ประชามติ Brexit ไม่กระทบเอฟทีเอไทย-อียู เพราะอียูหยุดเจรจากับไทยนานแล้ว

อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศให้ความมั่นใจว่า หลังประชามติอังกฤษออกจากอียู จะไม่กระทบการเจรจาการค้าทั้งในกรอบไทยและอาเซียน โดยเอฟทีเอไทย-อียู คณะกรรมาธิการยุโรปไม่เจรจากับไทย มีเพียงการเจรจาระดับเจ้าหน้าที่ ส่วนเอฟทีเออาเซียน-อียู หยุดเจรจากันนานแล้วหลายปี

(ซ้าย) ศิรินารถ ใจมั่น อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (ขวา)  ธงยูเนียนแจ็กของสหราชอาณาจักร คู่กับธงของสหภาพยุโรป ที่อาคารแห่งหนึ่งของลอนดอน ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และ  และ Dave Kellam/Flickr/Wikipedia (CC.BY-SA 2.0)

หลังผลประชามติแยกตัวจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรเมื่อ 23 มิ.ย. นั้น ก่อนหน้านี้ในรายงานของผู้จัดการออนไลน์ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ศิรินารถ ใจมั่น อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงผลกระทบจากกรณีอังกฤษขอออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ว่า อังกฤษต้องดำเนินการภายในอีกอย่างน้อย 2 ปีจึงจะออกจากอียูได้ แต่ไม่น่ามีผลกระทบต่อการเจรจาการค้า หรือการเจรจาจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ของไทยกับอังกฤษ หรือกับอียู โดยในส่วนของเอฟทีเอไทย-อียู ขณะนี้สองฝ่ายได้เจรจากันในส่วนของเจ้าหน้าที่ไปก่อน เพราะคณะกรรมาธิการยุโรป ยังไม่มีการเจรจากับไทย ส่วนเอฟทีเออาเซียน-อียู ยังไม่เริ่มการเจรจา หลังจากหยุดการเจรจามาแล้วหลายปี

“การออกจากอียูทำให้อังกฤษมีอิสระในการดำเนินนโยบายต่างๆ มากขึ้น เช่น หากอังกฤษต้องการเจรจาสองฝ่ายกับไทยก็สามารถเจรจาได้ทันที ไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมาธิการยุโรปอีกต่อไป”

ทั้งนี้ สิ่งที่จะต้องติดตามต่อไปก็คือ การที่อังกฤษออกจากอียูแล้วจะมีการใช้อัตราภาษีศุลกากรแบบใด จะใช้อัตราภาษีเหมือนเดิมกับที่เคยอยู่ในอียู หรือปรับขึ้นภาษี หากใช้อัตราภาษีแบบเดิมก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าขึ้นภาษีก็ต้องมีการชดเชยให้แก่ประเทศที่ได้รับผลกระทบ เพราะเป็นไปตามหลักการขององค์การการค้าโลก (WTO)

ส่วนในกรอบของความร่วมมือเอเชีย-ยุโรป (อาเซม) ไม่น่าจะได้รับผลกระทบ เพราะส่วนใหญ่เป็นกรอบความร่วมมือด้านการเมือง และการต่างประเทศ ส่วนในด้านเศรษฐกิจ ไม่มีความร่วมมือมาหลายปีแล้ว

น.ส.ศิรินารถกล่าวว่า เมื่ออังกฤษออกจากอียูแล้ว เริ่มมีการมองกันว่าอนาคตของอาเซียนจะเป็นอย่างไร สมาชิกอาเซียนอาจถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกหรือไม่นั้น เห็นว่าอาเซียนคงไม่ถึงขนาดนั้น เพราะอาเซียนแต่ละประเทศยังมีความเป็นเอกเทศในการบริหารประเทศ มีกฎหมายของตนเอง ไม่รวมกันอย่างใกล้ชิดเหมือนอียู ไม่ได้ใช้เงินสกุลเดียวกัน ที่สำคัญประเทศสมาชิกเก่า (ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และบรูไน) ไม่ได้ใช้งบประมาณของตนเองช่วยเหลือสมาชิกใหม่ (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) ที่พัฒนาน้อยกว่า หรือสมาชิกเก่ายังไม่ต้องรับเลี้ยงสมาชิกใหม่เหมือนกรณีของอียู

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท