คลังเล็งจูงใจใช้อีเพย์เมนต์ จ่ายสดเสีย VAT 10% แต่ถ้าระบบอิเล็กทรอนิกส์เสียแค่ 7%

9 มิ.ย.2559 เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา ไทยรัฐออนไลน์และ ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังมีแนวคิดปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยเรื่องแรกที่ทำในเวลานี้คือ การวางระบบโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (National e-Payment) ซึ่งจะเปลี่ยนโฉมประเทศไทย ในการลดต้นทุนการบริหารจัดการเงินสด โดยหากระบบสมบูรณ์จะลดต้นทุนได้ถึง 75,000 ล้านบาทต่อปี และลดการใช้เอกสาร รวมทั้งจะทำให้กรมสรรพากรเก็บภาษีได้เพิ่มปีละ 100,000 ล้านบาท 

สมชัย กล่าวด้วยว่า ต่อไปบัตรประชาชนใบเดียวนำไปใช้ได้ทุกที่ หรือเบอร์โทรศัพท์มือถือก็โอนเงินได้ ดังนั้น เมื่อระบบพร้อมแล้ว การจูงใจให้คนไทยใช้อีเพย์เมนต์ คือ ถ้าใครชำระเป็นเงินสด จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 10% แต่ถ้าจ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์จะเสียแวตแค่ 7%

สมชัย กล่าวอีกว่า ระบบ e-Payment จะทำให้คนจนได้มีโอกาสเข้าถึงบริการทางด้านการเงิน รวมถึงการรับสวัสดิการภาครัฐจะถึงมือประชาชนผู้มีสิทธิ์โดยตรง เช่น เบี้ยยังชีพคนชรา ที่ปัจจุบันจ่ายผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งบางแห่งก็ไม่โปร่งใส หรือพบการจ่ายให้กับคนที่เสียชีวิตไปแล้ว เป็นต้น ดังนั้นถ้าทำสิ่งเหล่านี้สำเร็จ เงินสวัสดิการจะจ่ายได้ถูกคน ตรงเวลา และการทำระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์จะเป็นการปฏิรูปครั้งใหญ่
 
พร้อมกับย้ำว่า ต่อไปนี้กระทรวงการคลังจะทำแต่เรื่องใหญ่ ๆ และจะเป็นมาตรการระยะปานกลางและระยะยาวเป็นหลัก โดยจะไม่ออกมาตรการกระตุ้นระยะสั้นอีก ยกเว้นเกิดเหตุเกินคาดหมาย เช่น วิกฤตโลกรุนแรง ภัยแล้งไม่จบ เกิดโรคระบาด หรือเกิดแผ่นดินไหวที่ทำลายเศรษฐกิจไทย
 
"ถ้าไม่เกิดเหตุการณ์ใหญ่ ก็ไม่จำเป็นแล้วที่จะออกมาตรการกระตุ้นระยะสั้น และเราจะทำแต่มาตรการระยะกลาง ระยะยาว จะปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ให้ประเทศไทย จะแตะเรื่องที่กระทบโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อยกระดับจีดีพีของเราให้สูงขึ้น เพื่อให้หลุดจากกับดักรายได้ ซึ่งในปี 2575 คนไทยต้องมีรายได้ 40,000 บาทต่อคนต่อเดือน และลดความเหลื่อมล้ำ โดยทำให้ 10% ของผู้มีรายได้น้อยสุด สามารถมีรายได้ 15,000 บาทต่อคนต่อเดือน และเพิ่มอันดับการแข่งขันให้ดีขึ้น" สมชัยกล่าว
 
ขณะเดียวกัน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้เสนอจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ภาคบังคับ เพื่อดูแลสังคมสูงอายุ ให้ประชาชนที่ทำงานในระบบมีการออมมากขึ้น เนื่องจากหากไม่มีกองทุนมาดูแลจะเป็นภาระงบประมาณตกปีละ 600,000-700,000 ล้านบาท ดังนั้น ในอนาคตจะมีมาตรการทางภาษีเพื่อให้เอกชนจ้างคนแก่ไปทำงาน เป็นครู แทนที่จะอยู่บ้านเฉย ๆ หรือจ้างทำความสะอาดเหมือนผู้สูงวัยที่ญี่ปุ่น
 
นอกจากนี้ คนชราที่มีบ้าน แต่ไม่มีคนดูแล ก็สามารถนำบ้านมาเข้าโครงการ Reverse Mortgage (สินเชื่อเพื่อผู้สูงอายุโดยมีบ้านเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน) กับธนาคาร เพื่อนำเงินไปใช้ได้จนกว่าจะเสียชีวิต ซึ่งหลังจากนั้นหากมีทายาทประสงค์จะได้บ้านคืน ก็นำเงินมาชำระเท่ากับที่แบงก์จ่ายให้กับคนชราไป แต่หากไม่มีคนมาชำระคืน แบงก์ก็นำบ้านไปขายทอดตลาด อีกทั้งกระทรวงการคลังยังมีแนวคิดจะสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุบนที่ดินราชพัสดุของกรมธนารักษ์ ซึ่งกรมธนารักษ์ต้องหาพื้นที่ทั่วประเทศมารองรับนโยบายนี้ด้วย" สมชัย กล่าว
 

คาดได้ข้อสรุปกรณีเก็บภาษีเครื่องดื่มน้ำตาลสูง สิ้นมิ.ย.นี้

ขณะที่ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานกรณีมาตรการเก็บภาษีเครื่องดื่มน้ำตาลสูง โดย  ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มอบหมายให้เร่งหาข้อสรุปแนวทางการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลสูง หลังจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมน้ำตาลได้เข้าพบ เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงสร้างการผลิตเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล โดย รมว.คลังกำหนดจะต้องหาข้อสรุปให้ชัดเจนภายใน 1 เดือนว่ามีความจำเป็นที่จะต้องจัดเก็บภาษีดังกล่าวหรือไม่ 
 
"ก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการมาชี้แจงว่ากระทรวงการคลังอาจได้ข้อมูลไม่รอบ ด้าน หรือได้เพียงด้าน เดียว ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังยังไม่ได้บอกว่าจะจัดเก็บหรือไม่ หากได้ข้อมูลครบถ้วนแล้วพบว่าไม่ มีความจำเป็นต้องจัดเก็บ ก็จะต้องมีเหตุผลเพื่อไปตอบคำถามคณะสภาปฏิรูปฯ ว่าจะทำอย่างไรให้ สุขภาพของประชาชนดีขึ้น โดยมันมีวิธีการอื่นที่จะสามารถดำเนินการได้ เช่น การควบคุมห้ามใช้ น้ำตาลในเครื่องดื่มมากกว่า 2 ช้อนชา เป็นต้น ขณะเดียวกันทำไมเราต้องเก็บแค่เครื่องดื่ม ในเมื่อ มีน้ำตาลที่ใส่ในชนิดอื่นด้วย เช่น น้ำตาลที่ใส่ในนม 13-14% ในอาหาร 20-30% ทำไมไม่จัดเก็บ ด้วย มันต้องมีเหตุและผล" สมชัย กล่าว  พร้อมระบุว่า อย่างไรก็ตาม จากการหารือกับผู้ประกอบการ หากจะให้มีการปรับปรุงด้วยการลดการใช้น้ำตาลใน เครื่องดื่มก็คงจะต้องให้เวลา ผู้ประกอบการในการปรับปรุงสูตรด้วย 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท