Skip to main content
sharethis

เช็คท่าที-จุดยืน ประชาธิปัตย์-เพื่อไทย ต่อร่างรัฐธรรมนูญและการทำประชามติที่จะมาถึง กับฉากการเมืองไทยหลังประชามติ เรียกร้องให้เปิดกว้างเสนอข้อมูลรอบด้านเพื่อให้ประชาชนใช้ประกอบการตัดสินใจ เชื่อทหารจะหาช่องอยู่ยาว

การทำประชามติร่างรัฐธรรนูญกระชั้นเข้ามาทุกขณะ ซึ่งจะมีผลต่อการกำหนดอนาคตของประเทศไทย ประชาไทจึงสำรวจท่าทีของสองพรรคการเมืองใหญ่ผ่านมุมมองของจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ และอนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย

แม้ทั้งสองพรรคจะมีท่าทีต่อการทำประชามติแตกต่างกัน แต่เรื่องที่ว่าทหารจะอยู่ยาวหรือไม่ ดูเหมือนจะสอดคล้องกันอยู่บ้างโดยมิได้นัดหมาย

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์

ณ ตอนนี้ประชาธิปัตย์ประเมินว่าประชามติเกิดขึ้นแน่ๆ?

จุรินทร์: ผมคิดว่านาทีนี้ ผมยังไม่เห็นสัญญาณที่จะเปลี่ยนแปลงนะครับ ยังไม่มีสัญญาณอะไรที่จะบอกว่าจะไม่มีประชามติ

ทางพรรคมีการพูดคุยชี้แจงอะไรกับลูกพรรค กับหัวคะแนน กับฐานเสียง

จุรินทร์: ก็ไม่ได้ชี้แจงอะไร เพราะไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะชี้แจงอะไรได้ เพราะเราติดคำสั่ง คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ที่ไม่เปิดโอกาสให้พรรคสามารถทำกิจกรรมใดๆ ทางการเมืองได้ ก็ได้แค่ออกไปแสดงความคิดเห็นโดยบุคลากรของพรรคเป็นครั้งคราว เท่าที่จะทำได้ภายใต้กฏหมายก็เท่านั้น

แล้วในรูปแบบที่ไม่เป็นทางการ?

จุรินทร์: ก็ได้ติดตามเรื่องรัฐธรรมนูญ ติดตามกฏหมายประชามติ แล้วก็สถานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมของประเทศที่เกิดขึ้นภายใต้การบริหารจัดการของรัฐบาล คสช. ก็ติดตามและให้ความเห็นเท่าที่จะทำได้ในส่วนที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์กับการสร้างสรรค์ประเทศในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ

พรรคเพื่อไทยก็ประกาศว่าจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พรรคประชาธิปัตย์มีท่าทีอย่างไรต่อร่างรัฐธรรมนูญ

จุรินทร์: พรรคไม่สามารถมีท่าทีได้ เพราะไม่สามารถประชุมพรรคแล้วกำหนดเป็นมติพรรคได้ แต่ว่าหัวหน้าพรรคก็เคยแสดงความเห็นไปครั้งหนึ่ง ก็เหมือนเป็นที่ทราบอยู่แล้ว เท่านั้นเองครับ

ในบรรยากาศแบบนี้ ประชามติจะได้การยอมรับมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผ่าน มันจะนำผลอะไรตามมา

จุรินทร์: ความจริงการทำประชามติ เอาโดยหลักก่อนมันจะช่วยให้รัฐธรรมนูญมีความชอบธรรมขึ้น ถ้าสมมติว่าประชาชนส่วนใหญ่ลงประชามติเห็นชอบ แต่ว่าทั้งหมดนี้ต้องขึ้นอยู่กับประชามติด้วย ผมเห็นว่าถ้ามันมีกระบวนการที่เปิดกว้าง เปิดโอกาสให้ฝ่ายต่างๆ สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างกว้างขวาง รอบด้าน เพื่อให้ประชาชนได้ใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการลงประชามติ มันก็จะมีส่วนช่วยทำให้การทำประชามติมีความชอบธรรมขึ้นและเป็นที่ยอมรับได้มากขึ้น

ในสถานการณ์ที่ค่อนข้างจะมีการปิดกั้นอย่างนี้ ต่อให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน แต่ก็อาจจะไม่ได้รับการยอมรับอย่างที่ควรจะเป็น

จุรินทร์: ต้องรอดูสถานการณ์ ถ้ามันเกิดขึ้นจริงว่าจะเป็นที่ยอมรับได้มากน้อยแค่ไหน เพียงแต่ว่าเท่าที่เราติดตามเสียงเรียกร้องจากหลายฝ่ายที่ต้องการเห็นบรรยากาศก่อนการลงประชามติที่ทุกฝ่ายสามารถจะแสดงความคิดเห็นได้อย่างกว้างขวาง ภายใต้บรรยากาศที่สร้างสรรค์นะครับ ไม่ใช่อะไรก็ดีหรือไม่ดีไปซะทั้งหมด ซึ่งมันต้องเป็นบรรยากาศที่สอดคล้องกับความเป็นจริงและอยู่บนบรรยากาศที่สร้างสรรค์ ต้องการให้ประชามตินั้นเกิดขึ้นบนการได้รับข้อมูลที่รอบด้านของประชาชน แล้วก็ประชาชนสามารถใช้ดุลพินิจได้อย่างเสรีในการตัดสินใจ ผมเห็นว่าหลายฝ่ายอยากเห็นบรรยากาศนี้

มาตรา 61(2) ของ พ.ร.บ.ประชามติ ถ้าตัดออกจะช่วยส่งเสริมบรรยกาศสร้างสรรค์ที่ว่าได้หรือไม่

จุรินทร์: ผมไม่ไปให้ความเห็นชี้นำศาลรัฐธรรมนูญนะครับ เพราะว่าขณะนี้ก็อยู่ในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ คงต้องรอผลการพิจารณาว่าเป็นอย่างไร เป็นอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร เพราะฉะนั้นถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าต้องตัดก็ต้องตัด ผลการวินิจฉัยคงออกมาชัดเจน ไม่ตัดคือไม่ตัด ตัดก็ต้องบอกว่าเฉพาะถ้อยคำ หรือตัดทั้งมาตรา หรืออย่างไรก็ต้องรอฟัง

ทางพรรคประชาธิปัตย์อาจจะเคลื่อนไหวอะไรไม่ได้มาก แต่เข้าใจว่าคงมีการพูดคุย ฟังเสียงประชาชนในพื้นที่บ้าง เท่าที่มีการพูดคุยกับฐานเสียง เขามีความคิดเห็นอย่างไรกับประชามติและรัฐธรรมนูญ

จุรินทร์: เท่าที่ฟังรวมๆ จนถึงนาทีนี้ ประกอบกับผลสำรวจที่ออกมา มันอาจจะตรงหรือไม่ตรงก็สุดแล้วแต่ ก็ดูว่าน้ำหนักจะค่อนไปในทิศทางที่โอกาสผ่าน มีสูง เพราะว่าเท่าที่ดูการสำรวจ โพลมันก็ออกมาว่าโอกาสผ่านมันมีมากเหมือนกันนะครับ แล้วก็เหตุผลประการหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าประชาชนจำนวนไม่น้อยก็อยากให้มีการเลือกตั้ง

เข้าใจว่าบางพรรคการเมืองก็อยากให้มีการเลือกตั้งเหมือนกัน

จุรินทร์:  ส่วนพรรคการเมือง ผมไม่ได้ตอบแทนเขา ผมตอบว่าเท่าที่ติดตามความเห็นประชาชนรวมๆ จำนวนไม่น้อย อยากให้มีการเลือกตั้ง แต่ถ้าจะมีการเลือกตั้งได้ รัฐธรรมนูญต้องผ่านก่อน หมายความว่าจะต้องมีกฏเกณฑ์กติกา ถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญก็เลือกตั้งไม่ได้ ก็เลยอาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ผลการสำรวจที่ออกมารู้สึกว่าเสียงส่วนใหญ่จะลงประชามติให้รัฐธรรมนูญผ่าน แต่สุดท้ายจะเป็นอย่างไรก็ตอบไม่ได้ เพราะขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

มีการวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองภายหลังการลงประชามติอย่างไรบ้าง มี Scenario ใดบ้างที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

จุรินทร์: ถ้าหากรัฐธรรมนูญผ่านแล้วก็มีการเลือกตั้งไปตามนั้น ก็จะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ การโหวตเลือกนายกฯ วุฒิสมาชิก ถ้าคำถามพ่วงผ่านด้วยนะครับ หมายความว่าวุฒิสภา 250 คนก็สามารถไปโหวตนายกรัฐมนตรีได้ร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร แต่ว่าผมยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่ารัฐบาลชุดต่อไป องค์ประกอบจะประกอบด้วยอะไร อย่างไรบ้าง แต่ที่ตอบได้เลยคือวุฒิสมาชิกจะมีบทบาทสำคัญเสมือนพรรคการเมืองใหญ่พรรคหนึ่งที่ชี้ได้ว่าใครจะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะว่าก็เข้าไปโหวตเลือกนายกได้ ไม่ได้มีเฉพาะผู้แทนราษฏรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเท่านั้น

แล้วแบบนี้จะเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบได้เหมือนในอดีตหรือไม่?

จุรินทร์: ผมไม่อยากตั้งชื่อแล้วล่ะครับ เอาเป็นว่าก็ถ้ารัฐธรรมนูญผ่าน มันก็จะเป็นแบบนี้ ไม่ใช่เฉพาะผู้แทนราษฎรอย่างเดียวที่จะมีสิทธิ์ที่จะเลือกตัวนายกรัฐมนตรี แล้วนายกรัฐมนตรีก็สามารถมาจากคนนอกได้ด้วย ภายใต้เงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ

สมมติถ้ามีการเลือกตั้ง มีรัฐบาลขึ้นมา ด้วยสภาพกฏกติกาแบบนี้หมายความว่าพรรครัฐบาลไม่น่าจะมีเสถียรภาพ เพราะว่าเข้าใจได้ว่ามันถูกกดดันด้วยอำนาจอื่น

จุรินทร์: อาจจะมีจนล้นหรือไม่มี มันก็เป็นไปได้ทั้งสองทางนะครับ มันขึ้นอยู่กับเสียง ถ้าภายหลังตั้งรัฐบาล มันก็อยู่ที่ว่าเสียงวุฒิฯ สามารถจะตั้งนายกได้เท่านั้น แต่หลังจากตั้งเสร็จก็ต้องถอยออกมาทำหน้าที่เป็นสภากลั่นกรองกฏหมายกับการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ว่าถัดจากนั้นไปเสถียรภาพของรัฐบาลด้านหลักก็จะอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร ขึ้นอยู่กับว่าเสียงข้างมากของรัฐบาลในสภาผู้แทนราษฎรเบ็ดเสร็จเด็ดขาดหรือเป็นเสียงปริ่มน้ำ ก็ขึ้นอยู่กับตรงนั้นด้วย หลังจากตั้งนายก ตั้งรัฐบาลแล้ว

"เท่าที่ฟังรวมๆ จนถึงนาทีนี้ ประกอบกับผลสำรวจที่ออกมา มันอาจจะตรงหรือไม่ตรงก็สุดแล้วแต่ ก็ดูว่าน้ำหนักจะค่อนไปในทิศทางที่โอกาสผ่าน มีสูง เพราะว่าเท่าที่ดูการสำรวจ โพลมันก็ออกมาว่าโอกาสผ่านมันมีมากเหมือนกันนะครับ แล้วก็เหตุผลประการหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าประชาชนจำนวนไม่น้อยก็อยากให้มีการเลือกตั้ง" จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

แต่กฏกติกาของการเลือกตั้งก็ดูเหมือนว่าจะไม่เอื้อให้เกิดพรรคขนาดใหญ่

จุรินทร์: ผมว่าไปด่วนสรุปไม่น่าจะได้ มันอาจจะเอื้อให้เกิดพรรคขนาดใหญ่ยิ่งใหญ่ขึ้นไปอีกก็ได้ เพราะว่าระบบรูปแบบการเลือกตั้งกำหนดให้ประชาชนลงคะแนนได้ใบเดียว แล้วก็โดยระบบนี้กำหนดว่าคะแนนทุกคะแนนของประชาชนที่เลือกพรรคการเมืองหรือบัตรใบเดียวนี้ เมื่อมารวมกันแล้วพรรคการเมืองไหนได้เท่าไหร่ก็จะไปเทียบสัดส่วนว่าพรรคการเมืองนั้นจะได้ผู้แทนราษฎรทั้งสองแบบรวมกัน คือแบบเขตกับแบบบัญชีรายชื่อเป็นจำนวนเท่าไร จากที่นั่ง 500 ที่นั่ง ซึ่งถ้าพรรคการเมืองไหนชนะ ส.ส. เขตมาก ก็แปลว่าเขาจะได้รับคะแนนเลือกตั้งมาก แล้วคะแนนที่ชนะ ส.ส.เขตแล้ว ซึ่งต้องเป็นคะแนนที่ 1 ของเขตนั้นๆ ก็ยังมานับครั้งที่ 2 เป็นคะแนนรวมของพรรคเพื่อมาคำนวณ ส.ส.รวมของพรรคอีกรอบหนึ่ง เพราะฉะนั้นพรรคนั้นก็จะยังได้คะแนนรวมมากก็อาจทำให้คะแนนจำนวน ส.ส.รวม ทะยานขึ้นไปได้อีก

ที่คาดการณ์ว่าสุดท้ายจะเป็นเบี้ยหัวแตกทั้งหมดอาจจะไม่ใช่ก็ได้ แต่แน่นอนว่าถ้าคิดถึงพรรคเล็กอย่างเดียว ระบบนี้พรรคเล็กก็มีทั้งได้เปรียบเสียเปรียบ ได้เปรียบก็คือทุกคะแนนที่ได้ แม้ว่าเขตนี้ได้ 2,000 เขตนี้ได้ 5,000 เขตนี้ได้ 1,200 เขาก็นับรวมกันให้หมดทั้งประเทศแล้วก็มาคำนวณเป็นจำนวน ส.ส. รวมของพรรคนั้น ก็อาจจะช่วยให้ ส.ส. 2 คน 3 คนได้พอมาคิดจำนวนสัดส่วน แม้เขาจะไม่ชนะในเขตเลือกตั้งใดหรือไม่ได้ผู้แทนในเขตใดก็ตาม แต่จุดอ่อนก็คือด้วยระบบนี้ พรรคการเมืองเล็กคงไม่มีศักยภาพจะส่งได้ทุกเขตทั่วประเทศถึง 350 เขต โอกาสเขาจะได้คะแนนเยอะจากทุกเขตเพื่อมาคำนวณ ส.ส.รวมของทั้งพรรค ก็จะน้อยลงไปด้วย เพราะฉะนั้นมันก็มีจุดได้เปรียบ-เสียเปรียบ จุดดี-จุดด้อยสำหรับพรรคการเมืองขนาดเล็ก

แล้วสำหรับพรรคการเมืองขนาดใหญ่?

จุรินทร์: พรรคการเมืองขนาดใหญ่ ถ้าใหญ่อาจจะใหญ่ทะยานใหญ่ขึ้นไปอีกก็ได้ เพราะว่าคะแนนที่เขาชนะในเขตเลือกตั้งหลายเขตแล้ว ยังมานับซ้ำครั้งที่ 2 เป็นจำนวน ส.ส.รวมอีก อันนี้ก็ฟังไว้แค่นั้น เพราะมันอาจจะใช่หรือไม่ใช่ก็ได้ มันก็เป็นเรื่องคาดเดาได้ทั้งนั้น

ตอนนี้ถ้าเป็นไปได้ทางพรรคประชาธิปัตย์คงอยากให้ คสช. เปิดช่องให้พรรคการเมืองได้มีการประชุมพรรคอะไรกันได้ เพื่อที่จะ

จุรินทร์: สำหรับผม ผมไม่เรียกร้อง เพราะเคยเห็นคนในพรรคก็ไปเรียกร้องหลายรอบ ก็ไม่มีปฏิกิริยาตอบกลับในทิศทางที่จะเปิดโอกาสให้มีการประชุมได้ ส่วนตัวผมก็เลยไม่คิดจะไปเรียกร้อง เพราะว่าเรียกร้องไปก็ยังไม่เห็นผลว่าเปิดโอกาสให้ทำกิจกรรมได้ แต่ผมเชื่อว่าสุดท้าย มันก็คงหนีไม่พ้นครับ เมื่อจะถึงเวลาที่จะไปสู่การเลือกตั้งจริงๆ ผมก็คิดว่าก็ต้องเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองได้มีเวลาในการทำกิจกรรมและเตรียมตัวตามสมควร ไม่เช่นนั้นกระบวนการเลือกตั้งก็จะโกลาหลเหมือนกัน เพราะว่าพรรคมีเวลาเตรียมตัวสั้นมากเพื่อลงสู่สนามเลือกตั้ง จะทำให้เกิดความยุ่งยากกับแม้แต่พรรคการเมืองเอง แล้วก็มันอาจจะส่งผลกระทบทำให้การเลือกตั้งมันกลายเป็นการสร้างสถานการณ์การเลือกตั้งที่ฉุกละหุกโดยไม่จำเป็น

คุณมองบทบาทการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตอนนี้เป็นอย่างไร

จุรินทร์: ผมว่าภารกิจหลักของ กกต. จะต้องจัดการลงประชามติและจัดการเลือกตั้งให้เกิดความบริสุทธิ์ ยุติธรรม อันนั้นคือภารกิจหลัก และก็ในภาวะทั่วไปจะต้องสร้างเสริมองค์ความรู้ให้สาธารณะในเรื่องของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย รวมไปถึงการเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น ที่ผ่านมาดูเหมือนข้อหลัง กกต. ยังไม่ค่อยได้ทำ หรือจะเรียกว่าทำน้อยมากก็ได้ ทั้งที่ความจริงผมคิดว่าเป็นภารกิจหนึ่งที่ควรจะต้องทำ แล้วในอนาคตก็อยากเรียกร้องให้ทำ ให้มีความจริงจังต่อเนื่อง ส่วนการอำนวยความยุติธรรมในเรื่องการเลือกตั้ง ในการลงประชามตินั้นก็เป็นภารกิจหลักอยู่แล้ว

ครู ก ครู ข ครู ค เป็นกระบอกเสียงของกรรมการร่างมากกว่าที่จะให้ข้อมูลทั้งสองด้านหรือเปล่า

จุรินทร์: ตรงนี้ก็คือสิ่งที่หลายฝ่ายออกมาพยายามเรียกร้อง การให้ข้อมูลควรจะเป็นการให้ข้อมูลที่รอบด้าน ครู ก ครู ข ครู ค ผมก็ไม่ไปปฏิเสธ เป็นการให้ข้อมูลด้านหนึ่ง แต่ถือว่าเข้าหลักรอบด้านหรือยัง ก็ต้องยอมรับความจริงว่ายัง คำว่ารอบด้านแปลว่าต้องทุกด้าน ครบถ้วนทั้งหมด ถ้าด้านใดด้านหนึ่งมันก็ไม่เรียกว่ารอบด้าน

คุณคิดอย่างไรกับการตั้งศูนย์ปราบโกงหรือการขอให้มีต่างประเทศเข้ามาสังเกตการณ์

จุรินทร์: ผมคิดว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมันทำให้ นปช. (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) กับรัฐบาล คสช. กลายเป็นคู่ขัดแย้ง อันนี้เป็นตัวดัชนีอีกตัวหนึ่ง ผลมันจะเป็นอย่างไรผมไม่สามารถตอบล่วงหน้าได้นะครับ (หยุดนิ่งไปสักพัก) ผมไม่ตอบว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ตอบแค่ว่าปรากฏการณ์ที่ออกมา มันทำให้กลายเป็นคู่ขัดแย้งกันชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งศูนย์ปราบโกงก็ทราบอยู่แล้วว่าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มบุคคลที่มาจากไหนอย่างไร ก็เขาประกาศตัวชัดเจนว่าเป็น นปช. ถูกไหม มันก็มีความชัดเจนในตัวอยู่แล้ว

ทางพรรคประชาธิปัตย์มีแนวคิดที่จะสร้างหรือจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจใดๆ เพื่อติดตามการลงประชามติให้มีความบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือเปล่า

จุรินทร์: ความจริงคนของพรรคก็ได้ออกมาให้ความเห็นและก็เรียกร้องอยู่เป็นระยะนะครับ ว่าการอยากเห็นการทำประชามติที่มีการเปิดกว้าง ให้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างรอบด้าน กว้างขวาง เพื่อเป็นข้อมูลให้ประชาชนใช้ประกอบในการตัดสินใจอย่างเสรี ถัดจากนี้ไปก็เป็นหน้าที่ของคนที่มีหน้าที่ว่าจะพยายามอำนวยบรรยากาศเหล่านี้ให้เกิดขึ้นหรือไม่ แค่ไหน อย่างไร ซึ่งอาจจะประกอบไปด้วย คสช.เอง แล้วก็ กกต. และก็แม้แต่ กรธ. (คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ) เอง หรือว่า สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) หรือกลไลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะมันมีเรื่องคำถามพ่วง มีเรื่องรัฐธรรมนูญต้นร่างของคุณมีชัย ฤชุพันธุ์ มันประกอบกันขึ้นมา เราก็ทำอยู่ เราก็เรียกร้องในสิ่งเหล่านี้

แต่จะไม่มีวอร์รูมอะไรขึ้นมาเกาะติดเฉพาะกิจ

จุรินทร์: มันไม่อยู่ในฐานะจะไปตั้งได้ครับ

มีประเด็นหรือแนวโน้มอะไรที่ทางคุณหรือพรรคประชาธิปัตย์ค่อนข้างเป็นห่วงกับอนาคตการเมืองหลังผ่านการลงประชามติ

จุรินทร์: ผมบอกว่าเป็นห่วง บอกตรงๆ ว่าเป็นห่วงเรื่องการปฏิรูปประเทศ เพราะดูเหมือนจะยังมีความคืบหน้าในทางปฏิบัติจริงไม่มากเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผมคิดว่ารัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม เพราะฉะนั้นเรื่องที่คิดว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะทำได้ยากกว่า รัฐบาลนี้ควรจะได้เริ่มต้น แล้วก็ดำเนินการ พูดง่ายๆ เช่น ปฏิรูปตำรวจ ผมคิดว่ารัฐบาลนี้ที่มีอำนาจเต็มน่าจะมีเครื่องไม้เครื่องมือหรือพลัง อำนาจ แล้วก็อื่นๆ ที่สามารถจะนับหนึ่ง แล้วเดินหน้าไปได้รวดเร็วมากกว่ารัฐบาลในภาวะปกติ

แต่ทาง คสช. ก็มีเรื่องวางแผนไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น ยุทธศาสตร์ 20 ปี หรือ ส.ว.สรรหาที่จะคอยมากำกับดูแล

จุรินทร์: ผมว่านั่นเป็นการตั้งกติกาการปฏิรูป ไม่ใช่การนับหนึ่งของการปฏิรูปที่เดินหน้าในเรื่องของการปฏิบัติจริง ที่ผมพูดคือการปฏิรูปจริง ปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เพราะเวลามันเดินไปเรื่อยๆ นะครับ อันนี้มันก็จะเป็นประโยชน์ถ้ารัฐบาลนี้สามารถทำได้

ถ้าต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีก?

จุรินทร์: นายกพูดย้ำหลายรอบนะครับว่าการเลือกตั้งไม่เลื่อน จะผ่านประชามติหรือไม่ผ่านก็ไม่เลื่อน เลือกตั้งตามโร้ดแม็ป เราก็ต้องเชื่อไปตามนั้นก่อน เพราะว่า คสช. คือผู้มีอำนาจตัวจริงในสถานการณ์ปัจจุบัน ผมถึงยังไม่คิดจะไปสงสัยอะไร

ถ้าทหารจะอยู่ยาว?

จุรินทร์: นายกฯ ที่เป็นหัวหน้า คสช. ยังยืนว่าอยู่ตามโร้ดแม็ป ถ้าจะอยู่ยาวอาจจะอยู่ได้ 2 ทาง เช่น ตอนโหวตเลือกนายกฯ มีการเปิดโอกาสให้นายกฯ มาจากคนนอกได้ วุฒิสมาชิกมีมติเลือกนายกฯ ได้ ซึ่งก็เสมือนวุฒิสภาเป็นพรรคการเมืองพรรคหนึ่งที่นั่งรออยู่แล้ว 250 เสียง ที่เหลือ 500 แต่ละพรรคก็ต้องไปแข่งกัน ถ้าจะตอบคำถาม นี่อาจเป็นช่องทางอยู่ของนายกฯ 1 คน หรือว่าเข้ามาในคณะรัฐมนตรี อันนี้ก็มีความเป็นไปได้ตามรัฐธรรมนูญใหม่ ถ้าผ่านประชามติ อันนี้วิเคราะห์ให้ฟัง ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นนะครับ สองคือไปเป็นวุฒิสมาชิกตามรัฐธรรมนูญ เพราะวุฒิสมาชิกที่มาจากการสรรหา แล้ว คสช. เป็นคนแต่งตั้ง ก็ชี้เอามาจากที่สรรหามา นี่ก็เป็นวิธีที่สองที่ทำให้อยู่ได้ และก็เขาให้อยู่ถึง 5 ปีด้วย

สมมติว่าการเลือกครั้งหน้า พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนเสียงข้างมากสามารถฟอร์มรัฐบาลได้ คิดว่ากฏกติกาต่างๆ จะเป็นข้อจำกัดในการดำเนินการนโยบายหรือไม่

จุรินทร์: กรอบยุทธศาสตร์ชาติเหล่านี้ก็เป็นกรอบที่กำหนดทิศทางของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นใคร ถ้ารัฐธรรมนูญนี้บังคับใช้ก็ต้องเป็นไปตามนั้น แต่ผมเห็นอยู่อันหนึ่งที่คิดว่าพูดก็คงไม่เป็นไร เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันก็คือผมคิดว่ารัฐบาลถัดไปจะมีข้อจำกัดอยู่อีกเรื่องหนึ่ง เรื่องของการที่จะเอากฏหมายมาใช้เป็นกลไลในการบริหารราชการแผ่นดินและแก้ปัญหาของประเทศ เพราะในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้ขั้นตอนการออกกฏหมายมีขั้นตอนมากมายกว่ารัฐธรรมนูญที่ผ่านๆ มา เช่น จะต้องไปทำประชาพิจารณ์หรือต้องเอาผู้เกี่ยวข้องมาให้ความเห็นกฏหมายถึงจะผ่าน เหล่านี้เป็นต้น อันนี้จะทำให้รัฐบาลชุดต่อไปภายใต้รัฐธรรมนูญนี้จะค่อนข้างมีข้อจำกัด อาจมีคนอาจจะเอาไปเทียบกับยุคปัจจุบันว่าเดี๋ยวนี้มีมาตรา 44 สั่งปุ๊บเป็นกฏหมายปั๊บ แต่รัฐบาลหน้าที่มาจากการเลือกตั้ง ทำไมกว่าจะออกกฎหมายได้แต่ละมาตรา แต่ละฉบับ ต้องผ่านกระบวนการหนึ่งสองสามสี่ ทำให้การแก้ปัญหาล่าช้าไม่ทันการณ์

 

อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย

ตอนนี้เพื่อไทยประเมินแล้วใช่ไหมว่าการทำประชามติจะเกิดขึ้นแน่นอน

อนุดิษฐ์: ณ ขณะนี้นะครับ ประเมินโดยสถานการณ์ซึ่งรัฐบาลมีอำนาจเต็มและอำนาจของพี่น้องประชาชนยังถูกจำกัดอยู่ โอกาสในการทำประชามติจะเกิดขึ้นหรือไม่อย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจในปัจจุบัน ถ้าผู้มีอำนาจในปัจจุบันมีความประสงค์อยากให้เกิด ประชามติต้องเกิดขึ้น และถ้าผู้มีอำนาจมีความประสงค์ไม่อยากให้มันเกิดขึ้น มันก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะบริบทของอำนาจมันไม่ได้เป็นอำนาจอธิปไตยซึ่งอยู่กับพี่น้องประชาชนภายใต้ระบบการปกครองในแบบประชาธิปไตยปกติ ชัดเจน ณ ขนาดนี้มันเป็นระบอบซึ่งทุกๆ คนก็เข้าใจได้ว่าอำนาจมันรวมศูนย์อยู่ เพราะมีอำนาจทุกอย่างอยู่ในมือ ในการที่จะทำให้เกิดและทำให้ไม่เกิด 

แม้ว่าจะไม่สามารถประชุมพรรคแล้วมีมติได้ แต่พรรคเพื่อไทยยืนยันแล้วว่าจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้?

อนุดิษฐ์: ไม่รับ ชัดเจน

มีการชี้แจง เคลื่อนไหวกับทางฐานเสียงของตนเกี่ยวกับเรื่องการร่างประชามติอย่างไรบ้างหรือไม่

อนุดิษฐ์: คำสั่ง คสช. จากกฎหมายประชามติเป็นข้อจำกัดที่จะทำให้การออกไปรณรงค์หรือว่าการทำความเข้าใจเรื่องข้อไม่ดีของรัฐธรรมนูญกระทำได้ยากหรือกระทำไม่ได้ แต่ในการแสดงออกซึ่งทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ได้ยืนยันชัดเจนว่า การแสดงความเห็นโดยเป็นการแสดงความเห็นส่วนตัวว่ารับหรือไม่รับ รัฐธรรมนูญซึ่งไม่ขัดต่อกฎหมายประชามติสามารถกระทำได้ ก็ต้องบอกว่าพรรคเพื่อไทยเราแสดงจุดยืนในการไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาตั้งแต่ก่อนมีกฎหมายประชามติเป็นห้วงๆ ตามระยะเวลาอันเหมาะสม ตามความชัดเจนของเนื้อหา ซึ่งก็ปรากฏผ่านมาทางสาธารณะมาเป็นลำดับ เป็นขั้นเป็นตอนมาก จนกระทั่งมีกฎหมายประชามติออกมา ซึ่งหลังจากมีกฎหมายประชามติการแสดงความเห็นของพรรคการเมืองก็อาจจะทำให้ผู้รับผิดชอบหรือผู้ควบคุมกฎหมายใช้เป็นเหตุผลในการที่จะดำเนินการใดๆ กับพรรคในข้อหาที่อาจเข้าข่าย หรือกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับประชามติ แต่การแสดงความเห็นโดยส่วนตัว โดยสุจริต และไม่ขัดต่อกฎหมาย ก็ยังดำเนินการได้ ซึ่งทางสมาชิกของพรรคแต่ละท่านก็แสดงความเห็นเป็นส่วนตัวกันออกมา ก็มีเขาโพสต์ๆ กัน

โดยปกติพรรคการเมืองก็คงจะมีการติดตาม หยั่งเสียงฐานเสียงของตนเองในแต่ละพื้นที่ ฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยจากการพูดคุยกับชาวบ้านทั่วไปหรือหัวคะแนน เขารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

อนุดิษฐ์: อาจจะเป็นคำถามที่ให้คำตอบได้ลำบากและอาจไปเกี่ยวกับความเห็นของคนอื่น ซึ่งถ้าเรานำเอาความเห็นของคนอื่นมาชี้แจงอาจมีคนที่เห็นว่าไม่ใช่เป็นความเห็นส่วนตัวก็จะไปเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ. ประชามติ ดังนั้น ผมคงเว้นไม่พูดถึงความเห็นของคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับร่างรัฐธรรมนูญ

แต่ผมจะขอตอบคำถามตามข้อมูลข้อเท็จจริงในพื้นที่อื่นๆ มิติอื่นๆ ซึ่งอาจจะเชื่อมโยงไปสู่การวิเคราะห์ได้ว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นทำให้พี่น้องประชาชนส่วนใหญ่คิดเห็นกับรัฐธรรมนูญและก็มีความเห็นจะรับหรือไม่รับกับรัฐธรรมนูญนี้อย่างไร

ประเด็นที่หนึ่ง สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด ณ ปัจจุบัน หลังจากการเข้ามาบริหารประเทศของ คสช. 2 ปีคือเรื่องเศรษฐกิจ ตัวเลขของทางราชการที่ปรากฏออกมาเป็นระยะๆ จะเห็นว่า เศรษฐกิจของประเทศมีการเจริญเติบโตที่ลดลง ราคาพืชผลการเกษตรก็ดูเหมือนจะตกต่ำในทุกๆ ตัว ข้าว มัน ยางพารา ภาคการผลิตก็สะท้อนชัดเจนจากภาคการส่งออกที่มีมูลค่าลดลง ซึ่งก็สอดคล้องกับภาคของผู้ใช้แรงงาน เมื่อผลิตน้อยลง ส่งออกน้อยลง ภาคผู้ใช้แรงงานก็หดตัวไปด้วย ผู้ที่รับผลกระทบจากการตกต่ำทางเศรษฐกิจ โดยส่วนใหญ่เป็นพี่น้องชนชั้นกลางลงล่าง ดังนั้น จากสิ่งซึ่งเขาสัมผัสอยู่ ผมก็ค่อนข้างเชื่อมั่นว่ามันจะเป็นข้อมูลสำคัญที่เขาจะใช้สำหรับการตัดสินใจว่าเขาจะรับหรือไม่รับ เพราะว่าเนื้อหาในรัฐธรรมนูญก็ค่อนข้างชัดเจนว่าถ้าเรารับรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้วก็ใช้เป็นกติกาในการขับเคลื่อนประเทศ ก็เชื่อว่าพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังจะเห็นภาพ คสช. ที่จะต้องสืบทอดและคงอำนาจบางส่วนในประเทศต่อไป ฉะนั้น ตรงนี้มันน่าจะเป็นข้อมูลสำคัญอันหนึ่งซึ่งพี่น้องประชาชนจะใช้ประกอบวิจารณญาณในการตัดสินด้วยตัวของเขาเองว่า เขาจะรับหรือไม่รับอย่างไร

นอกเหนือจากเรื่องของเศรษฐกิจ มันน่าจะเข้าเกี่ยวข้องกับเรื่องของสิทธิพื้นฐานของพี่น้องประชาชน ซึ่งแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนต้นคือ ขออนุญาตใช้คำว่าในการเปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชนไปมีส่วนร่วมกับการกำหนดกติกาของประเทศด้วยตัวแทนของเขาหรือด้วยตัวของเขาเอง ตรงนี้มันค่อนข้างชัดเจนว่าพี่น้องประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมกับการออกแบบ กับการเขียนกฎหมาย เขียนกติกาสำคัญ ตรงนี้ก็เป็นอีกข้อมูลหนึ่งว่าเขาจะรับหรือไม่รับ

อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของสิทธิของพี่น้องประชาชนคนไทยที่ได้มาและเสียไป ซึ่งถูกกำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาสนา สิทธิการรักษาพยาบาล การศึกษา การกระจายอำนาจสู่การปกครองในท้องถิ่น ทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะเป็นข้อมูลสำคัญที่จะทำให้พี่น้องประชาชนใช้ตัดสินใจรับหรือไม่รับ ซึ่งผมคิดว่าผมน่าจะแสดงความเห็นได้ว่า ถ้าเขาคิดว่าสิทธิในเรื่องต่างๆ ของเขาดีขึ้น ได้ประโยชน์มากขึ้น เขาก็น่าจะตัดสินใจง่ายว่าจะรับ แต่ถ้าส่วนเหล่านี้มันหดหายไป ถูกตัดทิ้งไป ถูกละเลย หรือแม้แต่ไม่ได้ถูกเขียนเอาไว้ เขาก็อาจจะใช้ข้อมูลข้อเท็จจริงเหล่านี้ในการที่จะไม่รับ

ก่อนหน้านี้นักการเมืองบางคนแสดงความเห็นว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดการเลือกตั้ง ให้ระบบปกติมันเดิน ในฐานะนักการเมืองคุณไม่ต้องการให้เกิดการเลือกตั้งเหรอ?

อนุดิษฐ์: ผมก็เรียนตามตรง เป็นความเห็นส่วนตัวของผม ถ้ากระบวนการในการร่างกติกาของประเทศเป็นประชาธิปไตย ผมยืนยันเลยครับ ผมเชื่อว่านักการเมืองทุกคนอยากเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตย มากกว่าที่จะอยู่ในสภาพที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแน่นอน แต่ถ้าให้มายอมรับกติกาซึ่งอ้างว่าเป็นประชาธิปไตย แต่มันไม่เป็นประชาธิปไตย ผมเลือกที่จะไม่รับรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและรอจนกว่าเราจะได้กติกาที่เป็นประชาธิปไตย ดีกว่าไปรับกติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยที่ออกแบบมาให้แก้ไขได้ยากหรืออาจจะใช้คำว่าเป็นไปไม่ได้เลยด้วยซ้ำไปที่จะไปแก้ไขภายหลัง แล้วก็ต้องทนอยู่กับสิ่งที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย แล้วเรามาหลอกตัวเองว่าเราได้กลับเข้าไปสู่กระบวนการการเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงพิธีกรรมที่ถูกสร้างขึ้น เพื่อให้ดูคล้ายว่าเป็นประชาธิปไตย อย่างนี้เราเลือกที่จะไม่รับดีกว่า

"ถ้าดูจากข้อเท็จจริงจากการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผมเชื่อว่าทหารมีความประสงค์ในการสืบทอดอำนาจผ่านตัวแทนของเขาในรูปแบบต่างๆ ซึ่งถูกเขียน ถูกกำหนดไว้ ภายใต้รัฐธรรมนูญ... หมายถึงอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดทั้งหมดนี้ กลับไม่ได้มาอยู่ที่สภาที่มาจากการเลือกตั้งของพี่น้องประชาชน แต่อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและเป็นอำนาจที่จะสามารถ Overrule อำนาจประชาชน" อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

เพื่อไทยวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองหลังจากนี้อย่างไร

อนุดิษฐ์: เป็นความเห็นส่วนตัวของผม ในชั้นต้นเอาผ่านก่อน ถ้าพี่น้องประชาชนยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้สิ่งที่จะเกิดขึ้นภายหลังจากการผ่านของร่างรัฐธรรมนูญคือการเลือกตั้ง ซึ่งจะมีขึ้นในปลายปี 60 มันคงมีเรื่องราวที่น่าติดตามอีกมากมายทีเดียว เพราะจะเกิดกระบวนการการควบคุมพรรคการเมืองกันตั้งแต่การรณรงค์หาเสียง การกำหนดการชี้แจงนโยบายกับพี่น้องประชาชน มันคงเป็นภาพใหม่ที่จะมีรูปร่างหน้าตาแบบไหนอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับกลุ่มบุคคลที่จะออกกฎหมายลูก เมื่อเราเอารัฐธรรมนูญฉบับซึ่งผมว่ามีปัญหาและไม่เป็นประชาธิปไตยฉบับนี้ ความขัดแย้งซึ่งถือเป็นหัวใจ เป็นเหตุผลสำคัญที่ คสช. เข้ามายึดอำนาจ เพราะบอกว่าประเทศนี้ไม่ปรองดอง มีความขัดแย้งสูง ขณะเดียวกันกับที่รัฐธรรมนูญที่กำลังจะถูกบังคับใช้ ถ้าผ่าน ตัวนี้แหละจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งอย่างมาก เริ่มกันตั้งแต่ก่อนลงคะแนน ตั้งแต่การรณรงค์การเลือกตั้งเลย พรรคนี้ทำไมรณรงค์นโยบายนี้ได้ พรรคนี้ทำไมโดนจำกัดไม่ให้รณรงค์นโยบายนี้ เป็นนโยบายที่ดี แต่ไม่ถูกประกาศใช้เพราะอาจเข้าข่ายเป็นนโยบายที่เรียกว่าประชานิยม ไม่อยากนึกภาพครับ แต่ผมว่าความวุ่นวายไม่ได้หายไป

กับอีกหนึ่ง Scenario ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่าน จะเป็นไปได้หรือไม่ว่านอกจากพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังไม่ใช่ประชาธิปไตยหรือโดยเหตุผลใดก็แล้วแต่ แต่มันจะสะท้อนภาพให้เห็นมากกว่าการออกไปใช้สิทธิไม่รับรัฐธรรมนูญ มันอาจหมายถึงการที่เขาไม่รับคนที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วยหรือเปล่า อันนี้น่าสนใจ เพราะถ้าเกิดเขาไม่รับ ไม่ใช่เฉพาะเพียงแต่เนื้อหา แต่เนื่องจากต้นกำเนิดของมัน มันก็อาจจะสะท้อนภาพของการไม่ยอมรับในอำนาจของ คสช. ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นทาง คสช. ก็อาจต้องวิเคราะห์แล้วประเมินทั้งหมดที่เกิดขึ้นเพื่อกำหนดบทบาทและโร้ดแมพในการคืนอำนาจให้พี่น้องประชาชน ถ้าตรงไปตรงมาอาจจะต้องคืนอำนาจให้กับประชาชนเร็วขึ้นด้วยซ้ำไป เพราะการที่พี่น้องประชาชนออกมาไม่รับรัฐธรรมนูญ ตัว คสช. เองจะมีปัญหาในเรื่องความชอบธรรมในการบริหารอำนาจต่อไปเช่นเดียวกัน

มันจะเกิดคำถามว่าแล้วจะเอารัฐธรรมนูญฉบับไหนมาใช้

อนุดิษฐ์: ผมคิดว่าเป็นอำนาจที่ทาง คสช. จะไปเลือกเอาฉบับไหนมาใช้ก็ได้ รวมไปถึงถ้าเขาคิดว่าเขาจะหยิบเอาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ไม่ผ่านมาประกาศใช้ก็ยังทำได้ อันนี้พูดถึงอำนาจที่เขามี แต่ถ้าคิดว่ากระบวนการประชาธิปไตยยังมีอยู่จริง แล้วมันได้เกิดขึ้นบ้างในห้วงที่ คสช. เข้ามาบริหารอำนาจ ทั้งร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ไม่ผ่าน สนช. ของเขา รวมถึงฉบับที่ไม่ผ่านประชามติของพี่น้องประชาชน อะไรก็แล้วแต่ ซึ่งถูกวิพากษ์ถูกวิจารณ์อย่างชัดเจนว่าไม่เป็นประชาธิปไตยหรือว่าตัดสิทธิขึ้นพื้นฐานของพี่น้องประชาชน จนทำให้มันเกิดผลตามที่มันเกิดขึ้นทั้งสองครั้ง สิ่งเหล่านี้ไม่ควรมีในรัฐธรรมนูญที่จะเอามาประกาศใช้

ด้วยบรรยากาศและ พ.ร.บ.ประชามติ ไม่ว่าผลจะออกมาหน้าไหน ก็อาจเกิดความไม่มั่นใจเรื่องความโปร่งใสได้

อนุดิษฐ์: สำคัญครับ อย่างที่ผมบอก การทำประชามติวัตถุประสงค์สำคัญคือการต้องเปิดให้คนที่มีสิทธิหรือพี่น้องประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วม ดังนั้น การไปจำกัดสิทธิเขาเสียตั้งแต่เริ่มต้นก็จะทำให้เกิดข้อจำกัดหลายๆ เรื่อง อาจรวมไปถึงอาจจะหมายรวมไปถึงเรื่องการบริหารจัดการ ซึ่งอาจถูกตั้งคำถามว่าโปร่งใสหรือเปล่า แล้วมันก็จะเป็นปัญหา ผมถึงฟันธงว่ามันมีข้อขัดแย้งกันตั้งแต่ต้นแล้ว คือต้องการให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิลงประชามติ แต่ไปจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของเขา

แพ็จเกจประชารัฐ สว.สรรหา และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สามเรื่องนี้คาดว่าจะมีผลอย่างไรต่อการทำงานของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคต

อนุดิษฐ์: หลังจากนี้เป็นต้นไปประชาชนไม่ต้องคิด เขาคิดไว้ให้หมดแล้ว คิดไว้ตั้งแต่เรื่องของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แล้วก็ได้สืบทอดอำนาจต่างๆ บนกระบวนคิดของเขา สืบทอดผ่าน สว. ซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเลือกคณะกรรมการในองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมผู้ที่เป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง เราก็ไม่สามารถจะคิด อำนาจของประชาชนไม่สามารถดัดแปลงออกมาเป็นความต้องการที่แท้จริง เพื่อที่จะไปกำหนดอนาคตให้กับตัวเองได้เลย เพราะเขาขีดเส้นไว้ให้หมดแล้ว

ทหารอยากอยู่ยาวหรือเปล่า

อนุดิษฐ์: ความเห็นส่วนตัวนะ ถ้าดูจากข้อเท็จจริงจากการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผมเชื่อว่าทหารมีความประสงค์ในการสืบทอดอำนาจผ่านตัวแทนของเขาในรูปแบบต่างๆ ซึ่งถูกเขียน ถูกกำหนดไว้ ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งนักวิชาการรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์จำนวนมากก็มองเห็นสอดคล้องต้องกันกับสิ่งที่ผมเห็น หมายถึงอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดทั้งหมดนี้ กลับไม่ได้มาอยู่ที่สภาที่มาจากการเลือกตั้งของพี่น้องประชาชน แต่อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและเป็นอำนาจที่จะสามารถ Overrule อำนาจประชาชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net