'นิติศาสตร์สากล' ขอทหารไทยถอนแจ้งความ 3 นักสิทธิหลังฟ้องปมรายงานซ้อมทรมาน

10 มิ.ย.2559 จากกรณีเมื่อ 17 พ.ค. ที่ผ่ามมา กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าได้แจ้งความดำเนินคดีกับ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ สมชาย หอมลออ และอัญชนา หีมมีนะ ที่สภ.เมืองยะลา ในข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาโดยเอกสารและความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 จากที่ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจ องค์กรเครือข่ายนุษยชนปาตานี เก็บข้อมูลและเรียบเรียงและได้เผยแพร่ ‘รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2557 – 2558’ นั้น

วานนี้ (9 มิ.ย.59) คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลหรือไอซีเจ (International Commission of Jurists) ได้ออกแถลงการณ์ต่อกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า ทางการทหารไทยต้องถอนแจ้งความร้องทุกข์คดีหมิ่นประมาททางอาญาที่มิชอบต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนแถวหน้าสามรายที่หยิบยกประเด็นข้อกล่าวหาเรื่องการทรมานที่เกิดขึ้นในชายแดนใต้ที่ไม่สงบโดยทันที

แซม ซารีฟี่ (Sam Zarifi) ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคไอซีเจ ประจำเอเชีย กล่าวว่า “ช่างเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจที่รัฐบาลไทยแจ้งความร้องทุกข์คดีอาญาดังกล่าวในช่วงเวลาที่ประเทศไทยเพิ่งจะได้ให้สัญญาไปว่าจะมีการออกกฎหมายฉบับสำคัญเรื่องการต่อต้านการทรมาน อีกทั้งเพิ่งจะได้ย้ำจุดยืนโดยเปิดเผยถึงความยึดมั่นที่จะคุ้มครองบรรดานักปกป้องสิทธิมนุษยชน”
 
“ทางการทหารไทยต้องถอนแจ้งความร้องทุกข์คดีในทันทีและแทนที่ การกระทำดังกล่าวด้วยการประกันว่าจะมีการสอบสวนข้อกล่าวหาเรื่องการทรมานและการประติบัติอย่างทารุณ ทุกกรณีทันทีและอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีกฎหมายระหว่างประเทศของประเทศไทย”  ผอ.สนง.ภูมิภาคไอซีเจ ประจำเอเชีย เรียกร้อง 
 
สำหรับกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ วันที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมา องค์กรของประเทศไทยสามแห่ง  ได้แก่ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, กลุ่มด้วยใจ และเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปัตตานี ได้ออกรายงานซึ่งรวบรวม 54 คดี ที่มีข้อกล่าวหาเรื่อง การทรมานและการประติบัติอย่างทารุณในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2547 ต่อมา เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 59 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภาค 4 (กอ.รมน.) ซึ่งรับผิดชอบเรื่องการดำเนินงานรักษาความปลอดภัยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ตอบกลับการออกรายงานฉบับดังกล่าวด้วยการแจ้งความหมิ่นประมาททางอาญาเเละการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ต่อบรรณาธิการร่วม 3 ราย ดังกล่าว

โดย ความผิดฐานหมิ่นประมาททางอาญา ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท (5,600 ดอลลาร์สหรัฐ) ส่วนความผิดตามมาตรา 14 (1) แห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท (2,800 ดอลลาร์สหรัฐ) หรือทั้งจำ
ทั้งปรับ

ตั้งแต่พ.ศ. 2547  นับเป็นครั้งที่สองแล้ว ที่ทางการทหารไทยได้ยื่นฟ้องหมิ่นประมาททางอาญาเอาผิดกับ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติและสมชาย หอมลออ สืบเนื่องมาจากการหยิบยกประเด็นข้อกล่าวหาเรื่องการทรมานในจังหวัดชายแดนภาคใต้

นอกจากนี้ นายแซมฯยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “ทางการทหารไทยควรจะได้พิจารณาคำพิพากษาล่าสุดในคดีภูเก็ตหวานของศาลจังหวัดภูเก็ตที่วางหลักการว่าพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะครอบคลุมไปถึงข้อกล่าวหาเรื่องการหมิ่นประมาทด้วย”

วันที่ 1 ก.ย. 58 ศาลจังหวัดภูเก็ตได้ยกฟ้องคดีที่นักข่าวสองราย ถูกฟ้องหมิ่นประมาททางอาญาเเละกระทำผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ภายหลังที่กองทัพเรือได้ยื่นฟ้องว่านักข่าวได้ทำการหมิ่นประมาทเมื่อวันที่ 17 ก.ค.56 โดยเกี่ยวโยงกับการที่นักข่าวได้พิมพ์ซ้ำย่อหน้าหนึ่งจากบทความของสำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) ซึ่งเป็นบทความที่ชนะรางวัลพูลิตเซอร์ (Pulitzer) โดยมีเนื้อความกล่าวหาว่า  “กองกำลังทางน้ำของประเทศไทย (Thai naval forces)” ได้สมรู้ร่วมคิดในการค้ามนุษย์

การใช้กฎหมายหมิ่นประมาททางอาญาที่ระวางโทษจำคุกต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยมีเหตุมาจากการรายงานเรื่องข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น เป็นผลให้ประเทศไทยละเมิดพันธกรณีภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี

นอกจากนี้ ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (UN Declaration on Human Rights Defenders) ได้วางหลักการว่า “บุคคลทุกคนล้วนทรงสิทธิ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิที่จะเป็นอย่างเอกเทศหรือที่จะเกี่ยวข้องกับผู้อื่น อาทิ พิมพ์, ติดต่อสื่อสาร หรือเผยแพร่แลกเปลี่ยนกับมุมมองอื่น ๆ ข้อมูลและองค์ความรู้ในเรื่องสิทธิมนุษยชนเเละเสรีภาพพื้นฐานทุกประการ”

ความเป็นมา

เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 58 ประเทศไทยได้เข้าร่วมกับอีก 127 รัฐ ณ สมัชชาแห่งสหประชาชาติ (UN General Assembly) เพื่อรับเอาข้อมติเเห่งสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (UN Resolution on human rights defenders) ข้อมติดังกล่าวได้เรียกร้องให้รัฐต่าง ๆ งดเว้นจากการข่มขู่หรือการโต้กลับต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

เมื่อเดือนที่เเล้ว ระหว่างกระบวนการทบทวนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review) ประเทศไทยได้แจ้งต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน (Human Rights Council) ว่าคณะรัฐมนตรีกำลังพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย  ต่อมามีรายงานว่าทางคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติร่างพระราชบัญญัติฯดังกล่าวในวันที่ 24 พ.ค.59

ภายหลังการสรุปการทบทวนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนดังกล่าว ประเทศไทยยังได้รับเอาข้อเสนอเเนะบางประการว่าจะคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเเละสอบสวนกรณีที่ได้มีการรายงานประเด็นการข่มขู่ การคุกคาม เเละการโจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

ทั้งนี้ สิทธิที่จะเข้าถึงกระบวนการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพจากการถูกทรมานเเละการประติบัติที่ทารุณอื่น ๆ รวมถึงการที่เรื่องร้องเรียนจักได้รับการสวบสวนโดยทันที โดยครบถ้วนเเละเป็นกลาง ได้รับการประกันโดยสนธิสัญญาระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่ประเทศไทยเข้าเป็นรัฐภาคี รวมถึง อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment: CAT) และ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีพันธกรณีภายใต้สนธิสัญญาทั้งสองฉบับที่จะดำเนินการสอบสวน หากปรากฏว่ามีข้อกล่าวหาเรื่องการทรมานเเละการประติบัติที่ทารุณ รวมถึงการนำผู้รับผิดชอบการกระทำความผิดเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมผ่านกระบวนการทางอาญาที่เป็นธรรม

เมื่อเดือน พ.ค.57 ประเทศไทยถูกวิจารณ์ประเด็นเรื่องความล้มเหลวที่จะเคารพซึ่งสิทธิดังกล่าว  ในการนี้คณะกรรมการแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน (United Nations Committee Against Torture) ได้แสดงข้อห่วงใยว่า “ปรากฏว่ามีข้อกล่าวหาจำนวนมากเเละมีเนื้อความที่ขัดเเย้งในเรื่องการกระทำความผิดร้ายเเรงเรื่องการโต้กลับเเละข่มขู่นักปกป้องสิทธิมนุษยชน, นักข่าว, ผู้นำชุมชนเเละญาติ รวมถึงการทำร้ายด้วยการใช้วาจาเเละทำร้ายร่างกาย  การบังคับบุคคลให้สูญหายเเละการสังหารนอกระบบยุติธรรม รวมทั้งขาดข้อมูลในการสอบสวนข้อกล่าวหาต่างๆ’’

คณะกรรมการฯได้เสนอเเนะให้ประเทศไทย “ควรจะใช้มาตรการที่จำเป็นต่าง ๆ ในการ (ก) หยุดการคุกคามเเละโจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักข่าวเเละผู้นำชุมชนทันที และ (ข) ดำเนินการสอบสวนอย่างเป็นระบบ หากมีรายงานเรื่องเหตุการณ์ของการข่มขู่ การคุกคามเเละการโจมตี โดยมีแนวคิดที่จะนำผู้กระทำผิดเข้ามารับโทษเเละรับรองว่าจะมีการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพให้แก่เหยื่อเเละครอบครัว”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท