กฎหมายมีไว้เพื่อผดุงธรรม?: โศกนาฏกรรมปกาเกอะญอที่ทุ่งป่าคา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

1.

สองเดือนที่แล้วเมื่อครั้งไปเยี่ยมพี่น้องปกาเกอะญอที่ทุ่งป่าคา (อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน) ที่ออกจากคุก หลังจากที่ถูกขังนาน 1 ปีเต็ม ด้วยข้อหาครอบครองไม้ (ไม้ท่อนปลูกบ้าน) เมื่อเราถามกับพ่อคนหนึ่งวัย 60 ปี ว่าเมื่อออกมาแล้ว วาดหวังอยากจะทำอะไรที่สุด พ่อบอกว่า อยากมาทำไร่มากที่สุด เพราะตลอดเวลที่อยู่ในคุกก็เป็นห่วงทางบ้านสารพัดว่าจะอยู่กินกันอย่างไร ใครจะทำไร่ (ปลูกข้าว) ในปีนี้ (ซึ่งครอบครัวแก้ไขโดยการกู้ยืมเงินมาซื้อข้าวกิน)

แต่เมื่อได้ออกมา สิ่งที่เกิดขึ้นกับพ่อคือ พ่อไม่มีแรงเลย จับขวานฟันไม้ฟืนได้ไม่กี่ทีก็เวียนหัว ต้องกลับมานั่ง บางทีเดินๆ ไปก็เวียนหัว โลกหมุน ตอนอยู่ในคุกก็ได้อาศัยยาจากโรงพยาบาลประคับประคองร่างกาย เมื่อออกมา ก็ยังต้องอาศัยยา กินอยู่ทุกวัน

เอาเข้าจริง เมื่อออกจากคุกมา ความหวังจะได้กลับมาทำไร่เหมือนเดิมก็ไม่อาจเป็นไปได้แล้ว - พ่อพูดด้วยน้ำเสียงเหน็ดเหนื่อย และเหมือนอดทนรับชะตากรรมไป

การอยู่คุก 1 ปี ไม่ได้แปลว่า มันเอาเวลาของคนๆ นั้นไปแค่ 1 ปี แต่มันหมายถึง มันได้ทำลายสุขภาพจิต สุขภาพกายของคนๆ นั้นล่วงหน้าไปอีก 10 ปี -- อาหารการกินไม่มีทางเหมือนอยู่บ้าน อากาศห้องหับที่หลับที่นอนไม่มีทางเหมือนอยู่บ้าน โรคภัยไข้เจ็บ โรคติดต่อ มีโอกาสรับเชื้อโรคต่างๆ เข้าสู่ร่างกายง่ายกว่าปกติ

อาทิตย์ก่อนพ่อหลวงนงเล่าอย่างมีอารมณ์ขันว่า อยู่นี่ได้กินอาหารคลีนๆ เป็นข้าวนึ่งแดง กับแตงผัด กะหล่ำผัด ผัดผักหลายชนิด (เน้นผักๆ) และมีชีวิตที่แอคทีฟ เพราะยืนกับนั่งตลอด นอนไม่ได้ คนมันแน่น

พ่อสองเมืองวัย 70 ปี ไม่ค่อยสบาย มีน้ำมูกไหล พ่อยิ้มบอกว่า พ่อไหวๆ แต่น้ำตาพ่อก็ไหล
....
ทุกวันนี้ คุกเมืองไทยมีนักโทษล้นคุก แต่ประเทศนี้ยังอุดมไปด้วยปัญหาในทุกๆ วัน ใครกันคือคนอยู่ในคุก และใครกันนอนตีพุงอยู่เรือนหรู

 

2.

ชั่งใจอยู่นานว่าควรเผยแพร่ภาพนี้หรือไม่

เธอเป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่สามีถูกจับเข้าคุกต่อกรณีปัญหาการครอบครองไม้ผิดกฎหมาย (ไม้สำหรับสร้างบ้าน) ของชาวปกาเกอะญอบ้านทุ่งป่าคา อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งศาลตัดสินจำคุกประมาณ 21 คน 

แม้ว่าปัจจุบันนี้จะมีผู้ต้องขังจะได้รับการปล่อยตัวออกมาบ้างบางส่วน (ครบตามกำหนดโทษ 1 ปี) แต่คนที่รับโทษมากกว่านี้ ยังคงอยู่ในคุกต่อไป

ปัญหาการลักลอบตัดไม้สักของแม่ฮ่องสอน เป็นปัญหาใหญ่ มีมาอย่างยาวนาน และโด่งดัง เป็นที่จับตา เพ่งเล็ง แต่ว่าสุดท้าย คนที่เข้าคุกก็ดูจะเป็นชาวบ้านตัวเล็กๆ ไม่สามารถเอาผิดกับคนที่เป็นต้นตอหรือสาเหตุที่แท้จริงได้

ชาวบ้านในพื้นที่บอกว่า “ไม้มันเดินไปเองไม่ได้ ก่อนจะเดินทางออกจากแม่ฮ่องสอนมาสู่เชียงใหม่ มันต้องผ่านด่านกี่ด่าน ต้องมีคนเซ็นใช่หรือไม่ ทำไมมันเล็ดลอดออกไปแล้วไม่มีคนเหล่านี้มีความผิดบ้างเลย”

ล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ยังมีข่าวการตัดไม้เพื่อขยายถนนที่แม่เงา สบเมย ปรากฎว่ามีจำนวนไม้ถูกตัดมากเกินจำนวนตอที่ทางอุทยานแห่งชาติแม่เงาอนุญาตให้ กฟภ. ตัด ซึ่งที่สุดแล้วทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ออกมาแถลงว่ากำลังอยู่ระหว่างพิสูจน์ข้อเท็จจริง หลังข่าวนี้เกิดขึ้นไม่นานชาวบ้านสามสี่รายละแวกนั้นก็โดนหมายจับเพราะครอบครองไม้ปลูกบ้าน (ซึ่งเป็นไม้แผ่น ไม้กระดานปลูกบ้าน สามารถพิสูจน์ได้ว่าไม่ใช่ไม้ที่ตัดในปีนั้น)

เธอ ผู้เป็นเจ้าของบ้านที่ อ.สบเมย และถูกดำเนินคดีบอกว่า “ถ้าว่ากันตามจริงที่สุด คนแถวนี้ส่วนใหญ่ก็ซื้อไม้จากชาวบ้านด้วยกันแบบนี้แหละ ใครจะออกเดินทางจากที่นี่ (ระยะทางกว่าสองร้อยกว่ากิโลเมตรและใช้เวลาเดินทางนานราวหกเจ็ดชั่วโมงต่อหนึ่งเที่ยวขาไป) เพื่อไปซื้อไม้จากเชียงใหม่กลับมาสร้างบ้าน มันไม่มีใครทำหรอก” (แปลว่า ให้คนป่าไปซื้อไม้ในเมืองมาปลูกบ้าน ไม่มีใครทำกันหรอก)

กฎหมายเมืองไทยเป็นกฎหมายที่ตลกที่สุดและไม่เอื้ออำนวยต่อคำว่าความเป็นธรรมอย่างแท้จริงเลย

ปีทีผ่านมาเราได้ยินคำว่า ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม มันจะเป็นจริงได้สักแค่ไหนก็ไม่รู้

ทนายความนักสิทธิมนุษยชนท่านหนึ่ง บอกว่า เขาหวังจะเห็นศาลสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้น ซึ่งปีที่แล้วมีการร่าง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมและวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม จากคณะกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม สภาปฏิรูปแห่งชาติ ขณะเดียวกันทางสำนักงานยุติธรรมก็ได้เสนอ ร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม (ไม่เอาศาลสิ่งแวดล้อม) เช่นกัน กลายเป็นสอง พ.ร.บ. คู่ขนาน

หากมีศาลสิ่งแวดล้อม วิธีการพิจารณาคดีจะได้ผู้เชี่ยวชาญ ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อมมาพิจารณาและประเมินถึงความเสียหายด้วยหากมีการพิจารณาคดีล่าช้า

จนป่านนี้ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นอย่างไร

ครูแดง เตือนใจ ดีเทศน์ เคยบอกไว้ว่า มันจะดีมากกว่า ถ้าการพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมในเมืองไทยมีการพิจารณาจากบริบทวิถีชีวิตของชาวบ้านด้วย ไม่ใช่เอากฎหมายมาเป็นกฎเข้ม ความผิดใดไม่ได้เข้าข่ายหนักหนาก็ไม่ควรเอาคนเข้าคุก เพราะทุกวันนี้ในคุกมีนักโทษจนล้นเกินอยู่แล้ว

ขณะที่อาจารย์อรรถจักร สัตยานุรักษ์ คาดหวังไปถึงว่า ควรปฏิรูปการศึกษาของนักศึกษากฎหมายไทยด้วย คนที่จะไปเป็นทนายความ คนที่จะไปเป็นผู้พิพากษา พวกเขากำชะตาชีวิตของบุคคลอื่นอยู่ พวกเขาควรรู้ว่า ตนเองกำลังเรียนกฎหมายเพื่อความเป็นธรรม ไม่ใช่นักตีความตัวอักษร

วันที่แวะไปเยี่ยมเยียน เธอคนในภาพเอายาแก้เครียดมาให้ดูพร้อมบอกว่า คนในคุกก็ต้องกินยา คนอยู่ที่บ้านรอการกลับมาของสามีญาติพี่น้องก็ต้องกินยา เป็นยาแก้เครียด แก้ซึมเศร้าและอื่นๆ เวลาเล่าอะไรก็ตาม เธอเหมือน
พยายามกลั้นสะอื้น ไม่ร้อง และบอกว่า เขาตัดสินอย่างนี้ก็ต้องยอมรับ (เหมือนจะรู้ว่าเธอไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินอะไรได้) เวลาที่รู้สึกเศร้าจะรีบเล่นโทรศัพท์ สไลด์ไปเร็วๆ แต่ที่สุด พอล้มตัวนอนเปล เธอก็ร้องไห้

เธอเป็นลูกสะใภ้ของยายวัย 70 ปี ซึ่งยายมีลูกชายและลูกสาวเข้าคุกถึง 4 คน

เธอบอกว่าทุกๆ วัน ยายชราจะนั่งเหม่อ รอลูกกลับบ้าน วันนั้น ฉันอยู่บ้านตรงข้าม ยายก็ยังอุตส่าห์เดินมาหา ขึ้นเรือนมาอย่างน่าแปลกใจ เมื่อมาถึงเธอเดินมาจับมือฉัน ถามเป็นภาษาปาเกอะญอ ฉันไม่เข้าใจ จึงถามพี่วิชัยว่ายายถามว่าอะไร พี่วิชัยบอก ยายถามว่า “เมื่อไหร่ลูกชายจะกลับบ้าน”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท