Skip to main content
sharethis

ฮุน เซน และ เตีย บัญ ข้ามฟากมา จ.ตราด ร่วมพิธีศพ ‘ใส่ ภู่ทอง’ ผู้ก่อตั้ง ‘พลพรรคไทยเกาะกง’ เคยหนีตายยุคเขมรแดง-ได้รับความช่วยเหลือจาก 'ชวลิต ยงใจยุทธ’ ต่อมาร่วมมือ เฮง สัมริน-ฮุน เซน ขับเขมรแดง-ยึดพนมเปญตั้ง ‘สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา’ เป็นรองประธานของรัฐ-สมาชิกกรมการเมือง หนุน ‘ฮุน เซน’ นั่งนายกรัฐมนตรี หลังกัมพูชาสิ้นสุดยุคสงครามกลางเมือง-จัดการเลือกตั้งทั่วไปจึงยุติบทบาทการเมืองใช้ชีวิตบั้นปลายที่ จ.ตราด และบ้านพักที่บางกะปิ

ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ร่ำไห้ระหว่างลงนามในพิธีคารวะศพใส่ ภู่ทอง แกนนำพลพรรคไทยเกาะกง อดีตกรมการเมืองพรรคประชาชนปฏิวัติกัมพูชา อดีตรองประธาน “สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา” ที่วัดคลองใหญ่ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด เมื่อ 18 มิถุนายน 2559 โดยจะมีพิธีปลงศพในวันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายนนี้ (ที่มา: Facebook/Samdech Hun Sen, Cambodian Prime Minister)

ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และ พล..เตีย บัญ รมว.กลาโหมกัมพูชา ร่วมพิธีคารวะศพ ใส่ ภู่ทอง แกนนำพลพรรคไทยเกาะกง อดีตกรมการเมืองพรรคประชาชนปฏิวัติกัมพูชา อดีตรองประธาน “สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา” ที่วัดคลองใหญ่ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด เมื่อ 18 มิถุนายน 2559 โดยจะมีพิธีปลงศพในวันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายนนี้ (ที่มา: Facebook/Samdech Hun Sen, Cambodian Prime Minister)

ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และ พล..เตีย บัญ รมว.กลาโหมกัมพูชา ร่วมพิธีคารวะศพใส่ ภู่ทอง แกนนำพลพรรคไทยเกาะกง อดีตกรมการเมืองพรรคประชาชนปฏิวัติกัมพูชา อดีตรองประธาน “สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา” ที่วัดคลองใหญ่ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด เมื่อ 18 มิถุนายน 2559 โดยจะมีพิธีปลงศพในวันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายนนี้ (ที่มา: Facebook/Samdech Hun Sen, Cambodian Prime Minister)

พล..เตีย บัญ รมว.กลาโหมกัมพูชา ร่วมพิธีศพ ใส่ ภู่ทอง และลงนามไว้อาลัยเมื่อ 17 มิถุนายน 2559 (ที่มา: Facebook/General TEA Banh)

ใส่ ภู่ทอง (แถวยืนคนที่ 3 จากซ้าย) และผู้นำพรรคประชาชนปฏิวัติกัมพูชา (KPRP) ในปี พ.. 2522 ในภาพยังมีผู้นำในรัฐบาลกัมพูชาคนอื่นๆ เช่น เจีย ซิม, เฮง สัมริน รวมทั้ง ฮุน เซน ในวัยหนุ่ม (แถวนั่งคนแรกจากขวา) (ที่มา: Sroksrear) (ชมภาพขนาดเต็ม)

ใส่ ภู่ทอง ในการประชุมสมัชชาพรรคประชาชนปฏิวัติกัมพูชา ครั้งที่ 5 (KPRP) เมื่อปี พ.ศ. 2528 (ที่มา: Khmer Economy Magazine)

 

19 มิ.ย. 2559 - เมื่อวานนี้ (18 มิ.ย.) ในเฟซบุ๊กของฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้เผยแพร่ภาพของ ฮุน เซน พร้อมด้วย พล.อ.เตีย บัญ รมว.กลาโหม คณะรัฐมนตรีกัมพูชา และคณะกรรมการพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) เดินทางมาจากกรุงพนมเปญ ข้ามมาจาก จ.เกาะกง เพื่อมาร่วมเคารพศพ ใส่ ภู่ทอง (សាយ ភូថង/Say Phouthang) หรือ "ลุงใส่" แกนนำพลพรรคไทยเกาะกง และที่ปรึกษาส่วนพระองค์ในพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ที่วัดคลองใหญ่ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด โดยเสียชีวิตหลังรับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลพระรามเก้า เมื่อคืนวันที่ 13 มิถุนายน 2559 รวมอายุ 95 ปี

นอกจากนี้เฟซบุ๊กของเตีย บัญ รมว.กลาโหม ของกัมพูชา ซึ่งมีเชื้อสายเป็นชาวไทยเกาะกง ก็ได้โพสต์ภาพที่เขาร่วมพิธีศพของ ใส่ ภู่ทองด้วย

โดยในพิธีศพเมื่อวานนี้ (18 มิ.ย.) มีชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด พล.ร.อ. ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ น.อ.สมรภูมิ จันโท ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินตราด และข้าราชการทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาร่วมพิธี

สำหรับพิธีศพของ ใส่ ภู่ทอง ตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดคลองใหญ่ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด เป็นเวลา 5 คืน ระหว่างวันที่ 14-18 มิถุนายน 2559 และจะมีพิธีปลงศพในวันที่ 19 มิถุนายน 2559 เวลา 13.00 น. มีรายงานด้วยว่า บุคคลสำคัญทั้งไทยและกัมพูชามาร่วมพิธีศพทุกคืน เช่น ซอ เคง รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.เตีย บัญ รมว.กลาโหม กัมพูชา ยุทธ ภู่ทอง อดีตผู้ว่าราชการ จ.เกาะกง รมช.เกษตร ป่าไม้ และประมง กัมพูชา พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตผู้บัญชาการทหารบก และอดีตนายกรัฐมนตรี โดยมี พล.อ.วิชิต ยาทิพย์ นายทหารคนสนิทติดตาม พล.อ.ชวลิตมาด้วย

"เป็นการสูญเสียบุคคลที่มีความสำคัญต่อประชาชนกัมพูชา เป็นผู้มีจิตใจเสียสละ บูชาทุกสิ่งเพื่อผลประโยชน์ของชาติ และมาตุภูมิ ชาวกัมพูชาทุกคนจะจดจำท่าน" เฟซบุ๊คของฮุน เซนระบุ และยังกล่าวด้วยว่า "ในนามของรัฐบาลกัมพูชาและตัวข้าพเจ้าเอง ขอแสดงความเสียใจมายังครอบครัวและขอให้ดวงวิญญาณของลุงใส่ ภู่ทอง ไปสู่สุขคติภพ"

 

ประวัติ "ลุงใส่" เกิดปี พ.ศ. 2466 ชาวไทยเกาะกง-เรียกร้องเอกราชกัมพูชาจากฝรั่งเศส

สำหรับประวัติของใส่ ภู่ทอง หรือ "ลุงใส่" เป็นชาวกัมพูชาเชื้อสายไทย หรือ “ไทยเกาะกง” เกิดเมื่อ พ.ศ. 2466 ที่บ้านนาบัด จ.เกาะกง ในสมัยที่อาณาจักรกัมพูชาเป็นรัฐอารักขาของฝรั่งเศส มีบุตรสาว 3 คน

โดยก่อนหน้านี้ เกาะกง มีชื่อว่าเมืองปัจจันตคิรีเขตร ซึ่งเป็นชื่อพระราชทานของรัชกาลที่ 4 เพื่อให้พ้องกับเมืองประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีตั้งในละติจูดเดียวกัน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ไทยยอมยกเมืองปัจจันตคิรีเขตร พร้อมกับ เมืองตราด ให้กับฝรั่งเศสไปตั้งแต่หลัง 29 มิถุนายน พ.ศ. 2447 เพื่อแลกเมืองจันทบุรี ที่ฝรั่งเศสยึดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2436 ต่อมาหลัง พ.ศ. 2449 ไทยยอมยกเมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ เพื่อแลกเมืองตราด คืนมาจากฝรั่งเศส แต่ฝรั่งเศสไม่คืนส่วนที่เป็นเมืองปัจจันตคิรีเขตร ทำให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรกัมพูชาซึ่งเป็นรัฐอารักขาของฝรั่งเศสมานับแต่นั้น

หลังจากนั้นคนไทยที่เกาะกงส่วนหนึ่งได้อพยพเข้ามาอยู่ที่เกาะกูด และ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด โดยครอบครัวของ "ใส่ ภู่ทอง" ได้อพยพมาอยู่ที่ อ.คลองใหญ่ เช่นกัน อย่างไรก็ตามในวัยหนุ่มของลุงใส่ได้เข้ามาเคลื่อนไหวทางการเมืองในเกาะกง และร่วมในขบวนการเรียกร้องเอกราชจากฝรั่งเศส

 

ฝึกจากเวียดนาม ตั้ง "พลพรรคไทยเกาะกง" ทำแนวร่วมสีหนุ-เขมรแดงโค่นลอนนอล

หลังกัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2496 ตั้งประเทศ "พระราชอาณาจักรกัมพูชา" ลุงใส่และกลุ่มเขมรอิสระได้เดินทางไปศึกษาลัทธิมาร์กซ์-เลนิน และวิชาการทหารที่ฮานอย ประเทศเวียดนาม

ปี พ.ศ. 2513 ใส่ ภู่ทอง กลับมาจากเวียดนาม และดำเนินการจัดตั้ง "พลพรรคไทยเกาะกง" ทำแนวร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา หรือ "เขมรแดง" นำโดยพล พต และสมเด็จนโรดมสีหนุ ต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธขับไล่รัฐบาล "สาธารณรัฐเขมร" ของนายพล ลอน นอล ซึ่งนิยมสหรัฐอเมริกา โดยนายพล ลอน นอล ทำรัฐประหารโค่นรัฐบาลสมเด็จนโรดมสีหนุ และเปลี่ยนรูปแบบการปกครองไปเป็นสาธารณรัฐ

 

หนีตายเขมรแดง-พาพลพรรคไทยเกาะกงเคลื่อนไหวชายแดน-ประสาน พล.อ.ชวลิต

อย่างไรก็ตามหลังเขมรแดงยึดพนมเปญเมื่อ 17 เมษายน พ.ศ. 2518 และปกครองประเทศในนาม "กัมพูชาประชาธิปไตย" มีการสังหารโหดแกนนำของ "พลพรรคไทยเกาะกง" เนื่องจากถูกระแวงว่าใกล้ชิดเวียดนาม ทำให้ ใส่ ภู่ทอง และ เตีย บัญ หรือ 'สังวาลย์ หินกลิ้ง' พาพลพรรคไทยเกาะกงมาเคลื่อนไหวตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ทำให้ได้รู้จักกับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ในสมัยนั้นยังมียศเป็นพันเอก และ พล.อ.วิชิต ยาทิพย์ ในสมัยนั้นยังมียศร้อยโท ทั้ง 2 คน รับราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก (ศปก.ทบ.) ส่วนโครงการ 315 รับผิดชอบชายแดนไทย-กัมพูชา มีการให้การสนับสนุนอย่างไม่เป็นทางการแก่พลพรรคไทยเกาะกง โดย ร.ท.วิชิต ในเวลานั้นใช้นามเรียกขานว่า "รณยุทธ์" ทำหน้าที่สนับสนุนการฝึก

 

ร่วมมือเฮง สัมริน-ฮุน เซน "แนวร่วมสามัคคีประชาชนกู้ชาติกัมพูชา" ขับเขมรแดงพ้นพนมเปญ

จากการประสานงานของเวียดนาม ทำให้ พลพรรคไทยเกาะกง นำโดย เตีย บัญ และใส่ ภู่ทอง ได้เข้าร่วมกับกลุ่มอื่นๆ ในกัมพูชาที่ต่อต้านเขมรแดง ได้แก่ แปน โสวัณณ์ เจีย สต และจัน ซี ซึ่งเป็นปัญญาชนที่ผ่านการอบรมจากเวียดนาม และกลุ่มของฮุน เซน รวมกันเป็น "แนวร่วมสามัคคีประชาชาติกู้ชาติกัมพูชา" (The Kampuchean United Front for National Salvation หรือ KUFNS) ตั้งแต่ 2 ธันวาคม 2520 ที่ จ.กระแจะ ชายแดนกัมพูชา-เวียดนาม

 

เป็นรองประธานของรัฐ "สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา" - นั่งตำแหน่งเป็นกรมการเมือง

"เพลงชาติสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา" เรียบเรียงทำนองโดย สุข อุดมเดช ใช้ในช่วงที่กัมพูชาปกครองโดยพรรคประชาชนปฏิวัติกัมพูชาที่นำโดย เฮง สัมริน และ ฮุน เซน ระหว่าง พ.ศ. 2522 - 2532 ก่อนที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐกัมพูชา และราชอาณาจักรกัมพูชา ภายหลังเจรจาสันติภาพและจัดการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2536 (ที่มา: YouTube/Suttipong Phuensaen)

 

"แนวร่วมสามัคคีประชาชาติกู้ชาติกัมพูชา" สามารถเอาชนะเขมรแดงได้ เมื่อกองทัพเวียดนามยกพลข้ามพรมแดนกัมพูชาเข้ามาตั้งแต่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2521 และสามารถยึดพนมเปญจากเขมรแดงได้ในวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2522 หลังจากนั้นมีการตั้งรัฐบาลใหม่ของ "สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา" ในนามพรรคประชาชนปฏิวัติกัมพูชา (KPRP) โดย เฮง สัมริน เป็นประธานแห่งรัฐ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ พ.ศ. 2522 - 2535 ส่วน ใส่ ภูทอง เป็นรองประธานแห่งรัฐ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ พ.ศ. 2522 - 2536

นอกจากนี้ใส่ ภู่ทอง ยังมีตำแหน่งเป็น 1 ใน 5 คณะกรรมการกรมการเมืองของพรรคประชาชนปฏิวัติกัมพูชา โดยในปี พ.ศ. 2526 คณะกรรมการกรมการเมืองลำดับที่ 1 ถึง 5 ประกอบด้วย เฮง สัมริน, นวล เจีย, ใส่ ภูทอง, จัน ซี และบู ทอง

 

เสนอชื่อ "ฮุน เซน" เป็นนายกรัฐมนตรีวัยหนุ่ม - หนุน "เตีย บัญ" มีบทบาทโลดแล่นการเมือง

ทั้งนี้ภายหลังจากจัน ซี ซึ่งเป็นทั้งกรมการเมือง และมีตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชาเสียชีวิตเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2527 ทำให้ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2528 สมัชชาแห่งชาติซึ่งสมาชิกทั้งหมดประกอบด้วยตัวแทนของพรรคประชาชนปฏิวัติกัมพูชาได้เลือกฮุน เซน ซึ่งในเวลานั้นมีอายุ 33 ปี มีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

ในรายงาน ตำนาน 'ลุงใส่' ไทยเกาะกง ของเนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 มิถุนายน 2559 ระบุว่า ใส่ ภูทอง เป็นผู้หนึ่งที่เสนอให้กรมการเมืองของพรรคประชาชนปฏิวัติกัมพูชาเสนอชื่อ ฮุน เซน เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยระบุว่า "เหตุผลที่ลุงใส่เลือกฮุน เซน เพราะมองเห็นความเป็นผู้นำ และความสามารถในการบริหารประเทศ ซึ่งกรมการเมืองคนอื่นๆ ก็เห็นคล้อยตามลุงใส่"

หลังฮุน เซน ได้รับเลือกจากสมัชชาแห่งชาติเป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นเมื่อ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2528 ฮุน เซน ได้รับเลือกเป็นกรมการเมืองของพรรคประชาชนปฏิวัติกัมพูชาแทนจัน ซี ผู้ล่วงลับ โดยเขาอยู่ในลำดับที่ 4 ของคณะกรรมการกรมการเมืองถัดจาก เฮง สัมริน, เจีย ซิม และใส่ ภู่ทอง

ทั้งนี้ในช่วงที่กัมพูชาถูกปกครองภายใต้สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชาที่นำโดยเฮง สัมริน และฮุน เซน "ใส่ ภู่ทอง" ยังคงมีตำแหน่งทั้งในคณะกรรมการกรมการเมือง และคณะกรรมการเลขาธิการพรรคประชาชนปฏิวัติกัมพูชา จนกระทั่งภายหลังพรรคประชาชนปฏิวัติกัมพูชา แปรสภาพเป็นพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ในปี พ.ศ. 2534 และเจรจาสันติภาพกับแนวร่วมเขมรสามฝ่ายที่มีพรรคฟุนซินเปกนำโดยสมเด็จพระนโรดม สีหนุ เขมรแดง และแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติประชาชนเขมร จนนำมาสู่การเลือกตั้งทั่วไปในกัมพูชาในปี พ.ศ. 2536 และเปลี่ยนผ่านประเทศกลับมาเป็น "พระราชอาณาจักรกัมพูชา"

 

ยุติบทบาทหลังสิ้นสุดสงครามกลางเมือง - เตีย บัญ สืบทอดกลาโหม

หลังจากนั้นใส่ ภู่ทอง ได้ยุติบทบาททางการเมือง และรับตำแหน่งที่ปรึกษาส่วนพระองค์ในพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ขณะที่ เตีย บัญ อดีตนายทหารหนุ่มจากเกาะกงที่ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับเขา ปัจจุบันคือ พล.อ.เตีย บัญ ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลปัจจุบัน ส่วน ยุทธ ภูทอง เป็นชาวเกาะกงเหมือนกับ เตีย บัญ มีศักดิ์เป็นหลานของนายใส่ เป็นอดีตผู้ว่าราชการ จ.เปรยแวง และอดีตผู้ว่าราชการ จ.เกาะกง ปัจจุบันเป็น รมช.เกษตร ป่าไม้ และประมง

ในช่วงท้ายของชีวิต "ลุงใส่" พำนักอยู่ในฝั่ง อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ซึ่งเป็นบ้านของบุตรสาว และบ้านพักในกรุงเทพฯ ที่หมู่บ้าน บ้านเราแฮปปี้แลนด์ เขตบางกะปิ และเข้ารับการรักษาตัวช่วงบั้นปลายที่ รพ.พระรามเก้า และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2559 รวมอายุ 95 ปี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net