วงละเมิด เพราะคนพิการยังสามารถถูกล่วงละเมิดได้เพียงแต่ไม่ท้อง ซ้ำร้ายการล่วงละเมิดโดยไม่ท้องอาจส่งผลให้เกิดการทำซ้ำและต่อเนื่องมากขึ้น”

การละเมิดสิทธิเกิดได้ในหลายกรณี มีแพทย์จำนวนไม่น้อยที่แนะนำให้คนพิการทำหมันโดยโน้มน้าวด้วยข้อมูลชุดหนึ่งที่ไม่รอบด้าน ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินของคนพิการหรือการตัดสินใจแทนโดยไม่ได้รับความยินยอม ถือเป็นการละเมิดสิทธิทั้งสิ้น นอกจากนั้น ถึงแม้คนพิการจะมีภาวะสติปัญญาที่ไม่มากพอในการตัดสินใจด้วยตัวเองก็ไม่ใช่ข้อบ่งชี้ในการตัดสินใจแทน เพราะสำหรับผู้หญิงการทำหมันคือการผ่าตัดใหญ่ที่ต้องวางยา มีแผลเปิด และอาจอันตรายถึงชีวิต

อย่างไรก็ดี จิตติมา ภาณุเตชะ ผู้อำนวยการมูลนิธิสร้างความเข้าใจสุขภาพผู้หญิงกล่าวกับประชาไทว่า ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจครอบครัวของคนพิการด้วยว่า พวกเขาบอบช้ำ ทั้งจากทัศนคติทางสังคมและความรู้สึกที่เกิดขึ้นไม่แพ้กับตัวคนพิการ ดังนั้น วิธีการแก้ปัญหาเรื่องนี้คงไม่ใช่การบอกว่าใครผิดหรือถูก หากพ่อแม่ทำอะไรที่อาจสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิของตัวลูกพิการ กระบวนการสำคัญคือสังคมต้องไม่โทษเขา แต่จะต้องเข้ามาดูในระดับแทรกแซง ให้ความรู้เพิ่มเติม และหาวิธีการร่วมกัน จึงอาจสรุปได้ว่า หลักการด้านสิทธิเนื้อตัวต้องผ่านการตัดสินใจจากเจ้าตัวเอง ทั้งนี้คนพิการส่วนมากก็ไม่ได้ถูกแยกขาดออกจากสังคมและคนรอบตัว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำงานอย่างเข้มข้นกับคนรอบตัวของคนพิการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ดูแลด้วย

“หากถามว่าใครเป็นคนมีสิทธิในการตัดสินใจ ก็คิดว่าเจ้าตัวต้องเป็นคนตัดสินใจ แต่หากเจ้าตัวตัดสินใจไม่ได้ก็จะต้องมีกระบวนการที่ทำให้เขาได้ร่วมเรียนรู้และเข้าใจ ดังนั้นถ้าถามว่า ทำหมันคนพิการผิดไหมจึงไม่สามารถตอบได้ ต้องพิจารณาจากกระบวนการว่า พ่อ แม่ และหมอ ให้ข้อมูลแก่ตัวคนพิการมากน้อยเพียงใด และมีการประเมินร่วมกันมากน้อยเพียงใดที่จะตัดสินใจในเรื่องนี้ ถ้ามีก็มองว่าสามารถทำได้ แต่ถ้าไม่มีกระบวนใดๆ เลย ก็ถือว่าละเมิดสิทธิของคนพิการอย่างแน่นอน” จิตติมากล่าว

นอกจากนั้น การตั้งครรภ์ของคนพิการก็ยังเป็นประเด็นที่ถกเถียง หลายคนมองว่าคนพิการหากมีลูกก็จะพิการ แม้แต่ตัวคนพิการเอง เมื่อไม่เคยได้เข้าสู่ระบบสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับอนามัยเจริญพันธุ์ก็มักคิดว่า หากมีลูกลูกก็จะพิการเหมือนตนหรือบางครั้งก็คิดว่าตัวเองไม่สามารถมีลูกได้ จึงทำให้กว่าคนพิการจะรู้ว่าตัวเองสามารถมีลูกได้ปกติก็สายเกินไปเสียแล้ว

“เราไม่มีสิทธิไปห้าม หากเขายืนยันที่จะมีลูกพิการ แต่เขาต้องได้รับรู้ข้อมูลว่า การดูแลลูกพิการทำอย่างไร หรือเขาจะต้องเผชิญกับอะไรบ้าง ยากลำบากยังไง เราไม่มีสิทธิที่จะบอกให้เขาไม่ท้อง แต่เราต้องให้เขาตัดสินใจจากข้อมูลที่รอบด้าน แม้คนพิการบางคนรู้ว่าถ้ามีลูกแล้วจะพิการแน่นอน แต่ถ้าเขายืนยันที่จะมีโดยชอบธรรม เราต้องมอบสิทธินี้ให้กับเขา ท่ามกลางเงื่อนไขของคนรอบข้างที่อาจจะไม่เห็นด้วย” จิตติมากล่าว

“หากถามว่าใครเป็นคนมีสิทธิในการตัดสินใจ ก็คิดว่าเจ้าตัวต้องเป็นคนตัดสินใจ แต่หากเจ้าตัวตัดสินใจไม่ได้ก็จะต้องมีกระบวนการที่ทำให้เขาได้ร่วมเรียนรู้และเข้าใจ ดังนั้นถ้าถามว่า ทำหมันคนพิการผิดไหมจึงไม่สามารถตอบได้”

ทำหมัน คำตอบสุดท้ายหรือไม่

ท้ายที่สุดแล้ว เราคงไม่สามารถบอกได้ว่า คำแนะนำเรื่องการทำหมันนั้นถูกหรือผิด เพราะในบางบริบท การทำหมันก็เหมือนจะเป็นทางออกของปัญหาที่ง่ายที่สุด แต่ก็อาจเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิของเนื้อตัวร่างกายที่ผู้หญิงพิการได้ แสงเพลินแลกเปลี่ยนว่า หากมองในฐานคิดแบบ ‘หมอๆ’ โดยไม่ได้คลุกคลีกับตัวคนพิการแบบผู้ดูแล การทำอะไรที่ง่าย ตัดปัญหาได้หมดจด และเป็นวิชาที่ถูกสอนมา ก็จะถูกเลือกเป็น ‘แพทเทิร์น’ เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหา ซึ่งไม่ได้มีแค่การทำหมันเท่านั้น การเจาะคอเพื่อหายใจหรือการเจาะหน้าท้องเพื่อให้อาหารเหลวทางสายยางก็เป็นวิธีการที่อยู่ในฐานความคิดนี้เช่นเดียวกัน ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว การใช้แพทเทิร์นเช่นนี้อาจใช้ไม่ได้ผลดีกับทุกประเภทความพิการ

ในกรณีคนพิการที่เป็นซีพี (CP: Cerebral Palsy) ที่กล้ามเนื้อทั่วร่างกายจะบิดเกร็ง โดยเฉพาะส่วนแขน ขา และใบหน้า จึงทำให้บางครั้งเหมือนพูดไม่ชัด อย่างไรก็ดี โรคดังกล่าวไม่กระทบสมองและการเรียนรู้ หากคนพิการกลุ่มนี้ได้รับการฝึกทักษะและพัฒนาการอย่างสม่ำเสมอ พวกเขาก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างสมบูรณ์แบบคนทั่วไป ในต่างประเทศ มีคู่รักที่พิการด้วยโรคนี้ (ลิงค์สารคดี We Won’t Drop the Baby https://www.youtube.com/watch?v=wSn3r0_VpsE)

อเดล และลอว์เรนซ์ คลาส์ก พ่อและแม่ของเด็กชาย 2 คน ชาวอังกฤษป่วยเป็นซีพี ได้แชร์ประสบการณ์ผ่านสารคดีสั้นของบีบีซี ที่ชื่อว่า ‘We Won’t Drop the Baby’ โดยเล่าเหตุการณ์ตั้งแต่พวกเขาเริ่มท้องลูกคนที่ 2 จนกระทั่งคลอด เขาได้กล่าวถึงความยากลำบาก ทั้งในเรื่องการตัดสินใจมีลูกคนที่ 2 อุปสรรคต่างๆ ที่พวกเขาเผชิญ และการก้าวข้ามความยากลำบากเหล่านี้

อเดลคาดหวังว่า เธอจะสามารถคลอดลูกคนที่ 2 โดยวิธีทางธรรมชาติ หลังใช้วิธีการผ่าตัดทางหน้าท้องในลูกคนแรก เพราะอยากจะรับรู้ความรู้สึกเจ็บปวดแบบที่คนเป็นแม่รู้สึก อย่างไรก็ดี ด้วยโรคที่เธอเป็นทำให้กล้ามเนื้อส่วนล่างของลำตัวนั้นไม่แข็งแรงเท่าที่ควร และอาจทำให้ความเป็นไปได้ของการคลอดธรรมชาติของเธอนั้นหมดไป ทั้งคู่เล่าถึงความยากลำบากในฐานะพ่อแม่ที่มีความพิการว่า เมื่อพวกเขาดำเนินกิจวัตรประจำวัน อย่างการออกไปซื้อของที่ห้างสรรพสินค้า ก็มักถูกมองด้วยสายตาที่สงสัยหรือบางครั้งคนอื่นก็เข้ามาถามว่า พวกเขาจัดการรับมือในการเลี้ยงลูกได้อย่างไร แต่เธอก็มีวิธีคิดที่ว่า การตัดสินใจที่จะมี/ไม่มีครอบครัวหรือมีลูก เป็นสิทธิโดยชอบธรรมของเธอ หนำซ้ำเธอยังกล่าวว่า หากลูกของเธอที่เกิดมามีความพิการเช่นเดียวกับเธอ เด็กคนนั้นจะต้องเป็นเด็กพิการที่มีความสุขที่สุด เพราะมีทั้งพ่อและแม่ที่เข้าใจสภาพความพิการนั้นเป็นอย่างดี

แต่สถานการณ์สำหรับคนที่เป็นซีพีในไทยยังแตกต่างออกไปมาก วัยรุ่นที่เป็นซีพีหลายคนถูกชี้แนะให้ทำหมันเนื่องจากความพิกลพิการที่เห็นได้ค่อนข้างชัด หนำซ้ำยังสื่อสารอย่างยากลำบากกับผู้คนรอบข้าง บางคนไม่ได้รับการฝึกฝนทักษะจึงทำให้พัฒนาการของพวกเขาไม่พัฒนา ซึ่งนี่เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งยวดที่ส่งผลต่อการตัดสินใจทำหมันของครอบครัว

“หากลูกของเธอที่เกิดมามีความพิการเช่นเดียวกับเธอ เด็กคนนั้นจะต้องเป็นเด็กพิการที่มีความสุขที่สุด เพราะมีทั้งพ่อและแม่ที่เข้าใจสภาพความพิการนั้นเป็นอย่างดี”

อย่างไรก็ดี แสงเพลินแลกเปลี่ยนว่า คนพิการบางคนอาจตัดสินใจทำหมันชั่วคราวเพื่อไม่ให้มีประจำเดือนด้วยวิธีอื่น เช่น กินยาคุมกำเนิดหรือใส่ห่วงคุมกำเนิด แต่การคุมกำเนิดชนิดนี้ต้องการการต่อเนื่องในการติดตามและมีค่าใช้จ่ายในระยะยาวเกิดขึ้น จึงทำให้ไม่ค่อยได้รับความนิยม ยิ่งในเฉพาะคนพิการที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้หรือมีปัญหาทางสมอง การพาไปโรงพยาบาลและจับคนพิการให้อยู่นิ่งๆ เพื่อฉีดยาหรือฝังยาคุมทุกเดือน หรือทุกปีนั้น เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้

แต่ก็คงจะดีกว่าการต้องเห็นคนพิการหลายคนอยากมีลูกแต่ไม่รู้ว่าตนเองไม่สามารถมีได้ เนื่องจากกระบวนการจับทำหมันโดยไม่รู้ตัว

จะเห็นได้ว่าปัญหาเรื่องเพศของคนพิการเป็นปัญหาที่ซับซ้อนและบางครั้งก็เกิดการซ้อนทับกันของหลากชุดความคิด ปัจจัยที่ทำให้คนพิการถูกว่าไม่มีเพศไม่ได้เกิดขึ้นโดยการหล่อหลอมของสังคมเท่านั้น ครอบครัวและคนใกล้ชิดก็เป็นแกนหลักที่กำหนดว่าคุณภาพชีวิตของคนพิการคนนั้นจะเป็นอย่างไร ทั้งยังคงต้องอาศัยเวลาและทำงานร่วมกันจากหลายฝ่าย เพื่อขยับทัศนคติของคนในสังคมที่มีต่อคนพิการ โดยเฉพาะแง่มุมทางด้านเพศ อารมณ์ ความรู้สึก เพศสัมพันธ์ และสรีระร่างกาย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท