สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 22-28 มิ.ย. 2559

 
เผยผลวิจัยพบปริญญาไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของแรงงานรุ่นใหม่
 
น.ส.อกิโกะ ซากาโมโตะ ผู้เชี่ยวชาญด้านทักษะและการจ้างงานจากองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ระบุว่า แรงงานที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงานในอาเซียนกลับมีทักษะไม่ต่างจากแรงงานที่กำลังเกษียณ และพบว่าในยุคการทำงานที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูง กลุ่มแรงงานผู้หญิงและกลุ่มที่มีการศึกษาต่ำจะได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก หากไม่มีการพัฒนาทักษะ นอกจากนี้จากการสำรวจแรงงานรุ่นใหม่ (อายุ 18-24 ปี) ของไทยมีความสนใจงานด้านข้อมูลและเทคโนโลยีการสื่อสาร การจัดการการเงิน และด้านศิลปะบันเทิง โจทย์สำคัญจึงอยู่ที่ว่าจะสร้างการเรียนรู้อย่างไรให้สอดรับกับทักษะที่ตลาดโลกต้องการ ซึ่งในปัจจุบันผู้ประกอบการมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูง แต่ทักษะของบัณฑิตและผู้จบการศึกษาในประเทศกลุ่มอาเซียนโดยเฉพาะประเทศไทยและประเทศกัมพูชากลับสวนทาง
 
มล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ระบุถึงตัวเลขล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ว่า ประเทศไทยมีจำนวนประชากรวัยแรงงานตั้งแต่อายุ 15-59 ปี จำนวนทั้งสิ้น 39 ล้านคน แต่มีแรงงานเพียง 11 ล้านคนที่เป็นแรงงานในระบบ หากสามารถดึงแรงงานนอกระบบที่เหลือคืนสู่ระบบก็จะสร้างรายได้เพิ่มให้ประเทศ ฉะนั้นการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน จำเป็นต้องมองภาพทั้งสองด้านคือภาพแรงงานในระบบและนอกระบบไปพร้อมกัน และเชื่อมต่อกับภาพรวมด้านการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานและการผลิตบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เพื่อหาแนวทางที่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางไป
 
นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการสสค. กล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พบแนวโน้มของแรงงานรุ่นใหม่ที่เข้าสู่การทำงานกับผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนขนาดกลางและขนาดย่อมมีจำนวนสูงขึ้น จึงต้องหาวิธีการให้โรงเรียนผลิตบุคลากรที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน และนำไปสู่การพัฒนาฝีมือแรงงานและการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพราะแรงงานคือ ทุน สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย หากประเทศไทยสามารถสังเคราะห์ยุทธศาสตร์ในการทำงานในตลาด SMEs
 
นายแอนเดรียส ชไลเชอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาและทักษะขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ (โออีซีดี) กล่าวว่าจากผลการสำรวจทักษะผู้ใหญ่ (Survey on Adults Skills) อายุ 16-59 ปี ในกลุ่มประเทศสมาชิกจำนวน 24 ประเทศ พบว่าประเทศไทย นอกจากทักษะของบุคลากรที่จบมาไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ภาคการผลิตของประเทศส่วนใหญ่ยังผลิตสินค้าราคาถูก ใช้แรงงานฝีมือไม่สูง และค่าจ้างถูก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารกทางการแข่งขันของไทย เป็นโจทย์ใหญ่ที่ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐภาคเอกชน และประชาชน ต้องคิดและหาทางออกร่วมกันเพื่อช่วยให้หลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง
 
นายไมค์ วาย เค กู อธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งชาติผิงตุง ไต้หวัน กล่าวว่า แรงงานไทยและประชากรส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรมระดับความสามารถด้านการผลิตและการบริหารจัดการโดยการใช้เกษตรกรรมฐานความรู้ และมีทักษะด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีได้เช่นเดียวกับไต้หวัน เมื่อ 60 ปีที่แล้วไต้หวันเคยเป็นประเทศที่มีภาคเกษตรขนาดใหญ่ซึ่งไม่แตกต่างจากประเทศไทย แต่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เน้นอุตสาหกรรมไฮเทค ส่งผลให้ภาคเกษตรปรับตัวอย่างมากโดยเปลี่ยนจากการทำเกษตรที่มุ่งสร้างความมั่นคงทางอาหาร เป็นเรื่องอาหารปลอดภัย คุณภาพทางโภชนาการ การผลิตที่มีประสิทธิภาพ การพัฒนาชนบท และการรักษาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม โดยถึงแม้ว่า จีดีพีภาคเกษตรจะลดลงจาก 30 % ในปี 2493 เป็น 2 % ในปี 2558 และจำนวนเกษตรกรลดลงจาก 50% ในปี 2493 เหลือ6-10% ในปี 2558 แต่ก็ทำให้เกษตรกรจำนวนดังกล่าวมีรายได้สูงขึ้นมาก เพราะใช้ ICT, GIS, GPS, เทคโนโลยีชีวภาพ เข้ามาช่วยในงานเกษตรกรรม
 
นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่าผลงานวิจัยเพื่อศึกษาตลาดแรงงานและผู้ประกอบการภาคธุรกิจเอสเอ็มอีนำร่องในพื้นที่ 3 จังหวัด (เชียงใหม่ ตราด และภูเก็ต) พบว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยให้ความสำคัญกับวุฒิของลูกจ้างเรียงตามลำดับคือ ทักษะทางอาชีพ ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ ความซื่อสัตย์ และวุฒิการศึกษา อย่างไรก็ตามพบว่าบ้านเรายังมีช่องว่างทางทักษะของแรงงานที่สูงมาก และเมื่อมองไปยังตลาดเอสเอ็มอี แม้ว่าจะมีสัดส่วน 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจภาพรวมของไทย ยังพบด้วยว่า 35% ของเอสเอ็มอีไทยจะไปไม่รอดภายในสามปี เพราะผู้ประกอบการไม่มีความพร้อมทางเศรษฐกิจ และในกลุ่มของเอสเอ็มอีที่อยู่รอด 65% จะมีเพียงแค่ 7-8% เท่านั้นที่โตขึ้น แต่ที่เหลืออาจต้องใช้ไม่น้อยกว่า 7-8 ปี ที่จะเติบโตและมีขีดความสามารถในการแข่งขัน สัดส่วนที่โตขึ้นน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียถึงสามเท่า
 
 
ก.แรงงาน-พม.-สสส.ร่วมมือผลักดันจ้างแรงงานคนพิการ ดึง ขรก. เอกชน ช่วยให้มีอาชีพ
 
ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่ากระทรวงแรงงานพร้อมสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานคนพิการเพื่อพัฒนาศักยภาพการทำงานที่ดีขึ้น พร้อมอำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจในการปฏิบัติตามกฎหมายการจ้างงาน ตามมาตรา 33 สถานประกอบการสามารถจ้างงานคนพิการเข้าทำงานได้ หรือจ้างงานให้คนพิการทำงานในชุมชน หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ถือเป็นการจ้างงานตามกฎหมายแรงงาน และมาตรา 35 สถานประกอบการ รวมถึงหน่วยงานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจ สามารถส่งเสริมให้คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการได้รับสัมปทาน จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จ้างเหมาบริการหรือจำหน่ายสินค้า ฝึกงาน ปรับสภาพแวดล้อมหรืออุปกรณ์เพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ จัดบริการล่ามภาษามือ หรือให้ความช่วยเหลืออื่นใด ซึ่งมุ่งเน้นให้คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการมีอาชีพ และเพื่อให้การปฏิบัติตามกฎหมายไม่เกิดความยุ่งยาก จึงได้มอบนโยบายการปฏิบัติงานให้สำนักงานจัดหางานเขตและจัดหางานจังหวัดแล้ว และพร้อมเดินหน้าเริ่มในเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อเป้าหมายจ้างงานคนพิการ 10,000 ตำแหน่ง ภายในปี 2559-2560 นี้
 
ด้านนายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กล่าวว่า ทางพม.จะเน้นเรื่องการอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติตามกฎหมาย และใช้ศูนย์ฟื้นฟูอาชีพและศูนย์พัฒนาอาชีพสำหรับคนพิการทั่วประเทศก่อนไปทำงานในสถานประกอบการ, หน่วยงานของรัฐ หรือการทำงานในชุมชน โดยจะเร่งรัดการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีในการรับคนพิการเข้าทำงานในหน่วยงานของรัฐและเอกชน จากข้อมูลในปี 2559 พบว่า คนพิการวัยแรงงานมี 748,941 คน แบ่งเป็นสัดส่วนคนพิการที่ประกอบอาชีพแล้ว 213,896 คน คิดเป็นร้อยละ 28.56 คนพิการที่สามารถประกอบอาชีพได้ที่ยังไม่ได้ทำงานมี 397,800 คน คิดเป็นร้อยละ 53.11 ของคนพิการวัยแรงงานทั้งหมด
 
