Skip to main content
sharethis

20 มิ.ย.2559  จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ( นปช.) พร้อมแกนนำ เปิดเผยภายหลังการหารือกับสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ว่า ได้พูดคุยเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งเจ้าหน้าที่ยูเอ็น แนะนำให้ทำหนังสือไปยัง บัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ หากจะเชิญมาสังเกตการณ์การออกเสียงประชามติในประเทศไทย และหาก กลุ่ม นปช. พบข้อมูลการละเมิดสิทธิ์เกี่ยวกับการทำประชามติ ก็ให้ส่งข้อมูลมายังยูเอ็นเป็นระยะ

ด้าน ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. กล่าวว่า ที่ผ่านมายูเอ็น สนใจและติดตามสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และได้แสดงความห่วงใยมาถึงรัฐบาลหลายครั้ง  กลุ่ม นปช. จะทำหนังสือถึงสหภาพยุโรป หรือ อียู เพื่อขอให้เข้ามาสังเกตการณ์การออกเสียงประชามติ  เพราะมองว่า อียู เป็นองค์กรที่มีประสบการณ์ตรง และมีบทบาทชัดเจน ในการเข้าไปสังเกตการณ์การเลือกตั้ง หรือการลงประชามติในหลาย ๆ ประเทศ

ประยุทธ์ ยกหู ฟ้อง 'บัน คี มุน' บอกมีคนไม่หวังดีเคลื่อนไหว

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงการพูดคุยกับ บัน คี มุน เมื่อช่วงเช้าทางโทรศัพท์ว่า ไม่มีอะไรมาก ปกติตนก็มีการพูดคุยกับ บัน คี มุน อยู่แล้ว มีโอกาสได้คุยกันหลายครั้ง และได้ชี้แจงมาตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 และได้มีการนัดกันล่วงหน้าจึงได้มีการพูดคุยกัน ซึ่งตนก็ได้พูดคุยถึงสถานการณ์บ้านเมืองของเรา ว่าขณะนี้การเตรียมการต่าง ๆ รวมทั้ง ระยะเวลาในการทำประชามติ รัฐธรรมนูญและการเข้าสู่การเลือกตั้ง ซึ่งตนยืนยันไปว่าทุกอย่างเดินไปตามโรดแมปที่วางไว้ ซึ่งสิ่งที่ได้เล่าให้ทางเลขาฯ ยูเอ็น ฟังคือความเคลื่อนไหวของคนที่ไม่หวังดี ซึ่งทางเลขาฯ ยูเอ็นให้รับทราบมาทั้งหมดแล้ว แต่ตนก็เป็นกังวลว่าไม่อยากให้เลขาฯ ยูเอ็นเกิดความไม่เข้าใจ แต่ก็เข้าใจว่าเข้าใจดี ซึ่งเราทุกคนต้องช่วยกันทำให้ความเข้าใจต่างๆ ไม่คลาดเคลื่อน การเสนอข่าวของสื่อก็ต้องระวังด้วย ยืนยันว่าที่ผ่านมาเราทำดีที่สุดแล้ว ที่จะสามารถทำได้ขณะนี้และตราบใดที่คนเหล่านี้ยังไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมันก็คงยังเป็นอยู่แบบนี้ ทุกคนก็อย่าไปสนับสนุน

“ท่าทีของบัน คี มุน ก็ดี และเดี๋ยวผมจะส่งคนไปพบ และพูดคุยกับท่านอีก เร็ว ๆ นี้ ในส่วนของความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่มีความพยายามจะไปร้องกับทางตัวแทนยูเอ็นนั้น ผมก็ได้บอกกับท่านว่ายังมีการเคลื่อนไหวลักษณะนี้อยู่ ก็ได้เล่ารายละเอียดให้ฟังท่านก็รับทราบ ผมก็ได้ขอบคุณในความห่วงและกังวลต่าง ๆ ซึ่งท่านก็มีให้มาโดยตลอดเพราะนายบัน คี มุน กับประเทศไทยก็มีความสนิทสนมกันมานาน ท่านก็เห็นบทบาท และศักยภาพของประเทศไทยในการแก้ไขปัญหา ผมถือโอกาสเล่าให้ฟังถึงการเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งทุกประเทศก็เห็นใจผม ให้กำลังใจในการที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไข และเผชิญกับสถานการณ์ที่มีความท้าทาย ซึ่งเขาก็เห็นว่าประเทศไทยกำลังเดินหน้า แต่ก็มีความท้าทายอยู่มากมาย ก็ขอเป็นกำลังใจให้ประเทศไทยเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตย ซึ่งต่างประเทศเขาพูดกับผมอย่างนี้จริง ๆ ผมไม่ได้โกหกและเวลาที่ไปทุกประเทศก็พร้อมที่จะร่วมมือทางด้านการค้า และการลงทุนอย่างที่อินเดียก็มีหลายบริษัทที่พร้อมขยายกิจการในประเทศไทย เราต้องเริ่มทำไม่เช่นนั้นทุกอย่างก็จะกลับไปสู่ที่เก่า เราต้องช่วยกันนำประเทศกลับไปสู่โลกยุคใหม่ ขณะเดียวกันก็ต้องดูแลเรื่องการเกษตรด้วยคอยดูว่าจะมีมาตรการดูแลภาคการเกษตร โดยเฉพาะการดูแลคนจนอย่างถูกต้อง เพราะเราหม่มีเงินเหลือเฟือ ฟูมฟาย ที่จะไปให้ตลอดเวลา” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า บัน คี มุน ได้แสดงความเป็นห่วงเรื่องใดเป็นพิเศษบ้าง นายกฯ กล่าวว่า บัน คี มุนมีความเป็นห่วงเรื่องเดียวคือเรื่องการให้แสดงความคิดเห็นได้ ซึ่งตนได้อธิบายไปแล้วว่าเรามีอยู่แล้ว เรื่องรัฐธรรมนูญก็มีการเปิดในทุกพื้นที่เกือบทุกจังหวัด ที่ผ่านมาการร่างรัฐธรรมนูญ “แต่ปัญหาคือว่าบางพรรคการเมืองไม่ร่วมมือ ซึ่งท่านก็เข้าใจ คือบางพรรคเข้ามามีส่วนร่วมแล้วมาอ้างทีหลังว่าไม่เห็นด้วย มันถูกต้องหรือไม่ ผมก็ถามท่านฯ ท่านฯก็เงียบไป แต่ก็รับฟัง ความจริงเรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัวที่ผมคุยกับนายบัน คีมุน เอามาพูดตรงนี้อาจไม่ค่อยดี แต่ผมก็ได้ขอบคุณท่านที่มีความห่วงและกังวลประเทศไทย อยากให้ประเทศไทยมีเอกภาพ ผมก็เลยเล่าให้ฟัง และผมพร้อมชี้แจงกับทุกประเทศ”

เล็งใช้ พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้อง จับสื่อโซเชียล

เมื่อถามว่า ที่ผ่านมามั่นใจว่าได้การเปิดช่องทางให้มีการแสดงความคิดเห็นแล้วหรือ นายกฯ กล่าวย้อนถามว่า “แล้วยังไม่เต็มที่อีกหรือวันนี้ แล้วจะเอาอะไรกันอีก จะให้ออกมาเดินกันตามถนน เอาไหม บอกมา เดี๋ยวผมจะให้ แล้วพวกคุณก็ต้องช่วยกันรับผิดชอบด้วย วันนี้การพูดในสื่อผมห้ามแล้วหรือยัง หรือจะให้ห้ามจะเอาแค่ไหนอีก ที่ผ่านมาพูดสร้างสรรค์ให้ผมบ้างไหม นั้นหรือคือประชาธิปไตย ที่พูดนั้นถูกต้องทั้งหมดหรือ ถ้าถูกทั้งหมดพวกเธอก็ไปอยู่กับเขาเลย”

เมื่อถามว่า แต่การที่รัฐบาล และคสช. ห้ามก็ยังพยายามไปใช้ช่องทาง และขยายความเปิดเผยตามสื่อโซเชียลพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “เดี๋ยวเขากำลังพิจารณากันอยู่ เขาก็จะจับกุมตามพ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้อง ไม่กลัวคุกบ้างก็แล้วไป เป็นเรื่องของฝ่ายกฎหมายดูไม่ใช่หน้าที่ของผม คสช.ก็ดูแลอยู่ผมจะทำงานของผมในส่วนของรัฐบาล หน้าที่บางหน้าที่ให้คสช. จัดการ ดำเนินการร่วมกับฝ่ายกฎหมาย จะมาถามผมทุกเรื่องในฐานะที่ผมเป็นหัวหน้าคสช. ยอมรับว่าใช่ แต่ขอให้เขาทำให้เสร็จก่อนถ้าเขามีปัญหาเขาก็มาถามผม วันนี้เขายังไม่ถามพวกสื่อมาถามผมทำไม วันนี้เขาทำหน้าที่ได้อยู่แล้ว”
เมื่อถามว่าจะทำอย่างไรกับพวกหนักแผ่นดินที่พูดบนเวทีสานพลังประชารัฐด้านการศึกษา พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนพูดหมายถึงใคร ไม่รู้ ไม่ได้ว่าใคร สื่อก็ไปหากันเอง ยืนเปล่าๆเฉยๆหนักพื้น ไม่ทำอะไร ดีแต่ขัดขาขัดแข้งกฎหมายก็เต็มอีรุงตุงนังไปหมด เดี๋ยวคอยดูแล้วกันถ้าถึงเวลากระบวนการยุติธรรมเขาเรียกตัวแล้วก็หน้าซีดกันทุกตัว ทีอย่างนี้เก่งกันทุกคน

กำลังดูช่องระงับธุรกรรมทางการเงิน

เมื่อถามว่าการเคลื่อนไหวของแกนนำนปช.ถือว่าผิดสัญญาที่ตกลงกับคสช.เข้าขั้นต้องดำเนินคดีทางกฎหมายและระงับธุรกรรมทางการเงินหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า กำลังดูอยู่ เมื่อถามย้ำว่า สามารถดำเนินคดีได้แล้วใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า กำลังดูอยู่ สามารถดำเนินคดีได้ทุกอัน เมื่อถามอีกว่าจะดำเนินการเลยหรือไม่ นายกฯ ตอบว่า จะต้องบอกสื่อให้ไปขยายความขัดแข้งทำไม ก็ระวังตัวไว้แค่นั้นถ้ามันไม่ไหวก็ไม่ไหว ตนก็อดทน เต็มที่แล้วคนไทยด้วยกัน

ประวิตรยันตั้งไม่ได้ แนะให้ไปคุย กกต.

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติว่า ตนยืนยันว่าไม่สามารถทำได้ ส่วนการที่ นปช.ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยระบุว่า ตั้งได้นั้น เป็นเพราะตีความผิด นายกรัฐมนตรีหมายถึงศูนย์ปราบโกงฯ ตั้งได้แต่ก็ผิดกฎหมาย
 
เมื่อถามว่า หาก นปช.จะขอตรวจสอบการทำประชามติร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทำได้หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ต้องไปพูดคุยกับ กกต.ก่อนว่าทำได้หรือไม่อย่างไร ไม่ใช่ใครอยากจะตั้งอะไรก็ได้
 
“ยังนึกไม่ออกว่าจะปราบโกงยังไง และถ้า นปช.ดำเนินการใด ๆ ผ่านโซเชียลมีเดีย ก็จะต้องถูกจับตาและใช้ข้อกฎหมาย หากพบว่ามีการบิดเบือนข้อเท็จจริง” พล.อ.ประวิตร กล่าว
 
พล.อ.ประวิตร กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีที่แกนนำ นปช.จะไปร้องเรียนองค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น อีกครั้งในวันนี้ก็ทำไป แต่เป็นเรื่องภายในประเทศ ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำอะไรที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

กกต.ระบุนปช.ช่วยตรจสอบประชามติได้ แต่อยู่ในกรอบกม.

ศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวถึงกรณีที่พล.อ.ประวิตร แนะนำให้ นปช. มาคุยกับ กกต.เรื่องการตรวจสอบกระบวนการออกเสียงประชามติ ว่า การตรวจสอบกระบวนการออกเสียงประชามติเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนที่ต้องช่วยกันดูแล
 
“หากพบเห็นการทุจริตในกระบวนการออกเสียง สามารถแจ้งผ่านแอพพลิเคชั่นตาสับปะรดของสำนักงานกกต.หรือจะมาแจ้งที่สำนักงานกกต.โดยตรง โดยการถ่ายภาพบันทึกหลักฐานสามารถกระทำได้ หากกลุ่มนปช. ต้องการเข้ามาช่วยทำงานในด้านนี้ กกต.ไม่ขัดข้อง เพราะถือเป็นประชาชนทั่วไป แต่การจะช่วยกันตรวจสอบ ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย รวมทั้งไม่มีเจตนาแอบแฝงเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง แต่มีจุดประสงค์เพื่อต้องการให้กระบวนการออกเสียงประชามติเป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม” ประธานกกต. กล่าว

 

ที่มา มติชนออนไลน์ และสำนักข่าวไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net