Skip to main content
sharethis

ที่มาภาพเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

เมื่อวัรที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา การประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ (คพน.) ครั้งที่ 3/2559 ที่ ทำเนียบรัฐบาล โดยพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังจากประชุม โพสต์ทูเดย์รายงานว่า สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคพน. ได้มีมติให้รวมคณะกรรมการด้านวิจัยระดับชาติ 3 คณะ ซึ่งประกอบด้วย คณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ ที่ตั้งมาตั้งแต่ปี 2502 คณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ ตั้งเมื่อปี 2551 และ คพน.ที่ตั้งเมื่อปี 2558 ให้เป็นคณะกรรมการชุดเดียวกัน เรียกว่าคณะกรรมการนโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (นวนช.) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน เพื่อให้นโยบายการวิจัยของประเทศเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ลดความซ้ำซ้อนจากปัจจุบันที่การทำงานของคณะกรรมการทั้ง 3 ชุด ที่ทับซ้อนกัน

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานหรือองค์กรที่อยู่ภายในกำกับของคณะกรรมการทั้ง 3 คณะ เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ยังทำงานเป็นอิสระต่อกัน เพียงแต่จะต้องทำงานตามนโยบายของบอร์ด

“การรวมคณะกรรมการทั้ง 3 ชุดนี้ เพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ประเทศระยะ 20 ปี นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ตลอดจนการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นอนาคตประเทศทั้ง 5 กลุ่ม ได้แก่ อุตสาหกรรมด้านชีวภาพ อุตสาหกรรมด้านพลังงานทดแทน อุตสาหกรรมด้านวิศวกรรมและการออกแบบ อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับคุณภาพชีวิต และอุตสาหกรรมด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทำให้เกิดความชัดเจนว่าหน่วยงานวิจัยที่มีหน่วยงานย่อยอยู่ 20-30 หน่วยงานนั้นใครจะทำอะไรบ้าง มหาวิทยาลัยทั้ง 27 แห่ง จะตอบโจทย์ผลักดัน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมอย่างไร” สุวิทย์ กล่าว

เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า ในที่ประชุม พล.อ.ประยุทธ์ ได้แจ้งที่ประชุมรับทราบว่า การประชุม คพน.วันนี้เป็นการเร่งรัดงานที่ยังติดค้างอยู่ให้เป็นผลสำเร็จอออกมาเป็นรูปธรรมและผลสัมฤทธิ์ให้ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผลผลิตด้านเกษตร เช่น ยางพารา และสินค้าที่ขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยทั้งหมด โดยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุมด้วย

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวภายหลังการประชุมฯ ถึงผลการดำเนินงานที่ผ่านมาว่า รัฐบาลได้มีการดำเนินการในหลายเรื่องโดยเป็นการปฏิรูประบบการวิจัยและพัฒนาของประเทศซึ่งมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงหลายในส่วนไม่ใช่เฉพาะกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่ยังรวมไปถึงทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องที่จะต้องร่วมกันดำเนินการขับเคลื่อนและปฏิรูประบบวิจัยแบบบูรณาการของประเทศ เช่น เรื่องกฎหมาย การศึกษา ความร่วมมือ พ.ร.บ.ร่วมทุนต่าง ๆ ฯลฯ ซึ่งอาจใช้เวลาในการดำเนินการเรื่องต่าง ๆ พอสมควร อย่างไรก็ตามวันนี้ได้มีการขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยและและบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทยไปแล้วหลายผลงาน ซึ่งผ่านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เพื่อจะนำไปสู่การผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ในหน่วยงานของภาครัฐและภายในประเทศลดการนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งจะสามารถประหยัดงบประมาณและลดการขาดดุลของประเทศจากการนำเข้าได้

ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีรายการยื่นขอขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย 146 ผลงาน โดยอยู่ระหว่างจัดส่งผลงาน 23 ผลงาน กำลังจัดทำราคากลาง 12 ผลงาน และประกาศขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทยโดยสำนักงบประมาณแล้ว 26 ผลงาน ส่วนความก้าวหน้าของบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทย ณ วันที่ 25 มิถุนายน 2559 มีหน่วยงานภาครัฐและนักประดิษฐ์ทั่วประเทศยื่นขอขึ้นบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทย รวม 426 ผลงาน แบ่งเป็น ด้านการแพทย์และสาธารณสุข 148 ผลงาน เกษตรกรรม 60 ผลงาน ความมั่นคง 11 ผลงาน คมนาคม 9 ผลงาน และด้านอื่น ๆ 198 ผลงาน ซึ่งขณะนี้ ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ตรวจสอบคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ และเสนอขอขึ้นบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทยต่อสำนักงบประมาณเรียบร้อยแล้ว รวม 130 ผลงาน ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้มีการพัฒนาระบบสารสนเทศ เพื่อรองรับการขึ้นบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทยคาดว่าจะสามารถเปิดรองรับการขึ้นบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทยจากทั่วประเทศ ประมาณก.ค. – ส.ค. 2559

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net