Skip to main content
sharethis

ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนยูเอ็น ย้ำประชาชนไทยควรวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดอนาคตของประเทศผ่านการลงประชามติ รวมถึงแสดงความกังวลกรณีพลเรือนขึ้นศาลทหาร

14 มิ.ย. 2559 วานนี้ (13 มิ.ย.) เซอิด อัล-ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) นำเสนอข้อมูลสถานการณ์สิทธิใน 50 ประเทศทั่วโลก ในเวทีประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 32 ที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ โดยตอนหนึ่งมีการระบุถึงสถานการณ์ในประเทศไทย ในประเด็นเรื่องการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในเดือน ส.ค. นี้

เขาระบุว่า ในขณะที่การลงประชามติจะช่วยให้ประชาชนได้ตัดสินในเรื่องว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญด้วยตัวเอง แต่ก็มีเรื่องที่รัฐบาลไทยทำอะไรขัดแย้งกันในตัวเองคือการจำกัดการแลกเปลี่ยนหารือกันในประเด็นรัฐธรรมนูญ โดยมีการจับกุมผู้ที่วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญและตั้งข้อหา "ยุยงปลุกปั่น" กับพวกเขา

เขาชี้ว่า คนไทยควรมีสิทธิที่จะถกเถียงแลกเปลี่ยนและวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจเกี่ยวกับประเทศของตนเองอย่างเสรี เป็นธรรม และมีพลวัต การถกเถียงแลกเปลี่ยนสาธารณะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งสำคัญถ้าหากประเทศต้องการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยที่ยั่งยืน

นอกจากนี้ เขาแสดงความกังวลเกี่ยวกับการใช้ศาลทหารในการดำเนินคดีกับพลเรือนเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันก็แสดงความยินดีต่อการตัดสินใจออกกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทารุณกรรมและการบังคับอุ้มหายเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา รวมถึงการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับอุ้มหาย (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) และเชื่อว่าสัญญาผูกมัดเหล่านี้จะถูกนำมาใช้จริงโดยเร็ว

 

เรียบเรียงจาก

Hate is being mainstreamed' - global update by the High Commissioner, OHCHR
http://www.ohchr.org/EN/NewsEvents/Pages/GlobalhumanrightsupdatebyHC.aspx

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net