คนงานเล่านาทีถูกจับหลังแจกใบปลิวรณรงค์ประชามติที่บางพลี จ่อฟ้อง กสม. กกต. ยูเอ็น

นักสหภาพแรงงาน เล่าเหตุถูกจับหลังแจกใบปลิวรณรงค์ประชามติที่นิคมบางพลี ระบุเอกสารเป็นประโยชน์ต่อคนงานพลัดถิ่นจึงช่วยแจก งงผิดข้อหาอะไร ทั้งๆ ที่ช่วย กกต.แท้ๆ เผยตลอดชีวิตไม่เคยขึ้นโรงขึ้นศาล พอโดนก็ขึ้นศาลทหารเลย เตรียมร้อง กสม. กกต. ยูเอ็นและองค์กรแรงงานสากล

ภาพขณะจับกุม 13 นักกิจกรรมจากกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ และกลุ่มสหภาพแรงงานฯ ที่หน้านิคมอุตสาหกรรมบางพลี จ.สมุทรปราการ  เย็นวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา

25 มิ.ย.2559 จากเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2559 มีนักกิจกรรมจากกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ (NDM) และกลุ่มสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ รวม 13 คน ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจควบคุมตัวตั้งแต่วันนี้ที่หน้านิคมอุตสาหกรรมบางพลี จ.สมุทรปราการ เนื่องจากไปแจกแผ่นพับและเอกสารให้ความรู้เรื่องร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติ (อ่านข่าวที่นี่)  ต่อมาถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 ข้อ 12 เรื่องชุมนุมทางการเมืองจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยในจำนวนนั้นมีผู้ขอประกันตัว 6 ราย ที่เหลืออีก 7 รายยืนยันว่าไม่ได้ทำสิ่งใดผิดจึงไม่ขอประกันตัว ทั้งหมดถูกเจ้าหน้าที่นำตัวมาศาลทหารเพื่อขออนุญาตฝากขัง โดยที่ 6 ราย ของประกันตัวและได้รับการปล่อยตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพและ ทัณฑสถานหญิงกลางเมื่อกลางดึกคืนที่ผ่านมา ขณะที่ 7 รายที่ไม่ยืนประกันตัวนั้นถูกฝากขังผัดแรกที่เรือนจำดังกล่าว (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

กรชนก ธนะคูณ อายุ 45 ปี หนึงใน 13 ผู้ถูกจับดำเนินคดี เธอเป็นกรรมการสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ และฝ่ายวิชาการ สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ ได้ให้สัมภาษณ์ซึ่งเผยแพร่วิดีโอคลิปบทสัมภาษณ์ผ่านเฟซบุ๊กของ จิตรา คชเดช นักสหภาพแรงงาน 'Jittra Cotchadet' วันนี้ (25 มิ.ย.59) เมื่อเวลา 16.43 น. ที่ผ่านมา

ชี้เอกสารเป็นประโยชน์ต่อคนงานพลัดถิ่นจึงช่วยแจก

โดย กรชนก เล่าถึงวันเกิดเหตุ ว่า หลังจากเลิกงานได้นั่งรถกลับไปที่สำนักงานของสหภาพแรงงานฯ ที่อยู่ในตลาด เคหะบางพลี จึงพบเพื่อนกรรมการสหภาพด้วยกัน เห็นมีการช่วยน้องๆ (นักกิจกรรมกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่) กำลังแจกเอกสาร และได้นำมาดูจึงพบว่าเป็นเอกสารส่งเสริมให้คนออกไปใช้สิทธิในการไปออกเสียงประชามติต่อ ร่างรัฐธรรมนูญ จึงเห็นว่าเป็นเอกสารที่มีประโยชน์และเห็นว่าคนงานที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ตรงนั้น เป็นคนงานพลัดถิ่น จึงเข้าช่วยน้องๆ แจกเอกสาร โดยหวังว่าเพื่อให้คนงานได้ทราบถึงสิทธิที่จะไปลงคะแนนเสียงหรือโหวต
 
ก่อนที่ตนจะเข้าไปถึงที่แจกเอกสารนั้น ตนไม่ทราบว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง แต่ได้ทราบว่ามีน้องนักศึกษาบอกว่าได้ขออนุญาตแล้ว ในการแจกเอกสาร ตนจึงได้เข้าไปช่วย และหลังจากนั้นมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบก็เข้ามาประกบตนไว้ พร้อมกับถ่ายรูปและบังคับให้เซ็นต์ชื่อ ตอนแรกตนปฏิเสธการเซ็นต์ชื่อ แต่ถูกประกบตัวและบอกให้เซ็นต์ และบอกกับตนว่าไม่ได้เอาไปทำอะไร แค่อยากรู้ ทำให้ตนตัดสินใจเขียนชื่อให้ไป จากนั้นเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวกลับมาอีก เพื่อให้เซ็นต์ใหม่เนื่องจากที่เขียนไปนั้นไม่ชัด จากนั้นไม่ถึง 5 นาที ได้มีทหารเข้ามาคาดว่ามาหาน้องนักศึกษาคนหนึ่งในกลุ่มดังกล่าว ตนก็เห็นคุยกันอยู่ไม่นาน จากนั้นทหารเข้ามาล็อคคอน้องและยกตัวไป ขณะนั้นตนก็ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น แต่น้องนักศึกษานั้นถูกนำตัวไปในรถยนต์และขับออกไป

นาทีถูกคุมตัว งงว่าผิดข้อหาอะไร

กรชนก เล่าต่อว่า จากนั้น ตนถูกชาย 2 คน ที่อยู่นอกเครื่องแบบ โดยไม่ทราบว่าเป็นทหารหรือตำรวจพยายามที่จะบล็อกตนไว้ โดยไม่มีการอุ้มหรืออะไร แต่ไม่ให้ออกซ้ายหรือขวา โดยให้ไปขึ้นรถยนต์ ซึ่งในรถคันดังกล่าวมีน้องนักศึกษาอีกจำนวนหนึ่งประมาณ 6-7 คน มาอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว มีทหารเป็นคนขับ 1 คน และอีก 1 คน นั่งประกบ โดยตอนแรกตนสอบถามว่าจะนำพวกตนไปไหน เจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะพาไปพบนายอำเภอ แต่เมื่อไปจริงกลับไม่ใช่นายอำเภอ กลับเป็น สภ.บางเสาธง 
 
"ความรู้สึกตอนนั้นเราก็งงว่าเราก็ไมได้ทำอะไรผิด เราเป็นแค่ประชาชนคนหนึ่ง เป็นคนทำงานในโรงงาน เราก็มองว่าเราไม่ได้ไปเพื่อชุมนุมหรือว่าอะไร มันเป็นแค่การไปแจกเอกสาร ซึ่งเอกสารที่เราเห็นเราคิดว่ามันน่าจะเป็นประโยชน์ เพราะส่วนของ กกต. เอง เขาก็พยายามที่จะมีการให้ไปลงคะแนนเสียงอยู่แล้ว ซึ่งเรามองว่ามันเป็นประโยชน์อีกทางหนึ่งที่เราจะช่วยส่งเสริมให้ทาง กกต. เขาได้ ทำให้คนให้รู้มากขึ้นในเรื่องของการไปลงประชามติ" กรชนก กล่าวถึงความรู้สึกเมื่อทราบว่าตนเองถูกตั้งข้อกล่าวหา 
 
กระบวนการหลังจากมีการแจ้งข้อกล่าวหา กรชนก เล่าต่อว่า ตำรวจได้นำพวกตนเข้าไปในห้องขังกัเพื่อนอีก 2 คน และน้องนักศึกษาผู้หญิงอีก 1 คน
 
"ความรู้สึกตอนนั้นรู้สึกว่าเขาทำกับเราเหมือนกับไม่ใช่ประชาชนคนหนึ่ง เพราะห้องที่เขาเอาเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำหรือความสะอาดมันแทบจะหาไม่เจอเลย" กรชนก กล่าว พร้อมกล่าวด้วยว่าการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ก็ใช้คำพูดที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ กับตนที่ตนคิดว่าไม่ได้ผิดอะไร แล้วทำไมต้องเอาเรามาขัง และการขังมันก็เกินกำหนดเวลา ตั้งแต่ 17.00 น. ที่ถูกควบคุมตัวไป จนถูกนำตัวไปที่ห้องประชุมที่ สภ.บางเสาธง จนถึง 3-4 ทุ่ม และมีการบอกว่าจะให้ประกันตัวในตอนแรก แต่กระบวนการประกันตัวก็มีการดำเนินการที่ล่าช้า จนถึงตอนเช้าทนายถึงมาแจ้งว่าจะถูกส่งตัวไปยังศาลทหาร ทำให้ตนสงสัยว่าทำไมเมื่อเรื่องมันเกิดในท้องที่ 

ตลอดชีวิตไม่เคยขึ้นโรงขึ้นศาล พอโดนก็ขึ้นศาลทหารเลย 

"เราไม่ใช่ทหาร เราเป็นพลเรือน เราเป็นประชาชนคนหนึ่งทำไมต้องพาเราไปขึ้นศาลทหาร ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมต้องทำกันถึงขนาดนี้" กรชนก กล่าว พร้อมกล่าวว่า ในเมื่อเราก็ไม่ได้ทำอะไรผิดอะไรเย สิ่งที่เราทำไปก็แค่เข้าไปช่วย โดยคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ดีที่เราเห็นว่าว่าสิ่งนี้มันจะเป็นประโยชน์กับคนทำงานกับประชาชนทั่วไป ในขณะที่ กกต. เองก็ยังมีปัญหาเรื่องการสื่อสารทำความเข้าใจให้ประชาชนไปโหวตหรือลงประชามติ
 
ต่อกรณีขึ้นศาลทหารนั้น กรชนก กล่าวตนไม่ได้มีความรู้ว่าจะต้องเจออะไรบ้าง เพราะเราก็ไม่เคยได้ไปเรียนรู้กระบวนการของศาลทหาร เพราะตลอดชีวิตการทำงานาก็ไม่เคยมีเรื่องหรือมีคดีอะไรที่จะต้องไปขึ้นโรงขึ้นศาล เพราะเราทำงานในโรงงานหาเลียงครอบครัวเป็นเพียงประชาชนธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้น 
กรชนก คนที่ 5 จากขวา หลังออกจาก ทัณฑสถานหญิงกลางเมื่อกลางดึกคืน 24 มิ.ย.59

สะท้อนปัญหาคุกล้นและของใช้ขาดแคลน

กรชนก เล่าต่อว่า หลังจากเสร็จกระบวนการที่ศาลทหาร ถูกนำตัวไปที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ตนถูกส่งตัวไปพร้อมกับเพื่อนเป็น 4 คน เมื่อลงรถก็พบผู้คุมหญิงประมาณ 6-7 ท่าน จากนั้นมีการทำประวัติ พิมพ์ลายนิ้วมือ สอบประวัติอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นบุคคลในครอบครัว ลูก ฯลฯ พร้อมทั้งถ่ายรูป หน้าหลัง และด้านข้าง จากนั้นให้นั่งรอประมาณ 3-4 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ของศาลก็ได้นำหมายปล่อยตัวไปส่ง และดำเนินการปล่อยตัวในเวลาเกือบเที่ยงคืน โดยมีเพื่อนๆ ที่ตามไปรอรับด้านหน้า
 
สำหรับการพูดคุยกับผู้คุมในทัณฑสถานหญิงกลางนั้น  กรชนก เล่าด้วยว่า ตนได้สอบถามถึงจำนวนผู้ต้องขังหญิงที่อยู่ในนี้ ซึ่งผู้คุมตอบว่ามีประมาณ 4,800 คน จึงถามต่อว่าสิ่งที่จำเป็นที่ต้องกินต้องใช้เพียงพอหรือไม่ ผู้คุมก็แจ้งว่าไม่เพียงพอ แต่มีบุคคลด้านนอกที่มาช่วยบริจาค นอกจากนี้ยังมีเรื่องชุดชั้นในของผู้หญิงที่ผู้คุมแจ้งว่ามีความจำเป็นต้องใช้เนื่องจากติดตัวกันมาแค่ชุดเดียว เมื่อถึงทัณฑสถานหญิงกลางก็ได้แจกคนละ 1 ชุด จึงมีคนละ 2 ชุดเพื่อผลัดเปลี่ยนกัน นอกจากนี้ผู้คุมยังระบุชื่อของกลุ่มคนงาน TRY ARM ที่มีโครงการระดมทุนทำกางเกงชั้นในเข้าช่วยบริจาคในนี้ด้วย ตนจึงสอบถามถึงความจำเป็นด้านอื่นด้วย ซึ่งผู้คุมก็แจ้งว่ามีหลายอย่างที่ยังขาด เนื่องจากมีผู้ต้องขังหญิงจำนวนมาก รวมทั้งบางคนก็มีเด็กอ่อนที่ต้องการนมผงและขวดนมจำนวนมาก โดยช่องทางในการบริจาคสามารถทำได้โดยทำเรื่องบริจาคได้ที่ด้านนอก

เตรียมร้องกสม. กกต. ยูเอ็นและองค์กรแรงงานสากล

กรชนก กล่าวว่า จากนี้ตนจะไปร้องสิทธิ โดยจะไปร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ องค์การสหประชาชาติ รวมทั้งองค์กรแรงงานสากล หรือ IndustriALL Global Union  รวมทั้งจะไปร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้วย เราทำงานช่วย กกต. แต่ถูกกระทำแบบนี้ มันไม่เป็นธรรมเลยสำหรับประชาชน

ไม่ควรเกิดขึ้นกับใครเลย

"สิ่งที่เราถูกกระทำมันไม่ควรจะเกิดขึ้นกับใครเลย เราเป็นผู้หญิงตัวก็แค่นี้ ก็แค่ทำงานในโรงงาน รายได้ไม่ได้เยอะแยะอะไร ถ้าสมมุติว่าเราถูกกระทำแล้ว พวกเราไปโดนขังถึง 12 วันนี่ แน่นอนว่าบริษัทเขาไม่จ้างอยู่แล้ว แล้วอนาคตของลูก ของหลานของพ่อของแม่ ที่เราต้องรับผิดชอบเลี้ยงดู ถ้าเราตกงานไป มันจะเกิดอะไรขึ้น มันไม่ใช่แค่ตัวเราคนเดียว มันหมายถึงอนาคตของคนอีกเยอะแยะที่อยู่ข้างหลัง แล้วสิ่งที่เขาทำกับเราตอนที่เราถูกพาตัวไป เขาไม่ถามเราสักคำ ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาใดใดทั้งสิ้น เขาละเมิดสิทธิของเรามากเกินไป" กรชนก กล่าว พร้อมกล่าวว่า ค่าประกันตัวมันก็ไม่ใช่น้อยๆ แล้วคิดหรือไม่ว่าเราจะมีเงินหรือเปล่าที่จะไปประกันตัวเองให้ออกมาจากตรงนั้น 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท