Skip to main content
sharethis

16 มิ.ย. 2559  จากกรณีเมื่อ 17 พ.ค. ที่ผ่ามมา กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ. รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ได้แจ้งความดำเนินคดีกับ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ สมชาย หอมลออ และอัญชนา หีมมีนะ ที่สภ.เมืองยะลา ในข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาโดยเอกสารและความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 จากที่ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจ องค์กรเครือข่ายนุษยชนปาตานี เก็บข้อมูลและเรียบเรียงและได้เผยแพร่ ‘รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2557 – 2558’ นั้น

 

วันนี้ อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองมีข่าวแจก รัฐควรหามาตรการปกป้องนักสิทธิมนุษยชน ได้ออกความเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า เป็นที่น่ายกย่องที่ประเทศไทยได้รับข้อเสนอแนะจากมิตรประเทศ ในการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนด้วยระบบ UPR ทั้งหมด 181 ข้อ โดยเฉพาะข้อเสนอแนะในการหามาตรการเพื่อปกป้องคุ้มครองนักสิทธิมนุษยชน และการสร้างหลักประกันว่าสิทธิของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจะได้รับการเคารพอย่างเหมาะสม

ปัจจุบันมีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน  นักปกป้องสิทธิชุมชน จำนวนไม่น้อยที่ถูกข่มขู่ คุกคาม ในจำนวนนี้รวมถึงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงด้วย นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหลายคนถูกสังหาร ถูกบังคับสูญหาย ถูกข่มขู่ คุกคามซึ่งรวมถึงการคุกคามทางเพศอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังมีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหลายคนที่ถูกฟ้องร้อง ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาต่างๆ ทั้งจากรัฐหรือเอกชน ไม่ว่าจะเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ต่อต้านการทำเหมืองทอง นักปกป้องสิทธิในที่ดินและทรัพยากร รวมถึงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งล่าสุด กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้แจ้งความดำเนินคดีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 3 คนที่ร่วมกันจัดทำรายงานเรื่องปัญหาการซ้อมทรมานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ  สมชาย หอมลออ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และอัญชนา หีมมิหน๊ะ

“ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมือง ดิฉันมีความกังวลใจอย่างยิ่งที่รัฐใช้วิธีการแจ้งความดำเนินคดีต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน แทนที่จะแสวงหาหนทางในการสร้างความร่วมมือในการหามาตรการเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย”  “การฟ้องร้องดำเนินคดีจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดี แต่กลับจะทำให้สังคมเกิดความหวาดกลัว และประชาชนที่ถูกละเมิดจะไม่กล้าที่จะร้องเรียนหากเกิดการละเมิดสิทธิ โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เคยมีข้อร้องเรียนเรื่องการซ้อมทรมานระหว่างการควบคุมตัวมานาน จนประชาชนหวาดระแวง ดังนั้นทุกฝ่ายจึงควรหาแนวทางในการตรวจสอบร่วมกันเพื่อความโปร่งใสและเป็นธรรม” อังคณา กล่าว

“ดิฉันขอเรียกร้องให้รัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงยุติธรรม ดำเนินการตามที่ได้รับข้อเสนอแนะจากสหประชาชาติในการหามาตรการเพื่อปกป้องการทำหน้าที่ของนักสิทธิมนุษยชน และขอเน้นย้ำว่า การแจ้งความดำเนินคดีกับนักสิทธิมนุษยชนจะไม่เกิดประโยชน์ใดต่อสาธารณะ ดิฉันเชื่อมั่นว่าด้วยความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนจะนำสู่การการสร้างมาตรฐานการให้ความคุ้มครองป้องกัน และยุติการทรมาน และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยได้อย่างแท้จริง” อังคณา กล่าว

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net