ส่วนคนพิการที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้เนื่องจากพิการมาก/ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้มี 137,245 คน คิดเป็นร้อยละ 18.33 ซึ่งตามกฎหมาย ได้กำหนดให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไปต้องรับคนพิการเข้าทำงานในอัตราส่วนลูกจ้างต่อคนพิการ คือ 100 : 1 ทำให้จำนวนคนพิการที่สถานประกอบการต้องจ้างมีจำนวน 55,283 ตำแหน่ง ในขณะที่สถานประกอบการสามารถจ้างงานคนพิการได้เพียง 34,383 ตำแหน่ง คิดเป็นร้อยละ 48 เท่านั้น
 
ขณะที่นายสุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส.กล่าวว่า สสส.โดยแผนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะได้สนับสนุนแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแบบครบวงจร : สุขภาวะจากการทำงาน ภายใต้มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม เพื่อส่งเสริมให้คนพิการได้รับการจ้างงาน และการประกอบอาชีพให้มีรายได้ สามารถใช้ชีวิตอย่างอิสระและพึ่งพาตนเองได้ โดย สสส.สนับสนุนโครงการนำร่องการจ้างงานคนพิการจากปี 2558 มีบริษัทที่นำร่อง20 บริษัท เกิดการจ้างงานคนพิการจำนวน 229 คน ในปี 2559 ถือว่าประสบผลสำเร็จ รวม 2 ปี มีสถานประกอบการเข้าร่วมทั้งสิ้น 89 บริษัท ได้ขยายโอกาสการจ้างงานและส่งเสริมอาชีพคนพิการเพิ่มเป็นจำนวน 1,277 คนซึ่งกระจายการปฏิบัติงานอยู่ทุกภาคของประเทศ และพร้อมร่วมสนับสนุนและบูรณาการงานด้านคนพิการในมิติอื่นๆ ที่ สสส.ดำเนินการอยู่เพื่อขับเคลื่อนให้บรรลุผลสอดรับกับเป้าของกระทรวงแรงงาน และกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ที่ต้องการบรรลุเป้าหมายจ้างงานคนพิการร่วมกัน 10,000 ตำแหน่ง ในปีนี้
 
นายสุภรธรรม มงคลสวัสดิ์ เลขาธิการมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนา ตัวแทนเครือข่ายคนพิการกล่าวว่า มูลนิธิ มีองค์กรด้านการส่งเสริมอาชีพคนพิการหลายหน่วยงานเข้ามาร่วมกันทำงานตามประกาศความร่วมมือนี้ ซึ่งล้วนมีประสบการณ์และเครือข่ายในการทำงานกว้างขวางทั่วประเทศ โดยทำหน้าที่เป็นคนกลางในการรับสมัครคนพิการที่ต้องการมีงานทำผ่าน “โทรศัพท์สายด่วนคนพิการหมายเลข 1479” ให้บริการช่วงเวลา 08.00-20.00 น. ทุกวันยกเว้นวันหยุดราชการ มีการคัดกรองและส่งเสริมให้คนพิการมีงานทำตามศักยภาพและความสนใจของคนพิการ พร้อมติดตามประเมินผลเพื่อให้แน่ใจว่ามีการปฏิบัติอย่างถูกต้องเป็นธรรม พัฒนาและค้นหาแนวทางในการทำให้คนพิการมีอาชีพที่มั่นคงกว้างขวางยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายระยะยาว คือ ทำให้คนพิการกว่า 3 แสนคนตามสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ มีศักยภาพมีงานทำ
 
 
เหมืองทองอัครา ส่งหนังสือถึงพนักงาน เตรียมเลิกจ้างจำนวนมาก หลังใบประกอบโลหกรรมสิ้นสุดสิ้นปีนี้
 
23 มิ.ย.2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรี รายใหญ่ของประเทศไทย ใน จ.พิจิตร,เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก ได้ทำหนังสือ ลงนามโดย นายเกรก ฟาวลิส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2559 แจ้งถึงพนักงานบริษัทโดยระบุเนื้อหาเกี่ยวกับการปิดเหมืองแร่ชาตรีและการเลิกจ้างพนักงาน ตามรายละเอียดในหนังสือ ให้เหตุผลถึงการต้องหยุดประกอบโลหกรรมในสิ้นปีนี้ ทำให้ บริษัท มีความจำเป็นต้องลดกำลังการผลิตและเลิกจ้างพนักงานฝ่ายเหมืองแร่ จำนวนมากในช่วงเดือน ต.ค.2559 ส่วนพนักงานฝ่ายผลิตจะทำงานกันต่อไปจนถึงสิ้นปีนี้
 
สำหรับการบอกเลิกจ้างงาน บริษัท จะแจ้งให้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือน และผู้ที่ถูกเลิกจ้างจะชดเชยให้ ตามกฏหมายแรงงาน
ไทยพีบีเอส สอบถาม หนึ่งในผู้บริหารบริษัท ยอมรับว่า เป็นเอกสารแจ้งพนักงานอัคราฯจริงแต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดต่างๆ ได้ แต่ยืนยันว่า พร้อมรับผิดชอบพนักงานที่จะถูกเลิกจ้างจำนวนมากอย่างเต็มที่และเป็นไปตามกฏหมาย
 
 
ค่าจ้างวันละ 4,000 บาท! แรงงานบุรีรัมย์แห่สมัครไปเก็บผลไม้ต่างประเทศรายได้งาม
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านและเกษตรกร จากหลายอำเภอจังหวัดบุรีรัมย์ อาทิ อ.หนองกี่ หนองหงส์ และ อ.บ้านใหม่ไชยพจน์ ร่วม 100 คน แห่มากรอบใบสมัครและทำเรื่องที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด เพื่อเดินทางไปทำงานรับจ้างเก็บผลไม้ยังต่างประเทศ คือ ประเทศสวีเดน และฟินแลนด์ อย่างคึกคัก เพราะมีรายได้ดีเฉลี่ยวันละ 3,000-4,000 บาทแล้ว แต่ใครจะเก็บผลไม้ได้มากน้อยโดยมีระยะเวลาทำงานเพียงประมาณ 2 เดือนเศษเท่านั้นก็เดินทางกลับเพราะสิ้นสุดฤดูกาลเก็บผลไม้
 
โดยเฉลี่ยแต่ละคนจะมีรายได้จากการไปรับจ้างเก็บผลไม้ยังต่างประเทศถึง 100,000 บาท เป็นรายได้ที่ค่อนข้างสูง และใน 1 ปีจะมีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ทำให้ชาวบ้านและเกษตรกรในหลายพื้นที่สนใจแห่มาสมัครอย่างคึกคัก บางคนเคยเดินทางไปแล้วถึง 6 ปีซ้อน แต่แรงงานบางรายเพิ่งสมัครเดินทางไปเป็นครั้งแรก
 
นายอนันต์ กลั่นขยัน จัดหางานจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า สาเหตุที่มีแรงงานสนใจมาสมัครเพื่อเดินทางไปรับจ้างเก็บผลไม้ที่ประเทศฟินแลนด์ และสวีเดนนั้นเพราะมีรายได้ที่จูงใจ โดยหากหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้วจะมีเงินเหลือกลับบ้านถึง 100,000 บาท ประกอบกับมีระยะเวลาทำงานสั้นเพียง 2 เดือนเศษเท่านั้น
 
อย่างไรก็ตาม ได้แจ้งเตือนกลุ่มแรงงานที่สนใจจะสมัครเดินทางไปรับจ้างเก็บผลไม้ยังต่างประเทศควรจะมาติดต่อประสานงานหรือทำเรื่องที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดเพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มแก๊งมิจฉาชีพฉวยโอกาสเข้ามาหลอกลวงเรียกรับเงินหรือผลประโยชน์จากแรงงานดังกล่าวด้วย หากพบผู้ที่มีพฤติกรรมต้องสงสัยก็ให้แจ้งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบและดำเนินการต่อกลุ่มบุคคลดังกล่าวทันทีทั้งป้องกันการตกเป็นเหยื่อสูญเสียทรัพย์สินด้วย
 
 
ไทย-เมียนมา MOU เน้นความร่วมมือแก้ปัญหาด้านแรงงานตามหลักสากล
 
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นาง ออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ร่วมเป็นสักขีพยานพิธีลงนามความตกลงด้านแรงงาน 2 ฉบับ ระหว่าง พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และ นาย เต็ง ส่วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตรวจคนเข้าเมืองและประชากร เมียนมา โดยฉบับแรกเป็นบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะยอมรับในหลักการของความเท่าเทียมและผลประโยชน์ร่วมกัน เพิ่มพูนความสัมพันธ์ ประโยชน์ระหว่างกันในการสร้างความเข้มแข็งและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงสนับสนุน พัฒนาความร่วมมือในด้านแรงงาน พร้อมมุ่งมั่นร่วมกันในการส่งเสริมนโยบายการปฏิบัติด้านแรงงานที่ดี เพื่อปรับปรุงศักยภาพและความสามารถของทั้งสองประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการจัดส่งและรับแรงงานระหว่างกัน ให้มีการแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลเพื่อป้องกันการจ้างงานผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์เพื่อการจ้างงาน พร้อมร่วมมือกันเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อยกระดับทักษะฝีมือของกำลังคน และเพิ่มผลิตภาพแรงงานด้วย
 
นอกจากนี้ จะทำงานเพื่อสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการ อาทิ การเจรจาต่อรองร่วม การร้องทุกข์และการบังคับใช้กฎหมาย การระงับข้อพิพาทแรงงาน การประกันสังคม และการคุ้มครองแรงงาน การฟื้นฟูสมรรถภาพ ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย การทำงานในเรือเดินทะเล การประกันการว่างงาน การบริหารจัดการแรงงานต่างชาติ และการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน รวมทั้งการสนับสนุนการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างบุคลากรที่เกี่ยวข้อง และผู้เชี่ยวชาญ
 
สำหรับฉบับที่สองเป็นบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงาน วัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนาและขยายความร่วมมือระหว่างกันในการจัดทำกรอบการดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกในการจ้างแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส เพื่อให้มั่นใจว่ามีการดำเนินการตามกระบวนการที่เหมาะสมสำหรับการจ้างงาน มีกระบวนการส่งกลับแรงงานที่ครบกำหนดระยะเวลาการจ้างงานตามเงื่อนไขให้กลับประเทศต้นทางอย่างมีประสิทธิภาพ และจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศภาคี โดยบันทึกฯ นี้ จะครอบคลุมทั้งกระบวนการส่งและรับ การคุ้มครอง สัญญาจ้าง การรับรองเอกสาร การอบรมและการให้ความรู้แรงงานก่อนการเดินทาง การตรวจลงตรา อนุญาตทำงาน บริการสุขภาพ การส่งกลับประเทศต้นทาง การระงับข้อพิพาท หน้าที่ของนายจ้างและลูกจ้าง รวมทั้งความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการข้ามแดนผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์เพื่อการจ้างงาน และการจ้างแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย โดยเฉพาะในกระบวนการส่งและรับจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ มีระบบการลงทะเบียนคนงานเพื่อไปทำงานต่างประเทศที่มีประสิทธิภาพ ผ่านกระบวนการสรรหาและการตรวจร่างกาย และจะได้รับการเสนอสัญญาจ้างก่อนการเดินทาง มีการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึงทั้งเรื่อง ค่าใช้จ่าย ขั้นตอน และระยะเวลา ในการคุ้มครองแรงงานคนงานเมียนมาจะได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันกับแรงงานไทย บนหลักพื้นฐานของการไม่เลือกปฏิบัติ ได้รับสิทธิและประโยชน์ ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง กฎหมายแรงงานและระเบียบอื่นๆ ที่บังคับใช้ในประเทศไทย ประการสำคัญ เมียนมาจะต้องจัดให้มีการอบรมก่อนการเดินทางให้กับคนงาน โดยไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่าย เพื่อให้มั่นใจว่าคนงานมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับข้อกำหนดและเงื่อนไขของการจ้างงานและมีการประกันสุขภาพตามที่กำหนด และหากมีข้อพิพาทใดๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง อันเนื่องมาจากการจ้างงานจะได้รับการระงับตามกฎหมายและระเบียบของประเทศไทย สำหรับสัญญาจ้างและเอกสารอื่น ๆ จะต้องจัดทำเป็นภาษาไทย ภาษาเมียนมา และภาษาอังกฤษ และรับรองโดยสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย
 
ทั้งนี้ บันทึกความเข้าใจฯ มีผลบังคับใช้มีระยะเวลา 5 ปี ในส่วนของบันทึกข้อตกลงการจ้างงานฯ จะมีระยะเวลา 2 ปี ซึ่งจากการลงนามในครั้งนี้ นอกจากแสดงถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างกันแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือและการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานให้เป็นไปตามหลักสากล และมีความรับผิดชอบร่วมกัน พร้อมๆ กับการเดินไปด้วยกันอย่างมั่นคง เพื่อความผาสุกและความมั่งคั่งของประชาชนทั้งสองประเทศ
 
 
คกก.ฯ ต่างด้าว วางกรอบผู้ประสานงานภาษา ปลดล็อคคนพื้นที่สูงทำงานได้ทุกประเภท
 
คณะกรรมการพิจารณาการทำงานของคนต่างด้าว มีมติเห็นชอบในหลักการกำหนดเงื่อนไขให้ อัตราส่วนภาครัฐ รัฐวิสาหกิจจ้างแรงงานต่างด้าวเป็นผู้ประสานงานด้านภาษา เมียนมา ลาว กัมพูชาตามความจำเป็นเหมาะสม ให้เอกชนที่มีลูกจ้าง 100 คน จ้างได้ไม่เกิน 1 คน พร้อมปลดล็อคบุคคลไร้สัญชาติไทย พื้นที่สูงได้ทำงานทุกประเภท เตรียมออกร่างประกาศสำนักนายกฯ เข้า ครม.พิจารณา
 
หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาการทำงานของคนต่างด้าว ณ ห้องประชุมประสงค์ รณะนันทน์ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยมีกรมการจัดหางาน ในฐานะฝ่ายเลขาฯ ได้เสนอเรื่องการกำหนดงานตำแหน่งผู้ประสานงานด้านภาษาเมียนมา ลาว และกัมพูชา ให้คนต่างด้าวตามมาตรา 13 (2) แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 สามารถทำได้ ซึ่งลักษณะงานจะให้ฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับงานได้เข้าใจตรงกันในการร่วมมือปฏิบัติงานและเพื่อให้การดำเนินงานมีความสะดวกราบรื่น บรรลุวัตถุประสงค์และมีประสิทธิภาพไม่เกิดความขัดแย้ง ทั้งนี้ได้กำหนดให้มีเงื่อนไขอัตราส่วนการจ้างคนต่างด้าวสามารถทำงานกับนายจ้างสำหรับภาคเอกชน 100 คน ต่อการจ้างแรงงานต่างด้าวไม่เกิน 1 คน ส่วนภาคราชการและรัฐวิสาหกิจให้พิจารณาจ้างตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยกรมการจัดหางานจะจัดหลักสูตรอบรมเรื่องการทำหน้าที่ในการเป็นผู้ประสานงานด้านภาษา โดยจะรับสมัครผู้ประสานงานด้านภาษาที่เป็นคนไทยก่อนหากไม่มีคนไทยทำจะให้แรงงานต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผันตามมติ ครม. (กลุ่มบัตรชมพู) และแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยตามระบบ MOU ได้ทำงานตำแหน่งดังกล่าว ส่วนอัตราค่าจ้างนั้นเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
 
นอกจากนี้ที่ประชุมได้พิจารณาการกำหนดงานให้บุคคลพื้นที่สูงที่ยังไม่มีสัญชาติไทยสามารถทำงานได้ทุกประเภทงาน ซึ่งแต่เดิมทำได้เพียง 27 อาชีพ ตามประกาศเรื่องการกำหนดงานที่ให้คนต่างด้าวตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 เนื่องจากปัจจุบันบุตรหลานของบุคคลพื้นที่สูงหรือบุคคลไร้สัญชาติในไทยได้สำเร็จการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น แต่ในขณะเดียวกันบุคคลเหล่านี้มีข้อจำกัดในด้านเงื่อนไขของกฎหมายดังกล่าว โดยในเบื้องต้นคนกลุ่มดังกล่าวได้รับเพียงสิทธิในด้านการศึกษาและการรักษาพยาบาลเท่านั้น และยังไม่สามารถเดินทางออกนอกเขตพื้นที่ได้ ทั้งนี้ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการเพื่อให้บุคคลกลุ่มนี้ซึ่งมีในประเทศไทยกว่า 5.6 แสนคนได้ทำงานตามความรู้ความสามารถ นอกจากนี้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียม 2,000 บาท แต่ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการยื่นคำร้อง 100 บาท
 
ทั้งนี้หลังจากที่ประชุมเห็นชอบแล้วขั้นตอนต่อไปกรมการจัดหางาน จะนำร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ส่งให้คณะกรรมการฯ พิจารณาอีกครั้ง ก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบและเสนอกฤษฎีกาพิจารณาในขั้นตอนต่อไป
 
ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 24/6/2559
 
กต.-รง.ปฏิเสธข่าวลือโลกโซเชียล5ข้อเรียกร้องเรื่องแรงงาน ย้ำหารือไทย-พม่าสร้างสรรค์ ยึดหลักสากลและรับผิดชอบร่วมกัน
 
เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน และนายเสข วรรณเมธี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ออกมาปฏิเสธรายงานข่าวที่มีการเผยแพร่ในโลกโซเชียลมีเดียกล่าวเกี่ยวกับข้อเรียกร้องขององค์กรพัฒนาเอกชน(เอ็นจีนโอ)และข้อเรียกร้องของกลุ่มแรงงาน 5 ข้อโดยอ้างว่าเป็นข้อเรียกร้องของทางการพม่า โดยยืนยันว่าข้อเรียกร้องต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข่าวนั้นไม่ใช่ข้อเรียกร้องของทางการพม่าแต่อย่างใด
 
โฆษกของทั้งสองกระทรวงระบุว่า ระหว่างการเดินทางเยือนไทยของนาง ออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศพม่า ตามคำเชิญของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 23 – 25 มิถุนายน ทั้งสองฝ่ายได้หารือกันอย่างสร้างสรรค์ซึ่งทำให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมและมีความสำคัญต่อประชาชนทั้งสองประเทศในแนวทาง”จะก้าวหน้าไปด้วยกัน” โดยเฉพาะด้านแรงงาน ซึ่งมีการลงนามความร่วมมือ 2 ฉบับ โดยฉบับแรกเป็นบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน จุดเน้นคือทั้งสองฝ่ายยอมรับหลักการของความเท่าเทียมและผลประโยชน์ร่วมกันให้มีการแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูล เพื่อป้องกันการจ้างงานผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์ และร่วมกันสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการ ขณะที่ความตกลงฉบับที่สองเป็นบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงาน เพื่อป้องกันและปราบปรามการข้ามแดนผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์เพื่อการจ้างงานโดยครอบคลุมทั้งกระบวนการส่งและรับ การคุ้มครอง สัญญาจ้าง การรับรองเอกสาร การอบรมและการให้ความรู้แรงงานก่อนการเดินทาง การตรวจลงตรา อนุญาตทำงาน บริการสุขภาพ การส่งกลับประเทศต้นทาง การระงับข้อพิพาท หน้าที่ของนายจ้างและลูกจ้าง ที่สำคัญพม่าจะต้องจัดให้มีการอบรมก่อนการเดินทางให้กับคนงาน โดยไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายด้วย
 
“การลงนามในเอกสารทั้งสองฉบับนอกจากแสดงถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างกันแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจที่่จะทำให้ความร่วมมือและการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานให้เป็นไปตามหลักสากล และมีความรับผิดชอบร่วมกัน โดยทั้งสองประเทศพร้อมจะเดินไปด้วยกันอย่างมั่นคง เพื่อความผาสุกและความมั่งคั่งของประชาชนทั้งสองประเทศ”ข้อชี้แจงของโฆษกสองกระทรวงระบุ
 
นายเสขกล่าวเพิ่มเติมว่า การหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีและนาง ออง ซาน ซูจี มีประเด็นหลัก 3 ด้าน คือ การคุ้มครองแรงงานพม่าในประเทศไทย ซึ่งไทยได้ให้การดูแลสิทธิแรงงานตามกฎหมาย มีระบบการร้องทุกข์ออนไลน์ผ่านสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1694 มีล่ามภาษาพม่าคอยให้บริการ ทั้งจัดให้มีการเปิดศูนย์แรกรับและส่งกลับที่ อ.แม่สอด จ.ตาก รวมทั้งริเริ่มจัดตั้งศูนย์บริการช่วยเหลือในจังหวัดที่มีแรงงานพม่าจำนวนมาก ขณะที่พม่าจะดูแลนักธุรกิจไทยที่ไปลงทุนในพม่าอย่างดีด้วย ด้านที่ 2 คือความร่วมมือด้านการพัฒนา เน้นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน พัฒนาไปพร้อมกันและก้าวหน้าไปด้วยกัน ทั้งยังเห็นพ้องให้เพิ่มเที่ยวบินของสายการบินของไทยที่เดินทางไปยังพม่า ด้านที่ 3 เป็นประเด็นเศรษฐกิจ โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องเพิ่มความร่วมมือในลักษณะไตรภาคีกับประเทศที่สาม เช่น ญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ตลอดจนร่วมกันทำงานอย่างใกล้ชิดเพื่อสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคภายใต้กรอบอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง
 
นายเสขกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีย้ำว่าการพูดคุยระหว่างการเยือนไทยของ นางออง ซาน ซูจี ในครั้งนี้ เป็นไปอย่างสร้างสรรค์เพื่อความผาสุก และความกินดีอยู่ดีของประชาชนทั้งสองประเทศ ส่วนกระแสข้อเรียกร้องของเอ็นจีโอ และข้อเรียกร้องอื่นๆ เป็นเพียงข้อเรียกร้องที่เสนอผ่านทางสื่อและไม่ได้เป็นข้อเรียกร้องของทางการพม่าแต่อย่างใด
 
 
ลูกจ้าง สนง.ปราบปรามทุจริตกว่า100 เคว้ง หลังปลดแอกจากกระทรวงยุติธรรม
 
ความคืบหน้าของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) ภายหลังจากริเริ่มผลักดันตนเองให้พ้นจากกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กลายเป็นส่วนราชการที่ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวง และขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี โดยเสนอร่างกฎหมาย ป.ป.ท. และพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ความเห็นชอบ และประกาศเป็นกฎหมายในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปลายเดือนเมษายน 2559 และมีผลบังคับใช้แล้ว
 
รายงานข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ท. ระบุว่า หลังการปฏิรูปองค์กรตามกฎหมายดังกล่าว ได้เกิดปัญหาการบริหารบุคคล ในส่วนของการจ้างลูกจ้างชั่วคราวทั่วประเทศกว่าร้อยคนกลายเป็นผู้ที่มีสภาพการจ้างงานที่ไม่แน่นอน จากเดิมที่เป็นลูกจ้างชั่วคราว โดยอาศัยเงินเดือนจากเงินดอกเบี้ยอันเกิดจากเงินกลางของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นเงินนอกงบประมาณมาโดยตลอด เมื่อสำนักงาน ป.ป.ท.แยกตัวออกจากกระทรวงยุติธรรม ทำให้ต้นสังกัดเดิมยุติการจ่ายเงินเดือน รวมทั้งหยุดการเบิกจ่ายเงินโครงการบางโครงการที่ได้เคยอนุมัติให้แก่สำนักงาน ป.ป.ท. ที่จะเบิกจ่ายจากแหล่งเงินดังกล่าวในงวดต่อไป โดยมีผลตั้งแต่กฎหมายแยกตัวของ ป.ป.ท. มีผลบังคับใช้
 
ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ท.ได้พยายามเจรจาต่อรองกับทางกระทรวงยุติธรรมหลายครั้ง ให้จ่ายเงินเดือนจากดอกเบี้ยเงินกลางแก่ลูกจ้างไปอีกระยะหนึ่งอย่างน้อยจนถึงสิ้นปีงบประมาณ แต่ไม่เป็นผล เพราะกระทรวงยุติธรรมเห็นว่า ไม่มีระเบียบรองรับให้จ่ายเงินได้อีกต่อไป
 
ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้ลูกจ้างชั่วคราวทั้งหมด สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างชั่วคราวโดยรับเงินเดือนจากดอกเบี้ยเงินกลางโดยอัตโนมัติ และแปรสภาพเป็นแรงงานจ้างเหมารายวัน มีรายงานว่า ในช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สำนักงาน ป.ป.ท.จ่ายเงินเดือนลูกจ้างงวดเดือนพฤษภาคมล่าช้าไปนานนับสัปดาห์ เพราะอยู่ระหว่างการหาแหล่งเงินมาจ่ายให้ ส่งผลให้ลูกจ้างบางส่วนระบายความคับข้องใจต่อคณะกรรมการ ป.ป.ท. และผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม ถึงปัญหาการปรับเปลี่ยนองค์กรโดยขาดการเตรียมความพร้อมล่วงหน้า และคณะกรรมการ ป.ป.ท. จึงได้เรียกผู้บริหารของสำนักงานไปตำหนิ ส่งผลให้นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท.กล่าวในที่ประชุมผู้บริหารของสำนักงานแสดงความไม่พอใจการกระทำของลูกจ้างหลายรายว่า เป็นการขยายผลเรื่องเล็กให้กลายเป็นเรื่องใหญ่
 
รายงานระบุว่า สำนักงาน ป.ป.ท. กำลังเร่งหาแหล่งเงินเป็นคราวๆ เพื่อจ่ายค่าตอบแทนแก่ลูกจ้างเหล่านี้ แต่เนื่องจากไม่ได้ตั้งงบประมาณแผ่นดินรองรับไว้แต่เนิ่นๆ รวมทั้งไม่ได้ทำคำของบประมาณ ปี 2560 สำหรับลูกจ้างเอาไว้ จึงต้องใช้วิธีการปรับแผนหรือแปลงงบของสำนักงานจากรายการอื่นมาใช้จ่ายไปก่อน แต่วิธีนี้จะมีระยะเวลาในการดำเนินการ เพราะต้องผ่านความเห็นชอบจากสำนักงบประมาณด้วย ยิ่งทำให้ลูกจ้างเกิดความสับสนในสภาพการจ้างของตนเอง เนื่องจากต้องเซ็นสัญญารับจ้างรายวันเป็นแต่ละเดือนไป และต้องส่งเงินสมทบประกันสังคมด้วยตนเอง แทนการหักเงินนำส่งผ่านหน่วยงานซึ่งเคยทำมาแต่เดิม บางรายที่ไม่สามารถยอมรับสภาพได้ ก็เลือกการลาออก หรือไปหาสมัครงานใหม่ และบางรายเตรียมเดินทางไปขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานไว้ด้วย
 
จากข้อมูลล่าสุดรายงานประจำปี 2557 สำนักงาน ป.ป.ท. ระบุว่า อัตรากำลังลูกจ้างชั่วคราว (ตำแหน่งที่มีคนครอง) มีจำนวน 154 อัตราทั้งในส่วนกลางและเขตพื้นที่ทั่วประเทศ
 
 
ก.กิจการผู้สูงอายุ พม. ยันตายจ่ายจริง 2 พันแต่ต้องจน
 
จากกรณีที่มีการแชร์ภาพข้อมูลคนไทยควรรู้ หลังจากเสียชีวิตจะได้รับค่าทำศพคนละ 2,000 บาท โดยข้อมูลภายในเอกสารดังกล่าวระบุ กำหนดให้ผู้สูงอายุที่ถึงแก่กรรมมีอายุ 60 ปี บริบูรณ์ และมีสัญชาติไทย ได้รับการสงเคราะห์ในการจัดทำศพผู้สูงอายุตามประเพณี รายละ 2,000 บาท โดยสามารถยื่นคำร้องขอรับเงินได้ที่อบต. ภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่เสียชีวิต โดยทางอบต.จะส่งคำร้องไปยังสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด(พมจ.) เมื่ออบต.ได้รับเงินจากทาง พมจ.แล้วจะติดต่อกลับไปยังผู้เขียนคำร้องนั้น
 
เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. นายอนุสันต์ เทียนทอง อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้สัมภาษณ์กับ“เดลินิวส์ออนไลน์”ว่า การจัดการเงินค่าทำศพตามประเพณีผู้สูงอายุ ทางกรมกิจการผู้สูงอายุเป็นผู้ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยจะโอนเงินให้ที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงจังหวัด(พมจ.) จากนั้น พมจ.จะประสานกับทางอำเภอ ที่ดูแลในส่วนของ อบต.เทศบาล เพื่อให้เงินกับผู้ที่เสียชีวิต
 
สำหรับหลักเกณฑ์การจ่าย กระทรวง พม.กำหนดไว้ว่า 1.มีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไป 2.มีสัญชาติไทย 3.ผู้สูงอายุอยู่ในครอบครัวที่ยากจนตามข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย หรือ กรุงเทพมหานคร หรือ เมืองพัทยา 4.ไม่มีญาติ หรือ มีญาติแต่ฐานะยากจนไม่สามารถจัดการศพตามประเพณีได้
 
ผู้สูงอายุยากจนและไม่ได้รับการสำรวจข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย หรือ กรุงเทพมหานคร หรือ เมืองพัทยา ให้นายกเทศมนตรี หรือ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล หรือ กำนัน หรือ ผู้ใหญ่บ้าน หรือ ประธานชุมชน หรือ ผู้อำนวยการสำนักงานเขต หรือ นายอำเภอ หรือ นายกเมืองพัทยา เป็นผู้ออกหนังสือรับรอง
 
การยื่นคำขอเพื่อขอรับการสงเคราะห์ในการจัดการศพตามประเพณี ให้ผู้รับผิดชอบในการจัดการศพตามประเพณีรายนั้นยื่นคำขอในท้องที่ที่ผู้สูงอายุมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านหรือ ภูมิลำเนาที่ถึงแก่ความตาย ในขณะที่ถึงแก่ความตายดังนี้ 1.ในกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นคำขอที่สำนักงานเขต สังกัดกรุงเทพมหานคร 2.ในจังหวัดอื่น ให้ยื่นคำขอต่อสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงจังหวัด หรือ ที่ว่าการอำเภอ หรือ เมืองพัทยา หรือ เทศบาล หรือ องค์การบริหารส่วนตำบล
 
ผู้ที่ยื่นขอรับการสงเคราะห์ในการจัดการศพต้องยื่นคำขอภายในกำหนดสามสิบวันนับตั้งแต่วันที่ออกใบมรณบัตรพร้อมเอกสาร ดังนี้ 1.ใบมรณบัตรของผู้สูงอายุพร้อมสำเนาจำนวนหนึ่งฉบับ 2.บัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรอื่นที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐที่มีรูปถ่ายและเลขประจำตัวประชาชนของผู้ยื่นคำขอพร้อมสำเนาจำนวนหนึ่งฉบับ 3.หนังสือรับรองว่าผู้ยื่นคำขอเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการศพตามประเพณี ซึ่งรับรองโดยนายอำเภอ หรือ ผู้อำนวยการสำนักงานเขต หรือ พมจ. หรือนายกเมืองพัทยา หรือนายกเทศมนตรี หรือ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล หรือกำนัน หรือ ผู้ใหญ่บ้าน หรือประธานชุมชน โดยผู้ยื่นคำขอและผู้รับรองต้องไม่เป็นบุคคลเดียวกัน
 
“การจ่ายเงินค่าทำศพ ไม่ได้ให้กับบุคคลทั่ว ๆ ไป แต่จะต้องเป็นผู้ที่มีฐานะยากจนจริง ๆ ตามหลักเกณฑ์ที่ จปฐ.กำหนดไว้ว่าจะต้องเป็นผู้ที่มีรายได้น้อย มีรายได้ครัวเรือนต่ำว่าปีละ 3 หมื่นบาทต่อปี ที่ผ่านมา พม.ดำเนินการแก้ไขระเบียบเพื่อให้การช่วยเหลือเฉพาะผู้สูงอายุยากจนที่เสียชีวิตในปี 2557 มีผลบังคับใช้ 17 ต.ค.57 โดยมีการคาดประมาณประชากรสูงอายุยากจนที่จะเสียชีวิตในปี 2559 ทั้งหมด 55,018 คน การสนับสนุนค่าจัดการศพผู้สูงอายุยากจนที่คาดว่าจะเสียชีวิตรายละ 2,000 เป็นเงินทั้งหมด 110,036,000 บาท แต่พม.ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2559 จำนวน 46,000,000 บาท เพื่อให้การช่วยเหลือผู้สูงอายุ จำนวน 23,000 คน ซึ่งไม่เพียงพอกับจำนวนผู้สูงอายุยากจนที่คาดว่าจะเสียชีวิต” นายอนุสันต์ กล่าว
 
 
'สหภาพทีโอที' จี้บอร์ดเร่งเดินหน้าตามแผนฟื้นฟูกิจการ
 
ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ทีโอที นัดพิเศษเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 ได้พิจารณาเปลี่ยนแปลงมติเดิมเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2559 ที่อนุมัติให้ทีโอทีลงนามในสัญญาทดสอบฯกับบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวิร์ค ในการ ให้บริการ 3จี 2100 โดยบอร์ดทีโอทีขอให้ฝ่าย บริหารระงับการลงนามในข้อตกลงไว้ก่อน และ ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความก่อนว่าการดำเนินการเข้าข่ายการดึงเอกชนร่วมดำเนินธุรกิจตามนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) หรือไม่
 
"ไม่เข้าใจว่าทำไมบอร์ดทีโอทียังไม่กล้าตัดสินใจ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ฝ่ายบริหาร ทีโอทีได้เคยสอบถามไปยังกระทรวงการคลังและสำนักงาน กสทช.แล้ว หากทีโอทีจะลงนามร่วมกับพันธมิตรธุรกิจเช่นเดียวกับที่บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) ทำกับกลุ่มทรูมูฟจะทำได้หรือไม่ ซึ่ง กสทช.ก็มีหนังสือตอบกลับว่าทำได้" แหล่งข่าว กล่าว
 
ทั้งนี้สหภาพรัฐวิสาหกิจทีโอทีเตรียมเรียกร้องให้ฝ่ายบริหารและบอร์ด ทีโอที เร่งดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ รวมทั้งหาพันธมิตรธุรกิจโดยเร็ว เพราะเป็นเรื่องที่ยืดเยื้อมากว่า 2 ปีแล้ว นับตั้งแต่ ทีโอทีได้ดำเนินการสรรหาพันธมิตรธุรกิจเมื่อ กลางปี 2556 ทำทีโอทีสูญเสียโอกาสในการแข่งขันและผลประโยชน์นับหมื่นล้านบาท โดยเฉพาะผลประโยชน์ที่องค์กรควรจะได้รับจากการให้เอไอเอสเช่าคลื่นความถี่ 2100 MHz ปีละ 3,900 ล้านบาท และโครงข่ายโทรคมนาคม 2จี อีกปีละกว่า 3,600 ล้านบาท ไม่รวมผลประโยชน์อื่นๆ
 
อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของทีโอทีที่ขาดทุนต่อเนื่องมาหลายปี ล่าสุดมี กระแสว่าอาจจะต้องมีการลดจำนวนพนักงาน กว่า 1,000 คน ในสิ้นปี 2559 เนื่องจากไม่สามารถฟื้นฟูองค์กรตามมติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้
 
แหล่งข่าว กล่าวว่า แม้ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (ซูเปอร์บอร์ด) ประกาศจะใช้ม.44 เพื่อเร่งรัดให้ 7 รัฐวิสาหกิจที่อยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการ ให้ เร่งรัดแก้ไขปัญหาขาดทุนขององค์กรโดยเร็ว และได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ใช้ผลงานแก้ไขปัญหาองค์กรเป็นตัวชี้วัดการทำงาน (KPI) ของทั้งบอร์ดรัฐวิสาหกิจและฝ่ายบริหาร รวมถึง กระทรวงต้นสังกัด แต่ก็ดูเหมือนจะมีเพียงบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ดำเนินการ ฟื้นฟูองค์กรได้ตามเป้าของซูเปอร์บอร์ด
 
"ล่าสุด รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพิ่งเรียกบอร์ดทีโอทีและ CAT ไปให้นโยบายให้เร่งรัดปรับโครงสร้างองค์กรและจัดทัพธุรกิจใหม่ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพลิกฟื้นองค์กรเพื่อให้มีรายได้อย่างยั่งยืน ซึ่งต้องรอดูว่าหลังจากนี้ฝ่ายบริหารของทีโอทีจะดำเนินการได้เป็น รูปธรรมขนาดไหน" แหล่งข่าว กล่าว
 
 
'ซูจี' MOU แรงงานหนุนภาพลักษณ์ไทยดี
 
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยกับ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า ในโอกาสการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ของนางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐแห่งสาธารณรัฐสหภาพเมียนมา ในฐานะแขกของรัฐบาล ลงนามบันทึกความตกลง 3 ฉบับ ประกอบด้วย บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน บันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงานระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลเมียนมา และบันทึกความตกลงว่าด้วยการข้ามแดนนั้น ทำให้ทั้ง 2 ประเทศ มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันและทำให้ภาพลักษณ์ของประะเทศไทยเรื่องการบริหารจัดการแรงงานดีขึ้น ปราศจากการค้ามนุษย์ พร้อมย้ำว่า สถานการณ์แรงงานในประเทศขณะนี้ ไม่พบสัญญาณการว่างงานขนาดใหญ่ ซึ่งขณะนี้มีตำแหน่งว่างงานอยู่ประมาณ 40,000 กว่าตำแหน่ง ในวุฒิการศึกษาระดับ ปวช. - ปวส. ส่วนผู้ที่จบปริญญาตรีบางส่วน ก็หันมาประกอบอาชีพอิสระ หรือ ค้าขายสินค้าทางออนไลน์มากขึ้น
 
 
กอศ.อนุมัติเพิ่มหลักสูตร ป.ตรีปี 2559 เน้นสอนเฉพาะด้านตอบโจทย์ตลาดแรงงาน
 
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษา 23 แห่ง แบ่งเป็นสถาบันการอาชีวศึกษา 19 แห่ง มีสถานศึกษาในสังกัด 161 แห่ง และสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตร 4 แห่ง มีสถานศึกษาในสังกัด อีก 41 แห่ง รวม 202 แห่ง เพื่อจัดการเรียนการสอนหลักสูตรปริญญาตรีสายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ มาตั้งแต่ปีการศึกษา 2556 นั้น ในแต่ละปีทางสถาบัน ที่มีความพร้อมจะเสนอหลักสูตรให้สภาสถาบันแต่ละแห่งเห็นชอบเสนอคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (บอร์ด กอศ.) พิจารณาอนุมัติ ซึ่งในปีการศึกษา 2556 บอร์ด กอศ. ได้อนุมัติไป 43 หลักสูตรใน 16 สาขาวิชาของ 9 สถาบัน และผ่านการรับรองคุณวุฒิจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) แล้ว มีผู้สำเร็จการศึกษาทั้งสิ้น 608 คน
 
ปีการศึกษา 2557 อนุมัติเพิ่มเติม 80 หลักสูตรใน 14 สาขาวิชาของ 18 สถาบัน และผ่านการรับรองคุณวุฒิ จาก ก.พ. โดยผู้สำเร็จการศึกษา 1,512 คน ปีการศึกษา 2558 อนุมัติอีก 76 หลักสูตรใน 19 สาขาวิชาของ 18 สถาบัน ปัจจุบันมีนักศึกษาอยู่ 2,567 คน และอยู่ในระหว่างการพิจารณารับรองหลักสูตรของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ก่อนส่งให้ก.ค.ศ. และก.พ. รับรองวุฒิต่อไป และปีการศึกษา 2559 บอร์ด กอศ. ได้อนุมัติเพิ่มเติม 68 หลักสูตรใน 17 สาขาวิชาของ 18 สถาบัน ไปตั้งแต่วันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยหลังจากนี้ จะส่งให้สกอ. รับรอง ส่งต่อให้ก.ค.ศ. และก.พ.ดำเนินการต่อไปตามลำดับ
 
"ตั้งแต่ปีการศึกษา 2556 เป็นต้นมา มีสถานศึกษาทั้ง 202 แห่งจัดการเรียนการสอนระบบทวิภาคีหลักสูตรป.ตรีฯ แล้วทั้งสิ้น 25 สาขาวิชา สำหรับหลักสูตรดังกล่าวจะใช้หลักสูตรที่พัฒนาร่วมกับสถานประกอบการสอนเด็ก เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง ดังนั้นบางสาขาวิชาที่มีชื่อเหมือนกัน แต่เปิดสอนต่างสถาบัน ผู้สำเร็จการศึกษาย่อมมีความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องที่แตกต่างกัน ตามลักษณะของความต้องการกำลังคนในพื้นที่นั้นๆ" นายชัยพฤกษ์กล่าว
 
ที่มา: ข่าวสด ฉบับวันที่ 28 มิ.ย. 2559 (กรอบบ่าย)
 
ปรับหลักสูตรอาชีพอันตรายสาธารณะ ชงปลดล็อก พรบ.แรงงาน
 
นายวณิชย์ อ่วมศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงแรงงานจะทยอยออกประกาศสาขาอาชีพที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะ เช่น ช่างไฟฟ้าภายนอกอาคาร ช่างเชื่อม และ ช่างยนต์นั้น ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้นำมาตรฐานฝีมือแรงงานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มาปรับใช้กับหลักสูตรอาชีวศึกษาทั้งในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) โดยคาดว่าหลังจากดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ แล้วเสร็จจะประกาศใช้หลักสูตรใหม่ได้ภายในปีการศึกษา 2560 ที่จะถึงนี้ ทั้งนี้ เนื่องจาก สอศ.กำหนดให้มีการทดสอบมาตรฐานวิชาชีพนักเรียน นักศึกษาที่เรียนปีสุดท้ายก่อนจบการศึกษา ดังนั้น สอศ.จะเสนอต่อกรมพัฒนาฝีมือแรงงานขอให้ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานไปในคราวเดียวกัน เพื่อช่วยให้นักเรียนนักศึกษาอาชีวศึกษาได้รับใบรับรอง 2 ใบ คือใบรับรองมาตรฐานวิชาชีพ และใบรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงาน อันเป็นการช่วยลดภาระแก่ผู้เรียนด้วย
 
นอกจากนี้จะเสนอกรมพัฒนาฝีมือแรงงานขอผ่อนผันหรือปรับแก้พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 ที่กำหนดคุณสมบัติของผู้เข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานพื้นฐาน ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ โดยขอให้ผู้เรียนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีสามารถเข้ารับการทดสอบได้ โดยเบื้องต้นมีนักเรียนระดับ ปวช.ปี 3 อายุต่ำกว่า 18 ปี ประมาณ 88,162 คน หรือคิดเป็น 61 เปอร์เซ็นต์ของนักเรียน ปวช.3 ทั้งประเทศประมาณ 1.4 แสนคน เนื่องจากหากเด็กกลุ่มนี้เรียนจบแล้วแต่ไม่เข้ารับการทดสอบ ก็ไม่สามารถประกอบอาชีพที่กระทรวงแรงงานประกาศว่าอาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะได้ พร้อมกันนี้จะเสนอขอให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานยกเว้นค่าฝึกอบรมภาคปฏิบัติและ ค่าทดสอบให้แก่ผู้เรียน รวมถึงจัดตั้งงบประมาณสนับสนุนค่าวัสดุประกอบการทดสอบ และค่าสาธารณูปโภคให้แก่ศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานที่อยู่ในสถานศึกษาสังกัด สอศ.ด้วย
 
 
สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย ร่วมกับ ILO จัดสัมมนาเตรียมรับแรงงานเวียดนามทะลักเข้าไทย
 
เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2559 ที่โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด การสัมมนาเพื่อส่งเสริมกระบวนการจัดหางานและจ้างงานที่เป็นธรรม ในการนำเข้าแรงงานเวียดนามเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศไทย ซึ่งจัดโดย สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย (ECOT ) ร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)
 
นายแม๊กซ์ ทูนอน (Max Tunon) ผู้แทนองค์การแรงงานระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การนำเข้าแรงงานข้ามชาตินายจ้างควรจะดูแลในเรื่องนำเข้าแรงงาน การย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งทั้ง 4 สัญชาติ พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ปัญหาที่พบตอนนี้ คือ ไม่ทราบความต้องการแรงงานว่ามีมากน้อยเท่าไร แต่ละสาขามีความต้องการเป็นอย่างไร ซึ่งจำนวนของแรงงานเป็นตัวหลักสำคัญในการนำไปพัฒนานโยบายการนำเข้าแรงงานที่ถูกต้องของแต่ละภาคส่วน
 
ผู้แทนองค์การแรงงานระหว่างประเทศ กล่าวอีกว่า การลงนามข้อตกลงเพื่อทำกรอบในการนำเข้าแรงงาน ทำให้เกิดการหารือระหว่างคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ ซึ่ง ILO เห็นว่าการที่ ECOT (สภาองค์การนายจ้าง) ซึ่งเป็นตัวแทนฝั่งนายจ้างเป็นตัวแปรที่สำคัญในการหารือ และวางกรอบที่กว้างขึ้น เพื่อเป็นตัวให้ข้อมูลและนำไปสู่ภาคปฏิบัติในที่สุด
 
"การหารือทำให้มีการคุยกันทุกฝ่าย ให้เรารู้ถึงความต้องการของแรงงานว่าต้องการเข้ามาแบบไหน จะมาภายใต้ MOU หรือแบบถือบัตรสีชมพู รวมถึงการลักลอบเข้ามา ซึ่งจะทำให้เราได้ทราบถึงปัจจัยว่า อะไรที่ทำให้แรงงานตัดสินใจเข้ามาทำงานในช่องทางเหล่านั้น" ผู้แทนองค์การแรงงานระหว่างประเทศ กล่าว
 
นายแม๊กซ์ กล่าว การทำค่าใช้จ่ายเป็นศูนย์ (ZERO FEE) สำหรับแรงงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก ซึ่งภายใต้อนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ ก็มีกว่า 32 ประเทศ ที่ได้ลงสัตยาบรรณในเรื่องนี้ เช่น ยูเออี ซาอุฯ และอีกหลายๆ ประเทศ ที่ได้รับหลักการไปแล้ว ซึ่งเรื่องค่าใช้จ่ายเป็นศูนย์ได้หรือไม่นั้น ภาคเอกชนก็ต้องเคลื่อนตัวด้วย โดยภาครัฐต้องมีส่วนเข้ามาสนับสนุนเพื่อไม่เป็นภาระของแรงงาน ซึ่งในภูมิภาคนี้ประทศไทยน่าจะเป็นตัวนำร่องในการทำให้เกิดค่าใช้จ่ายของแรงงานเป็นศูนย์ได้ โดยผลักภาระไปไว้ที่นายจ้าง เพราะนายจ้างเป็นผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเห็นได้จากภาคอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปสัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมอีเลกทรอนิกส์ โดยหากอุตสากรรมภาคเหล่านี้ทำได้ แรงงานก็จะไปสู่ตลาดอุตสาหกรรมนี้โดยอัตโนมัติ
 
ด้าน ดร.อารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า การนำเข้าแรงงานภายใต้บันทึกความเข้าใจทวิภาคี MOU ระหว่างไทยกับเวียดนาม ว่าหาก MOU นำไปสู่ภาคปฏิบัติแล้วจะทำให้เราทราบภึงความต้องการทั้งนายจ้างและลูกจ้าง เพื่อทำให้ปัญหาการลักลอบเข้ามาทำงานลดลง ซึ่งกรณีที่ทำกับเวียดนามนั้น จะเป็นตัวอย่างในการนำร่องการนำเข้าแรงงานอย่างถูกต้องตามหลักสากล โดยภาคการก่อสร้างในบ้านเราทุกวันนี้ เวียดนามไม่ได้อยู่ในระบบการก่อสร้าง เพราะบ้านเขาก็มีความต้องการเช่นกัน โดยภาคก่อสร้างเป็นแรงงานระดับล่าง แต่หากเป็นแรงงานฝีมือ อัตราค่าจ้างก็จะผันตามระดับฝีมือ ที่ผ่านมา แรงงานเวียดนามไม่ได้สนใจในการทำงานภาคก่อสร้างนี้ในบ้านเรา เพราะอุตสาหกรรมก่อสร้างบ้านเขาก็มีความต้องการไม่น้อย และค่าจ้างของเขาก็อยู่ในอัตราที่สูง รายละเอียดตรงนี้เขาต้องการความชัดเจนตรงค่าแรงงานเพื่อนำไปสู่การพัฒนาฝีมือ โดยความต้องการของไทยในขณะนี้เรามีความต้องการในการก่อสร้างในระบบราง และโครงการก่อสร้างในต่างประเทศ ตรงนี้นายจ้างฝั่งเวียดนามก็จะนำข้อมูลกับไปหารือกับแรงงานฝั่งเขา การที่เราจะนำร่องการจัดส่งแรงงานตามเอ็มโอยูนี้เราต้องมีความชัดเจนในเรื่องสัญญาจ้าง และค่าบริการต่างๆ
 
"ในภาคการก่อสร้างที่ผ่านมาเราเปิดให้ลงทะเบียนแรงงานต่างด้าว ไม่มีแรงงานชาวเวียดนามมาลงทะเบียนเลย ความมุ่งหวังของเราก็คือหากเวียดนามเข้ามาก็จะอยู่ในภาคของการประมง ซึ่งการว่าจ้างที่จะให้เกิดความเป็นธรรมก็จะต้องฝึกอบรมก่อนเข้ามาทำงาน และมีตัวแทนที่ชัดเจนทั้งสองฝ่าย ซึ่งหากทุกอย่างเป็นไปตามกรอบ ภายในกรกฎาคมนี้ จะมีการพูดคุยกันอีกครั้ง และในต้นเดือนกันยายน แรงงานชุดแรกก็น่าจะเดินทางเข้ามาทำงานได้" อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว
 
ขณะที่ นายสุเมธ มโหสถ รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่าการสัมมนาในครั้งนี้จะช่วยส่งเสริม และสร้างความเข้าใจต่อกระบวนการจัดหางาน และจ้างงานแรงงานเวียดนามที่เข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศไทยตาม MOU ที่ประเทศไทยและเวียดนามได้ลงนามร่วมกันไปแล้ว โดยการสัมมนาจะระบุถึงกลไกการติดตามและส่งต่อ กรณีการจัดหางานที่ไม่เป็นธรรม และการละเมิดสิทธิแรงงาน ซึ่งนำไปสู่เป้าหมายร่วมกันเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการด้านแรงงานให้ถูกต้อง ได้มาตรฐาน ขจัดปัญหาหลอกลวง และการเอารัดเอาเปรียบเพื่อประโยชน์ของแรงงานต่างด้าว และนายจ้าง ผู้ประกอบการ รวมทั้งเป็นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ
 
นายสุเมธ กล่าวอีกว่า แรงงานต่างด้าวเป็นต้นทุนที่สำคัญในระบบการผลิต แรงงานที่มีคุณภาพย่อมส่งเสริมให้การผลิตได้คุณภาพ มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ การที่จะได้มาซึ่งแรงงานต่างด้าวที่มีคุณภาพนั้น ประกอบด้วยปัจจัยหลายประการ ทั้งกระบวนการนำเข้าที่ถูกต้องตามกฎหมายสภาพการจ้าง สภาพการทำงาน สิทธิ และสวัสดิการที่มีความเหมาะสม และเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม และการเข้าถึงบริการของรัฐ เร่งสร้างโอกาส อาชีพ และรายได้ที่มั่นคงแก่ผู้ที่เข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งหมายรวมถึงแรงงานข้ามชาติที่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ อันนำมาสู่นโยบายของกระทรวงแรงงานในการคุ้มครองแรงงานต่างด้าวทั้งระบบ
 
นายสุเมธ ยังกล่าวอีกว่า การคุ้มครองแรงงานต่างด้าวทั้งระบบนั้น ต้องมุ่งเน้นทั้งการบริหารจัดการ การกำหนดมาตรฐาน การจ้างการป้องกันการลักลอบการทำงาน การบังคับใช้กฎหมาย การปรับระบบฐานข้อมูลการประชาสัมพันธ์ และสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อให้แรงงานต่างด้าวทำงานโดยถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกให้กับนายจ้างและแรงงาน ให้เข้าถึงการบริการได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และทั่วถึง เน้นการดำเนินการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อเป้าหมายที่จะนำแรงงานกลุ่มนี้ไปสู่แรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมายอย่างแท้จริง ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ซึ่งการสัมมนาจะเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการจัดหางาน และจ้างงานแรงงานเวียดนามเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศไทย และจะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้กระบวนการจ้างแรงงานเวียดนามเข้ามาทำงานในประเทศไทยประสบความสำเร็จ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมทั้งระบบเศรษฐกิจ
 
ด้านนายเอกสิทธิ์ คุณานันทกุล ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ECOT ในฐานะสมาชิกองค์การนายจ้างระหว่างประเทศ และตัวแทนภาคีฝ่ายนายจ้างของประเทศไทย ที่ทำงานร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ได้รับฟังความคิดเห็นของสมาชิกในเรื่องนโยบายของรัฐบาลที่ได้ทำ MOU ร่วมกับรัฐบาลประเทศเวียดนาม เพื่อนำเข้าแรงงานในสาขาก่อสร้างและประมง ซึ่งจากการรับฟังความคิดเห็นของสมาชิก ECOT เล็งเห็นว่า MOU ที่เพิ่งเริ่มนำสู่การปฏิบัตินี้อาจจะยังไม่สามารถตอบสนองปัญหาการขาดแคลนแรงงานของภาคธุรกิจได้ ECOT จึงได้ขอรับการสนับสนุนจาก ILO และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) เพื่อจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการของภาคีฝ่ายนายจ้างครั้งนี้
 
"เราได้เชิญตัวแทนภาคธุรกิจ ภาครัฐ ผู้เชี่ยวชาญจาก ILO และ IOM มาร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้ MOU นี้สามารถตอบสนองความต้องการของนายจ้างได้ โดยข้อสรุปที่ได้จากการสัมมนาเชิงปฏิบัติการครั้งนี้จะได้นำเสนอกระทรวงแรงงาน เพื่อหาแนวทางไปสู่การปฏิบัติจริงในอนาคตอันใกล้นี้" ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย กล่าว
 
ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่า การสัมมนาในวันนี้จะไปสู่การพูดคุยถึงความต้องการที่แท้จริงของทั้งนายจ้างและลูกจ้าง แต่ทั้งนี้ก็ต้องนำข้อเท็จจริงที่เป็นองค์ประกอบทั้งหมดขึ้นมาหารือกัน โดยเฉพาะความต้องการของแรงงานชาวเวียดนาม ที่ต้องการเข้ามาทำงานอย่างถูกต้องในภาคอื่นๆ ที่ไม่ใช่กฎหมายของไทยเปิดช่องไว้ โดยเราเปิดช่องไว้เพียงอุตสาหกรรมการก่อสร้าง และประมง แต่ในข้อเท็จจริง แรงงานชาวเวียดนามมาฝังตัวอยู่ในภาคบริการของประเทศเราจำนวนมาก ถ้าเราเอามาทำให้ถูกต้อง ก็จะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้งแรงงานเองก็ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ผู้ประกอบการเองก็มีความชัดเจนว่าจะต้องทำอย่างไร เราต้องยอมรับว่าแรงงานเวียดนามนั้น เป็นแรงงานที่มีฝีมือ มีทักษะ เพราะเวียดนามเองมีการพัฒนาส่งเสริมทั้งทักษะและการศึกษา ซึ่งผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมที่เปิดโรงงานอยู่ที่เวียดนามเองเขาพอใจในการทำงานของคนเวียดนาม และเมื่อเขาเปิดโรงงานที่เมืองไทยเขาก็อยากได้แรงงานจากเวียดนาม แต่กฎหมายยังไม่เปิดช่อง ซึ่งเราก็จะนำข้อหารือในวันนี้ทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนไปนำเสนอภาครัฐ
 
 
“เครือเซ็นทารา” จัดตั้งโครงการ “จ้างแรงงานวัยเกษียณ”
 
รายงานข่าวจากกลุ่มโรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา เปิดเผยว่า โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา ซึ่งปัจจุบันมีโรงแรมในเครือกว่า 70 แห่งทั้งในไทยและต่างประเทศ พร้อมตอบสนองนโนบายรัฐ แสดงความมุ่งมั่นในการสนับสนุนมติกระทรวงการคลังในการจัดตั้งโครงการใหม่ในการออกมาตรการลดหย่อนภาษีแก่บริษัทผู้ว่าจ้างแรงงานสูงวัย ซึ่งรัฐบาลกำลังอยู่ในช่วงพิจารณา และพยายามวางแผนให้ประเทศไทยกลายเป็น "สังคมผู้สูงวัย" ในอนาคตอันใกล้
 
ทั้งนี้ เซ็นทาราเป็นองค์กรลำดับต้นๆ ของประเทศไทยที่ให้ความสนับสนุนความพยายามในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ โดยได้กำหนดนโยบายต่างๆ ทางด้านทรัพยากรบุคคลที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้ความสำคัญกับทรัพยากรบุคคลที่ร่วมงานกับบริษัทมาเป็นระยะเวลานานจนถึงปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงพนักงานที่มีแนวโน้มกลับเข้ามาร่วมงานกับบริษัทใหม่ ตลอดจนบุคลากรที่มีอายุเกิน 50 ปี และพนักงานหญิงที่กลับมาทำงานหลังจากการเลี้ยงดูบุตร และพนักงานที่ลาออกไปดูแลผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุแบบเต็มเวลาให้มากที่สุด
 
โดยในปัจจุบัน เซ็นทารากำลังเริ่มนำนโยบายเกี่ยวกับชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น การใช้กลยุทธ์การแชร์งาน และการสับเปลี่ยนโยกย้ายกำลังคนมาใช้ ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่ลูกจ้าง 2 คนกำลังจะเกษียณอายุจากการทำงานเต็มเวลา พวกเขาอาจสามารถปรับเปลี่ยนบทบาทมาแชร์ความรับผิดชอบในงานนั้นๆ ร่วมกันได้ นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังจะออกมาตรการพิเศษต่างๆขึ้นมาเพื่อจูงใจให้บุคลากรเก่าๆ หรือพนักงานที่มีประสบการณ์ที่ได้เกษียณอายุจากทางเซ็นทารา หรือจากบริษัทอื่นๆ มาก่อนหน้านี้ เข้ามาร่วมงานกับทางบริษัทฯ ด้วย
 
นายธีระยุทธ จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา กล่าวเสริมว่า พนักงานที่เคยทำงานในแวดวงอุตสาหกรรมที่คล้ายคลึงกัน หรือทำงานในตำแหน่งคล้ายๆ กันมาเป็นเวลานาน มักจะมีความรู้ความชำนาญในงานของตนเป็นอย่างมาก ซึ่งประสบการณ์เหล่านั้นนับเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากที่สุด และเชื่อว่าบุคลากรที่มีอายุงานมากๆ เปรียบเสมือนกับทรัพยากรอันทรงคุณค่าที่ไม่อาจหาสิ่งใดมาทดแทนได้ สำหรับตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสร่วมอยู่ในทีมจะแสดงให้เห็นถึงความเหนือชั้นในการให้บริการ ซึ่งจะทำให้บริษัทเติบโตอย่างแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น
 
ปัจจุบันทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของพนักงานสูงวัยที่สามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในเรื่องของประสบการณ์ที่สั่งสมมายาวนาน และเมื่ออายุโดยเฉลี่ยของประชากรโลกเพิ่มสูงขึ้น การรักษาพนักงานที่มีทักษะความสามารถให้ยังอยู่กับองค์กรนานกว่าอายุเกษียณจึงกลายเป็นกลยุทธ์ที่มีความสำคัญอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะจะช่วยในการรักษามาตรฐานการให้บริการให้คงอยู่ในระดับสูง และมีพนักงานมาทำงานเต็มจำนวน
 
 
ครม.เห็นชอบ-อนุมัติ MOU ด้าน “แรงงานไทย-ลาว”
 
ผู้สื่อข่าวรายงาน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (28 มิ.ย.) มีมติเห็นชอบและอนุมัติ ตามที่กระทรวงแรงงาน เสนอ ดังนี้ 1.เห็นชอบต่อ (ร่าง) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MOU) ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 2.อนุมัติให้พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นผู้แทนฝ่ายไทยในการลงนามในเอกสารดังกล่าว
 
3.มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม ให้พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นผู้ลงนามในเอกสารดังกล่าว 4.หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขเอกสารดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย และไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ให้รง.ดำเนินการได้โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลังตามหลักเกณฑ์ของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 เรื่องการจัดทำหนังสือสัญญาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ
 
สำหรับสาระสำคัญของร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงงานระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับความร่วมมือด้านแรงงานร่วมกัน โดยมีกรอบความร่วมมือ ได้แก่ (1) ความร่วมมือทางวิชาการ (2) ความร่วมมือด้านการพัฒนาฝีมือแรงงาน (3) ความมือด้านการจ้างแรงงาน (4) ความร่วมมือด้านการคุ้มครองแรงงาน และ (5) ความร่วมมือด้านการประกันสังคม และเพื่อเป็นการดำเนินงานและติดตามการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจฯ จะมีการจัดประชุมร่วมสองฝ่าย ทั้งระดับรัฐมนตรีและระดับเจ้าหน้าที่
 
ทั้งนี้ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการลงนามบันทึกความเข้าใจดังกล่าว จะเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐบาลของทั้งสองประเทศ ซึ่งมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันในการพัฒนาและขยายความร่วมมือด้านแรงงานให้ครอบคลุมในหลายมิติดังกล่าวข้างต้น และเป็นการส่งเสริมบทบาทของไทยในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และแนวปฏิบัติร่วมกัน ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดเป็นการสร้างพันธมิตรในเวทีระหว่างประเทศของภูมิภาค จะนำไปสู่การกำหนดทิศทางนโยบายด้านแรงงานระหว่างประเทศร่วมกันในระดับทวิภาคี และระดับภูมิภาคต่อไปในอนาคต
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท