Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



ช่วงศตวรรษที่ 18 และ 19 ในยุโรปเป็นช่วงเวลาการต่อสู้ทางอุดมการณ์ความคิด มีความคิดหลากหลายตั้งแต่เฉดขวาสุดไปยังซ้ายสุด ความล้มเหลวของระบบตลาดเสรีแบบสุดโต่งส่งผลให้ช่องว่างความร่ำรวยระหว่างคนรวยและคนจนถ่างออกไปมากขึ้น ในขณะที่ความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายต่างไม่ได้ดีขึ้นกว่าระบอบเก่าเหมือนตามที่หวัง ในขณะเดียวกันการแพร่ขยายของสังคมนิยมคอมมิวนิสม์ ส่งผลให้สาธารณรัฐที่ 3 ของฝรั่งเศส ต้องหาอุดมการณ์สร้างชาติอันใหม่ที่อยู่กึ่งกลางระหว่างคอมมิวนิสม์และเสรีนิยม

ลัทธิสมานฉันท์นิยม (Le solidarisme) ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นอุดมการณ์สร้างชาติใหม่ ที่เป็นสังคมนิยมประชาธิปไตย  เป้าหมายของลัทธิสมานฉันท์นิยมคือการสร้างสังคมที่ปัจเจกบุคคลอันหลากหลายสามารถอยู่ร่วมกันภายใต้ความเสมอภาคที่เคารพศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นมนุษย์ของทุกคนอย่างเสมอหน้า ลัทธิสมานฉันท์ปฏิเสธการควบคุมเศรษฐกิจโดยกลไกตลาดเต็มที่แบบ laissez-faireของลัทธิเสรีนิยม ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธการสร้างโลกอุดมคติยูโทเปียของลัทธิสังคมนิยมที่ต้องการกำจัดกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล โดยเชื่อว่าถึงแม้ไม่มีโลกยูโทเปีย แต่สติปัญญาของปัจเจกบุคคลสามารถพัฒนาและสร้างระบบคุณค่าที่ยึดมั่นในส่วนรวมได้โดยไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

เพื่อนำอุดมการณ์ให้กลายเป็นความจริง รัฐจึงมีการผลิตนโยบายสาธารณะขึ้นมาเพื่อวางรากฐานความคิดนี้เป็นแกนกลางสันหลังของชาติ การผลิตนโยบายนี้ประกอบด้วย 3 ด้านด้วยกันคือ นโยบายการศึกษาแห่งชาติ นโยบายการสร้างระบบปกป้องสังคมแห่งชาติ และการสร้างระบบกฎหมายและรัฐธรรมนูญเพื่อกำหนดขอบเขตอำนาจของรัฐ
—
นโยบายการศึกษาแห่งชาติมีจุดมุ่งหมาย 2 ประการคือ การแยกรัฐออกจากศาสนา และ การให้การศึกษาแก่ลูกหลานรุ่นใหม่ในคุณค่าเรื่องสมานฉันท์นิยม นโยบายการศึกษาแห่งชาติสร้างระบบการศึกษาที่รับใช้คุณค่าสาธารณรัฐประชาธิปไตยและสิทธิพลเมือง ตั้งแต่เด็ก การศึกษาจึงวางอยู่บนหลักเสรีภาพของพลเมือง เสรีภาพทางการเมืองและศาสนา รวมถึงการให้การศึกษาเกี่ยวกับกฎหมายที่สำคัญของสาธารณรัฐ สาธารณรัฐที่แยกศาสนาออกแล้วจะเคารพความหลากหลายด้านความเชื่อ และมีความอดทนอดกลั้นต่อผู้เห็นต่าง ค่าใช้จ่ายการศึกษาเป็นภาระของรัฐบาลกลางและท้องถิ่น สถานศึกษาแต่เดิมที่เป็นของศาสนจักรถูกสั่งปิดและโอนให้รัฐบาลเป็นคนดำเนินการ สถานศึกษามิใช่เป็นที่ให้เฉพาะคริสตชนหรือพวกมีอันจะกินเล่าเรียน แต่เป็นสถานที่จำลองเพื่อให้ลูกหลานฝึกฝนกับสถานที่สาธารณะที่ต้องแบ่งกันใช้กับสมาชิกอื่นๆทุกคนในสังคม พลเมืองทุกคนมีสิทธิเข้าเรียน และยกเลิกการใช้ภาษาละตินที่พูดกันในหมู่พระและนักปราชญ์ในการสอน ครูผู้สอนก็มิใช่พระอีกต่อไป แต่เป็นข้าราชการของรัฐ ส่วนสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยที่เดิมอยู่ภายใต้อิทธิพลของเทวนิยม ซึ่งศาสนจักรเป็นผู้ควบคุมความรู้และวิทยาศาสตร์ แต่สำหรับรัฐที่แยกศาสนาออกแล้ว มหาวิทยาลัยจะต้องไม่ถูกควบคุมโดยศาสนา รวมถึงการศึกษาด้านการแพทย์ การแยกรัฐออกจากศาสนาทำให้รัฐสมัยใหม่ ยึดอำนาจด้านชีวิตและการรักษาซึ่งแต่เดิมถูกผูกขาดโดยศาสนจักรและชนชั้นสูง นโยบายสาธารณสุขกลายเป็นนโยบายสาธารณรัฐแห่งรัฐที่เป็นกลางทางความเชื่อ

นโยบายการสร้างระบบปกป้องสังคมแห่งชาติมีจุดประสงค์เพื่อ ลดอำนาจของพระและเจ้าด้านการช่วยเหลือสังคมและการกุศล ให้กลายเป็นหน้าที่ของรัฐที่มีสถานะเป็นกลางทางศาสนา และไม่มีการแบ่งชนชั้นสังคม การช่วยเหลือสังคมเป็นหน้าที่ที่ทุกๆคนต้องร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อสร้างความสมานฉันท์อยู่รวมกันในสังคมอย่างผาสุก ระบบการกุศลของพระกับเจ้าที่เป็นข้อผูกมัดทางศีลธรรมมีความไม่แน่นอนและไม่เท่าเทียม ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้ให้ และผู้รับต้องมีสถานะต่ำกว่า ถูกเปลี่ยนสภาพกลายเป็นข้อผูกมัดทางกฎหมายที่สมาชิกทุกคนต้องทำโดยวางบนฐานความคิดเรื่องหนี้สาธารณะที่ ประการแรก คนที่ร่ำรวยนั้นไม่ได้ร่ำรวยเพราะความสามารถของตนเพียงคนเดียวแต่เพราะสังคมและสิ่งแวดล้อมเอื้อให้เขาสะสมความมั่งคั่งได้ดังนั้นแล้วคนรวยเป็นหนี้กับคนจนและต้องจ่ายมากกว่าเพื่อคนจน ประการสอง การสร้างสาธารณรัฐฝรั่งเศสส่งผลให้มีคนต้องเสียสละชีวิตและร่างกายจำนวนมาก บางคนก็บาดเจ็บพิการถาวร ดังนั้นแล้วผู้ที่รอดชีวิตและมีสุขภาพดีนั้นเป็นหนี้กับคนที่อ่อนแอกว่า และต้องจ่ายมากกว่าเพื่อตอบแทน ประการสาม การสร้างสาธารณรัฐมิใช่ใช้เวลาแค่ช่วงอายุคนเดียว แต่เป็นการสะสมความรู้ต่างๆมาตั้งแต่ยุคก่อน และเพื่อตอบแทนคนรุ่นก่อน คนรุ่นปัจจุบันจึงต้องตอบแทนหนี้คนรุ่นก่อนด้วยการสืบทอดระบบปกป้องสังคมให้คนรุ่นลูกหลานต่อๆไป เมื่อหลักการดังกล่าววางรากฐานแล้วส่งผลให้รัฐสวัสดิการฝรั่งเศสปัจจุบันนั้น คนรวยต้องจ่ายภาษีมากกว่าคนจนถึงแม้จะได้สิทธิประโยชน์น้อยกว่า คนไม่เจ็บป่วยก็ต้องจ่ายภาษีช่วยเหลือมากกว่าคนที่เจ็บป่วยถึงแม้จะไม่ได้รับการรักษาใดๆเลยก็ตาม คนรุ่นปัจจุบันก็ต้องจ่ายภาษีมากกว่าเด็กๆ และคนชรา เพื่อให้รัฐดำเนินนโยบายช่วยเหลือคนสองกลุ่มดังกล่าว ทำให้เกิดนโยบายสาธารณะช่วยเหลือเด็กและครอบครัว และสุดท้ายคือการป้องกันความเสียหายที่เกิดจากทุกความเสี่ยงของชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ

การสร้างระบบกฎหมายและรัฐธรรมนูญเพื่อกำหนดขอบเขตอำนาจของรัฐ มีจุดประสงค์เพื่อให้หลักการโซลิดาลิสม์มั่นคงถาวรอยู่ในรัฐธรรมนูญของรัฐและเป็นหลักฐานฉันทามติร่วมกันของคนในรัฐที่ตกลงจะธำรงมันไว้ต่อเนื่องตลอดไป และเป็นรากฐานของนโยบายสาธารณะในทุกๆด้านรวมถึงนโยบายสุขภาพ ถ้าหลักการสมานฉันท์สูญสลายไปย่อมหมายถึงความเป็นสาธารณรัฐย่อมดับสูญไปด้วยเช่นกัน  การสร้างรัฐสวัสดิการคือการให้อำนาจรัฐเข้าแทรกแซงกิจกรรมในหลายๆภาคส่วนของปัจเจกชน ดังนั้นแล้วจึงต้องกำหนดกรอบกติกาให้ชัดเจนก่อนว่ารัฐมีอำนาจในเรื่องใดบ้าง เสมือนเป็นสัญญาประชาคมระหว่างพลเมืองและรัฐผู้ปกครอง การแทรกแซงของสาธารณรัฐที่สามเป็นการแทรกแซงโดยการควบคุมงบประมาณส่วนกลางหรือการออกกฎหมายเพื่อควบคุมกฎระเบียบขององค์กรสาธารณะอันเป็นอำนาจบริหารสาธารณะ และการแทรกแซงสาธารณะจะไม่มากถึงขั้นจำกัดพฤติกรรมของบุคคลแต่ครอบคลุมเฉพาะระบบปกป้องสังคม มากกว่าที่จะไปแทรกแซงด้านเศรษฐกิจอย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตามถึงแม้หลักโซลิดาลิสม์ถูกสร้างขึ้นมาในศตวรรษที่ 19 และมีความพยายามทำให้สำเร็จ แต่การขึ้นมาของแนวความคิดคอมมิวนิสม์ และ โดยเฉพาะในช่วงปลายศตวรรษ 19 ถึงต้นศตวรรษ 20 ที่ความคิดชาตินิยมโซเชียลลิสม์แพร่ขยายในยุโรป ส่งผลให้ฝรั่งเศสไม่ประสบความสำเร็จในการวางหลักโซลิดาลิสม์ และความเป็นสาธารณรัฐก็สูญสิ้นไปพร้อมกับหลักการดังกล่าวเมื่อฝรั่งเศสพ่ายแพ้สงครามต่อเยอรมันในช่วงปี 1945 และตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลนายพลเปแตง ผลพวงของเนชันแนลโซเชียลลิสม์ได้สร้างรัฐเวชกรรมที่แข็งแรงที่สุดในโลกและมีความโหดร้ายที่สุดในโลกเช่นกัน คือ รัฐเวชกรรมแบบนาซีเยอรมันที่ผสมหลักการยูเจนิสม์เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อสร้างชาติที่ดำรงด้วยเผ่าอารยันที่แข็งแรงแล้ว ชาวยิวเปรียบเสมือนเชื้อโรคที่กัดกร่อนประเทศ คนพิการร่างกายและสติปัญญาเปรียบเสมือนตัวปัญหาและถ่วงความเจริญของสังคม และต้องกำจัดมันด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการรมแก๊ส การทำหมัน เป็นหนูทดลองทางวิทยาศาสตร์เป็นต้น โดยภายใต้ข้ออ้างเพื่อประโยชน์สาธารณะ

ประสบการณ์ในเยอรมนีเป็นอุทาหรณ์อย่างดีของความน่ากลัวของรัฐเวชกรรมถ้ามันอยู่ภายใต้หลักคิดอุดมการณ์แบบชาตินิยมสุดโต่ง และจำเป็นต้องมีอุดมการณ์อื่นที่แตกต่างเพื่อเป็นรากฐานของรัฐเวชกรรมแบบฝรั่งเศสเพื่อทำนุบูรณะความเสียหายของชาติและประชาชน รัฐบาลฝรั่งเศสจึงนำหลักการโซลิดาลิสม์มาปัดฝุ่นทำให้สำเร็จอีกครั้ง และสร้างรัฐสวัสดิการสังคมขึ้นมาใหม่ ผลของการที่มีอุดมการณ์โซลิดาลิสม์ชัดเจนเป็นฉันทามติของระบบสุขภาพแล้ว ทำให้ระบบปกป้องสังคมมีความมั่นคงถาวรต่อเนื่องและไม่ถูกทำลายลงไป ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาลมาหลายชุดไม่ว่าจะเป็นฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวา หรือกรณีที่กองทุนประกันสังคมขาดทุนกว่าปีละ 2 ถึง 10 พันล้านยูโร สะสมต่อเนื่องมาตั้งแต่ทศวรรษ 90 ก็ไม่มีรัฐบาลใดกล้าล้มนโยบายดังกล่าว

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net