Skip to main content
sharethis
เมื่อป่วยไข้ไม่สบาย ‘ยาชุด’ ยังเป็นตัวเลือกหลักของผู้ใช้แรงงงาน ด้วยว่าหายเพียงข้ามคืน เทียบการหยุดงานหาหมอแต่ได้แค่ยาแก้ปวด ขณะที่การจ้างงานรายวันไม่เอื้อให้ลาป่วย ซ้ำงานวิจัยยังผลักผู้ใช้ยาชุด  ผ่านคำอธิบาย ‘ไม่รู้ว่าเป็นยาอันตราย’  แนะแพทย์-ผู้เชี่ยวชาญดูบริบทชีวิตคนจน
 
 

“ยาชุด” เป็นยาอันตรายตามพระราชบัญญัติยา 2510 (พ.ร.บ. 2510) เนื่องจากเป็นยานอกทะเบียน และจากการสุ่มตรวจ พบสารสเตียรอยด์ในตัวยา ซึ่งถือเป็นยาอันตรายหากใช้โดยปราศจากการควบคุมของแพทย์  เนื่องจาก ผลข้างเคียงจากการใช้ยาเกินขนาดรุนแรงถึงขั้นทำให้ตาบอดและล้มหมอนนอนเสื่อจากภาวะกระดูกเสื่อม กระนั้นยาชุดกลับไม่ได้ลดความนิยมลงแต่อย่างใด โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน  ผลลัพธ์ของการกินยาแสดงออกเพียงข้ามคืน โดยเฉพาะการหายจากอาการปวดเมื่อยหรืออักเสบของกล้ามเนื้อที่เมื่อยล้าจากการทำงานหนัก

การเฝ้าระวังการการใช้ยาไม่เหมาะสมถูกกล่าวถึงเรื่อยมาหลายทศวรรษ รูปธรรมจากผลการศึกษาที่ผ่านมากว่าสองทศวรรษ ปรากฏให้เห็นผ่านแนวนโยบายที่ยังให้น้ำหนักไปที่การณรงค์ให้ความรู้กับประชาชนในรูปแบบต่างๆ ให้ทันสมัยมากยิ่งขั้น  จากเดิมที่รณรงค์ผ่านแผ่นพับประชาสัมพันธ์  กระจายผ่านหน่วยงานสุขภาพในชุมชน  ขึ้นเป็นการประสัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น ให้ความรู้ผ่านอุปกรณ์ออนไลน์ต่างๆ  แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาการใช้ยาชุดรักษาตนเองของประชาชนได้อย่างที่ต้องการ

นำมาสู่คำถามที่ว่าเพราะเหตุใดยาชุดจึงยังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายสวนทางกับการแก้ปัญหาของหน่วยงานสาธารณสุข

ย้อนดูงานศึกษาอันตราย’ยาชุด’ในเมืองไทย

อันตรายและการแพร่กระจายของยาชุดในกลุ่มผู้ใช้แรงงานและประชาชนในเขตชนบท ถูกกล่าวถึงอย่างจริงจังราวสองทศวรรษที่ผ่านมา หรือราว พ.ศ.2530 เป็นต้นมา งานศึกษาส่วนใหญ่ทำโดยแพทย์และเภสัชกร หรือหน่วยงานสาธารณสุข กรอบการศึกษาส่วนใหญ่ให้น้ำหนักไปที่การสำรวจพฤติกรรมการใช้ยารักษาตัวเองในชุมชน  พบว่าการใช้ยาส่วนใหญ่ของประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลข้างเคียงของยาที่ใช้  มีแนวโน้มที่จะเลือกใช้ยาตามการโฆษณาของผู้ขาย โดยเฉพาะประชาชนในเขตชนบทและกลุ่มผู้ใช้แรงงาน  ตัวอย่างเช่น  งานศึกษาของ ศรีเพ็ญ ตันติเวสส, วิชัย โชควิวัฒน และสุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ เรื่อง ‘ระบบยาของประเทศไทย’  จากการอ้างอิงผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2533  พบว่า ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ได้แก่ กลุ่มลูกจ้างเกษตรกร กลุ่มลูกจ้างคนงานทั่วไป และกลุ่มคนที่อยู่นอกเขตเทศบาล  เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนค่าใช่จ่ายเพื่อการซื้อยากินเองมากที่สุด หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ คนจนมีพฤติกรรมการซื้อยากินเองมากกว่าคนรวย

ทัศนคติและความเชื่อที่มีผลต่อการใช้ยารักษาตนเองนั้น  งานศึกษาส่วนใหญ่พบว่า ทัศนคติต่อยาในกองทุนยาของชาวบ้าน มองว่าเป็นยาที่ได้รับแจกจากอนามัยหรือโรงพยาบาล มีฤทธ์การรักษาไม่รุนแรงเท่ายาที่ซื้อจากร้านชำ และมักซื้อยาจากชื่อทางการค้ามากกว่าชื่อทางการแพทย์  โดยเชื่อว่าการกินยาในปริมาณมากเป็นผลดีต่ออาการของโรคมากกว่ากินแค่ยาที่แพทย์จ่ายให้  ตัวอย่างเช่น  งานของ ประสาท ลิ่มดุลย์ เรื่อง ‘การคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาในชุมชน’  สรุปวิธีคิดของชาวบ้านที่ใช้ในการประเมินสรรพคุณของยาว่า ชาวบ้านให้ความสำคัญกับการหาย ไม่สนใจโทษอื่นๆ ของยา เพราะระบบคิดของชาวบ้านจะให้ความสำคัญกับการหายซึ่งเป็นผลระยะสั้น ขณะที่โทษของยาเป็นเรื่องของอานาคต ค่อยคิดภายหลัง นอกจากนี้ยังพบว่า ชาวบ้านยังอาศัยแนวคิด ‘ลางเนื้อชอบลางยา’ หรือ แต่ละคนถูกกับยาไม่เหมือนกัน  หรือเป็นเรื่องของเวรกรรมฯ  มาอธิบายเมื่อเกิดกรณีที่ยารักษา ไม่ได้ผลกับบางคนและได้ผลกับบางคน  

สำหรับเหตุผลที่มีส่วนกำหนดให้ซื้อยารักษาตนเอง งานศึกษาหลายชิ้นระบุคล้ายคลึงกันว่า แหล่งข้อมูลสำคัญ ของการตัดสินใจเลือกซื้อยาของชาวบ้านคือ  เพื่อนบ้าน โฆษณา และประสบการณ์รักษาในอดีต  ตัวอย่างเช่น งานของสุพัตรา ชาญบัญชาชัย และ บทวิเคราะห์ของเจริญชัย ต้นตระกูลรัตน์ สรุปว่า การตัดสินใจใช้ยารักษา ตนเองเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน มีแหล่งข้อมูลจากหลายแหล่งแต่ที่สำคัญคือ บุคคล เช่น เพื่อนบ้าน ญาติ มักให้ คำแนะนำทั้งชนิดของยา สรรพคุณ และวิธีใช้

สอดคล้องกับผลการศึกษาล่าสุดของเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559  ที่ตีพิมพ์ในวารสารเภสัชศาสตร์อีสานเรื่อง ‘แหล่ง   ต้นทางและเส้นทางการกระจายยาไม่เหมาะสมในชุมชนจาก 8 จังหวัด สู่ข้อเสนอเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหา การกระจายยาไม่เหมาะสมเชิงระบบ ‘  เผยแพร่เมื่อกุมภาพันธ์ 25559 ระบุว่า ผู้ใช้ยาส่วนใหญ่ในเขตชนบทยังมี  พฤติกรรมซื้อยารักษาตนเอง  โดยพิจารณาจากสรรพคุณที่ผู้ขายโฆษณา ขณะที่ช่องทางการซื้อยาส่วนใหญ่คือ   ร้านชำในชุมชน

ร้านชำ แหล่งกระจายยาอันตราย

จากสำรวจร้านขายของชำรวม 613 ร้านในเขคภาคอีสาน 8 จังหวัดเมื่อปี 2556-2557 พบว่า มีการจำหน่ายยารวม    2,991 รายการ แบ่งเป็น  ยาอันตราย ร้อยละ 30.9 / ยาสามัญประจำบ้าน ร้อยละ 21.8  / ยาแผนปัจจุบันบรรจุเสร็จ ร้อยละ 20.3  / ยาแผน โบราณร้อยละ13.6  / ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารร้อยละ 7.7  /  ยาชุด ร้อยละ 4.4  / ยา  สมุนไพร ร้อยละ 0.9  / และยาควบคุมพิเศษ ร้อยละ 0.4 นอกจากนี้ยังพบการปลอมปนสเตียรอยด์ในยาบางส่วน

 

(อ่านเพิ่มเติมรายงานนี้จนจบได้ที่: ‘ยาชุด’ปนเสตียรอยด์ซื้อง่ายขายคล่อง ผู้ใช้แรงงานรู้อันตรายแต่ไร้ทางเลือก)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net