Skip to main content
sharethis

นักสิทธิสตรีในจีนพูดถึงกรณีการออกกฎหมายต่อต้านความรุนแรงในครอบครัวฉบับใหม่ที่ให้ญาติใกล้ชิดช่วยฟ้องร้องแทนเหยื่อได้ แม้ว่าตัวกฎหมายเองจะก้าวหน้าขึ้นแต่แนวคิดฝังหัวของชาวจีนในเรื่องให้ผู้หญิงต้องแบกรับความเป็นครอบครัว รวมถึงทัศนคติแบบชายเป็นใหญ่อื่นๆ ก็ยังปิดกั้นผู้หญิงจนอาจจะทำให้ไม่สามารถใช้ กม. นี้ได้มีประสิทธิภาพ

5 ก.ค. 2559 เว็บไซต์อีสต์เอเชียฟอรัมระบุถึงกรณีที่ประเทศจีนออกกฎหมายต่อต้านความรุนแรงในครอบครัวตั้งแต่เดือน มี.ค. หลังจากที่สื่อให้ความสนใจประเด็นนี้มากขึ้น โดยรวมถึงกรณีการใช้ความรุนแรงในครอบครัวจนมีผู้หญิงเสียชีวิต 2 กรณี ซึ่งผู้เขียนบทความคือเฉินถิงถิง เจ้าหน้าที่โครงการเสริมพลังให้สตรีจากมูลนิธิเอเชียในจีนระบุว่ากฎหมายฉบับนี้ถือเป็นความก้าวหน้าในการคุ้มครองเหยื่อผู้ถูกทำร้าย แต่ทว่าการจะสามารถแก้ปัญหาการกระทำความรุนแรงในครอบครัวซึ่งมักจะเกิดกับผู้หญิงนั้นต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงมุมมองเกี่ยวกับเรื่องการที่ผู้หญิงต้องแบกรับความรับผิดชอบด้านศีลธรรมและตัวความคิดเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวเองด้วย

บทความระบุว่าในกรณีการกระทำความรุนแรงในครอบครัวที่สื่อจีนนำเสนออย่างใกล้ชิดนั้นมักจะมีเรื่องที่ฝ่ายหญิงไม่สามารถละจากความสัมพันธ์ที่มีการข่มเหงหรือเปิดเผยถึงความเจ็บปวดของตัวเองได้ การที่ผู้หญิงไม่ได้แจ้งตำรวจในเรื่องนี้ไม่ว่าจะจงใจหรือไม่ก็ตามทำให้ไม่สามารถดำเนินการต่อกรณีของพวกเธออย่างเป็นธรรมได้ เรื่องนี้ทำให้กฎหมายใหม่ของจีนอนุญาตให้ญาติใกล้ชิดสามารถฟ้องร้องแทนเหยื่อได้ไม่ว่าเหยื่อจะมีความสามารถฟ้องร้องหรือไม่ก็ตาม

ทั้งนี้ยังมีการให้การศึกษาแก่ประชาชนเพื่อเกื้อหนุนต่อกฎหมายนี้ ไม่เพียงแค่ส่งเสริมให้คนช่วยเหลือตนเองได้ แต่ยังมีการให้ความรู้ถึงวิธีการช่วยเหลือผู้เคยถูกทำร้ายจากความรุนแรงในครอบครัวมาก่อนให้สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ แต่ก็มีคำถามว่าแค่กฎหมายและการให้ความรู้ตามแนวทางกฎหมายอย่างเดียวจะทำให้คนช่วยเหลือผู้ที่ถูกกระทำจากความรุนแรงในครอบครัวได้จริงหรือ

เฉินถิงถิงระบุว่าในจีนยังคงมีวัฒนธรรมที่ให้ผู้หญิงต้องแบกรับทางศีลธรรมในการปกป้องการแต่งงาน ทำให้ผู้หญิงกลัวว่าจะถูกประณามจนยอมปล่อยให้คู่ของเธอทำร้าย อีกทั้งยังบีบคั้นไม่ให้คนรอบตัวเสนอความช่วยเหลือ ถึงแม้ว่าจีนจะมีอัตราการหย่าร้างสูงขึ้นแต่ผู้หญิงก็ยังถูกกดดันให้ต้องแต่งงานหรือดำรงชีวิตแต่งงานไว้ให้ได้จนมีหลายคนถูกบอกให้ต้องอดทนกับความเจ็บปวดที่ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัว รวมถึงยังมีคนมองว่าเป็น "การทะเลาะกันของคู่รัก" หรือมีการใช้ข้ออ้างว่าผู้หญิงส่วนใหญ่ก็ต้องทนต่อเรื่องนี้ทั้งนั้นเพื่อทำให้เกิดความคิดผิดๆ ว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็น "เรื่องปกติ"

ทัศนะการให้ผู้หญิงแบกรับในเรื่องครอบครัวยังทำให้มักจะมีคนแนะนำไม่ให้เหยื่อฟ้องหย่าโดยอ้างว่าเพื่อดำรงชื่อเสียงของครอบครัวและเพื่อความเป็นอยู่ของลูกๆ ส่วนหนึ่งเพราะความเชื่อว่าเด็กๆ ควรเติบโตในครอบครัวที่ "สมบูรณ์พร้อม"

กรณีหนึ่งที่เกิดขึ้นในจีนคือกรณีของหลี่หงเซีย หญิงอายุ 25 ปีที่เคยโพสต์ในโซเชียลมีเดีย 2 เดือนก่อนหน้าการเสียชีวิตว่าเธอรู้สึกว่าชีวิตกำลังตกอยู่ในอันตรายจากสามีของเธอ เพื่อนเธอส่วนใหญ่รวมถึงมารดาของเธอแนะนำไม่ให้เธอฟ้องหย่า ไม่นานหลังจากนั้นเธอก็ต้องเข้าโรงพยาบาลจากการถูกทำร้ายโดยสามีและถูกสามีบีบคอตายคาโรงพยาบาล

เฉินถิงถิงยังระบุถึงความเข้าใจผิดในสังคมที่ทำให้เกิดปัญหาขาดการแทรกแซงเพื่อยับยั้งความรุนแรงในครอบครัวคือการที่มีคนคิดว่าความรุนแรงเกิดขึ้นเพราะผู้หญิงต่อต้านหรือไม่ยอมทำตามบทบาทหน้าที่ทางเพศของตัวเอง แต่ในความเป็นจริงแล้วความรุนแรงในครอบครัวมาจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างคู่รักและการที่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้อำนาจข่มเหงและควบคุมเหยื่อ ไม่ได้เป็นเพราะเหยื่อทำอะไรผิด ซึ่งชาวจีนโดยทั่วไปยังขาดความรู้ในเรื่องนี้

ในบทความมีการขยายความในเรื่องอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้กระทำและผู้ถูกกระทำซึ่งมักจะมาจากบรรทัดฐานทางสังคมในเรื่องเพศสภาพมากกว่าจะมาจากเรื่องความไม่มั่นคงทางการเงิน มีความเชื่อแบบผิดๆ ทั่วไปที่ว่าเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัวมักจะเป็นคนที่มีการศึกษาน้อยหรือต้องพึ่งพิงทางการเงิน ในทางตรงกันข้ามผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัวส่วนใหญ่มักจะเป็นคนที่มีการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยและบางคนเป็นผู้ที่หารายได้ให้ครอบครัวด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ความรุนแรงยังเกิดขึ้นได้เมื่อมีการท้าทายอำนาจความเป็นชายเกิดขึ้น โดยที่เฉินถิงถิงยกตัวอย่างกรณีของจางเสี่ยวหยัน แพทย์หญิงอายุ 34 ปีที่มีคลินิกเป็นของตัวเองและเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว อดีตสามีของเธอใช้ความรุนแรงกับเธอเป็นเวลาหลายปี หลังจากที่เธอหย่าแล้วอดีตสามีเธอยังพยายามควบคุมเธอและขู่ไม่ให้เธอย้ายออกโดยข่มขู่ลูกสาวและพ่อแม่ของเธอ ต่อมา เธอเสียชีวิตจากการถูกวางยา โดยอดีตสามีของเธอตกเป็นผู้ต้องสงสัย

เฉินถิงถิงยังระบุอีกว่าแนวคิดเรื่องความรุนแรงในครอบครัวของจีนยังล้าหลังมาก เพื่อนบ้านของจางเสี่ยวหยันไม่เข้าไปช่วยเหลือแม้จะเห็นเธอถูกทำร้ายจนฟกช้ำหรือขาหัก แม้กระทั่งสื่อจีนที่นำเสนอเกี่ยวกับกฎหมายต่อต้านความรุนแรงในครอบครัวฉบับใหม่ก็ให้คำแนะนำกับผู้หญิงว่าควร "เปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อเอาชนะใจสามีกลับคืนมา" และมีการนำเสนอในเชิงสร้างภาพสวยหรูให้กับ "ความรัก" ระหว่างผู้ชายที่เป็นเผด็จการและเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางกับเหล่า "เจ้าหญิง" ของพวกเขา

เฉินถิงถิงระบุในบทความต่อไปว่า วาทกรรมทางการเมืองในจีนที่เน้นความมั่นคงของสังคมเป็นพื้นฐานการปกครองยังส่งผลต่อการให้ความสำคัญเรื่องบูรณภาพในครอบครัว และการแต่งงานก็ตั้งอยู่บนหลักกฎหมายจีนที่ถูกมองเป็นสถาบันรากฐานทางสังคม จึงไม่ต้องแปลกใจถ้าหากว่ามาตรการตอบโต้ความรุนแรงในครอบครัวของจีนจะเป็นไปเพื่อรักษาความสัมพันธ์ทางการแต่งงานแทนที่จะเน้นปกป้องสิทธิของผู้ถูกกระทำเว้นแต่ในรายที่ร้ายแรงมาก จึงมักจะมีการนำวิธีแบบการเจรจายอมความมาใช้ในคดีความรุนแรงในครอบครัว

ในบทความยังมีการระบุถึงกฎหมายฉบับล่าสุดว่ามาจากการต่อสู้รณรงค์โดยกลุ่มภาคประชาสังคมในจีนเป็นเวลาเกือบ 20 ปี ซึ่งกฎหมายใหม่นี้ถือเป็นคำประกาศของรัฐที่มีพันธกิจต่อปัญหาความรุนแรงในครอบครัว แต่พวกเขายังคงต้องทำงานต่อไปในเรื่องการเปลี่ยนแปลงความเชื่อฝังหัวของคนในสังคมที่ปิดกั้นความก้าวหน้าเพราะถ้าไม่เปลี่ยนในเรื่องความคิดฝังหัวเหล่านี้คงต้องใช้เวลาอีกยาวนานกว่าจะทำให้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวหมดไปไม่ว่าจะในจีนหรือในที่อื่นๆ ก็ตาม


เรียบเรียงจาก

Battling domestic violence in China, Chen Tingting, East Asia Forum, 28-06-2016
http://www.eastasiaforum.org/2016/06/28/battling-domestic-violence-in-china/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net