Skip to main content
sharethis

นักวิจัย ม.อ.ปัตตานี และ ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกบทวิเคราะห์การก่อเหตุช่วงเดือนรอมฎอนในพื้นที่ปี 47-58 ระบุ 12 ข้อสังเกตจากการก่อเหตุช่วงรอมฎอนในรอบ 12 ปี ชี้รอมฎอนสันติภาพ สะท้อนพลังการถ่วงดุลความรุนแรง

 

สุวรา แก้วนุ้ย สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) และพ.ต.ต.สุรจิต เพชรจอม จากศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ร่วมกับเผยแพร่รายงาน 12 ปี รอมฎอนในไฟใต้: การวิเคราะห์การก่อเหตุช่วงเดือนรอมฎอนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างปี 2547 -2558 เพื่อประเมินทิศทางของสถานการณ์ในช่วงเวลาดังกล่าวที่ผ่านมา เพื่อเป็นฐานองค์ความรู้ในการหาแนวทางจัดทำนโยบายการป้องกันเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ช่วงเดือนอันประเสริฐของพี่น้องมุสลิมด้วย

คลิกอ่านบทวิเคราะห์ฉบับเต็มที่ 12 ปี รอมฎอนในไฟใต้: การวิเคราะห์การก่อเหตุช่วงเดือนรอมฎอนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างปี 2547 -2558

12 ข้อสังเกตจากการก่อเหตุช่วงรอมฎอนในรอบ 12 ปี

โดยในบทวิเคราะห์ดังกล่าว ทั้งสองคนได้ให้ข้อสรุปประเด็นและข้อสังเกตจากการก่อเหตุได้ 12 ประเด็น ซึ่งข้อสรุปที่น่าสนใจ เช่น ในช่วงเดือนรอมฎอน ปี 2547 – 2558 มีทั้งหมด 1,853 เหตุการณ์ ส่วนใหญ่มาจากสาเหตุการก่อความไม่สงบ โดยมีรูปแบบการก่อเหตุสูงสุด 3 อันดับแรกได้แก่ 1) การยิง 2) การระเบิด และ 3) การก่อกวน โดย 1 ใน 3 ของการยิงมีสาเหตุมาจากเรื่องส่วนตัว ในขณะที่การระเบิดและการก่อกวนมีสาเหตุมาจากการก่อความไม่สงบ โดยแนวโน้มของการก่อเหตุจะสูงขึ้นในห้วง 10 วันสุดท้าย

ทั้งนี้ ประเด็นน่าสนใจคือช่วงปี 2556 – 2559 พบว่ารูปแบบการก่อเหตุด้วยระเบิดสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา และยังเป็นเหตุมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บสูงสุด แต่สัญญาณเชิงบวกปรากฏชัดขึ้นในปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่มีผู้เสียชีวิตน้อยที่สุด นอกจากนี้ปี 2557 ยังเป็นปีที่มีเหตุการณ์น้อยที่สุดในรอบ 12 ปีที่ผ่านมาด้วย

โดยสรุปสาเหตุของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในห้วงรอมฎอนที่ผ่านมานั้น ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการก่อความไม่สงบ ซึ่งเกี่ยวข้องกับอุดมการณ์และความเชื่อ ดังนั้นทุกฝ่ายควรร่วมกันทำความเข้าใจ เพื่อแก้ปัญหา และหาทางลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่  นอกจากนี้ภาครัฐ ภาคประชาสังคม และประชาชนควรช่วยกันสอดส่องเฝ้าระวังการก่อเหตุในพื้นที่ และควรสร้างพื้นที่แห่งการสื่อสารเชิงบวก เพื่อลดอคติ ความกลัว และ ความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน อันจะนำไปสู่การหนุนเสริมบรรยากาศของสันติภาพ สันติสุขในสังคมต่อไป

รอมฎอนสันติภาพ สะท้อนพลังการถ่วงดุลความรุนแรง

สุวรา ระบุว่า จากการสังเกตข้อมูลการก่อเหตุในช่วงรอมฎอน มีจุดที่น่าสนใจว่าปีที่มีเหตุการณ์สูงสุดได้แก่ ปี 2556 จำนวน 274 เหตุการณ์ และปีที่มีเหตุการณ์น้อยที่สุดได้แก่ ปี 2557 จำนวน 68 เหตุการณ์ จุดที่น่าสนใจที่ทำให้เกิดความแปรปรวนของสถานการณ์ในพื้นที่ในช่วงเวลารอยต่อของปี 2556 และปี 2557 อาจเป็นเพราะการปรากฏตัวขึ้นอย่างเป็นทางการของการพูดคุยสันติภาพ ที่เริ่มต้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556

“กระบวนการพูดคุยสันติภาพที่เกิดขึ้น อาจนำไปสู่การสะท้อนให้เห็นพลังของการถ่วงดุลความรุนแรงของฝ่ายต่างๆ ใน “สนามการต่อสู้” โดยพลังถ่วงดุลหรือต่อต้านนี้ มีทั้งพลังที่ใช้ความรุนแรงเร่งเร้าให้มีการใช้ความรุนแรงโต้ตอบ การแก้แค้น การกดดัน ปราบปราม รวมถึงการแสดงสัญลักษณ์บางอย่าง เพื่อยืนยันและเสริมให้เหตุผลรองรับของฝ่ายตนมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น”  สุวรา กล่าว

สุวรา กล่าวอีกว่า หากมองในมุมของการก่อเหตุในปี 2556 ถึงแม้จะมีจำนวนเหตุการณ์ที่สูงสุดในรอบ 12 ปี แต่กลับพบว่าการก่อเหตุส่วนใหญ่ออกมาในรูปแบบการก่อกวน ได้แก่ การแขวนป้ายผ้า การใช้สีสเปรย์ฉีดพ่นบนผิวถนน ตามแผ่นป้ายบอกพื้นที่เส้นทาง และบนกำแพงราวสะพาน และการใช้ใบปลิว ซึ่งสูงถึงร้อยละ 55.8 เมื่อเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดในช่วงรอมฎอนปี 2556 และรูปแบบของการก่อกวนที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการมุ่งให้เกิดการสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน แต่เพื่อแสดงสัญลักษณ์บางอย่างของการต่อสู้

สุวรา อธิบายว่า นอกจากนี้ระดับของความรุนแรงในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น คงไม่อาจจะวัดประเมินค่าได้จากจำนวนครั้งการก่อเหตุเพียงอย่างเดียว แต่ต้องดูที่ผลกระทบต่อชีวิตของคนในพื้นที่ด้วย เมื่อดูระดับการสูญเสียรวมทั้งการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์เทียบในแต่ละปี พบว่าการสูญเสียในปี 2556 ค่อนข้างมีความคงที่ ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ไม่ได้มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับจำนวนเหตุการณ์ที่ปรากฏ เช่นเดียวกันกับช่วงปี 2557 แม้จำนวนเหตุการณ์จะน้อยที่สุดแต่การสูญเสียที่เกิดขึ้นก็ยังอยู่ในสถานการณ์ที่ค่อนข้างคงที่ แต่สัญญาณที่ดีจากช่วงปี 2557 คือ จำนวนผู้เสียชีวิตลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจนจาก 53 ราย ในปี 2556 เป็น 35 ราย ในปี 2557 และ 33 รายในปี 2558

“การส่งสัญญาณแบบนี้อาจมีความหมายถึงโอกาสในการเดินหน้าของรอมฎอนสันติภาพในพื้นที่นี้ก็เป็นได้ แต่อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายควรร่วมกันทำความเข้าใจ เพื่อแก้ปัญหา และหาทางลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ภาครัฐ ภาคประชาสังคม และประชาชนควรช่วยกันสอดส่องเฝ้าระวังการก่อเหตุในพื้นที่ และควรสร้างพื้นที่แห่งการสื่อสารเชิงบวก เพื่อลดอคติ ความกลัว และ ความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน อันจะนำไปสู่การหนุนเสริมบรรยากาศของสันติภาพ สันติสุขในสังคมต่อไป”  สุวรา กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net