Skip to main content
sharethis

แกนนำเพื่อไทย นัดโพสต์ 'ไม่รับ ร่าง รธน.' ด้านกรธ. เตรียมคุยเพื่อส่งเรื่องให้ กกต.พิจารณาต่อ ชี้บางคนอาจผิดไปจากข้อเท็จจริง ขณะที่ ‘เสรี สปท.’ ชี้ไม่ใช่การปลุกระดม เพราะไม่ได้บอกอย่ารับ

15 มิ.ย.2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้แกนนำคนสำคัญหลายคนของพรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กของแต่ละคน เช่น นพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โพสต์ข้อความว่า “ผมขอยืนยันใช้สิทธิส่วนบุคคล ในการแสดงความคิดเห็นต่อร่าง รธน. ว่าผมไม่เห็นด้วยกับการไม่ให้ประชาชนเลือก ส.ว. โดยตรง นอกจากนั้น การไม่ให้ประชาชนสามารถกาบัตรได้สองใบ เช่นที่เคยกระทำได้ตาม รธน.ปี 40 และปี 50 ทำให้ผมไม่อาจรับเนื้อหารธน.ข้างต้นได้ ส่วนท่านอื่นจะคิดอย่างไรเป็นสิทธิส่วนตัวของท่าน”

จาตุรนต์ ฉายแสง โพสต์ว่า "มีการเลือกตั้ง แต่ให้ ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน มาร่วมเลือกนายกฯ แล้วเลือกตั้ง จะมีประโยชน์อะไร ผมไม่รับร่างรัฐธรรมนูญครับ"

วัฒนา เมืองสุข โพสต์ว่า "เป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ เบียดบังอำนาจและสิทธิประโยชน์ของประชาชน แต่เชิดชูอำนาจเผด็จการ ปกป้องและปิดกั้นการตรวจสอบ ผมจึงไม่รับครับ"

มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า ยังมี ภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการ เลขาธิการพรรค โพสต์ข้อความว่า “รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยลดทอนอำนาจประชาชน ขาดหลักประกันสิทธิเสรีภาพที่เพียงพอ และแก้ไขได้ยากมาก จึงไม่สร้างความเชื่อมั่น ไม่สามารถแก้ปัญหาประเทศได้ ผมจึงไม่อาจรับให้เป็นไม้สำคัญสูงสุดของประเทศได้”

โภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา โพสต์ข้อความว่า “ทั้งที่มาและเนื้อหาไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่ฉบับประชาชน ผมจึงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้”

พงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกฯโพสต์ข้อความว่า “ภายใต้กติกาแบบนี้ไม่เห็นอนาคตประเทศไทยรับไม่ได้จริงๆครับ”

ปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความว่า “ไม่เป็นประชาธิปไตยตามมาตรฐานสากลผมรับไม่ได้ เพราะลูกหลานจะเดือดร้อนไปอีกยาวนาน ผมจึงตัดสินใจไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ครับ”

วันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานรัฐสภา โพสต์ข้อความว่า “ในฐานะที่เคยเป็นอดีตประธานรัฐสภาที่รับสนองพระบรมราชโองการรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งคิดว่าเป็นฉบับที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา ผมจึงเสียดายที่รัฐธรรมนูญฉบับที่เรากำลังจะลงประชามตินี้ ได้ตัดทอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนหลายประการ ทั้งเรื่องศาสนา การศึกษา การเมือง ที่ทำให้ความเป็นประชาธิปไตยด้อยกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ผมจึงไม่อาจรับรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังจะลงประชามตินี้ได้”

นอกจากนี้ ยังมี สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคพท. สามารถ แก้วมีชัย อดีตส.ส.เชียงราย ในฐานะคณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญพรรคพท. และ อุดมเดช รัตนเสถียร อดีตส.ส.นนทบุรี พรรคพท. ที่โพสต์ข้อความแสดงจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัวด้วย

กรธ. เตรียมคุยเพื่อส่งเรื่องให้ กกต.พิจารณาต่อ

เดลินิวส์ รายงานว่าปฏิกิริยาจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ด้วย โดย อุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่แกนนำพรรคเพื่อไทย นัดโพสต์เฟซบุ๊กประกาศจุดยืน “ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” ดังกล่าวว่า ตนมีข้อสังเกต 2 ประการ คือ 1.การเผยแพร่ความเห็นของนักการเมืองเหล่านี้ มีลักษณะเป็นการจัดฉากเพื่อการประชาสัมพันธ์เรียกร้องความสนใจหรือไม่ 2.เนื้อหาที่แสดงออกเป็นเรื่องเดิม ๆ ที่เคยเผยแพร่มาแล้ว ไม่มีของใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการติเรือทั้งโกลน การเหมารวมว่าร่างรัฐธรรมนูญไม่ถูกต้องด้วยความเห็นทางการเมืองส่วนตัวของเขา บางความเห็นไม่ได้ติติงในเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญในส่วนใดที่ชัดเจน และการแสดงความเห็นของบางคนอาจผิดไปจากข้อเท็จจริง  ซึ่งทาง กรธ. คงจะหารือเพื่อพิจารณาส่งเรื่องให้ กกต.พิจารณาต่อไป

อมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษก กรธ. กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุชัดเจนว่าผู้ที่โพสต์นั้นมีความผิดตามกฎหมายหรือไม่ เพราะเป็นการแสดงความเห็นส่วนตัว แต่อยากฝากเตือนผู้ที่แชร์ข้อความดังกล่าวต่อไปให้ระวัง  หากมีการเติมแต่งข้อความหรือแสดงความเห็นต่อเนื่องและบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริงอาจมีความผิดกฎหมายพ.ร.บ.ประชามติได้ซึ่งมีโทษหนักจำคุกถึง 10 ปี ปรับ 2 แสนบาท

‘เสรี’ ชี้ไม่ใช่การปลุกระดม เพราะไม่ได้บอกอย่ารับ

มติชนออนไลน์ รายงานความเห็นของ เสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ต่อกรณีนี้ โดย เสรี มองว่า การเสนอความเห็นส่วนตัวว่า จะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ถือว่าไม่มีความผิด เพราะเป็นเสรีภาพในการเสนอความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นตาม มาตรา 7 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และสิ่งที่พรรคพท.ทั้ง 17 คน แสดงออกยังไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตาม มาตรา 61 ของกฎหมายดังกล่าว ซึ่งการเสนอความคิดเห็นส่วนตัวครั้งนี้ก็ชัดเจนดี ถือเป็นเหตุผลของแต่ละคนที่เป็นผู้ใหญ่ของบ้านเมืองทั้งนั้น และการจะบอกว่า ไม่สุจริตก็คงไม่ได้ เพราะแต่ละคนมีความเชื่อเช่นนั้น เป็นการอาศัยช่องมาตรา 7 ของกฎหมายประชามติมาแสดงความเห็นส่วนตัว ให้เกิดกระแสโน้มน้าวใจคนอ่าน แต่ไม่ใช่การชี้นำ หรือปลุกระดม เพราะไม่มีการระบุว่า อย่ารับร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งไม่เข้าข่ายการปลุกระดมของคณะบุคคล 5 คนขึ้นไป เพราะต่างคนต่างแสดงความคิดเห็น แม้จะแสดงความเห็นพร้อมๆ กันแต่ก็ไม่ใช่การไปชุมนุมอยู่ในสถานที่เดียวกัน เพื่อปลุกระดมแต่อย่างใด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net