ปมGT200 วิษณุ บอกรู้สึกไม่ดีเรียก 'ค่าโง่' ระบุเป็นค่าซื้อความรู้ แต่แพงไปหน่อย

22 มิ.ย.2559 จากกรณีเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา ศาลประเทศอังกฤษ ตัดสินยึดทรัพย์สินมูลค่ากว่า 7.9 ล้านปอนด์ (ราว 395 ล้านบาท) จาก เจมส์ แมคคอร์มิค ผู้ต้องหาในคดีจำหน่ายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดปลอม เพื่อนำเงินไปจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของแมคคอร์มิคและพรรคพวกซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ดังกล่าว (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) จนก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์พร้อมทั้งแสวงหาผู้รับผิดชอบกรณี GT200 ในประเทศไทยจำนวนมาก

วันนี้ ผู้จัดการออนไลน์และมติชนออนไลน์ รายงานว่า วิษณุ เครืองาม กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มอบหมายให้รับผิดชอบการเรียกเงินเยียวยาจากบริษัทผู้ผลิตเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดปลอม GT200 หลังจากศาลอังกฤษมีคำพิพากษาสั่งให้ยึดทรัพย์ประมาณ 400 ล้านบาท โดยให้นำเงินจำนวนนี้ไปชดเชยแก่ประเทศที่ได้รับความเสียหายจากการซื้อเครื่องมือที่ไม่สามารถใช้งานได้ว่า นายกฯ มอบหมายตนในที่ประชุม ครม.เมื่อวานนี้ (21 มิ.ย.) ให้ไปพิจารณาเรื่องดังกล่าวใน 2 ประเด็น 1. การเรียกร้องค่าเสียหายตามที่ศาลอังกฤษได้ยึดทรัพย์ไว้ เรื่องนี้ถือว่าใหม่สำหรับตน จึงสอบถามข้อมูลไปยังหน่วยงานที่ซื้อเครื่องดังกล่าว 7-8 หน่วยงานรวมถึงจะหารือว่าจะให้หน่วยงานใดเป็นตัวแทนรัฐในการเรียกเงินเยียวยา โดยคาดว่าจะเป็นสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) เพราะมีกฎหมายด้านความร่วมมือระหว่างประเทศอยู่

วิษณุ กล่าวว่า ส่วนประเด็นที่ 2 คือ ดูการรับผิดในส่วนของเรา เมื่อมีการซื้อเครื่องดังกล่าวมาแล้วแต่ประสิทธิภาพไม่ตรงกับที่คิด เราจึงเป็นผู้เสียหายที่สามารถเรียกเงินเยียวยาอย่างที่หลายประเทศได้ทำ ส่วนคำถามที่ว่าการจัดซื้อเป็นความผิดหรือไม่ เพราะมีสื่อมวลชนบางแห่งนำเสนอว่าผู้จัดซื้อมีความผิดด้วย ข้อเท็จจริง คนซื้อจะมีความผิดด้วยต่อเมื่อมีการทุจริต แต่จะมีจริงหรือไม่ ขณะนี้การตรวจสอบอยู่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งความรับผิดในส่วนของเรายังไม่มีอะไรต้องดูในตอนนี้ เพราะเป็นหน้าที่ ป.ป.ช. รัฐจะเข้าไปดูซ้อนไม่ได้ ส่วนที่เรื่องดังกล่าวเกิดความล่าช้านั้น ทาง ป.ป.ช.ชี้แจงว่าเรื่องอยู่ในกระบวนการ ส่วนรายละเอียดตนไม่ควรพูดตรงนี้ แม้ว่าคดีความที่ดำเนินการยังไม่แล้วเสร็จ ก็ไม่เป็นปัญหากับการดำเนินการเรียกเงินเยียวยา ที่สามารถดำเนินการคู่ขนานกันได้ เพราะ ป.ป.ช.ดูเฉพาะคดีอาญา แต่การขอเงินเยียวยาเราจะตั้งรูปคดีเป็นการฉ้อโกง หลอกลวง ผิดสัญญา ซึ่งเป็นเรื่องทางแพ่ง เมื่อสินค้าไม่ตรงตามที่โฆษณา และศาลอังกฤษมีคำพิพากษาเป็นบรรทัดฐาน เราก็จะยึดแนวทางนั้น
       
วิษณุกล่าวว่า ความเสียหายของหน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทยที่ซื้อเครื่องดังกล่าวทั้งหมด รวมกันมีมูลค่าประมาณ 600-800 ล้านบาท มากกว่าทรัพย์สินของบริษัทผู้ผลิตที่ถูกศาลมีคำสั่งยึดราว 400 ล้านบาทเสียอีก นอกจากนั้นยังต้องมีการเฉลี่ยเงินก้อนดังกล่าวให้ประเทศที่ได้รับความเสียหายด้วย
       
ต่อกรณีคำถามถึงจำนวนเงินที่ศาลอังกฤษมีคำสั่งยึดนั้นมูลค่าน้อยกว่าความเสียหายของเรา วิษณุกล่าวว่า “ใครเป็นคนหลอกเรา เราก็ฟ้องคนนั้น หรือใครเป็นต้นเหตุในฝ่ายเราก็ต้องเรียกให้รับผิด ส่วนจะฟ้องศาลเราหรือศาลอังกฤษต้องใช้เวลาตรวจสอบ ต้องดูข้อกฎหมายของความได้เปรียบเสียเปรียบ โดยจะยึดผลประโยชน์ของรัฐเป็นตัวตั้ง เบื้องต้นเราจะดูเฉพาะกรณีนี้ให้มันได้ก่อน อย่าเพิ่งไปถึงสินค้าตัวอื่นที่บริษัทเดียวกันนี้จำหน่าย”

เมื่อถามว่า การดำเนินการเรื่องนี้เกรงว่าจะเจอตอหรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า ไม่เจอ เราต้องเดินหน้าตรวจสอบไป แม้จะเจอก็ไม่ใช่ว่าต้องผิด อย่าเพิ่งไปตั้งหลักแบบนั้น วันนี้ ป.ป.ช.คือคนที่ดูตอใหญ่ที่สุด รัฐไม่สามารถไปตรวจทุจริตได้ ถามว่าเรื่องนี้จะเรียกเป็นค่าโง่ได้หรือไม่นั้น คงต้องแล้วแต่สื่อ แต่มันไม่ดีเพราะทำให้เกิดความรู้สึกว่าอะไรที่ควักเงินซื้อดูจะเรียกเป็นค่าโง่ทั้งหมดได้อย่างไร ถ้าเรียกได้ก็เป็นค่าฉลาด ที่สำคัญถือเป็นค่าซื้อความรู้ แต่แพงไปหน่อย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท