เตือนหมอพลเดช: ระวังจะพาชุมชนไปยังจุดเสี่ยง!

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เมื่อผมได้อ่านบทสัมภาษณ์ของคุณหมอพลเดช ปิ่นประทีป กรณีประชารัฐ ผมตระหนักได้ถึงอันตรายที่แฝงอยู่ในวิธีคิด ซึ่งเป็นความเห็นส่วนตัวของคุณหมอแต่เพราะบทบาทของหมอพลเดช ปิ่นประทีบ ไม่ธรรมดาในขณะที่กำลังจะเข้ามาเป็นเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีบทบาทต่อภาคประชาสังคมทั่วประเทศ และเป็นผู้มีบทบาทอยู่ในประชารัฐและบริษัทประชารัฐสามัคคีที่กำลังเร่งผลักดันในขณะนี้ ผมจึงขอแสดงความเห็นเพื่อให้เห็นอีกมุมหนึ่งซึ่งผมคิดว่ามันอันตรายหากจะร่วมเดินหน้าไปกับประชารัฐ เมื่อได้อ่านบทสัมภาษณ์ที่ปรากฎในประชาไท

ผมขอตั้งข้อสังเกตโดยภาพกว้าง 2 ประการหลัก ดังนี้

ประการแรก หลายคนบอกว่าหมอพลเดชเป็นพี่ใหญ่ในวงการภาคประชาสังคมแต่ผมคิดว่าการมองสังคมและปรากฎการณ์ประชารัฐนั้นตื้นเกินไป ประการที่สองหมอพลเดชเลือกที่จะพูดบางอย่างและเลือกที่จะไม่พูดอีกหลายอย่างในหัวใจของความเป็นประชารัฐและบริษัทประชารัฐสามัคคี

ซึ่งผมคิดว่าทั้งสองประการล้วนแต่แฝงไว้ด้วยความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความเชื่อแบบเอนเอียงซึ่งจะมีผลต่อสังคมโดยเฉพาะฐานราก ที่จะได้รับความกระทบกระเทือนอย่างหนักอีกรอบหนึ่งจากปฏิบัติการครั้งนี้ อันที่จริงหมอพลเดช น่าจะสรุปบทเรียนได้ว่าชุมชนสะเทือนจากวิธีคิดและวิธีปฏิบัติเช่นนี้มาแล้วกี่รอบ เพื่อให้เกิดความเข้าใจผมขอขยายรายละเอียดจากบทสัมภาษณ์เป็นรายประเด็นดังนี้

1.หมอพลเดช ปิ่นประทีป บอกว่าหลักคิดว่าด้วยการจัดตั้งบริษัทประชารัฐสามัคคีนั้นเป็นการระดมทุนมาลงในบริษัทและไม่แสวงหากำไร ไม่มีการปันผล บริษัทที่ตั้งขึ้นเป็นเพียงการเชื่อมระหว่างเศรษฐกิจมหภาคกับเศรษฐกิจฐานรากเพราะมองว่าที่ผ่านมามันขาดสะพานเชื่อม การมาทำงานคราวนี้เป็นเสมือนการทำบุญ และไม่ต้องกังวลว่าบริษัทขนาดใหญ่จะมาแสวงหาผลประโยชน์ เพราะไม่มีการปันผลกำไร บริษัทประชารัฐเพียงเป็นกลไกการให้คำแนะนำ ให้ความรู้ หนุนเทคโนโลยี

ประเด็นนี้โดยหลักคิดแล้ว เป็นการคิดที่ ‘โรแมนติก’ มากไป และเป็นความโรแมนติกที่จะนำไปสู่ความเสี่ยงของวิกฤติในอนาคต บริษัทขนาดใหญ่อย่าง ฐาปน สิริวัฒนภักดี คงไม่หวังการมาปันผลจากเศรษฐกิจขนาดเล็กจากชุมชน สิ่งที่บริษัทขนาดใหญ่ต้องการนั้นไม่ใช่กำไรในบริษัทประชารัฐ แต่คือการรู้สภาพเพื่อการกุมสภาพ บรรษัทเหล่านี้กำหนดการไหลเวียนของเงิน และปัจจัยการผลิตฉะนั้นแม้ว่าเศรษฐกิจฐานรากแต่ละแห่งจะไม่ใหญ่มากแต่เมื่อเกิดทั้งประเทศมันคือผลประโยชน์อันมหาศาล ซึ่งแน่นอนการหาประโยชน์จะไม่เอาจากบริษัทประชารัฐ เพราะเขาไม่โง่พอที่จะแสดงตัวเอากำไรโดยตรง การเข้ามาของบรรษัทขนาดใหญ่จึงไม่โรแมนติกแบบหมอพลเดชพูดถึงว่าบริษัทเหล่านี้มาร่วมกันทำบุญ และเป็นโอกาสให้ชุมชนฐานรากได้ลืมตาอ้าปาก คุณหมอพลเดชอาจจะยังไม่ทราบว่าการกุมสภาพข้อมูลและกลไกการผลิตรวมถึงการตลาดนั้นมีมูลค่ามหาศาลสำหรับบริษัทขนาดใหญ่และครั้งนี้คือการออกแบบบริษัทประชารัฐผมเชื่อว่าเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์นั้นเป็นสำคัญ

2.หมอพลเดช ปิ่นประทีป บอกว่าเรื่องทุนนั้นบริษัทประชารัฐจังหวัดจะพาผู้ประกอบการไปพบ ธกส. ไปอบรมทางธุรกิจรวมถึงเป็นที่ปรึกษา แต่การตัดสินใจที่จะให้กู้หรือไม่ขึ้นอยู่กับธนาคาร หลังจากนี้ผู้ประกอบการกับธนาคารก็ดีลกันเอง

ประเด็นนี้ผมคิดว่าเรากำลังก้าวเดินไปสู่เกมส์เดิม เกมส์ที่วันหนึ่งคนจะถูกทิ้งโดยที่ไม่มีกลไกการรับผิดชอบแต่อย่างใด การเข้าไปกู้เงินกับธกส.ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเพียงแต่คราวนี้จะเกิดกลไกการชักนำผู้คนให้เข้าไปสู่เส้นทางการกู้มากขึ้น กลายเป็นความเสี่ยงของการเกิดภาระหนี้ในอนาคต เมื่อธุรกิจไปไม่ได้จึงทิ้งสภาพหนี้ไว้ข้างหลัง นัยยะที่ซ่อนอยู่ก็คือภาระความเสี่ยงทางหนี้สิน กลายเป็นการซ้ำเติมความอ่อนแอทางสังคม เมื่อเกิดสภาพนี้ขึ้นจะนำไปสู่การกุมสภาพของทุนขนาดใหญ่คือการกว้านซื้อทุกอย่างที่เป็นหนี้เสียทั้งระดับเล็ก กลาง ใหญ่เพื่อครอบครองสินทรัพย์ที่ในเวลาปกติยากที่จะครอบครอง ลองอ่านต่อมาในบทสัมภาษณ์หมอพลเดชบอกชัดว่า ไม่มีใครการีนตีได้ว่ามันจะไปได้ไกลแค่ไหนหมดสายป่านก็หยุด หลังจากนั้นแต่ละจังหวัดต้องดูแลกันเอง ประเด็นคือหนี้ที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นภาระของแต่ละคนเช่นเดิม หากยังเดินเส้นทางสายนี้ผมคิดว่าไม่เกิน 3 ปีหลังจากนี้ภาพนี้จะปรากฎให้เห็นกับตา

3.กรณีที่บริษัทใหญ่จะเขาไปเทคโอเวอร์กิจการชุมชน หมอพลเดชบอกว่า ‘มีความเห็นว่าเป็นไปได้ ไม่มีใครที่มาแล้วจะไม่ได้อะไรเลย มันมีอยู่แล้ว แต่ว่าเขาจะไม่ทื่อๆ โต้งๆ ด้วยกรรมเก่าที่เขามีอยู่ วันนี้ภาคชุมชน ภาคประชาสังคมรู้เท่าทันหมด รู้ว่ากำลังจะไปอยู่บนโต๊ะกับใคร ค่อนข้างมั่นใจเครือข่ายภาคประชาชน’

ผมไม่แน่ใจว่าคำว่าภาคประชาสังคมนั้นหมอพลเดชหมายถึง คนกลุ่มไหน ที่บอกว่าเข้มแข็งและรู้เท่าทัน และที่บอกว่าภาคชุมชนรู้เท่าทันหมดเป็นการประเมินจากอะไร?การสรุปลงไปด้วยข้อมูลที่หยาบมากไม่เข้าใจสภาพของพื้นที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง ผมคิดว่าคุณหมอไม่ควรสรุปสภาพของชุมชนซึ่งได้มาจากการจัดเวทีนับร้อยและวิเคราะห์สังเคราะห์กันจนเหลือแค่คำงามๆ ผมพูดประเด็นนี้เพื่อชี้นัยยะว่าในความเป็นจริงแล้วมันไม่มีทางเท่ากันเด็ดขาด ในทางเศรษฐศาสตร์การไม่เท่ากันของข้อมูลเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจลงทุน มันถึงกับทำให้อีกฝ่ายเจ๊งในเวลาไม่นาน ประเด็นสำคัญในบทสัมภาษณ์ชี้ว่าบริษัทขนาดใหญ่พร้อมตลอดเวลาที่ฉกฉวยประโยชน์จากการไม่เท่ากันของข้อมูล ผมคิดว่าประเด็นนี้จะปรากฎให้เห็นได้ในเวลาไม่นาน

4.หมอพลเดชบอกว่า ‘วันนี้ผมไม่สนใจเลยและก็ไม่ห่วงด้วยว่าจะเขียนรัฐธรรมนูญอย่างไร จะผ่านหรือไม่ผ่าน ผมไม่ได้สนใจเลย เพราะผมเชื่อมั่นว่าไม่ว่ามันจะเป็นยังไงก็ตาม ขบวนของประชาชนที่เริ่มค่อยๆ แข็งแรงขึ้น Soft Power ที่ค่อยๆ ปีนขึ้นมา หยุดไม่อยู่แล้ว’

ประเด็นนี้ผมจุกอกมาก มันเป็นการใช้ concept อธิบายโดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ประชาชนต้องเผชิญ พูดให้หยาบขึ้นก็คือ มักง่ายเกินไปในการอธิบาย หากคุณหมอต้องทำงานร่วมกับรัฐบาลและไม่ต้องการปฏิเสธรัฐธรรมนูญฉบับชั่วร้ายนี้ ก็ไม่ควรใช้คำงามๆมาอธิบายเพื่อบดบังสิ่งที่ชุมชนชาวบ้านต้องเผชิญจากกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ประเด็น Soft Power กว่าจะได้มานั้นมันไม่โรแมนติกอย่างที่คุณหมอเข้าใจ

5.ประเด็นเรื่องกลุ่มทุนที่อยู่ในบริษัทประชารัฐหมอพลเดชอธิบายว่า ‘ในที่สุดแล้วเราปฏิเสธมันไม่ได้ ต้องอยู่ด้วยกัน ตึกระฟ้าต่างๆ ในกรุงเทพ ตามจังหวัดต่างๆ ทั้งหลาย มันไม่ได้เกิดขึ้นจากเม็ดเงินของรัฐ ภาคธุรกิจเขาก็มีคุณูปการของเขาใช่ไหม แต่ธรรมชาติของเขามันไม่เหมือนเรา ก็คือว่าเขาก็ต้องมีกำไร แสวงกำไร Maximize Profit มันก็เป็นธรรมชาติของเขา ไอ้เราเอาผลประโยชน์ของสังคม มันก็เป็นธรรมชาติของเรา แต่มันต้องอยู่ร่วมกัน’

การอธิบายประเด็นนี้ดูเหมือนว่าจะสามารถรับฟังได้ในปรากฎการณ์ แต่ในความเป็นจริงใครจะสามารถรับประกันได้ว่าภาคธุรกิจขนาดใหญ่ที่เป็นอยู่จะซื่อสัตย์ต่อกลไกการตลาด และการ Maximize Profit ที่พูดถึงนั้นไม่ได้ทำลายสังคม สิ่งแวดล้อม หรือฉ้อฉลมาเพื่อให้ตัวเองเติบโต ด้วยการแย่งชิงทรัพยากรสาธารณะมาใช้ทั้งในทางตรงและทางอ้อม เมื่อมันไม่เท่ากันด้วยเครื่องมือและกลไก การคิดว่าพลังของประชาสังคมสามารถเดินบนระนาบเดียวกันกับพลังทางธุรกิจและรู้ทันกันและกันผมว่ามันยังเป็นความเพ้อฝัน เรากำลังส่งนักมวยคนละรุ่นไปชกกันบนเวทีเดียวกันที่มันไร้กติกา แน่นอนที่สุดผมเป็นคนเชื่อมันในพลังของชุมชนแต่ต้องเฉลียวฉลาดในการก้าวเดิน ไม่คิดแบบโรแมนติก การอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นธรรมมันต้องมีกติกาที่เป็นธรรมก่อน

6.ประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งคืออายุของประชารัฐหมอพลเดชบอกว่า ‘ผมจึงมองว่าประชารัฐมันแค่ชั่วคราว เป็นหน้าต่างโอกาสที่เปิดแว่บขึ้นมาแล้วก็หายไป ไม่จีรังยั่งยืนอะไรหรอก แต่คุณจะใช้ประโยชน์จากมันไหม จะใช้อย่างไร มีสติในการจะเข้าไปใช้หรือเปล่า ก็แค่นั้นแหละ’

ผมเห็นด้วยกับการที่บอกว่าประชารัฐมันแค่ชั่วคราวเมื่อเขาบรรลุวัตถุประสงค์แล้วก็ไป เพราะผมเชื่อว่าวิธีคิดของการเข้ามาเขาไม่ได้มาทำบุญแบบที่หมอพลเดชกำลังอธิบาย ความสำคัญอยู่ตรงที่ว่าการจากไปของกลุ่มทุนคือวิกฤติรอบใหม่ที่ซ้ำเติมให้ประชาชนอ่อนแอลง เพราะหลังจากนั้น กลไก การผลิต การตลาด จะถูกกุมสภาพไว้แล้วเขาจะเลือกเวลาที่เหมาะสมสำหรับการจากไป ที่สำคัญอีก 11 ประเด็น ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย การศึกษา เกษตร ที่ประชารัฐจะเข้ามาคุมนั้น ล้วนสำเร็จไปพร้อมกัน หมอพลเดชบอกว่าประเด็นอื่นยังเป็นวุ้นผมไม่เชื่ออย่างนั้น เขาไม่จำเป็นต้องทำชั่วออกหน้าในการแก้กฎหมายเพื่อเอื้อให้ตัวเองได้ประโยชน์หรอก ทั้งหมดนี้ผมเชื่อว่าบรรษัททั้งหลายนั้นได้กำหนดเวลาไว้แล้วว่าจะใช้นิยายประชารัฐกี่ปี

7.หมอพลเดชพูดถึงว่าผมสร้างความแข็งแกร่งข้างล่าง เพราะผมอ่านสถานการณ์ของ Hard Power มันกำลังลง ผมจะพยายามทำทุกอย่างให้ Soft Power ทะยานขึ้นมาให้ได้เร็วที่สุด ไปให้ไกลที่สุด

ประเด็นนี้ผมพูดสั้นๆว่ามันกำลังสวนทางกันกับสิ่งที่กำลังทำ แค่เพียงการเอาภาคประชาสังคมไปเป็นอาสาประชารัฐผมก็มีคำถามว่าเรากำลังชักนำกันไปในหุบเหวที่ฉาบด้วยทองคำซึ่งยังไงก้ยังเป็นหุบเหวอยู่ดี สักวันหนึ่งด้วยการอยากได้ทองคำเราจะตกลงมาตาย ง่ายๆลองไปดูงบประชารัฐในแต่ละตำบลหมู่บ้านว่าตอนนี้ได้สร้างความระส่ำระสายแค่ไหน มันเดินซ้ำรอยความผิดพลาดเดิมๆกี่ครั้งมาแล้ว ประชารัฐคือนิยายที่กลับมาแสดงรอบใหม่ที่ร้ายกว่าเดิมเท่านั้นเอง อ่านบทสัมภาษณ์คุณหมอพูดเรื่อง Soft Power ผมไม่เข้าใจเลยว่าคุณหมอผ่านงานชุมชนมาแบบไหน

>
 

ละครเรื่องประชารัฐ

รัฐบาลกำลังเล่นละครหรือเปล่า? ในขณะที่ปากพูดว่าจะฟื้นเศรษฐกิจฐานราก แต่กลับแก้กฎหมายหลายชนิดที่เพิ่มความไม่เป็นธรรมแก่คนส่วนใหญ่แต่เอื้อประโยชน์กับกลุ่มทุนใหญ่ มันจะมีประโยชน์อะไรหากแผ่นดินและทรัพยากรถูกทำลายจนหมดสิ้น บริษัทประชารัฐจะแก้ปัญหาอะไรได้ภายใต้การเดินหน้าทำลายทรัพยากรของรัฐบาลทหาร การใช้ม.๔๔ ให้โรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้นได้และทำลายสิ่งแวดล้อมและอาชีพคนตลอดจนสุขภาพอย่างที่ไม่อาจฟื้นคืนได้ พรบ.แร่ที่กำลังจะคลอดจะมีผลทำลายทรัพยากรอย่างหนัก ม.44 เรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษยังอนุญาตให้มีการเอาพื้นที่ป่าไม้มาทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจะมีผลอย่างยิ่งต่อการทำลายฐานทางเศรษฐกิจของชุมชน

ต้องไม่ลืมตั้งข้อสังเกตว่าบริษัทที่อาจได้ประโยชน์จาก ม.44 หลายฉบับของ คสช.ก็อาจซ้อนทับกันอยู่กับกลุ่มคนในประชารัฐ ด้านหนึ่งของรัฐบาลคือการยกรูปแบบที่ดูดีขึ้นมาเพื่อให้คนเชื่อว่าจะเกิดการพัฒนาแต่อีกด้านหนึ่งคือการเดินหน้าทำลายคนฐานรากอย่างเต็มที่ ด้วยม.44 แล้วมันจะยังเหลืออะไรให้พัฒนาได้อีก ภายใต้การตายของทรัพยากรธรรมชาติก็คือการตายของคนฐานรากเช่นกัน ปฏิบัติการบริษัทประชารัฐเป็น๑ใน 12 ประเด็น ยังมีอีก11ประเด็นใครจะรู้ว่ากลุ่มทุนใหญ่กำลังคิดอะไรอยู่?

หมอพลเดชบอกว่าเข้าได้กับทุกฝ่ายไม่ขัดแย้ง ก็แสดงจุดยืนได้ชัดเจนดีครับ สำหรับผมแล้ว รัฐบาลทหารที่ทำลายกฎหมายของประเทศอย่างย่อยยับ ออกกฎหมายหลายฉบับเอื้อกลุ่มทุน ส่งเสริมการพัฒนาที่ทำลาย ทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน เหมืองทอง ปิโตรเลียม ที่ดิน ปัญหาที่เกิดจากรัฐบาลนี้จุกอกกว่าหลายรัฐบาลที่ผ่านมา คนที่บอกว่ายืนข้างประชาชนกลับไปร่วมกับรัฐบาลทหารที่มีพฤติกรรมทำลายชุมชนเช่นนี้ได้อย่างสนิทใจ ช่างไม่น่าเชื่อ!

เผยแพร่ครั้งแรกใน: เฟซบุ๊ก ประสิทธิชัย หนูนวล
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท