Skip to main content
sharethis

ขบวนเดินเพื่อสิทธิชีวิตคนอีสาน ยังคงออกเดิน มุ่งหน้าสู่บ้านซำผักหนาม-บ้านหนองจาน พื้นที่พิพาทอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน ประสบปัญหาอีกครั้งหลังรัฐบาล คสช.

ภาพจากเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'ขบวนการอีสานใหม่ Neo E-Saan Movement

11 มิ.ย. 2559 ผู้สื่อข่าว รายงานว่า ขบวนการอีสานใหม่ได้ออกเดินทางมุ่งสู่บ้านซำผักหนาม และบ้านหนองจาน ต.นาหนองทุ่ม อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน โดยการเดินทางในวันนี้มีชาวบ้านในพื้นที่ทั้ง 2 หมู่บ้านออกมาเดินรับขบวนเข้าไปในหมู่บ้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ขณะขบวนการอีสานใหม่ได้เดินทางเพื่อเข้าสู่หมู่บ้านได้มีเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ประมาณ 10 นาย ขับรถกะบะมา 2 คัน เข้าสอบถามถึงการเดินว่า เดินไปไหน เดินเพื่ออะไร และจะเข้าไปในพื้นที่ที่ทำการอุทยานหรือไม่ โดยตัวแทนกลุ่มได้ให้ข้อมูลว่า การเดินในวันนี้เป็นการเดินเพื่อสิทธิในที่ดินที่ทำกินของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอุทยาน และจะไม่มีการเข้าไปที่บริเวณที่ทำการอุทยาน เจ้าหน้าจึงได้ถ่ายรูปขบวนเดินเป็นระยะ แล้วจึงกลับไป

ทั้งนี้เมื่อเดินทางมาถึงในพื้นที่หมู่บ้านหนองจาน กลุ่มอีสานใหม่ได้ร่วมพุดคุยกับชาวบ้านเกี่ยวกับปัญหาในพื้นที่ในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2559 เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ได้เรียกชาวบ้านมาประชุมที่ที่ทำการอุทยานฯ เพื่อชี้แจงเรื่องการสำรวจกรถือครองที่ดิน การพิสูจน์สิทธิ และการรับรองสิทธิ์ ตามมติ ครม. 30 มิ.ย. 2541 แต่ไม่ได้ให้ข้อมูลที่ชัดเจนกับชาวบ้าน  มีแต่เพียงการชี้แจงว่า หากผู้ใดไม่ยินยอมในมีการสำรวจการถือครองที่ดิน หรือไม่ยินยอมให้มีการพิสูจน์สิทธิ จะไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกิน และอาจจะถูกดำเนินคดี โดยเจ้าหน้าที่จะเรียกทำประชาคมในเรื่องดังกล่าวกับชาวบ้านอีกครั้ง ประมาณวันที่ 18 มิ.ย. 2559 ทั้งนี้ยังไม่ได้กำหนดวันเวลาที่แน่นอน อย่างไรก็ตามชาวบ้านในพื้นที่ยังคงยืนยันไม่รับการตรวจสอบที่ยึดมติ ครม. ดังกล่าว เนื่องจากเป็นมติที่ไม่มีความเป็นธรรมกับชาวบ้าน ขาดกระบวนมีส่วนร่วมในการพิสูจน์สิทธิจากชุมชน และถือเป็นนโยบายในการนำคนออกจากป่า ซึ่งป็นบ้านของตัวเอง โดยถูกต้องตามกฎหมาย

 

ข้อมูลชุมชนซำผักหนาม และชุมชนหนองจาน 

ข้อมูลจากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน และข้อมูลจากศูยน์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า-ประเทศไทย ระบุว่า  ชุมชนซำผักหนามและชุมชนหนองจานเริ่มมีการตั้งถิ่นฐานครั้งแรกในปี  2493 โดยการอพยพของชาวอีสานหบายจังหวัด หลังจากนั้นได้ถูกคำสั่งให้ย้ายออกจากพื้นที่โดยคำสั่งของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์  ต่อมาในปี 2508  ชาวบ้านได้ย้ายกลับเข้ามาในพื้นที่เดิม ซึ่งปีนี้ได้มีการประกาศพื้นที่บริเวณนั้ ต่อมาในปี 2518 มีชาวบ้านจาก จ.ขอนแก่น  และ จ.หนองบัวลำภู เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่บ้านหนองจานอีกประมาณ  30  ครัวเรือน  โดยตั้งบ้านเรือนกระจัดกระจายตามที่ทำกินของตัวเอง

ต่อมาในปี 2533 ได้มีโครงการจัดสรรที่ดินทำกินในเขตป่าสงวนเสื่อมโทรม (คจก.) และอพยพชาวบ้านย้ายออกจากพื้นที่ทั้งหมด ไปอยู่ที่บ้านผาสามยอด ต. ผานกเค้า  อ. ภูกระดึง  จ.เลย  โดยได้มีการให้สัญญาว่าจะจัดหาที่ทำกินให้ใหม่ แต่ในปี 2535 คจก. ได้ถูกยกเลิกไป ชาวบ้านที่ถูกย้ายออกไปทั้งหมดจึงได้ย้ายกลับเข้ามาในพื้นที่อีกครั้งโดยกลับมาตั้งบ้านเรือนกระจัดกระจายตามที่ทำกินของตน ในปี 2536 มีการรวมกลุ่มกันของชาวบ้านย้ายบ้านเรือนมาตั้งรวมกันเป็นชุมชนเหมือนปัจจุบัน

สถานภาพปัจจุบันภายหลังประกาศคำสั่ง 64 / 2557 และแผนแม่บทป่าไม้ฯ ในยุค คสช.

เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.2558 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน ส่งหนังสือแจ้งให้ทราบว่าจะมีการลงพิสูจน์สิทธิ์ที่ดินทำกินในพื้นที่อุทยานภูผาม่าน กว่า 10 ชุมชน เช่น วังอีเมียง บ้านซำผักหนาม บ้านหนองจาน และบ้านตาดฟ้าดงสะคร่าน ก่อนหน้านั้นชุมชนเหล้านี้ ล้วนเคยได้รับผลกระทบในที่ดินทำกินมาอย่างต่อเนื่อง จากเหตุการณ์ถูกอพยพเรื่อยมา การลงมาสำรวจสิทธิครั้งนี้ชาวบ้านจึงเกรงว่าจะเป็นนโยบายการทวงผืนป่า และรัฐจะนำมติ ครม. 30 มิ.ย. 2541 มาใช้ในการพิสูจน์สิทธิ์ ซึ่งนโยบายนี้ขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน และเป็นไปเพื่อการนำคนออกจากป่าอย่างถูกต้องตามกระบวนการของรัฐ ดังนั้น เพื่อป้องกันผลกระทบที่กำลังจะก่อตัวขึ้นมาอีกครั้ง ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบในที่ดินทำกิน ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน กว่า 300 คน จึงได้เข้าเดินทางไปยังที่ทำการอุทยานภูผาม่าน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า จะทำการสำรวจพิสูจน์สิทธิไปเพื่ออะไร แต่หากดึงดันที่จะตรวจสอบควรให้มีคณะกรรมการหมู่บ้านมีส่วนร่วมเพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาต่อชุมชนด้วย ทั้งนี้ ผลการพูดคุยได้มีการทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับตัวแทนชุมชน 5 พื้นที่ในเขตอุทยานฯ ดังนี้

1.      ในพื้นที่ที่การสำรวจสิทธิ์ตามมติ ครม. 30 มิ.ย. 2541 และพื้นที่ในเขตผ่อนปรน ให้ทำกินได้ตามเดิมไปก่อน

2.      ในพื้นที่ภูฮี บ้านโคกยาว ให้แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อสำรวจแนวเขตผ่อนปรน ตามบันทึกข้อตกลงร่วมกับผู้ตรวจการแผ่นดิน วันที่ 8 ก.ค.57

3.       พื้นที่ที่มีการบุกรุกใหม่ นอกพื้นที่ผ่อนปรนให้ประสานผู้นำชุมชนและคณะกรรมการพื้นที่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน เข้าตรวจสอบ และดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้

ต่อมา 20 ก.ค. 2558 มีหนังสือแจ้งมาจากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช มอบหมายให้นายอิทธิพล ไทยกมล ตำแหน่งนักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ ส่งเจ้าหน้าที่ลงมาปฏิบัติการสำรวจข้อมูลชุมชนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูผาม่านซึ่งครอบคลุมพื้นที่จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดเลย โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่ายังขาดข้อมูลประชากรตามทะเบียนราษฏร์

7 ส.ค.58 ชาวบ้านจึงรวมตัวกันไปยื่นหนังสือที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดขอนแก่น โดยมีข้อเรียกร้องให้ยุติการลงสำรวจข้อมูลชุมชน เพราะจากการติดตามข่าวในการทวงคืนผืนป่า หลายพื้นที่ถูกดำเนินคดีโดยไม่รู้ตัว และอีกหลายพื้นที่ถูกเจ้าหน้าที่บุกเข้าไปทำลาย ตัดฟันสวนยาง ดังนั้น หากจะมีการสำรวจข้อมูลในเขตอุทยานแห่งชาติภูผาม่านต้องมีการประชุมร่วมกันหลายฝ่าย เพื่อที่จะได้ทำความเข้าใจ และมีมติร่วมกันว่าสมควรที่จะมีการสำรวจหรือไม่ ไม่ใช่ว่าเจ้าหน้าที่จะลงมาสำรวจเองโดยพลการ โดยขาดการมีส่วนร่วมในส่วนของภาคประชาชน  ภายหลังเข้ายื่นหนังสือมอบผ่านตัวแทนจากศูนย์ดำรงธรรมขอนแก่น ตัวแทนสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 8 (ขอนแก่น) ปลัดอาวุโสอำเภอภูผาม่าน และนักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ ได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่ว่าจะไม่มีการลงสำรวจสิทธิ์แต่อย่างใดจนกว่าจะได้มีการหารือร่วมกันทั้งจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ นายอำเภอ และประชาชนในพื้นที่

แต่ต่อมา ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2559 ได้มีเจ้าหน้าที่อุทยานเรียกประชุมชาวบ้านในพื้นที่พิพาททั้งหมด ที่ทำการอุทยาน เพื่อชี้แจงเรื่องการสำรวจสิทธิ และแนวทางการแก้ปัญหา แต่ไม่ได้ให้ข้อมูลชัดเจนกับพี่น้องชาวบ้าน และพยายามเลี่ยงการพูดถึง มติครม 30 มิย 41 ที่จะใช้ในการสำรวจสิทธิ มีแต่เพียวการชี้แจงว่า หากชาวบ้านคนใดไม่ยินยอมให้มีการลงสำรวจสิทธิจะไม่ได้รับการจัดสรรที่ทำกิน และอาจจะถูกดำเนินคดี โดยในวันที่ 18 มิ.ย. นี้เจ้าหน้าที่อุทยานจะนัดทำประชาคมกับชาวบ้านในทุกพื้นที่เรื่องการสำรวจสิทธิอีกครั้ง ทั้งนี้วันเวลายังไม่แน่นอน อาจจะมีการเลื่อนและเปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ ปัจจุบันบ้านซำผักหนามมีจำนวน 107 ครอบครัว เนื้อที่ 2,500 ไร่ บ้านหนองจานมีจำนวน 48 ครอบครัว เนื้อที่ 1,810 ไร่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net