Skip to main content
sharethis
นักเศรษฐศาสตร์ชี้หากผลการลงประชามติอังกฤษออกจากอียู (BREXIT) จะมีผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจไทยและโลกอย่างนัยยสำคัญต่อทั้งตลาดการเงิน ภาคเศรษฐกิจการค้าการลงทุนและเศรษฐกิจจริง แนะรัฐบาลเริ่มเปิดการเจรจาการค้าและการลงทุนกับอังกฤษเป็นประเทศแรก ๆ ข้อตกลงการค้าหลายอย่างของอียูจะไม่ถูกบังคับกับอังกฤษแม้ไทยส่งออกไปอังกฤษเพียง 2% 
 
19 มิ.ย. 2559 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการและคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตกล่าวถึง ผลกระทบ BREXIT (อังกฤษออกจากอียู) หากผลการลงประชามติให้อังกฤษออกจากอียู จะมีผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจไทยและโลกอย่างมีนัยยสำคัญต่อทั้งตลาดการเงิน ภาคเศรษฐกิจการค้าการลงทุนและเศรษฐกิจจริง แต่ขณะเดียวกันย่อมเกิดโอกาสเพิ่มขึ้นหากรัฐบาลสามารถวางยุทธศาสตร์อย่างเหมาะสมและริเริ่มเปิดการเจรจาการค้าและการลงทุนกับอังกฤษเป็นประเทศแรกๆ ข้อตกลงการค้าหลายอย่างของอียูจะไม่ถูกบังคับกับอังกฤษ หากผลประชามติให้อังกฤษออกจากอียูจะทำให้ตลาดการเงินผันผวนค่อนข้างมากในช่วงสามเดือนข้างหน้า โดยเฉพาะเงินยูโรและเงินปอนด์ น่าจะอ่อนค่าลงอย่างมาก เงินดอลลาร์ เงินสกุลเอเชีย เงินเยน เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับยูโรและเงินปอนด์ ขณะเดียวกัน ผลกระทบต่ออังกฤษจะชัดเจนขึ้นในช่วงไตรมาสสี่ปีนี้และอาจจะเจอกับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงต้นปีหน้ามีผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลกรุนแรงโดยเฉพาะตลาดหุ้นอังกฤษอาจปรับตัวลงได้มากกว่า 10% ตลาดหุ้นยุโรปอาจปรับลงได้ 5-10% นักลงทุนส่วนใหญ่จะหันมาถือพันธบัตร เงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกา เงินเยน เงินสวิสฟรังก์ และ ทองคำแทน ทำให้ ราคาทองคำปรับตัวขึ้นได้ 20-30% ดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้นระดับหนึ่งเท่านั้นเนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯอาจชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ย 
 
กรณีอังกฤษออกจากอียู ผลกระทบต่อตลาดการเงินจะชัดเจนและรุนแรงกว่าภาคเศรษฐกิจจริงและภาคการค้า เพราะหลังจากการลงมติออกจากอียูแล้ว ต้องใช้เวลาหากกรณีลงประชามติแล้วยังคงอยู่กับอียูต่อไป ตลาดการเงินจะดีดกลับทันที เงินยูโร เงินปอนด์จะแข็งค่าขึ้น และราคาทองคำอาจชะลอตัวลง ส่วนการอยู่กับอียูต่อไปจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนของอังกฤษและอียูมากกว่า การที่ สมาชิกพรรคแรงงาน Jo Cox แกนนำผู้สนับสนุนการอยู่เป็นสมาชิกอียูต่อไปถูกยิงเสียชีวิตจากกลุ่มหัวรุนแรงขวาจัดอาจทำ
 
ให้ฝ่ายสนับสนุนในการอยู่เป็นสมาชิกอียูต่อไปได้รับการสนับสนุนเพิ่มขึ้นและได้รับความเห็นใจ ซึ่งขณะนี้ทั้งสองฝ่ายมีเสียงก้ำกึ่งกันอยู่ การเกิดความรุนแรงทางการเมืองในการลงประชามติเรื่อง Breexit ในอังกฤษ เป็นบทเรียนต่อไทยว่า การลงประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญ ควรเปิดให้มีความคิดเห็นอย่างกว้างขวางอย่าปิดกั้นแต่ต้องควบคุมไม่ให้มีการปลุกกระแสที่สร้างความเกลียดชังกัน มีการเสนอความคิดเห็นแบบสร้างสรรค์ ใช้เหตุผลในการหักล้างกัน หากเกิดความรุนแรงขึ้นในกรณีของไทยย่อมไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นในการลงทุน 
 
กรณีอังกฤษออกจากอียู ข้อตกลงการค้าหลายอย่างของอียูจะไม่ถูกบังคับกับอังกฤษ เป็นโอกาสที่ไทยอาจเริ่มต้นเจรจากรอบการค้าและการลงทุนใหม่กับอังกฤษแม้นไทยส่งออกไปอังกฤษประมาณ 2% แต่ส่งออกไปอียูคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10-11% อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอังกฤษและอียูจะชะลอตัวลงกว่าเดิม ประเมินมีผลกระทบต่อเนื่องยาวนานและทำให้เสถียรภาพของระบบอียูมีปัญหา หลายประเทศอาจเกิดการเรียกร้องให้ออกจากอียู แม้นประเทศไทยส่งออกไปประเทศอังกฤษเพียงแค่2% แต่มีความเชื่อมโยงกับกิจกรรมการส่งออกต่อเนื่องไปยังอียูมากโดยสินค้าส่งออกหลักคือไก่แปรรูป อาหารประเภทต่างๆ อัญมณีเครื่องประดับ เสื้อผ้าเครื่องหนังรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เป็นต้นการที่อังกฤษอยู่ภายใต้ระบบของอียูย่อมส่งผลดีต่อการขยายตัวของการค้าและการลงทุนต่อไทยมากกว่า 
 
หากผลลงประชามติในวันที่ 23 มิ.ย. ออกมาให้อังกฤษอยู่กับอียูต่อไป จะเป็นผลบวกต่อตลาดการเงิน ส่วนผลต่อภาคเศรษฐกิจจริงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยสำคัญ หากผลลงประชามติออกว่าให้อังกฤษออกจากอียู จะส่งผลลบต่อตลาดการเงินและตลาดการเงินจะมีความผันผวนต่อเนื่อง เนื่องจากจะต้องนำผลประชามติเข้าพิจารณาในรัฐสภาอังกฤษ ซึ่งเกิดความไม่แน่นอนขึ้นอีก ส่วนผลกระทบต่อภาคการค้าและภาคเศรษฐกิจจริงนั้นมีผลกระทบสุทธิเป็นลบแน่นอน เมื่อประมวลจากข้อมูลทั้งหมดแล้วโอกาสที่อังกฤษออกจากอียูมีความเป็นไปได้ต่ำแต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนเพราะการออกจากอียูจะเป็นผลจากเหตุผลทางการเมืองมากกว่าเหตุผลทางเศรษฐกิจ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net