การเลิกจ้างผู้นำแรงงานภายใต้รัฐบาลทหาร: ความมั่นคงของรัฐสวนทางกับความมั่นคงของแรงงาน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

การปกครองประเทศด้วยมาตรา 44 ที่ให้อำนาจแก่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้งอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ได้อ้างประโยชน์ในการปฏิรูปประเทศที่จะส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ  ในขณะเดียวกันก็ป้องกัน ปราบปรามการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐบาลทหาร ไม่ว่าจะเป็นการใช้การกำลังทหารข่มขู่ คุกคาม จับกุมนักกิจกรรม ประชาชนที่ต้านรัฐประหาร ในลักษณะไม่แจ้งข้อกล่าวหา ไม่มีหมายศาล ไม่ให้สิทธิในการพบญาติ ทนายความ ไม่แจ้งที่จับกุมคุมขัง ไปจนถึงการซ้อมทรมานผู้ต้องหาบางราย บังคับให้สารภาพ ด้วยกฎหมายความมั่นคงต่างๆ เช่น กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (ม.112) พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ทั้งยังออกกฎหมาย พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะปี 2558 ดังเห็นได้จากคดีทางการเมืองต่อไปนี้ (รายงานการตั้งข้อหาทางการเมืองหลังรัฐประหาร 2557, 30 เม.ย.59. เว็บไซด์ iLaw, http://freedom.ilaw.or.th/politically-charged)

• ข้อกล่าวหาตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำนวน 68 ราย

• ข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ฝ่าฝืนประกาศคสช. ฉบับที่ 7/2557 หรือ ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 จำนวน 85 ราย  

• ข้อหาเกี่ยวกับอาวุธปืน อาวุธสงคราม สืบเนื่องจากเหตุความรุนแรงทางการเมือง จำนวน 77 ราย

• ข้อหาปลุกปั่นยั่วยุ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จำนวน 47 ราย

• ข้อหาไม่มารายงานตัวตามกำหนด ฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/255 จำนวน 12 ราย

• ข้อหาอื่นๆ ที่มีผลเกี่ยวเนื่องจากมูลเหตุจูงใจทางการเมือง จำนวน 11 ราย   

มาถึง ณ จุดนี้ เราไม่สามารถพึ่งพาและไว้วางใจระบบยุติธรรมไทยที่อยู่ในโครงสร้างระบบราชการและ และนี่อาจสามารถส่งผลต่อระบบกลไกการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในเรื่องอื่น ๆ เช่น เรื่องแรงงาน ที่ ณ ปัจจุบันนี้มีการเลิกจ้างและว่างงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งสามารถสรุปสถานการณ์ได้ดังนี้

การเลิกจ้าง การว่างงานภายใต้ปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

การว่างงาน สำนักงานสถิติแห่งชาติกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้สรุปผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร (เดือนเมษายนพ.ศ. 2559) ว่า เมื่อเดือนเมษายน 2559  มีกําลังแรงงานประมาณ 38.02 ล้านคน เป็นผู้มีงานทํา 37.23 ล้านคน และผู้รอฤดูกาล 3.97 แสนคน  ว่างงาน 3.96 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.0 โดยมีผู้ว่างงานที่สําเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา 1.66 แสนคน รองลงมาเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 8.1 หมื่นคน  มัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า 8.0 หมื่นคน ระดับประถมศึกษา 4.1 หมื่นคน  และผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษาอีก 2.6 หมื่นคน

ย้อนไปเดือนเดียวกันของปี 58 มีกําลังแรงงานประมาณ 38.28 ล้านคน มีผู้มีงานทำ 37.53 ล้านคน ว่างงาน 3.4 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 0.9 โดยมีผู้ว่างงานที่สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษามากที่สุดจำนวน1.39 แสนคน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 7.1 หมื่นคน ระดับประถมศึกษา 5.4 หมื่นคน และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 4.9 หมื่นคน และผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 1 หมื่นคน

ส่วนของแนวโน้มการว่างงานจากระบบเตือนภัยด้านแรงงาน ซึ่งอาศัยข้อมูลการว่างงานผู้มีงานทำภาคเอกชนของสำนักงานสถิติแห่งชาติแสดงสถานะปกติ ด้านแนวโน้มการเลิกจ้างจากระบบเตือนภัยด้านแรงงาน ซึ่งอาศัยข้อมูลการแจ้งและตรวจพบจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน แสดงสถานะปกติ

การจ้างงาน ในเดือนเมษายน 2559 มีการจ้างงานในระบบประกันสังคมมีผู้ประกันตน (มาตรา 33) จำนวน 10,338,067 คน มีอัตราการขยายตัว 2.78% (YoY)  (ศูนย์ข้อมูลแรงงานแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน http://nlic.mol.go.th/th/index ) เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2558 ซึ่งมีผู้ประกันตน จำนวน 10,058,715 คนแสดงให้เห็นว่ามีผู้ใช้แรงงานเข้าสู่การทำงานเพิ่มขึ้น 279,352 คน   กล่าวคือ ภาพรวมในตลาดแรงงานอยู่ในภาวะปกติ จากการเฝ้าระวังสถานการณ์จากระบบเตือนภัยด้านแรงงาน โดยใช้ดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจในรูปแบบดัชนีผสม 13 ตัว ส่งสัญญาณชี้นำตลาดแรงงานด้านการจ้างงานในสภาพปกติอยู่ในเกณฑ์สีเขียว (ถ้าดัชนีไม่เกิน 5 ตัวจะแสดงภาวะปกติ ซึ่งมีเพียงดัชนีเดียวคือ มูลค่าการส่งออกที่ชะลอตัว)

อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานได้ให้ส่วนราชการในพื้นที่ทุกจังหวัดติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ ด้านแรงงาน โดยให้มีการรายงานเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านแรงงานทุกเดือน รวมถึงจับตาแนวโน้มและสัญญาณตัวเลขการเลิกกิจการ การเลิกโรงงานและความเคลื่อนไหวของการจ้างงานของธุรกิจทุกขนาดในพื้นที่จังหวัดอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดทำทะเบียนกลุ่มเสี่ยงเพื่อป้องกันปัญหาและสามารถให้คำแนะนำช่วยเหลือแก้ไขได้ทันท่วงทีต่อไป

จากการวิเคราะห์ของหน่วยงานภาครัฐข้างต้น ผู้เขียนเห็นว่า เศรษฐกิจแรงงานที่รัฐบอกว่าอยู่ในสภาวะปกติ ภายใต้บรรยากาศการเมืองการปกครองที่ไม่ปกตินี้ แท้จริงคือ ปัญหาความไม่ยุติธรรม ที่เป็นผลมาจากการพัฒนาที่เหลื่อมล้ำไม่ทั่วถึง เมื่อเข้าไปดูว่าทำไมอัตราการว่างงานในไทยต่ำกว่า 1% มาโดยตลอด หรือประมาณ 2 แสนกว่าคน ก็พบว่า การทำงานเพียงไม่กี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์ก็ถือว่ามีงานทำแล้ว

กล่าวคือ เราเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างที่แรงงานไทยส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ (21.41 ล้านคนในกลางปี 2558) เช่น รับจ้างทั่วไป ขับแท็กซี่ มอไซด์รับจ้าง หาบเร่ ในภาคเกษตรก็อีกจำนวนมาก ที่สวัสดิการต่ำไม่มีประกันการว่างงานเหมือนแรงงานในระบบอุตสาหกรรม หรือในระบบประกันสังคม(16.91 ล้านคนในกลางปี 2558 จากศูนย์ข้อมูลแรงงานแห่งชาติ  http://nlic.mol.go.th/th/index ) แต่แรงงานนอกระบบเมื่อทำงานในไร่แห่งหนึ่งเสร็จก็ต้องรีบไปหางานทำต่อ รับจ้างทั่วไป ซึ่งคุณภาพชีวิตของแรงงานนอกระบบยังต่ำ แม้จะมีงานทำ แต่เป็นงานที่ค่าจ้างและสวัสดิการน้อย ขาดความมั่นคง  (อัตราการว่างงานในไทย 0.6% ต่ำแบบเหลวไหลสิ้นดีเลย. 2 ก.พ.57.  จากเว็บไซด์บลูมเบิร์ก http://www.bloomberg.com/news/articles/2015-02-02/thailand-s-unemployment-rate-is-a-ridiculously-low-0-6-here-s-why) ซึ่งรัฐบาลไม่มีนโยบายแก้ไขปัญหาของแรงงานนอกระบบ และสร้างงานให้มีคุณภาพ มีระบบสวัสดิการค่าจ้างที่สูงขึ้น ทั้งยังนำเสนอตัวเลขอัตราการว่างงานต่ำๆ แบบนี้ต่อไป คงเพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจว่าเศรษฐกิจเรายังดี ทั้งที่ในความเป็นจริงผู้ใช้แรงงานประสบปัญหาคุณภาพชีวิตต่ำ จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ

สำหรับแรงงานในระบบประกันสังคม ศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจการแรงงานมีรายงานสถานการณ์การจ้างงานเลิกจ้างและว่างงานของแรงงานในระบบประกันสังคมรายอุตสาหกรรม ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2559 ว่า สถานการณ์การเลิกจ้างของเดือน ก.พ. 59 เทียบกับเดือนเดียวกันของปี 58 มีการขยายตัวในอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิคส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและยานยนต์ ทั้งนี้มาจากการลดกำลังการผลิตและมีการย้ายฐานการผลิต ที่ทำให้ส่งออกลดต่ำลง ซึ่งการเลิกจ้างมาจากหลายสาเหตุ เช่น บริษัทเลิกกิจการ ปรับปรุงโครงสร้างการผลิต ยุบแผนก เปลี่ยนมาจ้างแรงงานเหมาช่วง รับงานไปทำที่บ้าน ทำลายสหภาพแรงงาน เป็นต้น  ซึ่งผู้เขียนจะยกกรณีปัญหาการเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมในเชิงลึก เพื่อให้เห็นถึงความยากลำบากในการต่อสู้กับปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานในสถานการณ์การเมืองที่ไม่ปกติไม่เป็นประชาธิปไตย

การเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเพื่อทำลายอำนาจการต่อรองของผู้ใช้แรงงาน: กรณีประธานสหภาพแรงงานซูซูกิมอเตอร์และสหภาพแรงงานพนักงานไอทีเอฟ

ความยากลำบากของคนงานที่ต่อสู้กับนายทุนดังเช่นการต่อสู้ของสหภาพแรงงานซูซูกิมอเตอร์ จ.ระยอง ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง  เริ่มจากการเลิกจ้างแกนนำสหภาพแรงงานในการก่อตั้งสหภาพแรงงาน จำนวน 9 คนในปลายเดือนธันวาคม 2556 จากนั้นไม่นาน ก็เลิกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงานอีก 1 คน  ซึ่งถึงแม้ปัจจุบันคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) และศาลแรงงานกลาง ได้มีคำสั่งและคำพิพากษาให้นายจ้างรับลูกจ้างทั้ง 9 คนกลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และสภาพการจ้างเดิม แต่นายจ้างมิได้ปฏิบัติตามแต่อย่างใด  และล่าสุดในเดือนเมษายนปี 2559 นายจ้างได้ขออนุญาตศาลแรงงานเลิกจ้างประธานสหภาพแรงงานคนปัจจุบัน คือ นายรุ่งทิวา นาคำ ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการลูกจ้างด้วย ในข้อหาที่ไร้เหตุผล เช่นเดียวกับข้อหาที่ใช้เลิกจ้างประธานสหภาพแรงงานพนักงานไอทีเอฟ จ.ชลบุรี และเป็นประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานสัมพันธ์แห่งประเทศไทย นายบุญยืน สุขใหม่ คือ ทำงานด้อยประสิทธิภาพ โดยนับวันลางานที่ค่อนข้างมาก โดยเอาวันลาทุกประเภทมารวมเข้าด้วยกัน เช่น วันลาหยุดพักผ่อนประจำปี วันลาป่วย วันลากิจประชุมตามที่ราชการกำหนด หรือกิจพิเศษอื่นๆ  ทั้งยังคิดเป็นชั่วโมง แต่สิ่งที่พบ คือ ไม่มีการนำประเด็นการประเมินการปฏิบัติงานในวันที่มาทำงานว่า ทำงานบรรลุตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายหรือไม่เพียงใด

นอกจากนี้ กรณีรุ่งทิวา นาคำ ยังมีข้อหาทำให้ บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เสียหายจากการเฉื่อยงานไม่สามารถผลิตรถยนต์ได้ตามเป้า มีมูลค่าถึง 270 กว่าล้านบาท ในคำร้องต่อศาลแรงงานทำให้ทราบว่าบริษัทผลิตรถยนต์ได้วันละ 170-200 คัน/วันหรือเฉลี่ย 20 คัน/ชั่วโมง แต่ประธานสหภาพแรงงานถูกกล่าวหาว่า ทำให้การผลิตลดลงไปเหลือเฉลี่ย 12 คัน/ชั่วโมงในช่วงเวลาสิบกว่าวันของเดือน ธ.ค.58  คนงานจำนวนหนึ่งทำให้เสียหายเป็นมูลค่าเกือบสามร้อยล้าน จำนวนรถตกค้าง 600 กว่าคัน ทว่าเหลือประธานสหภาพแรงงานเพียงคนเดียวที่ยืนยันคัดค้านข้อกล่าวหานี้  นี่คือการต่อสู้กับทุนในชีวิตประจำวันเข้มข้นและสาหัสไม่ต่างจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่สิ่งที่ย่ำแย่ของการต่อสู้ระดับนี้ คือ ต้องแลกกับความอดอยาก ไม่มีเงินไม่มีงานเกิดปัญหาครอบครัวตามมา จนเป็นเหตุให้อดีตคนงานซูซูกิที่ถูกเลิกจ้างรายหนึ่งกระทำอัตวิบากกรรมจากการตกอยู่ในสภาพหดหู่สิ้นหวัง 

วิธีการบั่นทอนอำนาจการต่อรองของสหภาพแรงงานซูซูกิมอเตอร์ในช่วงระหว่างการเจรจายื่นข้อเรียกร้องที่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ว่า ห้ามนายจ้างแทรกแซงใดๆ ในระหว่างที่การยื่นข้อเรียกร้องและเจรจา ถึงแม้หลายคนอาจจะมองว่า กฏหมายให้ความคุ้มครองลูกจ้างและผู้แทนลูกจ้าง ถ้านายจ้างมีการฝ่าฝืนกลั่นแกล้งหรือเลิกจ้าง ก็จะมีโทษทางอาญา  แต่ในทางปฏิบัตินายจ้างก็หลีกเลี่ยงกฎหมายด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ตั้งโต๊ะล่ารายชื่อเพื่อให้พนักงานลงชื่อเพื่อถอนการสนับสนุนข้อเรียกร้อง โดยอ้างว่า ถ้าไม่ถอนการสนับสนุนข้อเรียกร้องก็จะไม่จ่ายโบนัสให้  ทำให้พนักงานส่วนใหญ่เกิดความหวาดวิตกที่จะไม่ได้รับโบนัส จึงยอมลงลายมือชื่อเพื่อถอนการสนับสนุนข้อเรียกร้อง ทำให้อำนาจการต่อรองของผู้แทนเจรจาฝ่ายลูกจ้างลดลงและต้องยอมทำข้อตกลงสภาพการจ้างไม่ป็นไปตามที่ทุกคนคาดหวังไว้ และหลังจากนั้นก็เลิกจ้างผู้แทนเจรจาและแกนนำสหภาพฯ จำนวนหนึ่งในข้อหายุยงปลุกปั่นให้คนงานหยุดงานกว่า 400 คน (ข้อหานี้คล้ายคลึงกับข้อหาทางการเมืองยั่วยุ ปลุกปั่น ในประมวลกฎหมายอาญา ม.116) ให้เกิดกระแสความไม่พอใจกับประกาศจ่ายโบนัสปลายปี 56 ที่คนงานคาดหวังกับโบนัสเป็นอย่างมาก เนื่องจากเงินเดือนที่ได้รับต่ำหากเทียบกับรถยนต์ยี่ห้ออื่น เช่น โตโยต้า ฮอนด้า จึงเป็นที่มาของการตั้งสหภาพแรงงานและได้ทำข้อตกลงสภาพการจ้าง มีกรรมการชุดใหม่ขึ้นมาบริหารงานหลังจากชุดที่ถูกเลิกจ้าง 

ต่อมาคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้มีคำสั่งให้นายจ้างซูซูกิรับแกนนำสหภาพแรงงานทั้งหมดกลับเข้าทำงานในสภาพการจ้างเดิม พร้อมจ่ายค่าเสียหายนับแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันรับกลับเข้าทำงาน และศาลแรงงานกลางได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2558 ยืนตามคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ แต่นายจ้างยังคงเพิกเฉย 

ต่อมาในเดือนตุลาคม 2558 สหภาพแรงงานฯ ยื่นข้อเรียกร้องประจำปี และมีการเจรจาข้อเรียกร้องต่อเนื่องกันจนสามารถทำข้อตกลงได้ในปลายเดือนธันวาคม 2558 หลังจากการเจรจาข้อเรียกร้องยุติ ในวันที่ 5 มกราคม 2559 ประธานสหภาพแรงงานและกรรมการอื่น รวม 2  คน ได้ถูกกล่าวหาว่าเฉื่อยงานและลดตำแหน่งงานลงจาก Leader เป็น Operator 2 และให้ย้ายหน้าที่จากแผนก Press Welding ซึ่งเป็นไลน์การเชื่อมและประกอบตัวถังรถยนต์ ไปทำงานในไลน์การผลิตเครื่องยนต์ ซึ่งแตกต่างจากหน้าที่เดิมที่เคยปฏิบัติอย่างสิ้นเชิง ต่อมาในเดือนมีนาคม 2559 ได้หนังสือสั่งพักงานชั่วคราวโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา ให้อยู่ข้างนอกห้ามเข้าโรงงานแต่ได้รับเงินเดือนปกติ  ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างของกรรมการลูกจ้างโดยไม่ขออนุญาตศาลแรงงาน (คล้ายคลึงคำสั่ง ม.44 พักงานข้าราชการที่ไม่ทำตามนโยบายของรัฐบาล) และต่อมาในเดือนเมษายน 2559 ประธานสหภาพแรงงานซูซูกิ มอเตอร์ฯ ถูกนายจ้างขออนุญาตศาลเลิกจ้าง

ประธานสหภาพแรงงานซูซูกิ มอเตอร์ฯ ถูกลงโทษถึงสามครั้งจากการกระทำเพียงครั้งเดียวที่บริษัทฯ กล่าวอ้างว่าเฉื่อยงาน  คือ 1) ถูกลดตำแหน่ง 2) ถูกย้ายงาน  3) ถูกพักงานชั่วคราว ซึ่งหลังจากนั้น นายจ้างก็ได้ขอนุญาตศาลแรงงานเลิกจ้างด้วยข้อกล่าวหาอีก 4 ข้อ ซึ่งโดยรวมคือ ปฏิบัติตนไม่สมกับการเป็นลูกจ้างที่ดีทั้งต่อต้านคัดค้านนายจ้างเรื่องโยกย้ายตำแหน่งงาน และนี่จึงสามารถกล่าวได้ว่า นายจ้างทำทุกอย่างที่เป็นการเกี่ยวข้องกับสหภาพแรงงาน นายจ้างพยายามเชื่อมโยงการเฉื่อยงานของแกนนำสหภาพแรงงานกับการเจรจาต่อรองในช่วงเวลาเดียวกัน 

จากการที่กระทรวงแรงงานบอกว่าจะเฝ้าระวังสถานการณ์การเลิกจ้างแรงงานอย่างใกล้ชิดทุกเดือน ในกรณีเช่นนี้รวมถึงกรณีเลิกจ้างที่นายจ้างละเมิดกฎหมาย ได้ดำเนินการปกป้องสิทธิของพวกเขาแล้วหรือไม่อย่างไร

นอกจากนี้ ยังเป็นที่น่าตั้งข้อสังเกตได้ว่า นายจ้างญี่ปุ่น ซูซูกิ มอเตอร์ฯ ได้มีการปรึกษาหารือร่วมกันกับบริษัท ไอทีฟอร์จิ้ง หรือไม่ เนื่องจากข้อกล่าวหาประธานสหภาพแรงงานทั้งสองคล้ายคลึงกัน คือ ด้อยประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน โดยใช้อัตราการมาทำงานนับวันลางาน ที่มีจำนวนมากในช่วงเวลาหนึ่งของบุญยืน สุขใหม่ กับรุ่งทิวา นาคำ กรณีของบุญยืน สุขใหม่ นายจ้างได้ทำสถิติวันลาย้อนหลังสามปีติดต่อกัน แต่เป็นการลาที่ได้รับการอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาแล้ว แต่นายจ้างยังยืนยันว่าเป็นการลาที่ไม่สุจริต ไม่ได้ปฏิบัติตามข้อบังคับของบริษัท สิ่งที่น่าสังเกต คือ นายจ้างไม่เอ่ยถึงการปฏิบัติงานในวันทำงานที่เหลือจำนวนกว่าร้อยวันนายจ้างใช้ตัวเลขสถิติการลาที่หายไป ซึ่งจากข้อเท็จจริงนั้น ในวันลาต่างๆ ที่รวมกัน มีทั้งวันลาพักร้อน ลากิจประชุมตามที่ราชการกำหนด ลาป่วย

ซึ่งหากแยกการลาแต่ละประเภทออกจากกันแล้ว จะเห็นได้ชัดเจนว่าไม่มีความแตกต่างจากพนักงานอื่นๆ แต่อย่างใด แต่นายจ้างเองพยายามที่จะแสดงให้ศาลเห็นว่ามีสถิติการลาที่สูงผิดปกติ  อาจมองได้อีกแง่หนึ่งว่าเป็นการชี้นำศาลหรือไม่?

และประเด็นที่เหมือนกันอีก คือ นายจ้างทั้งสองบริษัทใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะ 6 มาตรา 583 ในการขอเลิกจ้าง ซึ่งระบุว่า ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี หรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณก็ดี ละทิ้งการงานไปเสียก็ดี กระทำความผิดอันร้ายแรงก็ดีหรือทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตก็ดี ท่านว่านายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้  ที่ผู้นำแรงงานทั้งสองท่านจะต้องต่อสู้คดีในศาลต่อไป

กลไกคุ้มครองสิทธิแรงงานทำงานด้อยประสิทธิภาพ

ไม่เพียงแต่กรณีปัญหาของประธานสหภาพแรงงานสองแห่งนี้เท่านั้น ยังมีการเลิกจ้างแกนนำสหภาพแรงงานอื่นๆ ในเขตจังหวัดระยอง ชลบุรี หรือปราจีนบุรี ที่ประสบความลำบากในการรณรงค์ปัญหาการกระทำอันไม่เป็นธรรมของนายจ้าง เนื่องจากกลไกการบังคับใช้กฏหมายคุ้มครองแรงงาน หรือกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้แรงงานทำงานไร้ประสิทธิภาพ ล่าช้า ทั้งมีการเรียกตัวผู้นำแรงงาน เช่น นายบุญยืน สุขใหม่ไปปรับทัศนคติในค่ายทหารในช่วงของการเข้าไปเป็นที่ปรึกษาในการเจรจาข้อเรียกร้องให้มีการจ้างงานที่เป็นธรรมของสหภาพแรงงานต่างๆ เช่น ในจังหวัดปราจีนบุรี และถูกกล่าวหาว่าทำลายบรรยากาศการลงทุนจากนักลงทุนชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศญี่ปุ่น ที่รัฐบาล คสช.พยายามส่งเสริมการลงทุนจากการที่ภาวะการลงทุนจากต่างประเทศถดถอยลง และกำลังมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษตามชายแดน การต่อสู้เรียกร้องของสหภาพแรงงานจึงเป็นพฤติกรรมที่ไม่น่าพึงประสงค์ของฝ่ายรัฐและทุน

จากสถานการณ์ปัญหาทางเศรษฐกิจการเมืองที่กล่าวมา รัฐบาลทหารจริงใจแก้ไขปัญหาหรือไม่ในขณะที่ยังคงใช้มาตรการปราบปราม คุกคาม ระงับกิจกรรมของนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน การออกกฎหมายต่างๆ รวมถึงการจัดทำแผนการปฏิรูป สร้างความปรองดอง ในความเป็นจริงเป็นไปเพื่อคนชั้นนำเท่านั้น ในขณะที่ชีวิตของแรงงานของประชาชนระดับล่างยังขาดหลักประกันที่มั่นคง ไม่รู้ว่าจะถูกเลิกจ้างเมื่อใด และอาจมีการฉวยโอกาสเลิกจ้างในสภาวะที่กลไกคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของรัฐทำงานด้อยประสิทธิภาพ  อีกทั้งไม่ให้พื้นที่การแสดงออกให้แก่ประชาชน หากออกมารณรงค์เรียกร้องเมื่อไหร่ ก็จะต้องเผชิญหน้ากับกฎหมายเผด็จการเพื่อความมั่นคงของรัฐที่มักขัดกับความมั่นคงของแรงงาน  ท้ายสุดความมั่นคงของรัฐคือการปกป้องผลประโยชน์ของทุน ใช่หรือไม่ท่านประยุทธ์

0000
 

 

หมายเหตุ: ขอขอบคุณข้อมูลจากบุญยืน สุขใหม่ และรุ่งทิวา นาคำ 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท