Skip to main content
sharethis

เพจสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติเผย 21 มิ.ย. เป็นวันครีษมายัน กลางวันยาวนานที่สุดในซีกโลกเหนือ ขณะที่กรมอุทกศาสตร์เผย 22 มิ.ย. กรุงเทพฯ พระอาทิตย์ขึ้น 05.52 น. พระอาทิตย์ตก 18.48 น. ส่วนซีกโลกใต้กลางวันสั้น กลางคืนยาวนาน ออสเตรเลียเริ่มต้นฤดูหนาว ซิดนีย์กลางคืนยาว 14 ชั่วโมง

แฟ้มภาพ พระอาทิตย์ขึ้นที่สโตนเฮนจ์ ประเทศอังกฤษ ในวันครีษมายันเมื่อปี 2548 (ที่มา: Wikipedia)

ในเพจของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เผยว่าเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 เป็นวันครีษมายัน หรือวันที่มีกลางวันยาวนานที่สุดในรอบปีทางซีกโลกเหนือ ถือเป็นวันเริ่มต้นฤดูร้อนของซีกโลกเหนือ โดยดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด จึงมีช่วงเวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบปีเกือบ 13 ชั่วโมง

ในคืนวันที่ 21 มิ.ย. ยังเกิดปรากฏการณ์ Strawberry Moon หรือพระจันทร์เต็มดวงในวันครีษมายัน สำหรับซีกโลกเหนือ โดยก่อนหน้านี้เกิดขึ้นเมื่อ 21 มิ.ย. ค.ศ. 1967 และจะเกิดปรากฏการณ์นี้อีกครั้งในวันที่ 21 มิ.ย. ค.ศ. 2062

ขณะที่ทางซีกโลกใต้ จะเป็นวันที่มีกลางคืนยาวนานที่สุด และเป็นวันเริ่มต้นฤดูหนาวของซีกโลกใต้ โดยที่ประเทศออสเตรเลีย โดย Sydney Morning Herald รายงานว่า ซิดนีย์มีกลางคืนยาวนานถึง 14 ชั่วโมง กลางวันกินเวลา 10 ชั่วโมง

ข้อมูลจากกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ เวลาขึ้นและตกของดวงอาทิตย์ ในวันที่ 22 มิถุนายน ที่กรุงเทพมหานคร ดวงอาทิตย์เวลา 05:52 น. ดวงอาทิตย์ตกเวลา 18:48 น. ภาคใต้ที่ จ.นราธิวาส ดวงอาทิตย์ขึ้นเวลา 06:00 น. ดวงอาทิตย์ตกเวลา 18:30 น. ภาคเหนือที่ จ.เชียงใหม่ ดวงอาทิตย์ขึ้นเวลา 05:48 น. ดวงอาทิตย์ตกเวลา 19:04 น.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ จ.อุบลราชธานี ดวงอาทิตย์ขึ้นเวลา 05:30 น. ดวงอาทิตย์ตกเวลา 18:32 น. ภาคตะวันออกที่ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ดวงอาทิตย์ขึ้นเวลา 05:46 น. ดวงอาทิตย์ตกเวลา 18:35 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net