Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

 

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ที่ผ่านมาได้มีการรายงานข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับการปรับปรุงห้องทำงานของผู้ว่ากทม. ปัญหาของกรณีนี้คือมีการใช้เงินหลวงไปกว่า 16 ล้านบาทในการปรับปรุงพื้นที่เล็กๆ ซึ่งก็เพิ่งจะได้รับการปรับปรุงไปครั้งหนึ่งเมื่อไม่นาน และเมื่อถูกสอบถามเกี่ยวกับกรณีนี้นั้น มรว.สุขุมพันธ์ผู้ว่าราชการ กทม.ก็ไม่ได้ตอบคำถามให้เป็นที่ชัดเจนแต่อย่างใด แต่กลับเดินออกจากพื้นที่แถลงข่าวไปเฉยๆ

ถ้าผมถามว่าเห็นเรื่องนี้แล้วคิดกันว่ายังไง ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของเรื่องนี้มันอยู่ตรงไหน คุณจะตอบว่าอะไร?

บางคนอาจจะตอบว่านักการเมืองโกงเป็นปัญหาใหญ่เรื้อรังของประเทศไทย

คนอื่นอาจจะบอกว่าระบบราชการมีปัญหามากเพราะไม่มีความโปร่งใส ซื้อของราคาแพงเกินตลอดปีตลอดชาติ

หรือไม่ก็อาจจะเป็นคำตอบอื่นๆ

แต่สำหรับผมแล้วคำตอบข้างต้นเหล่านั้นพลาดเป้าทั้งหมด เพราะมันเป็นแค่ปลายเหตุ เป็นเพียงอาการที่แสดงออกมาให้เห็นของโรคที่ฝังลึกอยู่ภายใน ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของเรื่องนี้อยู่ตรงที่ในที่สุดแล้วผู้ว่าสุขุมพันธ์ก็คงจะไม่ได้รับโทษอะไร ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถอธิบายเหตุผลของการเอางบมาปรับห้องทำงานตัวเองได้ ไม่สามารถอธิบายราคาของที่สูงลิบลิ่วได้ ผมก็จะไม่แปลกใจเลยถ้าท้ายที่สุดแล้วก็จะไม่มีการลงโทษใดๆเกิดขึ้น ผมไม่ได้คาดหวังว่าจะมีการสืบสวนเป็นเรื่องเป็นราวด้วยซ้ำ

ปัญหาใหญ่ที่สุดของประเทศไทยไม่ได้อยู่ที่ไหน แต่อยู่ที่ระบบยุติธรรมซึ่งไม่มีประสิทธิภาพในการจับกุม สอบสวน และลงโทษผู้กระทำผิด แนวคิดข้อหนึ่งในศาสตรก์การบริหารรัฐกิจในปัจจุบันคือ “มนุษย์ทุกคนล้วนมีข้อบกพร่องและไม่มีใครดีสัมบูรณ์” ด้วยเหตุนี้ถ้าปล่อยให้ทำอะไรได้โดยอิสระแล้วไม่ช้าก็เร็วมนุษย์ทุกคนจะต้องทำบางอย่างที่ไม่สมควร ดังนั้นแล้วการคาดหวังว่านักการเมืองจะต้องไม่โกงจึงไม่ต่างกับการฝันกลางวัน แต่สิ่งที่ควรทำคือสร้างระบบในการจูงใจให้ผู้คนมีความพยายามที่จะทำตัวให้เหมาะสมและอยู่กับร่องกับรอย ไม่ว่าจะโดยจะใช้วิธีโดยแจ้งหรือโดยซ่อนเร้น และไม่ว่าจะด้วยการลงโทษหรือให้รางวัลก็ตาม ระบบยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพก็เป็นเครื่องมือหลักของรัฐชิ้นหนึ่งในการ "ตีสั่งสอน" ให้บุคคลไม่ประพฤติตนออกนอกลู่นอกทาง

ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประเทศไทยก็คือการไม่ต้องรับโทษ (impunity) ผู้กระทำผิดจำนวนมาในประเทศไทยไม่เคยต้องรับโทษ ตัวผู้ว่าสุขุมพันธ์เองก็ไม่เคยต้องรับโทษเช่นกันดังจะเห็นได้จากกรณีฮาร์ดดิสต์ลูกละแปดแสนบาทที่สุดท้ายแล้วก็เงียบหายไปไม่มีอะไรเกิดขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วผู้คนในสังคมก็ย่อมไม่มีความเกรงกลัวต่อการกระทำผิด ทั้งนี้ก็เพราะไม่มีสิ่งใดจะปลดปล่อยด้านมืดของมนุษย์ออกมาได้ดีไปกว่าความเชื่อว่าตัวเองจะไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง

สิ่งที่ตรงกันข้ามกับการไม่ต้องรับโทษก็คือความแน่นอนว่าจะถูกลงโทษ (certainty of being punished) ซึ่งหมายถึงการที่ผู้กระทำผิดมีโอกาสสูงที่จะถูกจับกุมและลงโทษ งานวิจัยทางอาชญวิทยาในหลายทศวรรษที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าความแน่นอนว่าจะถูกลงโทษนั้นเป็นปัจจัยที่ทรงพลังในการยับยั้งการกระทำผิด (deterrence of crime) ในปี 2013 นั้นนักอาชญวิทยาจากสถาบันคาร์เนกีเมลอนที่ชื่อว่า Daniel S. Nagin ได้เกี่ยวกับเขียนเรื่องนี้เอาไว้อย่างละเอียดในบทความเรื่อง Deterrence in the Twenty-first Century และตัวอย่างมากมายจากนานาประเทศทั่วโลกก็ล้วนแต่สนับสนุนแนวคิดนี้

ลองเปรียบเทียบกันให้เห็นภาพผ่านตัวอย่างง่ายๆ คุณคิดว่าคนจะเกรงกลัวการฝ่าไฟแดงในแยกใดมากกว่าระหว่างแยกที่หนึ่งซึ่งมีโทษปรับสูงถึงสามพันบาทแต่มีคนฝ่าให้เห็นทุกวันโดยไม่เคยถูกจับ กับแยกที่สองซึ่งมีโทษปรับเพียงห้าร้อยบาทแต่ทุกคนที่ฝ่าถูกจับทั้งหมด ข้อมูลที่แสดงในงานวิจัยจำนวนนับไม่ถ้วนก็คือแยกที่สองนั้นมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการกระทำผิดมากกว่าแยกแรกอย่างมาก การเพิ่มโทษสูงสุดที่เป็นไปได้นั้นไม่มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการกระทำผิดเลย เพราะแม้แต่โทษที่ถือกันว่ารุนแรงที่สุดอย่างการประหารชีวิตนั้นก็ไม่เคยถูกพิสูจน์ว่ามีผลในการยับยั้งการกระทำผิด

จะเห็นได้ว่าในบริบททั่วไปของประเทศไทยนั้นความแน่นอนว่าจะถูกลงโทษไม่ได้สูงเลย เรายังพบได้ทั่วไปว่าผู้กระทำผิดจำนวนมากไม่เคยต้องรับโทษเพราะระบบยุติธรรมขาดประสิทธิภาพหรือมีปัญหาการตุกติกในระบบ ที่ซ้ำร้ายขึ้นไปอีกก็คือบ่อยครั้งนั้นการไม่ต้องรับโทษไม่ได้เกิดขึ้นจากการขาดประสิทธิภาพของระบบยุติธรรม แต่เกิดขึ้นเพราะเป็นอภิสิทธิ์สำหรับคนบางกลุ่มในสังคม คำพูดติดปากที่บอกว่า "คุกมีไว้ขังคนจน" ไม่ใช่คำพูดเลื่อนลอยที่ไร้มูลความจริง แต่เป็นคำกล่าวที่สะท้อนรูปแบบซ้ำๆที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง ตัวอย่างของผู้ที่ร่ำรวยและมีอำนาจแล้วไม่ต้องรับโทษจากการกระทำผิดนั้นมีให้เห็นได้ทั่วไป เมื่อคนกลุ่มนี้เชื่อว่าตนเองจะไม่ต้องรับโทษแล้วคนกลุ่มนี้ก็ย่อมไม่มีความเกรงกลัวต่อการกระทำผิด จากนั้นเมื่อได้กระทำผิดแล้วพบว่าไม่ต้องรับโทษจริงๆก็ย่อมจะมีความลำพองใจ ซึ่งก็จะวนกลับไปเป็นเชื้อเพลิงให้ไม่มีความเกรงกลัวต่อการกระทำผิดยิ่งขึ้นไปอีก เป็นวัฏจักรเช่นนี้เรื่อยไป

นายกุสตาโว เปโตร (Gustavo Petro) อดีตนายกเทศมนตรีของเมืองโบโกตาในประเทศโคลอมเบียเคยกล่าวไว้ว่า "ประเทศที่พัฒนาแล้วไม่ใช่ประเทศที่คนจนมีรถขับ แต่เป็นประเทศที่คนรวยใช้ระบบขนส่งสาธารณะ" ในแง่หนึ่งคำพูดนี้หมายถึงการที่รัฐควรสร้างระบบขนส่งและสาธารณูปโภคให้มีความสะดวกสบายจนกระทั่งผู้ที่มีทางเลือกก็ยังคงเลือกที่จะใช้บริการสาธารณะ แต่คำพูดนี้ก็ยังแฝงเร้นเอาไว้ซึ่งอีกแนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือดุลอำนาจในสังคมของประเทศที่พัฒนาแล้วไม่ใช่การที่ทุกคนมีอำนาจมากขึ้นและเลือกทำอะไรได้ตามใจ แต่เป็นการที่ทุกคนในสังคมถูกลดทอนอำนาจลงและถูกดึงมาอยู่ในระดับที่เท่าเทียมกัน ความแตกต่างระหว่างคนแต่ละกลุ่มยังมี แต่สิทธิและความรับผิดชอบขั้นพื้นฐานนั้นต้องมีเท่าเทียมกัน และการต้องรับโทษจากการกระทำของตัวเองก็ควรเป็นหนึ่งในความรับผืดชอบขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนพึงมี ความเท่าเทียมกันของการรับโทษโดยไม่ขึ้นกับความร่ำรวยหรืออำนาจสังคมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ประเทศไทยต้องมีเพื่อที่จะพัฒนาไปสู่ขั้นต่อไป

ดังนั้นแล้วถ้าเราย้อนกลับไปดูกรณีของผู้ว่าสุขุมพันธ์อีกครั้งก็จะเห็นว่าผู้ว่าสุขุมพันธ์นั้นแทบไม่มีเหตุผลให้เกรงกลัวต่อการกระทำผิดเลย กรณีซื้อฮาร์ดดิสค์และกรณีไฟวันปีใหม่นั้นสุดท้ายแล้วในแง่ของกระบวนการยุติธรรมก็ไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้นเป็นชิ้นเป็นอัน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วทำไมผู้ว่าสุขุมพันธ์จึงจะควบคุมพฤติกรรมของตนเอง? และเมื่อเรามองไปรอบๆเราก็พบกรณีที่คล้ายๆกันของบุคคลอื่นอีกมากมายในสังคมที่ไม่เคยต้องรับโทษใดๆจากการกระทำผิดของตนเองไมว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ ผู้เล่นต่างๆในเกมการเมือง เศรษฐี หรือผู้มีอำนาจอื่นๆในสังคม เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเราจะคาดหวังให้บุคคลเหล่านี้ประพฤติตนอยู่กับร่องกับรอยได้อย่างไร?

เมื่อใดที่เกิดการกระทำผิดขึ้นนั้นสังคมก็มักจะมุ่งโจมตีไปที่ตัวบุคคลและเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงในองค์กรหรือสถาบันที่เกี่ยวข้องกับบุคคลนั้น ทว่านั่นเป็นการมุ่งเป้าที่ผิดที่ผิดทาง เพราะผลดีที่สุดที่เราคาดหวังได้ก็คือบุคคล องค์กร หรือสถาบันนั้นก็จะหยุดกระทำผิดไปเพียงชั่วคราวเพื่อให้เรื่องเงียบลง แต่หากว่าการไม่ต้องรับโทษซึ่งเป็นปัญหาพื้นฐานยังไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลง ในไม่ช้าการกระทำผิดก็จะต้องเกิดขึ้นซ้ำอีก

ผู้ว่าสุขุมพันธ์เป็นแค่อาการแสดงของโรค แต่ โรคที่แท้จริงคือการไม่ต้องรับโทษและประสิทธิภาพของระบบยุติธรรม จะเปลี่ยนแปลงประเทศได้อย่างแท้จริงและยั่งยืนต้องเริ่มปฏิรูปที่ระบบยุติธรรมก่อน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net