เพลง ‘7 สิงหาประชามติร่วมใจ ประชาธิปไตยมั่นคง’ บอกอะไรคนไทยได้บ้างเกี่ยวกับ กกต.?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

เกริ่นนำ

ในขณะที่สังคมไทยกำลังถกเถียงกันอย่างเข้มข้นในประเด็นปัญหาที่สำคัญยิ่งเรื่องการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. ซึ่งจะมีผลผูกพันทางกฎหมายในการกำหนดเงื่อนไขความสัมพันธ์ทางอำนาจของผู้คนในสังคมไทยต่อไปอีกหลายปี เรื่องที่ดูเหมือนจะ “เล็ก” อย่างเรื่องของเพลงประกอบการรณรงค์ประชามติ หรือเพลง “7 สิงหาประชามติร่วมใจ ประชาธิปไตยมั่นคง” (เพลง 7 สิงหาฯ) ก็กลายมาเป็นประเด็นถกเถียงที่เข้มข้นเผ็ดร้อนไม่แพ้กัน เพราะเนื้อหาในเพลง “7 สิงหาฯ” ได้ก่อให้เกิดคำถาม และข้อวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนจำนวนมาก ถึงความเหมาะสมในการทำหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในข้อเขียนชิ้นนี้ผู้เขียนขอเสนอว่า จากเนื้อหาที่ปรากฏในเนื้อเพลง “7 สิงหาฯ” และจากคำสัมภาษณ์ของ กกต. บางท่านที่ออกมาตอบโต้ต่อข้อวิพากษ์วิจารณ์เพลงดังกล่าว มันสะท้อนให้เห็นปัญหาสำคัญของ กกต. ชุดปัจจุบันอย่างน้อยสามประการก็คือ  1)  ความไม่เป็นกลางในการรณรงค์ออกเสียงประชามติของ กกต2การไม่เข้าใจหลักการพื้นฐานทางประชาธิปไตยของ กกต. และ 3การขาดความรับผิดชอบต่อประชาชนของ กกต.

 

1. ความไม่เป็นกลางในการรณรงค์ออกเสียงประชามติของ กกต.

“การทำประชามติ” หัวใจของมันก็คือ “การเลือก” ว่าจะรับหรือไม่รับข้อเสนอต่างๆทางการเมืองที่ผู้บริหารปกครองประเทศคิดว่าสำคัญและจำเป็นต้องได้รับฟังเสียงความต้องการของประชาชน และเหนือสิ่งใดจำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากประชาชน เพื่อที่จะได้มีความชอบธรรมเพียงพอในการนำข้อเสนอเหล่านั้นไปใช้ (หรือไม่นำไปใช้ ในกรณีที่ไม่ได้รับความเห็นชอบ) ทั้งนี้ประชาชนจะเป็นผู้ใช้วิจารณญาณส่วนตัวในการตัดสินใจในประชามติเอง ซึ่งประชาชนมีสิทธิที่จะเลือกทางเลือกใดก็ได้ที่พวกเค้าเห็นว่าดีในมุมมองของพวกเค้า  ในแง่นี้แล้วหน้าที่ของ กกต. จึงมีเพียงจัดดำเนินการทำประชามติอย่างเป็นกลาง และอำนวยความสะดวกให้ฝ่ายต่างๆที่ต้องการเผยแพร่ข้อมูลและโน้มน้าวให้ประชาชนตัดสินใจในการลงประชามติตามแนวทางของตนได้มีพื้นที่ในการนำเสนอข้อดีข้อเสียในทางเลือกต่างๆตามมุมมองของตัวเองอย่างเต็มที่ และจากนั้นจึงให้ประชาชนได้ลงความเห็นตามความต้องการของตัวเอง  กกต. จึงไม่มีสิทธิและหน้าที่อะไรในการไปตัดสินว่า ทางเลือกไหนดี/ไม่ดี ไม่มีสิทธิที่จะออกความเห็นว่าประชาชนควรเลือกอะไร  

อย่างไรก็ตาม เพลงรณรงค์ประชามติหรือเพลง “7 สิงหาฯ” ที่ กกต. ได้ว่าจ้างจัดทำและกำลังนำเสนอผ่านสื่อต่างๆในขณะนี้นั้น เนื้อหาของเพลงส่วนหนึ่งได้สะท้อนถึงความไม่เป็นกลางของ กกต. เพราะมีนัยยะของการโน้มน้าวให้ประชาชนไปลงเสียง “รับร่าง” รัฐธรรมนูญที่จัดทำโดยคณะกรรมการร่างฯ ที่แต่งตั้งโดย คสช.                 

“7 สิงหา ประชามติร่วมใจ ประชาธิปไตยมั่นคง
 กกต. ขอรณรงค์ ขอเชิญพี่น้องทุกคนไปลงประชามติ พี่น้องทุกคนไปลงประชามติ
 รัฐธรรมนูญ เป็นกติกา นำมาซึ่งรากฐานแห่งการปรองดอง
 รักกันฉันท์พี่ฉันท์น้อง สังคมปรองดอง มั่นคงอบอุ่น
 บ้านเมืองจะก้าวรุกไป เราต้องร่วมมือ ร่วมใจค้ำจุน
 เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ คำตอบอยู่ที่คุณใช้วิจารณญาณ

บ้านเมืองจำก้ำจะจุน รัฐธรรมนูญต้องเป็นที่ตั้ง
 หนึ่งเสียง หนึ่งใจ หนึ่งพลัง สรรสร้างบ้านเฮาเมืองเฮา

จากข้อความในเนื้อเพลง “7 สิงหาฯ” ที่หยิบยกมาข้างต้น เพลงนี้กำลังบอกผู้ฟังว่า รัฐธรรมนูญ เป็นสิ่งที่สำคัญมากในการอยู่ร่วมกัน เพราะ เป็นกติกา นำมาซึ่งรากฐานแห่งการปรองดอง ที่ทำให้ รักกันฉันท์พี่ฉันท์น้อง สังคมปรองดอง มั่นคงอบอุ่น  ยิ่งไปกว่านั้น เพลงนี้ยังถึงกับบอกด้วยว่า บ้านเมืองเราจะก้าวไปข้างหน้าได้นั้น ต้องรักษา รัฐธรรมนูญ นี้ไว้ (บ้านเมืองจะก้าวรุกไป เราต้องร่วมมือ ร่วมใจค้ำจุน)

ประเด็นสำคัญที่สะท้อนความไม่เป็นกลางของ กกต. ก็คือ รัฐธรรมนูญ ที่เพลงนี้กำลังพูดถึงความสำคัญของมันและกำลังบอกให้คนรักษา ค้ำจุน ไว้นั้น ก็คือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ คสช. กำลังผลักดันให้ประชาชนรับร่างอยู่ในขณะนี้ ไม่ได้หมายถึงรัฐธรรมนูญทั่วๆไป ฉบับใดก็ได้ (เพราะถ้า กกต. คิดว่าการรักษาค้ำจุนรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญจริง ถ้าคิดว่าการไม่รักษาค้ำจุนรัฐธรรมนูญเป็นการทำให้บ้านเมืองไม่มี กติกาไม่มี รากฐานแห่งการปรองดอง อันจะทำให้สังคมไม่ มั่นคงอบอุ่น และบ้านเมืองจะไม่สามารถ ก้าวรุกไป ได้  ในช่วงก่อนหน้านี้ กกต. ต้องออกมาประนาม คสช. ตั้งแต่เมื่อก่อการรัฐประหารเมื่อปี 2557 แล้วเพราะนั่นคือการฉีกรัฐธรรมนูญฉบับเดิม) และ รัฐธรรมนูญในเนื้อเพลงท่อนนี้ก็ไม่ได้หมายถึงรัฐมนูญชั่วคราวฉบับ 2557 ที่คสช.ประกาศใช้หลังรัฐประหาร (เพราะถ้าต้องการให้รักษารัฐธรรมนูญฉบับนั้นให้คงอยู่ กกต.จะมาเสียเวลารณรงค์ให้ประชาชนไปลงมติรับ/ไม่รับร่างฯ ฉบับใหม่นี้ทำไมกัน) และแน่นอนว่าย่อมไม่ได้หมายถึงรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆหน้านั้นด้วย

จากท่าทีตอบโต้ต่างๆที่ผ่านมาของ กกต. ผู้เขียนเชื่อได้ไม่ยากว่า กกต. ก็คงจะออกมาแก้ต่างอย่างทื่อๆ เหมือนที่ได้ทำมาก่อนหน้านี้ ว่าการตีความของผู้เขียนเป็นการตีความผิด เข้าใจผิด คิดมากไป อย่างไรก็ตามผู้เขียนอยากชี้ชวนให้ กกต. ตระหนักรู้ไว้ด้วยว่า “ความหมาย” ของข้อความต่างๆนั้นมันสัมพันธ์กับ “บริบท” ที่รายล้อมด้วย ภายใต้เงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ของสังคมการเมืองไทย ที่รัฐธรรมนูญที่ร่างโดยตัวแทนที่มาจากการเลือกของประชาชนอย่างฉบับปี 2540 ถูกฉีกโดยการรัฐประหาร และรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยคณะรัฐประหารชุดก่อนถูกฉีกโดยคณะรัฐประหารชุดใหม่ และคณะรัฐประหารที่กำลังปกครองประเทศในปัจจุบันกำลังเสนอร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ถูกร่างโดยคนที่พวกตนแต่งตั้งขึ้นมาเอง แล้วเอามาให้ประชาชนลงประชามติ โดยไม่มีตัวเลือกรัฐธรรมนูญอื่นใดให้ประชาชนได้เลือกเลย ข้อความตามเนื้อเพลง “7 สิงหาฯ” ที่เน้นย้ำความสำคัญของรัฐธรรมนูญ ที่พร่ำบอกว่าเราต้องรักษาค้ำจุนไว้เพื่อให้บ้านเมืองมีกติกา ปรองดอง ก้าวหน้านั้น คงยากที่จะให้แปลความเป็นอื่นไปได้ถ้าไม่ใช่กำลังหมายถึงให้รักษาค้ำจุนร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังเสนอโดย คสช. อยู่นี้

เอาเข้าจริงแล้ว จากบทสัมภาษณ์ของนาย ศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ที่ผ่านมา ที่ออกมาตอบโต้ประเด็นปัญหาการเหยียดภูมิภาคในเพลงรณรงค์ประชามติ ก็ยิ่งตอกย้ำการตีความของผู้เขียนต่อเนื้อเพลงรณรงค์ประชามติไปในทางที่เห็นถึงบทบาทอันไม่เป็นกลางของ กกต. ในการจัดทำประชามติครั้งนี้ เมื่อนายศุภชัยออกมาให้สัมภาษณ์ว่า:

 “ส่วนการแสดงความคิดเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีหรือไม่อย่างไรก็ว่ากันไป ทั้งนี้สำหรับตนนั้นคำว่ารับหรือไม่รับก็สามารถที่จะเผยแพร่ความเห็นของเราได้ แต่จะต้องไม่บิดเบือน ไม่ชี้นำ ไม่ปลุกระดม เพราะเราต้องรู้ว่า ขณะนี้บ้านเมืองเราอยู่ในสภาวะไม่ปกติ เราก็ต้องร่วมมือกันทำให้บ้านเมืองเราเกิดความสงบ จะได้เดินไปตามโรดแมปที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วางไว้ แต่หากเรามัวทะเลาะกันประเทศชาติก็ไม่ไปไหน ผู้ชนะก็ชนะบนซากปรักหักพัง”(ศุภชัย สมเจริญ, ประธาน กกต.)[1]

ผู้เขียนคงไม่สามารถตีความหมายเพลงไปในแนวทางอื่นแล้วได้จริงๆ ก็ในเมื่อประธาน กกต. ผู้มีหน้าที่ดำเนินการจัดประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอโดย คสช. ที่มาจากการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญเก่า กำลังบอกให้ประชาชน “ต้องร่วมมือกัน” “จะได้เดินไปตามโรดแมปที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วางไว้” เพื่อให้ “บ้านเมืองเราเกิดความสงบ” ไม่เช่นนั้น “ประเทศชาติก็ไม่ไปไหน”

 

2) การไม่เข้าใจหลักการพื้นฐานทางประชาธิปไตยของ กกต.

มีหลายคนได้ออกมาพูดถึงปัญหาเรื่องการเหยียดหรือเลือกปฏิบัติเชิงภูมิภาคในเนื้อเพลง “7 สิงหาฯ” แล้ว ซึ่งทาง กกต. บางท่าน (รวมทั้งผู้แต่งเนื้อเพลง) ก็ออกมาปฏิเสธในทำนองที่ว่าเป็นการเข้าใจผิด คิดไปเอง คิดมากไป ผู้เขียนจะไม่ขอพูดซ้ำกับท่านอื่นๆ ว่าเนื้อเพลงนี้เป็นการเหยียดในเชิงภูมิภาคใดเป็นการเฉพาะหรือไม่ เพราะได้มีผู้กล่าวไว้มากแล้ว หากแต่ผู้เขียนอยากจะพูดถึงปัญหาของเนื้อหาที่ปรากฏในข้อความของเพลงนี้เอง ว่าสะท้อนทัศนคติที่ไม่เข้าใจหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยของ กกต. (และผู้แต่งเพลง)

            “พี่น้องอีสานบ้านเฮา อย่าให้ใครเขาชี้ซ้ายชี้ขวา
             ใช้สติพิจารณา เนื้อหาถ้อยความ หลักการสำคัญ

            ออกไปใช้เสียงใช้สิทธิ์ ร่วมรับผิดชอบบ้านเมืองนำกัน
             ให้ฮู้เขาฮู้เฮาเท่าทัน เฮาคนอีสานอย่าให้ไผมาตั๊วได้

           ปี้น้องชาวเหนือหมู่เฮา อย่าฮือใครเขาชักจูงตี้นำ

ต้องหมั่นเฮียนฮู้ติดตาม ศึกษาเนื้อความเฮื่อมันกระจ่าง

หลักการพื้นฐานที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยคือ การถือว่าประชาชนทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่ว่าพวกเขา/เธอจะมีฐานะทางเศรษฐกิจ ทางสังคมหรือภูมิหลังแตกต่างกันแค่ไหน แต่เวลาที่มาใช้สิทธิทางการเมืองในการตัดสินใจร่วมกันในระบอบประชาธิปไตย อย่างการออกเสียงเลือกตั้ง หรือออกเสียงประชามติ เสียงของทุกคนล้วนมีค่าเท่ากัน หลักการนี้มีพื้นฐานอยู่บนความเชื่อที่ว่า ประชาชนทุกคนมีความเป็นนายตัวเอง (autonomy) ในการตัดสินใจและการกระทำของตัวเอง มีสำนึกรู้ในการตัดสินใจของตนเอง การตัดสินใจทางการเมืองต่างๆของเขา/เธอมาจากเหตุผลของตัวเอง ตามทางเลือกของตัวเอง ที่ตัวเองเห็นว่าดี ถูกต้อง เหมาะสมตามมุมมอง จุดยืนความเชื่อ  และตอบสนองต่อความต้องการของตัวเอง ดังนั้นในการเลือกตั้งและการลงประชามติภายใต้หลักการประชาธิปไตยนั้น เราไม่สามารถไปกล่าวหาหรือมีสมมติฐานว่าคนอื่นที่เห็นต่างจากเรา ที่เขาเลือกทางเลือกแบบนั้นเพราะถูก ชักจูงตี้นำ” “ชี้ซ้ายชี้ขวา ถูกล่อลวงจนไม่ ฮู้เขาฮู้เฮาเท่าทัน ว่าเป็นพวกไม่ ศึกษาเนื้อความเฮื่อมันกระจ่าง ได้ เพราะหากเราแต่ละคนต่างมีจุดเริ่มต้นด้วยสมมติฐานที่ไม่เชื่อมั่น ไม่ยอมรับในการตัดสินใจของประชาชนคนอื่นๆ ที่อาจจะเลือกทางเลือกต่างจากเรา ไม่คิดว่าการตัดสินใจของพวกเขาก็มีค่าเท่ากันกับของเราแล้ว เราก็จะมีแนวโน้มที่จะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งหรือลงประชามติที่เห็นต่างจากเรา ที่ไม่เป็นไปในทางที่เราต้องการ และนั่นก็จะเป็นพื้นฐานการไม่ยอมรับกฎกติกาประชาธิปไตย และสังคมของเราจะไม่เหลือกลไกทางการเมืองในการตัดสินใจรวมหมู่ร่วมกันอย่างสันติอีกต่อไป และนั่นก็จะนำไปสู่ความวุ่นวายและความรุนแรงอื่นๆตามมาไม่จบสิ้น  อย่างที่ได้เกิดขึ้นมาในสังคมไทยมาหลายระลอกในช่วงสิบปีที่ผ่านมาได้

จากกรณีข้อถกเถียงเรื่องการเหยียดภูมิภาคในเพลง “7 สิงหาฯ” ที่ กกต. กำลังเปิดรณรงค์ ต่อให้เราเชื่อตาม กกต. (และผู้แต่งเพลง) ว่าข้อความในเพลงไม่ได้มุ่งเน้นดูถูกไปที่ประชาชนในภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่งเป็นพิเศษอย่างที่พวกเขาพยายามปฏิเสธกัน[2] ต่อให้ข้อความดังกล่าวในเพลงเป็นการเตือนสติคนไทยทั่วทุกภาคทั้งประเทศอย่างถ้วนหน้าก็ตาม เนื้อเพลง “7 สิงหาฯ” นั้นก็ยังมีปัญหาอยู่ดี เพราะการออกมาตักเตือนสั่งสอนประชาชนก่อนการลงประชามติเช่นนี้ มันสะท้อนว่าผู้รณรงค์เพลง “7 สิงหาฯ” มีสมมติฐานที่ไม่เชื่อ ว่าประชาชนสามารถคิดการตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง และไม่เชื่อว่าประชาชนได้ศึกษาทางเลือกของตนมาแล้ว เนื้อเพลงนี้มันสะท้อนคิดว่า ประชาชนถูกสั่งได้ ถูกครอบงำได้ ซึ่งทัศนะเช่นนี้นั้นเป็นปฏิปักษ์กับหลักการประชาธิปไตยอย่างยิ่ง และทัศนะดังกล่าวก็สอดคล้องกับเหตุผลข้ออ้างที่ถูกใช้ในการรัฐประหารล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่ผ่านมาหลายๆครั้ง ที่มักจะอ้างว่า ประชาชนถูกหลอก ถูกล่อลวงชี้นำโดยนักการเมืองเลว ไม่รู้เท่าทัน ไม่กระจ่างว่าอะไรดีไม่ดี

 

3) การขาดความรับผิดชอบต่อประชาชนของ กกต.  

กกต. มักจะชอบออกมากล่าวย้ำอยู่บ่อยครั้ง ว่าตนเองเป็น “องค์กรอิสระ” ทำงานเป็นเอกเทศ ไม่ขึ้นตรงต่อใคร แต่สิ่งหนึ่งที่ กกต. ควรจะต้องตระหนักก็คือ การดำเนินงานต่างๆของ กกต. นั้นจำเป็นต้องมีความรับผิดชอบต่อประชาชน ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของประเทศ ผู้ซึ่งทำงานด้วยหยาดเหงื่อแรงกายแล้วต้องเสียภาษีส่วนหนึ่งมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่างๆของ กกต. (เพื่อให้ กกต. สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่) มาเป็นเงินเดือนของ กกต. (เพื่อให้ กกต. สามารถเลี้ยงดูปากท้องครอบครัวตนได้อย่างไม่ขัดสน) มาเป็นค่ารถประจำตำแหน่งและคนขับรถ (เพื่อให้ กกต. เดินทางไปทำงานได้อย่างไม่เหนื่อยยาก) มาเป็นค่าจ้างผู้ช่วยและที่ปรึกษาจำนวนมากของ กกต. (เพื่อให้ กกต. ได้รับการสนับสนุนในการทำงานได้มีประสิทธิภาพ) มาเป็นค่าไปดูงานต่างประเทศ (เพื่อให้ กกต. ได้มีแบบอย่างจากสังคมที่ “เป็นประชาธิปไตยกว่า” มาปรับใช้ในบ้านเรา) ฯลฯ

“ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องมุมมองของแต่ละคนที่จะมีความเห็น กกต.คงไม่ไปตอบโต้อะไรทั้งสิ้น อีกทั้งทราบว่าทางศิลปินก็ได้มีการชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีดัวย...” (ศุภชัย สมเจริญ, ประธานกกต.)[3]

 “กรณีนี้เป็นเรื่องของมุมมองที่แต่ละคนจะมีความเห็น ถึงอย่างไร กกต.คงจะไม่ไประงับการเผยแพร่ เพราะมองว่า เพลงดังกล่าวไม่มีเนื้อหาใดที่เข้าข่ายปลุกระดม ข่มขู่ หรือผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ถ้าหาก กกต.ไปกังวล ก็เท่ากับว่า จะต้องยกเลิกทุกเรื่องตามที่คนเขาสะท้อนมา” (ศุภชัย สมเจริญ, ประธานกกต.)[4]

“ขอไม่มีความเห็นในเรื่องนี้ และ กกต.ก็ไม่ได้หารือถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นในที่ประชุม กกต. ด้วย แต่ส่วนตัวยังเห็นว่า เนื้อหาไม่ได้เป็นการดูหมิ่นคนภาคใด และผู้แต่งเพลงก็ยืนยันแล้วไม่ได้เจตนาที่จะดูหมิ่นแต่อย่างใด... คิดว่าบางทีสังคมก็อ่อนไหวเกินไป และบางเรื่องก็ไม่เป็นสาระสำคัญมากนัก...” (สมชัย ศรีสุทธิยากร, กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง)[5]

ถึงแม้เนื้อร้องของเพลงรณรงค์ประชามติ “7 สิงหาฯ” ที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์นั้นจะถูกแต่งโดยนักแต่งเพลง สัญญาลักษณ์ ดอนศรี ไม่ได้ถูกแต่งโดย กกต. โดยตรง แต่กระนั้น กกต. ก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบจากผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนที่เกิดจากเนื้อหาของเพลงนี้ได้ เพราะ กกต. เป็นผู้ว่าจ้าง เป็นผู้กำหนดทิศทางเนื้อหาของเพลงก่อนที่จะให้ศิลปินแต่งเพลงให้ และเป็นผู้ตรวจรับงานเมื่อศิลปินแต่งเพลงเสร็จ ดังนั้น หากเนื้อหาของเพลงมีปัญหา ก็เท่ากับว่าเป็นปัญหาของ กกต. ด้วย ที่ในการกำหนดเนื้อหาหรือการตรวจรับงาน ไม่รู้จักระวังไหว ไม่ใส่ใจใคร่ครวญในถ้อยคำ ว่าจะไปกระทบจิตใจผู้ฟังกลุ่มไหนได้บ้าง อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่ได้มีการปล่อยเพลง “7 สิงหาฯ” ออกมาผ่านสื่อต่างๆและเกิดเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนจำนวนมากที่รู้สึกว่าเพลงนี้มีเนื้อหาไปในทางที่ดูถูกหมิ่นหยามพวกเค้า แทนที่ กกต. จะออกมาอธิบายขยายความ ชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจในเหตุผล ว่าข้อความที่ปรากฏตามเนื้อเพลง “7 สิงหาฯ” นั้นมันไม่ได้เป็นการดูถูกเหยียดภูมิภาคอย่างไร กกต. กลับออกมาให้สัมภาษณ์อย่างไร้ความรับผิดชอบอย่างง่ายๆว่า “ไม่ได้เป็นการดูหมิ่น...” “เป็นเรื่องมุมมองของแต่ละคน...” “คงไม่ไปตอบโต้อะไรทั้งสิ้น...” กลับย้อนตำหนิประชาชนที่คับข้องใจว่า “อ่อนไหวเกินไป...” มองว่าความรู้สึกเจ็บปวดจากการได้รับการดูถูกลดทอนศักดิ์ศรีของพวกเขานั้นเป็นเรื่องที่ “ไม่เป็นสาระสำคัญมากนัก...” และก็ไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขในความผิดพลาดของเนื้อเพลงดังกล่าว

บทส่งท้าย

จากกรณีปัญหาในเนื้อเพลงรณรงค์ออกเสียงประชามติ “7 สิงหาฯ” ที่ถูกว่าจ้างจัดทำโดยกกต. และจากการออกมาให้สัมภาษณ์ตอบโต้ของ กกต. ต่อประเด็นปัญหาดังกล่าว ผู้เขียนรู้สึกผิดหวัง ที่องค์กรทางการเมืองที่ถูกออกแบบไว้ให้มีเพียงหน้าที่เดียวคือดำเนินการเลือกตั้งอย่างเป็นกลาง กลับไม่ได้ทำหน้าที่ของตนอย่างเป็นกลาง ผู้เขียนรู้สึกเจ็บปวด (เหมือนที่อ. สุรพศ ทวีศักดิ์รู้สึก) ที่กกต. มีทัศนะเชิงดูถูกประชาชนว่าคิดไม่เป็น ตัดสินใจเองไม่ได้ โง่และถูกหลอก และผู้เขียนก็รู้สึกเสียดายเงินภาษีประชาชน เพราะเหล่า กกต. ที่พวกเราประชาชนต้องเหนื่อยยากทำงานเสียภาษีไปให้พวกเขาได้กินอยู่อย่างสุขสบาย ได้ทำงานโดยมีทรัพยากรพร้อมเพรียง กลับไม่ใส่ใจและไม่รับผิดชอบต่อความรู้สึกของประชาชนอย่างพวกเราเลย

 

                                                                                                            

เชิงอรรถ

[1] ผู้จัดการออนไลน์, 9 มิ.ย. 2559, “กกต.ย้ำศาลวินิจฉัยแบบไหนก็ไม่กระทบประชามติ ขออย่าจับผิดเพลงรณรงค์”, http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9590000057813

[2] ประชาไท, 7 มิ.ย. 2559, “เพลงประชามติของกกต. สุรพศบอกเจ็บปวดมากหลังได้ฟัง 'ผู้แต่ง' ยันไม่ได้ดูถูกภาคไหน”, http://prachatai.com/journal/2016/06/66201

[3] ไทยรัฐออนไลน์, 7 มิ.ย. 2559, “กกต.โต้เนื้อหา 'เพลงประชามติ' เหยียดภูมิภาค”, http://www.thairath.co.th/content/633995  

[4] คมชัดลึก, 8 มิ.ย. 2559, “ปธ.กกต.ไม่ระงับเพลง‘7สิงหาประชามติร่วมใจ’”, http://www.komchadluek.com/news/politic/229278

[5] คมชัดลึก, 8 มิ.ย. 2559, “ปธ.กกต.ไม่ระงับเพลง‘7สิงหาประชามติร่วมใจ’”, http://www.komchadluek.com/news/politic/229278

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท