Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 


ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นหนอนหนังสือมาตั้งแต่เด็ก เรียนเก่งตั้งแต่สมัยที่สอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาได้ หลังจากนั้น ก็เอ็นทรานซ์ติดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และได้สั่งสมองค์ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์การคลังและเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศตั้งแต่ที่ศึกษาระดับปริญญาตรี แค่นั้นยังไม่พอยังได้สะสมปริญญาอีกใบหนึ่งคือ MBA จากนิด้า และก็ยังไปศึกษาต่อในต่างประเทศ ณ มหาวิทยาลัยชั้นนำ Top 10 ที่โด่งดังด้านหลักสูตรมาร์เก็ตติ้ง ดร.สมคิดทำ Ph.D. ด้านการจัดการการตลาดจากนอร์ทเวสเทิร์น ถ้าถามว่า สถาบันใดในสหรัฐฯ มีชื่อเสียงด้านนี้มากที่สุดก็หนีไม่พ้น โรงเรียนแห่ง Philip Kotler—Northwestern University นี่แหละ

ถ้ามอบหมายให้ รองนายกฯ คนนี้ทำโฆษณาชวนเชื่อ มาร์เก็ตติ้งแคมเปญเพื่อป้อน Product ใด Product หนึ่งเข้าสู่ตลาดเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค เขาทำสำเร็จแน่ เรื่อง Messaging และ Branding เรื่องการงัดกลยุทธ์มามัดใจประชาชนในระดับ Mass เพื่อให้เชื่อถือ ยอมรับ และซื้อนโยบาย มีน้อยคนในประเทศไทยที่เก่งกว่าคนคนนี้  ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศนี้เชื่อว่ารัฐบาลไทยรักไทย (ปี 2545 – 2549) ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ถ้าจะตีโจทย์ให้แตกว่าเหตุใดความเชื่อมั่นนักลงทุน โดยเฉพาะ Global Public Sentiment ไม่ดีขึ้นสำหรับเศรษฐกิจไทยตอนนี้ ต้องเข้าใจว่าปัญหาไม่ใช่รองนายกฯ สมคิด แต่ปัญหาคือพลเอกประยุทธ์

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รองนายกฯ สมคิดได้รับเชิญไปกล่าวสุนทรพจน์ เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ด้านเศรษฐกิจโดยธนาคารไทยพาณิชย์ ในงาน SCB นี้ ดร.สมคิดได้ปูพื้นเพื่อให้ทุกคนเข้าใจว่ารัฐบาลกำลังทำอะไรอยู่ มีโครงการเยอะแยะมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ประชารัฐ SME Startups การกระจายเงินเพิ่มผ่านกองทุนหมู่บ้าน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยหน่วยงานของรัฐ มาตรการเร่งรัดให้ภาคเอกชนรวมถึงรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่รีบลงทุนตามแผนที่แต่ละองค์กรได้วางไว้ ซึ่งรวมทั้งสิ้นเป็นเม็ดเงินที่จะมีโอกาสสะพัดในเศรษฐกิจเป็นหลักแสนล้านบาท

Messaging ในวันนั้นชัดเจนและเข้าใจง่าย อย่างน้อยถ้ามีโอกาสฟังอย่างครบถ้วนก็อาจจะเชื่อได้ว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสที่จะฟื้นคืนชีพ ผลของการทำโฆษณาชวนเชื่อในงานที่ SCB กลับไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรเพราะว่าในวันเดียวกัน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ก็ได้รับเชิญไปอีกงานหนึ่งที่จังหวัดราชบุรี ซึ่งในเวทีท้องถิ่นนั้น Messaging ของนายกฯ ดันครอบคลุมเนื้อหาที่เกี่ยวกับการไม่สืบทอดอำนาจ การบอกให้ข้าราชการไม่ต้องฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและปิดท้ายด้วยลีลาออดอ้อนประชาชนว่า “ยังรักผมไหม?” และตามเคยในวันถัดมา Messaging เรื่อง National Economic Strategy ของอาจารย์สมคิดแทบจะไม่มีพื้นที่ในข่าวเลย นักสื่อสารมวลชนจะเรียกปัญหาประเภทนี้ว่าเป็นปัญหา Optics ก็คือว่าผู้บริโภคพยายามมองหาปัจจัยบวกแต่กลับเจอแต่ปัจจัยลบที่มากลบในข่าวที่เผยแพร่ออกมา

ที่ยกตัวอย่างมาให้ฟังนี้  เป็นเหตุการณ์เฉพาะที่เกิดขึ้นภายในวันเดียว ปัญหาใหญ่ก็คือว่า ถ้ามองย้อนกลับไป บรรยากาศของการรายงานผลงานรัฐบาลและยุทธศาสตร์ของการเขียนข่าวของสื่อกระแสหลักทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการตั้งวาระการเสนอข่าวที่เน้นความขัดแย้ง ทั้งหมดล้วนเป็นอย่างนี้มาแล้วถึง 2 ปี ตราบใดที่วาทกรรมเรื่องการเมืองและเรื่องความขัดแย้ง ยังเป็นประเด็นหลัก ที่หัวหน้า คสช.ไม่สามารถหลีกหนีได้แต่ต้อง “ใส่” กับสื่อทุกวัน ภาพลักษณ์ของรัฐบาลนี้ ก็จะมัวหมองอยู่กับเรื่องของความหวาดระแวง

ยังไงนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศก็จะมองว่าประเทศไทยนั้นเต็มไปด้วยความขัดแย้ง เพราะเมื่อมีทหารสไตล์เผด็จการเป็นเบอร์หนึ่งในรัฐบาล ปฏิกิริยาจากภาคประชาสังคมในเชิงต่อต้านย่อมที่จะแรงกล้าต่อไป การที่มีพลเอกประยุทธ์อยู่ในตำแหน่งนายกฯ ยิ่งทำให้แกนนำมวลชนที่ต่อต้าน คสช. ต้องการแสดงท่าทีที่ไม่รับอำนาจรัฐมากขึ้นเรื่อยเรื่อย

เวลานายกรัฐมนตรีชื่อ ‘บิ๊กตู่’ แบรนด์ที่โลกตีตราให้กับไทยคือรัฐเผด็จการที่พร้อมละเมิดสิทธิมนุษยชน แถมเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ระหว่าง ทหาร ประชาชน และนักการเมืองที่โดนซุกอยู่ใต้พรม

แต่ถ้านายกฯ เป็นชื่อคนอื่นที่ไม่เชื้อชวนให้ฝ่ายตรงข้ามอยากจะออกมาก่อกวน หรือถ้าไม่มีผู้นำที่เป็น Dictator ที่นานาชาติมองว่าพร้อมลิดรอนสิทธิเสรีภาพ แบรนด์ของประเทศไทยก็จะเปลี่ยนไป มันจะเป็นแบรนด์ที่สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยนั้นพร้อมจะก้าวหน้า อ้าแขนรับมิตรไมตรีจากทุกมุมโลกโดยที่ไม่หมกมุ่นกับการเอาผิดผู้แทนประชาชน ปราบ NGOs จับนักศึกษา หรือไล่ปรับทัศนคติสื่อมวลชน  หากต้องการจะให้ Key Messaging จากรัฐบาลไทยออกมาแล้วเป็นบวก ให้คนเชื่อว่านโยบายในการฟื้นฟูเศรษฐกิจเดินมาถูกทาง บุคคลที่เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องสร้างบรรยากาศและเปลี่ยนวาทกรรมที่เลือกใช้

ในสมัยที่ ดร.สมคิด เป็นรัฐมนตรีคลังให้ นายกฯ ทักษิณ Messaging จากรัฐบาลรวมทั้งชุดวาทกรรมจาก ดร.ทักษิณเอง ล้วนแล้วแต่เป็นการโน้มน้าวให้ทุกฝ่ายที่เป็น Stake-holder ทางเศรษฐกิจเชื่อมั่นใน National Economic Strategy

ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจคู่ขนานหรือ Dual-Track Economic Growth Policy ในสมัยไทยรักไทยเป็นที่ได้รับความไว้วางใจก็เพราะว่า การสื่อสารจากหัวหน้ารัฐบาลในวันนั้นไม่ได้กลบแต่ว่าสอดคล้องกับการสื่อสารของขุนคลัง

แบรนด์ของทักษิณ-สมคิดคือแบรนด์ของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ชัดเจน สัมฤทธิ์ผล และฝังลึกในใจจนถึงทุกวันนี้

ถ้าจะให้แบรนด์ไทยแลนด์ ยิ่งใหญ่อย่างที่เคยเป็นในวันนั้นแล้วไม่ด่างพร้อยไปกับบรรยากาศการด่าทอกันทุกวันระหว่างรัฐบาลและสื่อมวลชน ระหว่างนายกฯ กับนักการเมือง ระหว่างนักวิชาการกับทหาร  และระหว่างนักสิทธิมนุษยชนกับบรรดาผู้รับใช้เผด็จการ ผู้นำรัฐบาลต้องเป็นคนอื่น ให้พูดจริงๆ ถ้าตั้งสมคิด จาตุศรีพิทักษ์เป็นนายกรัฐมนตรีไปตั้งแต่แรก ป่านนี้ โฆษณาชวนเชื่อคงสัมฤทธิ์ผลไปแล้ว มันไม่ใช่ว่า อาจารย์สมคิดเก่งนักเก่งหนา แต่เพียงแค่ที่ผ่านมาตลอด 2 ปีในสายตาของคนทั่วไป มันเหมือนกับว่า คนหนึ่งทอดสะพาน คนหนึ่งเผาสะพาน

ถ้าปล่อยให้เป็นไปเช่นนี้ ชะตากรรมของรองนายกฯ สมคิดก็จะขึ้นอยู่กับ คสช. อย่างน่าเสียดาย ความเป็นดาวรุ่งทางการเมือง แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีก็จะเลือนหายไป

อาจารย์สมคิด คิดหรือครับว่าบรรดาบิ๊กสีเขียวลุ้นให้อาจารย์สร้างผลงานด้านเศรษฐกิจสำเร็จ?  เพราะถ้าอาจารย์ทำสำเร็จก็จะเป็นผลเสียให้กับเขา เพราะท่านเองก็จะยิ่งโดดเด่นเมื่อสังคมหมายปองว่าจะเป็นนายกฯ คนต่อไป รองนายกฯ สมคิด คิดว่าเขาจะปล่อยให้ท่านแย่งซีนขนาดนั้นหรือ?  ถ้า คสช. จะเป็นเงาในยุคหลังรัฐบาลพลเอกประยุทธ์  บิ๊กบิ๊กสีเขียวก็คงไม่ปล่อยให้เงาถูกบังโดยบุคคลที่โดดเด่นดั่งแสงอาทิตย์ทรงกลดที่แรงกล้า ท่านคงมีประสบการณ์แล้วว่าอะไรเกิดขึ้นในทางการเมืองเมื่อตัวเองเริ่มโดดเด่นเกินไป คิดว่าคงจะพอจำได้

ผมพยายามมองหาแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ว่าอะไรจะเกิดขึ้นหากความเป็นซุปเปอร์สตาร์ทางการเมืองของ ดร.สมคิด ต้องมาจบลงเพราะท่านไม่ได้เป็นหัวหน้ารัฐบาลเองตั้งแต่แรก อย่างน้อยยังมีความหวังเหลืออยู่ที่รัฐบาลในอนาคต ที่มีฐานเสียงของพรรคการเมืองที่เป็นที่ยอมรับของประชาชน + เงาบิ๊กบิ๊กทหาร ถึงเวลานั้นเศรษฐกิจไทยคงอาจจะต้องฝากความหวังไว้ที่กูรูอีกคนหนึ่ง…..ดร.วีระพงษ์ รามางกูร

0000

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ปัจจุบัน ม.ล. ณัฏฐกรณ์ เทวกุล เป็น  ผู้ดำเนินรายการ The Daily Dose และ Wake Up News สถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net