Skip to main content
sharethis

คลังเล็งเก็บภาษีที่ดินแนวรถไฟฟ้า นักวิชาการระบุเป็นภาษีที่ต่อยอดจากภาษีที่ดิน แต่ยกเว้น 50 ล้านสูงเกินไป ย้ำเห็นด้วยว่าต้องเก็บ แต่รัฐต้องตอบสังคมว่าจะนำเงินภาษีที่ได้ไปทำอะไร จะสร้างความเป็นธรรมได้อย่างไร ไม่ใช่เอาไปซื้อเฮลิคอปเตอร์

ที่มา Hillybillie/flickr.com CC BY-NC-SA 2.0

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างถูกวิพากษ์วิจารณ์มากกรณีที่ยกเว้นเก็บภาษีบ้านหลังแรกมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาทที่คนส่วนใหญ่ของประเทศไม่น่าจะมีบ้านที่มีมูลค่าสูงขนาดนั้น แต่หลังจากผลักดันภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกมาไม่นาน กระทรวงการคลังก็นำเสนอแนวคิดจะจัดเก็บภาษีที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าตามมา

แนวคิดพื้นฐานของเรื่องนี้ก็คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ ซึ่งในกรณีนี้คือรถไฟฟ้า ได้ผลักดันให้ราคาที่ดินที่อยู่ติดกับแนวรถไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้นมาก เช่น เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว ยศเส-สะพานตากสิน-บางหว้า ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยทั้งสายถึงร้อยละ 48.88 หรือถนนราชพฤกษ์ ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นร้อยละ 122 ทำให้ผู้ที่ถือครองที่ดินในบริเวณดังกล่าวได้ประโยชน์จากการลงทุนของรัฐ

สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า แนวคิดดังกล่าวมุ่งหวังจะเก็บภาษีจากคนที่ได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาของรัฐ คือเจ้าของที่ดินที่มีที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าหรือโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐ จนทำให้ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำรายได้จากภาษีมาพัฒนาประเทศ โดยวิธีการจะจัดเก็บในลักษณะ One Shot หรือเก็บครั้งเดียวสำหรับผลประโยชน์ที่ได้เพิ่มขึ้นเมื่อนำที่ดินไปขายต่อ และจะไม่จัดเก็บภาษีนี้อีกเพื่อป้องกันไม่ให้ราคาที่ดินถูกปั่น อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังต้องมีการศึกษารายละเอียดต่อไป

ศักดิ์สิทธิ์ เฉลิมพงศ์ รองหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธาฝ่ายแผนและพัฒนา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าเห็นด้วยกับหลักการข้างต้น แต่ก็แสดงทัศนะเพิ่มเติมว่า ในต่างประเทศการเก็บภาษีลักษณะนี้คือการต่อยอดจากการเก็บภาษีที่ดิน

“โดยทั่วไปในต่างประเทศจะเก็บภาษีที่ดินและทรัพย์สินก่อน แล้วมีภาษีแบบนี้เป็นอีกระดับขึ้นมาเฉพาะในพื้นที่ที่ได้ประโยชน์จากการลงทุนของรัฐ แล้วก็มีหลายรูปแบบ เพื่อนำรายได้ตรงนี้มาลงทุนกับบริการของรัฐ เนื่องจากภาษีที่ดินและทรัพย์สินพอใช้แล้วขึ้นยาก เนื่องจากผลกระทบวงกว้าง เมื่อขึ้นจนสุดแล้ว จึงไปขึ้นตรงจุดที่คนที่ได้รับประโยชน์จริงๆ แต่ของไทยมันกลับหัว ภาษีทรัพย์สินควรมาก่อน มันมี แต่มียกเว้น 50 ล้านซึ่งสูงมาก แต่ดีกว่าไม่มี”

ด้านพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นด้วยเช่นกันกับแนวคิดนี้ แต่เขาก็ตั้งคำถามด้วยว่า

“การเก็บภาษีมีเรื่องสำคัญที่ต้องอธิบาย 3 เรื่อง คือหนึ่ง-ทำไมคนบางคนถึงควรจ่ายภาษี คือเขาต้องให้เหตุผลก่อนว่าทำไมเขาจึงเก็บภาษี สอง-ควรจะเก็บแค่ไหน และสาม-เงินที่เก็บจะเอาไปทำอะไรและใครเป็นคนจัดการส่วนที่เก็บ มันก็ต้องสัมพันธ์กัน”

พิชญ์ตั้งคำถามว่าเก็บเพื่ออะไร เก็บเพราะไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนใช้จ่ายหรือเก็บเพื่อสร้างความยุติธรรมให้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ที่ต้องคิด เช่น เก็บภาษีตรงนี้แล้วนำเงินไปพัฒนาที่อยู่อาศัยราคาถูกสำหรับคนที่เคยอยู่แถวนี้ แต่อยู่ไม่ได้เพราะที่ดินราคาแพงขึ้น ดังนั้น การเก็บภาษีจึงต้องเก็บเป็นสัดส่วนที่อธิบายได้ว่าจะเก็บเท่าไหร่ หรือจะเก็บเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ไม่ต้องการให้มีการเก็งกำไร

“เพราะว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงหลัง ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด มันมีสองเรื่องคือมีการสร้างที่อยู่อาศัยหรือปรับเปลี่ยนพื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้าเพื่อการเก็งกำไร คือคุณมาซื้อที่ บ้านหลังที่สอง ที่สาม ที่สี่ เต็มไปหมด กับสองคือ คุณไม่ยอมพัฒนาอะไรเลย เพราะคุณหวังว่าที่ดินคุณควรจะมีราคามากกว่านี้ ก็จะทำให้เกิดที่ดินรกร้างว่างเปล่า แต่พอวันหนึ่งมูลค่าขึ้นสูงมาก จึงถูกทำให้กลายเป็นที่เก็งกำไรไป”

พิชญ์ย้ำอีกครั้งว่า เขาเห็นด้วยว่าจะต้องมีการเก็บภาษีลักษณะนี้ แต่สังคมควรตั้งคำถามว่าควรปล่อยให้ราชการเป็นหน่วยเดียวที่จะคิดเรื่องนี้หรือไม่ และควรนำเงินภาษีที่เก็บได้ไปใช้ทำอะไร

“ประเด็นคือ คุณจะเก็บเงินไปเฉยๆ เพราะหาทางเก็บเงิน หรือคุณจะมองให้มันเป็นระบบว่าเก็บภาษีเพื่อสร้างความเป็นธรรม แล้วความเป็นธรรมมันต้องถูกสร้างให้เป็นรูปธรรมด้วย ความเป็นธรรมเกิดจากอะไรเช่น หน่วยปกครองท้องถิ่นก็ต้องเอาเงินก้อนนี้ไปจัดการ เงินก้อนนี้ต้องวนกลับมาที่การสร้างที่พักอาศัยราคาถูก ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ เอาเงินก้อนนี้ไปซื้อเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งมันไม่เกี่ยวกัน”

โดยหลักการแล้ว การเก็บภาษีตามแนวรถไฟฟ้าหรือโครงการพัฒนาของรัฐ เพื่อเรียกส่วนเกินจากเจ้าของที่ดินที่ได้ประโยชน์จากโครงการรัฐก็เป็นเรื่องสมเหตุสมผล  แต่จะดียิ่งกว่าหากรัฐตอบคำถามสังคมได้ว่า เงินภาษีที่ได้ตรงนี้จะคืนให้แก่สังคม ปรับพฤติกรรม หรือลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร แทนที่จะนำไปเพิ่มงบประมาณให้กับกองทัพ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net