Skip to main content
sharethis

10 มิ.ย.2559 เว็บไซต์เดลินิวส์ รายงานว่า พันเอก พีรวัชฌ์ แสงทอง โฆษก กอ.รมน. ยืนยันว่า ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะ รอง ผอ.รมน. ได้สั่งการให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ดำเนินการฟ้องร้องเอ็นจีโอภาคใต้ 3 คน ที่กล่าวหาว่า ทหารทารุณกรรมผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับกุมในคดีก่อความไม่สงบ เพื่อเป็นการธำรงเกียรติของกองทัพ เนื่องจากการทำงานของเจ้าหน้าที่ ปฎิบัติตามหลักกฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และนโยบายการแก้ปัญหาที่ยึดหลักสิทธิมนุษยชน ตามที่ผู้บัญชาการทหารบกเน้นย้ำเสมอให้เป็นไปตามหลักสากล ทั้งระหว่างการสอบสวนและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย ที่ผ่านมากองทัพเปิดโอกาสให้เข้าตรวจสอบได้ตลอดเวลา ซึ่งขณะนี้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวชื่อ “รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักศรี ในจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2557-2558” เผยแพร่เมื่อเดือนมกราคม 2559 เก็บข้อมูลและเรียบเรียงโดย กลุ่มด้วยใจ องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ภายหลังมีการเปิดตัวรายงานในเดือนกุมภาพันธ์ ไม่กี่วันถัดมา กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าได้ออกมาชี้แจงและปฏิเสธข้อมูลดังกล่าว โดยระบุว่า กลุ่มนี้เคยออกรายงานมาครั้งหนึ่งในปี 2555 และนำข้อมูลเก่ามาใช้ นอกจากนี้ยังปฏิเสธไม่มีการซ้อมทรมานและยืนยันว่าการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่กระทำภายใต้การรับรู้และมีส่วนร่วมของผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา และบุคคลในครอบครัวตามแนวทางสันติวิธี โดยใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก ขั้นตอนการคุมตัวและซักถามที่เปิดโอกาสให้บุคคลในครอบครัวเข้าเยี่ยมได้ทุกวันตามช่วงเวลาที่กำหนด

ส่วนผู้จัดทำรายงานในปี 2559 ที่ถูกกล่าวหาทั้ง 3 รายคือผู้ที่มีรายชื่อปรากฏเป็นกองบรรณาธิการในรายงานดังกล่าว คือ สมชาย หอมลออ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และ อัญชนา หีมมิน๊ะห์ โดยถูกข้อกล่าวหาว่าร่วมกันหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาโดยเอกสาร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 และความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) โดยเป็นการร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวน สภ.เมืองยะลา อย่างไรก็ตามผู้ถูกกล่าวหาระบุว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่มีการเรียกผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดไปรับทราบข้อกล่าวแต่อย่างใด

ด้านฮิวแมนไรซ์วอทช์ (Human Rights Watch-HRW) ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า ระบุว่า กองทัพไทยควรถอนฟ้องข้อกล่าวหาอาญาต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 3 คนโดยทันที การกระทำของกองทัพเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อการติดตามและรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั้งปวงในประเทศไทย ในช่วงเวลาที่มีการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิอย่างกว้างขวางในประเทศ

“กองทัพไทยพุ่งเป้าโจมตีนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนที่รายงานการปฏิบัติมิชอบร้ายแรง และการเป็นปากเสียงให้กับผู้เสียหาย” แถลงการณ์ระบุ

“รัฐบาลควรสั่งการให้ถอนฟ้องคดีอาญาเหล่านี้ และควรทำสิ่งที่น่าจะได้ทำตั้งแต่ในอดีตคือ การสอบสวนอย่างจริงจังต่อข้อกล่าวหาว่ามีการซ้อมทรมาน” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการแผนกเอเชีย ฮิวแมนไรต์วอชต์กล่าว

แถลงการณ์ HRW ระบุอีกว่า ที่ผ่านมากองทัพไทยมีแนวโน้มจะปฏิเสธข้อกล่าวหาว่ามีการซ้อมทรมานและการปฏิบัติมิชอบร้ายแรงของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงในจังหวัดชายแดนใต้ โดยทางการไทยมักจะตอบโต้เมื่อมีการรายงานข้อมูลกล่าวหาว่ามีการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิ โดยการแจ้งความดำเนินคดีผู้วิจารณ์ กล่าวหาว่าให้ข้อมูลเท็จโดยประสงค์จะสร้างความเสียหายให้กับชื่อเสียงของกองทัพ ความพยายามของกองทัพไทยในการแจ้งความอาญาเพื่อตอบโต้นักปกป้องสิทธิมนุษยชน เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับคำสัญญาที่นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้ให้ไว้เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่าจะเอาผิดทางอาญากับการทรมานและการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศของไทยเพื่อต่อต้านการปฏิบัติดังกล่าว

ทั้งนี้ การทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี เป็นข้อห้ามตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศและกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ อนุสัญญาต่อต้านการทรมานซึ่งไทยให้สัตยาบันรับรองตั้งแต่ปี 2550 กำหนดให้รัฐบาลต้องสอบสวนและดำเนินคดีต่อการซ้อมทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่น ๆ โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยในเดือนมิถุนายน 2557 คณะกรรมการต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติเสนอแนะให้ไทย “ควรดำเนินมาตรการทั้งปวงที่จำเป็นเพื่อ (ก) ยุติการคุกคามและทำร้ายนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้สื่อข่าว และผู้นำชุมชนโดยทันที และ (ข) ดำเนินการสอบสวนอย่างเป็นระบบต่อรายงานการข่มขู่ คุกคาม และทำร้าย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำผิด และประกันให้ผู้เสียหายและครอบครัวได้รับการเยียวยาอย่างเป็นผล”

HRW ระบุว่า กลุ่มแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ที่มีชื่อว่า กลุ่มนักรบเพื่อเสรีภาพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายหลวม ๆ ของ BRN-Coordinate ยังคงดำเนินงานในหลายร้อยหมู่บ้าน แม้จะประสบความถดถอยที่สำคัญในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้ก่อความไม่สงบได้ใช้ประโยชน์จากการปฏิบัติมิชอบและการปราบปรามที่หนักหน่วงของรัฐ เป็นเหตุผลเพื่อหาสมาชิกใหม่ ๆ และเพื่อสนับสนุนปฏิบัติการที่ความรุนแรงและสร้างความหวาดกลัว แต่ความโหดร้ายของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนไม่ได้เป็นเหตุผลให้ฝ่ายความมั่นคงของไทยต้องปฏิบัติมิชอบ

ด้าน พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าให้สัมภาษณ์ว่า รายงานดังกล่าวไม่เป็นความจริง เป็นความจงใจที่จะทำลายชื่อเสียงกองทัพ เมื่อขอหลักฐานทางองค์กรผู้จัดทำก็ไม่ให้ ตอนนั้นทาง กอ.รมน.ได้ตั้งคณะกรรมการและได้มติว่า องค์นี้ทำแบบนี้มาหลายรอบแล้ว เป็นการทำลายชื่อเสียงองค์กรและประเทศไทย จึงต้องดำเนินการ ไป

“ที่ผ่านมาถ้าพบมีการร้องเรียนเราก็ต้องตรวจสอบ แต่กลุ่มนี้เขาแจกจดหมายข่าวไปทั่วโลกเลย คุณเป็นคนไทยหรือเปล่า รัฐเองพยายามจะอะลุ่มอล่วยมาตลอดเวลา เราตรวจสอบ 54 เคสนั้นแล้ว มันซ้ำกันอยู่ 20 กว่าเคส เขียนซ้ำไปซ้ำมาอยู่เกือบ 30 กว่าเคส จริงๆ มันมีแค่ 18 เคส แต่เรายืนยันว่าไม่มีการซ้อมทรมานเลย ฝ่ายผู้ต้องหายังงงเลยว่ารายงานนี้ออกมาได้ยังไง การควบคุมทุกอย่างมีหลักฐานอยู่แล้ว แต่คุณไม่มาตรวจสอบกับรัฐเลย เรามีการตรวจร่างกาย มีการถ่ายภาพ เรามีการบันทึกไว้หมด” พ.อ.ปราโมทย์กล่าว

อัญชนา หีมมิน๊ะห์ หนึ่งในผู้ร่วมจัดทำรายงานกล่าวว่า กลุ่มผู้เสียหายเป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐ มีทั้งคนที่อยู่ในเรือนจำและคนที่ได้รับการปล่อยตัวแล้ว รายชื่อนั้นมีชัดเจน แต่ผู้จัดทำรายงานจำเป็นต้องปกป้องผู้ที่ให้ข้อมูลเพราะเขาถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอาวุธ และในการจัดทำรายงานก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าเขาพร้อมหรือต้องการให้ข้อมูลมากเพียงไร คนในพื้นที่ความขัดแย้งมีความเสี่ยงถูกเรียกตัวไปได้ตลอดเวลา เจ้าหน้าที่สามารถอ้างเหตุผลอะไรก็ได้เพื่อคุมตัวเพราะอยู่ใต้กฎอัยการศึก กว่าเราจะได้ข้อมูลมาเราลงพื้นที่หลายครั้ง ต้องลงทุนมากเพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลถูกต้อง และเพื่อเพิ่มความไว้วางใจกับแหล่งข่าวด้วย ที่น่าสังเกตคือ คนที่กระทำกับพวกเขาคือเจ้าหน้าที่ แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบกันเอง

อัญชนากล่าวว่า ในปี 2557-2558 มีการร้องเรียนเรื่องนี้มากขึ้นและรุนแรงขึ้น มีผู้เสียชีวิตระหว่างคุมตัวด้วย ในการประชุมกับ กอ.รมน.ทางกลุ่มได้พูดเรื่องนี้มาโดยตลอด แต่ทางการก็บอกว่าไม่มีการซ้อม มีการร้องเรียนไปที่คณะกรรมการสิทธิฯ ด้วยและก็มีการรายงานอย่างนี้อยู่ สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นจริง ในรายงานของแอมเนสตี้ ฮิวแมนไรซ์ วอทช์ก็มีรายงานเรื่องแบบนี้ออกมาตลอด แต่ก็ไม่เคยมีใครถูกตรวจสอบหรือถูกดำเนินคดี ทำไมการร้องเรียนหรือการพูดเรื่องนี้ไม่ได้ถูกตรวจสอบอย่างโปร่งใส ทั้งๆ ที่ประเทศไทยยืนยันว่าปกป้องสิทธิมนุษยชน เชื่อว่าหากเรื่องนี้ได้รับการแก้ไขมันจะเป็นประโยชน์ต่อขบวนการสันติภาพด้วย ไม่อย่างนั้นจะนำไปสู่ความรุนแรง อันที่จริงรัฐมีหน้าที่โดยตรงในการปกป้องประชาชน ทุกคนต้องได้รับการปกป้องไม่ว่าจะกรณีใดก็ตาม แต่เราก็เข้าใจเจ้าหน้าที่อย่างมากว่าเขาก็ต้องการปกป้องตัวเอง

อัญชนากล่าวว่า ในส่วนของการซ้อมทรมานนั้นดูจากรายงานของคำพิพากษาก็มีปรากฏ รัฐต้องรับผิดชอบจ่ายเงินให้กับประชาชนที่ถูกกระทำ ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ ต้องมีการเยียวยาผู้ที่ถูกซ้อมทรมาน นอกจากนี้ยังพบว่ามีกรณีที่ผู้ต้องหาถูกข่มขู่ไม่ให้พูดด้วย

“ก่อนที่จะมีการแจ้งความกรณีนี้ เราถูกคุกคามหลายครั้ง มีการประชุมกับ กอ.รมน. ก็หลายครั้ง เมื่อเราเห็นวิธีการที่ไม่ถูกต้องก็บอกเขาตลอด” อัญชนากล่าวและว่า สำหรับตัวเธอเคยถูกเรียกตัวไปพูดคุยโดยตรงกับกอ.รมน. 1 ครั้ง และให้ไปทำกิจกรรมร่วมกับ กอ.รมน. 2-3 ครั้ง มีทหารไปพบที่บ้าน 1 ครั้ง แต่เจอเพียงมารดา มีความพยายามจะใช้เฟสบุ๊กทำลายชื่อเสียง มีการให้คนมาติดตาม มีการระบุในที่ประชุมว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐ

“แต่เราก็พยายามใช้ชีวิตอย่างปกติ อะไรที่เกิดกว่าเหตุเช่นมาพบที่บ้านเราก็ชี้แจงไป อะไรที่มันเกินเลยเราก็ปฏิเสธ” อัญชนากล่าว  

ทั้งนี้ เนื้อหาบางส่วนในรายงานดังกล่าวระบุว่า เหตุการณ์ความรุนแรงตั้งแต่ปี 2547-2557 มีจำนวน 14,688 ครั้งมีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 6,286 รายเฉลี่ยแล้วเสียชีวิต 571 รายต่อปี ส่วนผู้บาดเจ็บมีทั้งสิ้น 11,366 ราย ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทำให้รัฐไทยพยายามจัดการปัญหาโดยการออกกฎหมายพิเศษหลายฉบับและนำไปบังคับใช้ในพื้นที่ เช่น อาศัยกฎอัยการศึกษาคุมตัวผู้ต้องสงสัยในค่ายทหาร 7 วันและควบคุมตัวตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อได้อีกคราวละ 7 วันขยายไปได้เรื่อยๆ แต่รวมแล้วไม่เกิน 30 วันโดยยังไม่ต้องมีข้อกล่าวหาแต่อย่างใด

สำหรับตัวเลขผู้ร้องเรียนให้ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับ "การทรมาน" นั้นมีทั้งสิ้น 54 ราย โดยแยกเป็น

ปี 2547 ไม่มีการร้องเรียน

ปี 2548  ไม่มีการร้องเรียน

ปี 2549  ร้องเรียน 1 ราย

ปี 2550  ร้องเรียน 4 ราย

ปี 2551  ไม่มีการร้องเรียน

ปี 2552  ร้องเรียน 2 ราย

ปี 2553  ร้องเรียน 3 ราย

ปี 2554  ร้องเรียน 2 ราย

ปี 2555  ไม่มีการ้องเรียน

ปี 2556  ร้องเรียน 7 ราย

ปี 2557  ร้องเรียน 17 ราย

ปี 2558  ร้องเรียน 15 ราย

ไม่ระบุปี  ร้องเรียน 2 ราย

ทั้งนี้ ร้อยละ100 นับถือศาสนาอิสลาม หากแบ่งคำร้องเรียนออกเป็นจังหวัด พบว่า ปัตตานีร้อยละ 57.41 ยะลาร้อยละ 18.52นราธิวาสร้อยละ 24.07

ในรายงานมีการสัมภาษณ์กลุ่มผู้ร้องเรียนและแยกวิธีการทำทรมานเป็นหลายแบบ โดยแบ่งเป็น

1.การกระทำทรมานทางจิตใจเช่นการข่มขู่,การใช้ประโยชน์จากกความหวาดกลัวเช่นจำลองวิธีการประหารชีวิต,การซักถามที่ใช้เวลานาน,การรบกวนการนอน,การขังเดี่ยว,การทำให้สูญเสียประสาทสัมผัสเช่นการใช้ผ้าปิดตา

2.การกระทำทรมานทางร่างกายเช่นการทุบตีและทำร้ายร่างกาย,การัดและใช้น้ำเย็น/น้ำอุ่นหยดลงตรงจุดๆหนึ่งในร่างกายทีละหยดส่วนมากเป็นหน้าผาก,ทำให้สำลักหรือบีบคอ,การบดขยี้ส่วนมากเป็นรองเท้าคอมแบทเหยียบไปที่จุดใดจุดหนึ่ง,การทำให้จมน้ำ/การจุ่มน้ำ,การให้อยู่ในอุณหภูมิสุดขั้ว,การช็อตด้วยไฟฟ้า,ทำเสียงดัง,ทำให้ขาดอากาศ

นอกจากนี้ยังมีการบรรยายถึงผลกระทบทางร่างกายและจิตใจของผู้ต้องหาหลังจากถูกปล่อยตัวผลกระทบกับครอบครัวรวมถึงสำรวจการดำเนินการต่อผู้ทำทรมานโดยระบุว่าไม่ปรากฏมีผู้ที่กระทำทรมานได้รับโทษถึงขั้นถูกคุมขังในเรือนจำแม้แต่กรณีเดียวมีเพียงกรณีของด.ช.อาดิลสาแมที่โดนทำร้ายร่างกายเมื่อปี2553ที่ศาลจังหวัดปัตตานีพิพากษาให้สิบเอกขวัญชัยสีนิลจำคุก1ปีรับสารภาพลดโทษเหลือ6เดือนแต่เนื่องจากไม่เคยกระทำผิดมาก่อนจึงให้รอการลงโทษไว้2ปี

ส่วนกรณีอื่นๆ แม้เป็นผู้ถูกซ้อมทรมานจนเสียชีวิตแต่เมื่อสู้คดีไปในระยะเวลาหนึ่งทางครอบครัวก็ยอมรับการจ่ายเงินชดเชยจากฝ่ายจำเลยและยุติการต่อสู้คดีนำคนผิดมาลงโทษ นอกจากนี้ในรายงานยังบรรยายถึงการเยียวยาผุ้ถูกซ้อมทรมานและครอบครัวรวมถึงแนวทางการป้องกันการซ้อมทรมานด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net