Skip to main content
sharethis

16 มิ.ย.2559 จากกรณีวานนี้ที่แกนนำพรรคเพื่อไทยหลายคนโพสต์เฟซบุ๊กไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามตินี้ พร้อมเหตุผลประกอบ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) วันนี้ สำนักข่าวไทย รายงานว่า สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า การแสดงความเห็นของประชาชน ไม่ว่าบุคคลเหล่านั้นจะมีฐานะเป็นผู้บริหารของพรรคการเมืองหรือเป็นบุคคลทั่วไป หากดำเนินการโดยสุจริต มีเหตุมีผล ไม่ใช้ถ้อยคำเท็จ ไม่หยาบคาย หรือไม่ปลุกระดม สามารถทำได้ตามปกติ ถ้อยคำต่าง ๆ ที่ปรากฎออกมาก็พบว่ายังอยู่ในขอบเขตที่รับได้ แต่จะต้องพิสูจน์ว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการกระทำโดยตัวบุคคลหรือไม่ หากทำโดยบุคคลโดยไม่ใช้ข้อความที่เท็จหยาบคาย หรือปลุกระดม ก็ไม่ถือว่าผิด แต่ถ้าทำกันเป็นขบวนการซึ่งโดยพรรคการเมืองหรือพรรคเพื่อไทยเป็นผู้ดำเนินการภายใต้ผู้บริหารพรรค ไม่ถือว่าผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ แต่หากตรวจพิสูจน์ได้ว่ากรณีนี้มีความเชื่อมโยงกับพรรคเพื่อไทยก็จะผิดคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมือง ดังนั้นประธาน กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองจะต้องเป็นผู้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป ซึ่งมีโทษสูงสุดถึงขั้นยุบพรรคการเมือง

สมชัย กล่าวด้วยว่า ส่วนที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มองว่าเนื้อหาที่โพสต์ของสมาชิกพรรคเพื่อไทยบางคนมีข้อความที่บิดเบือนเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ ก็สามารถส่งเรื่องให้ กกต.ตรวจสอบได้ หรือจะไปแจ้งความดำเนินคดีเอง ก็สามารถทำได้
 
สมชัย กล่าวอีกว่า ในวันนี้จะยังไม่ไปดำเนินคดีกับ วรวุฒิ บุตรมาตร แกนนำกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ซึ่งพูดจาพาดพิงหมิ่นประมาทตน เนื่องจากต้องการให้บุคคลเหล่านั้นทบทวนการกระทำของตนเอง และต้องบอกว่ากรณีนี้เป็นบทเรียนที่สำคัญ ซึ่งต้องขอให้ผู้ที่เคลื่อนไหวกระบวนการประชาธิปไตยตระหนักว่าทุกคนสามารถนำเสนอความคิดเห็นทางการเมืองได้ ทั้งเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ หรือประเด็นทางการเมืองทั่วไป เพียงแต่ต้องไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ส่วนจะมีการดำเนินคดีเมื่อใด จะแจ้งให้สื่อมวลชนทราบอีกครั้ง
 
“ทั้งนี้เมื่อไปถึงสถานีตำรวจแล้ว คงจะมีการนำเรื่องอื่น ๆ ไปดำเนินการพร้อมกัน เพราะตอนนี้ยังปรากฎเว็บไซต์และเพจที่เผยแพร่เพลงที่มีเนื้อหาหยาบคายและเป็นเท็จอยู่ ดังนั้นคงรอดูว่ามีการนำข้อความ หรือเพลงออกจากหน้าเว็บ หรือเพจแล้วหรือไม่ แต่หากยังไม่ดำเนินการ คงต้องมีการดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวดต่อไป” สมชัย กล่าว
 
เมื่อถามว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มพลเมืองโต้กลับที่ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ ทำให้เกิดความวุ่นวาย ผิดกฎหมายหรือไม่ สมชัย กล่าวว่า การเคลื่อนไหวทุกเรื่อง เป็นสิทธิและเสรีภาพของประชาชน แต่ต้องระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์บานปลาย หรือทำให้การออกเสียงประชามตินำไปสู่ความวุ่นวาย ถ้านำไปสู่ความวุ่นวาย ก็จะเข้าสู่การบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ มาตรา 61 (1)
 
“อยากให้ประชาชนทุกฝ่ายอยู่ในบรรยากาศของการพูดคุยด้วยเหตุผล ใช้ความเป็นสุภาพชนต่อกัน เพราะไม่อยากให้เกิดบรรยากาศที่ก้าวร้าว หรือรุนแรงเหมือนกับเหตุการณ์แบบเมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา ดังนั้นขอให้ทุกฝ่ายและทุกกลุ่มยุติการกระทำที่จะนำไปสู่ความวุ่นวายทั้งหมด เพื่อสร้างบรรยากาศการทำประชามติให้เป็นประชาธิปไตย” สมชัย กล่าว
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net