Skip to main content
sharethis
 
DTAC ปัดข่าวปรับลดพนักงานล็อตใหญ่ แต่เน้นปรับองค์กรรองรับธุรกิจดิจิทัล
 
นางสาวอรอุมา วัฒนะสุข ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) หรือ ดีแทค กล่าวปฏิเสธกระแสข่าวการปรับลดพนักงานกว่า 40% ว่า ไม่เป็นความจริง และเป็นไปไม่ได้
 
"จำนวนตัวเลขที่เป็นข่าวไม่เป็นจริง เป็นหลักพันเป็นไปไม่ได้ อย่างไรก็ดี เรามีการพิจารณาตามประสิทธิภาพการทำงาน(performance)ของพนักงานมาตลอดอยู่แล้ว เพราะ DTAC มี High Performance Culture " นางสาวอรอุมา กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
 
ปัจจุบัน ดีแทคมีพนักงานทั้งหมดราว 5,000 คน โดยดีแทคอยู่ระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่าน(transform)องค์กรไปสู่องค์กร Digital ชั้นนำเพื่อให้มีศักยภาพการแข่งขัน และให้เป็นองค์กรที่คนเก่งด้านดิจิทัลอยากเข้ามาร่วมงานด้วย ขณะเดียวกันเสริมสร้างยกระดับประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานเดิม ทำให้คนเก่าเก่งขึ้น
 
ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนองคก์กรของดีแทคครั้งนี้ ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน ซึ่งปีนี้ทำกันอย่างเข้มข้นขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่ามีพนักงานที่มีประสิทธิภาพ และยังมีการฝึกอบรม ซึ่งดีแทคยังมี DTAC Academy ขณะเดียวกันดีแทคก็เปิดรับสมัครพนักงานใหม่อยู่ตลอด โดยดีแทคได้มีตำแหน่งงานใหม่รองรับกับธุรกิจดิจิทัล อาทิ Digial Marketing, Data scientist เป็นต้น โดยบริษัทมีการรับพนักงานใหม่อยู่ทุกเดือนเป็นหลักร้อยเข้าร่วมงานกับดีแทค
 
 
เผยเทรนด์ตลาดแรงงานโลก “ผู้หญิง-ผู้สูงวัย” ทำงานเพิ่มขึ้น
 
นางสาวมาร่า สวอน รองกรรมการผู้จัดการ ด้านกลยุทธ์ระดับโลกและผู้เชี่ยวชาญพิเศษ “แมนพาวเวอร์กรุ๊ป” ประจำสำนักงานใหญ่ สหรัฐอเมริกา ผู้นำระดับโลกในธุรกิจการให้บริการการจ้างงาน เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สวนทางกับลักษณะการดำเนินธุรกิจที่ไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลงมากนัก ส่งผลให้ตลาดแรงงานต้องอยู่ในภาวะ Waiting Period ซึ่งทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องรอให้สถานการณ์ต่างๆ คลี่คลายและปรับตัวดีขึ้น เช่นเดียวกับกรณี Brexit ซึ่งต้องรออีก 2 ปีจึงจะคาดการณ์ผลกระทบต่างๆ ได้
 
สำหรับภาวะตลาดแรงงานโลกในปัจจุบันยังคงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2554 ทำให้ผู้จ้างงานต้องมีการลงทุนด้านทรัพยากรบุคคลโดยต้องพิจารณาถึงความยืดหยุ่นเป็นหลัก ทั้งทางด้านเพศ อายุ ทักษะการทำงาน ตลอดจนความสามารถในการเรียนรู้และการต่อยอดพัฒนาการด้านการทำงาน
 
ปัจจุบันตลาดโลกรวมถึงประเทศไทยมีการส่งเสริมให้เพศหญิงเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น โดยปัจจุบันจะพบว่าประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ในกลุ่มประเทศยุโรปมีเพศหญิงอยู่ในตลาดแรงงานเป็นจำนวนมาก โดยส่วนมากจะทำงานในลักษณะพาร์ตไทม์ที่สามารถเลือกเวลาการทำงานนอกเหนือจากหน้าที่ประจำวันในการดูแลครอบครัว
 
ขณะที่ในประเทศไทยพบว่าเพศหญิงเริ่มมีพฤติกรรมการทำงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ แม้ส่วนใหญ่ยังคงเป็นไปตามวัฒนธรรมไทยที่ต้องรับผิดชอบหน้าที่ในครอบครัวเป็นหลัก แต่เริ่มมีการทำงานในตำแหน่งผู้บริหารระดับกลางขึ้นไปและมีอัตราเงินเดือนค่อนข้างสูงเป็นจำนวนมากเช่นกัน สอดรับกับผลการประชุม World Economic Forum (WEF) 2015 ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่า จากการสำรวจใน 145 ประเทศทั่วโลก ปรากฏว่าผู้หญิงไทยมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นลำดับที่ 19 ขณะที่อยู่ในลำดับที่ 60 ซึ่งประสบปัญหาในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน
 
“สังคมไทยเริ่มมีความยืดหยุ่นสูงในการเปิดโอกาสให้เพศหญิงแสดงศักยภาพด้านการทำงานมากขึ้น โดยพบว่า 2 ปัจจัยสำคัญที่มีส่วนในการส่งเสริมให้ผู้หญิงไทยทำงานมากขึ้นคือความยืดหยุ่นเรื่องเวลาที่เอื้ออำนวยให้สามารถทำงานได้โดยไม่กระทบต่อหน้าที่ดูแลครอบครัว และการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการใช้งานโดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย ดังจะเห็นได้จากร้านค้าออนไลน์ในอินสตาแกรมมีเจ้าของร้านเป็นผู้หญิงมากถึง 80% ขณะที่กลุ่มธุรกิจที่มีผู้หญิงไทยทำงานมากที่สุด คือ ท่องเที่ยว สุขภาพ และบริการ เช่น สปา เป็นต้น”
 
นางสาวมาร่ากล่าวอีกว่า ตลาดแรงงานในประเทศไทยยังมีแนวโน้มเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ที่พัฒนาแล้ว คือ การเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปทำงานมากขึ้น โดยมีผลวิจัยพบว่ากลุ่มผู้สูงวัยทั่วโลกมีความต้องการทำงานตราบจนบั้นปลายของชีวิต จากปัจจุบันที่วัยเกษียณการทำงานเฉลี่ยในกลุ่มประเทศยุโรปคือ 65 ปี โดยสวีเดนเป็นประเทศที่มีผู้เกษียณการทำงานสูงที่สุดคือ 67 ปี ขณะที่ญี่ปุ่นมากกว่า 60 ปี
 
“ปัจจุบันประเทศไทยมีองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ประมาณ 5-10% มีความต้องการผู้สูงวัยเข้าทำงานมากขึ้นเพราะต้องการได้รับการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ โดยพบว่า 2 ธุรกิจหลักที่มีความต้องการมากที่สุดคือ กลุ่มธุรกิจค้าปลีกและสินค้าอุปโภค-บริโภค ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจครอบครัวที่อยู่ในช่วงโอนถ่ายการบริหารงานไปยังคนรุ่นต่อไป และกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตทั่วไปที่ต้องการความรู้ความสามารถและประสบการณ์เฉพาะทาง โดยพร้อมที่จะมอบค่าตอบแทนตั้งแต่หลักหมื่นจนถึงหลักแสนขึ้นอยู่กับขนาดธุรกิจ”
 
นางสาวมาร่ากล่าวด้วยว่า ลักษณะตลาดแรงงานของประเทศไทยในปัจจุบันมีอัตราการเติบโตช้าไม่ทันภาวะเศรษฐกิจจึงจำเป็นต้องมีการสรรหาบุคลากรชาวต่างชาติมาร่วมงานเป็นจำนวนมากกว่า 2 ล้านคน ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีปัญหาขาดแคลนแรงงานเพราะมีอัตราการว่างงานเพียง 1% แต่มีปัญหาเรื่องความสมดุลระหว่างบุคลากรกับประเภทของงานที่ไม่สอดคล้องกัน ส่งผลให้ตลาดขาดแคลนบุคลากรในบางสายงาน เช่น วิศวกร ช่างเทคนิค พนักงานขาย พนักงานบริการลูกค้า เป็นต้น ขณะที่สายงานบัญชีและทรัพยากรบุคคล (HR) มีอัตราการจ้างงานอยู่ในภาวะคงที่
 
นอกจากนี้ ความต้องการแรงงานในบางธุรกิจอุตสาหกรรมยังมีแนวโน้มลดลง เช่น สายงานภาคการผลิตซึ่งมีแนวโน้มถูกทดแทนโดยหุ่นยนต์ รวมถึงสายงานธุรกิจค้าปลีกซึ่งจะถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีออนไลน์และอี-คอมเมิร์ซ เป็นต้น
 
“ตลาดแรงงานไทยมีความต้องการบุคลากรที่มีความสามารถด้านการเรียนรู้ในการทำงานโดยใช้สิ่งจูงใจสำคัญคือรายได้ค่าตอบแทน โดยปัจจุบันยังมีแนวโน้มในการว่าจ้างพนักงานสัญญาจ้าง หรือพนักงานชั่วคราวเป็นระยะๆ เพราะสามารถกำหนดช่วงเวลาการทำงานในระยะเวลาที่ต้องการได้ โดยเฉพาะในช่วงการจัดแคมเปญ หรือโปรโมชันต่างๆ ซึ่งตรงกับความต้องการของแรงงานไทยยุคปัจจุบัน ทั้งยังได้รับรายได้ค่าตอบแทนสูงกว่าปกติประมาณ 10-40% และยังมีโอกาสร่วมงานในองค์กรขนาดใหญ่ได้ในอนาคต” นางสาวมาร่ากล่าวในที่สุด
 
 
ค่าแรงงานดันต้นทุนการผลิตไหมไทยพุ่ง
 
นายอภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผยว่า จากการที่กรมหม่อนไหมได้ดำเนินโครงการศึกษาวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตไหมไทยทั้งห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่การผลิตไข่ไหม การผลิตรังไหม การผลิตเส้นไหม จนถึงขบวนการทอผ้าไหม เพื่อให้เกษตรกรได้รับทราบถึงต้นทุนการผลิตที่แท้จริง เพื่อจะได้ปรับลดต้นทุนลงและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ผลการศึกษาพบว่า การผลิตไข่ไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้าน 5 พันธุ์ ที่มีศักยภาพและเกษตรกรนิยมเลี้ยง ได้แก่ พันธุ์นางสิ่ว พันธุ์นางตุ่ย พันธุ์สำโรง พันธุ์ลูกผสมนางสิ่วกับนางตุ่ย และพันธุ์ทับทิมสยาม มีต้นทุนการผลิตแตกต่างกันไป โดยเฉลี่ยต้นทุนการผลิตอยู่ที่ ประมาณ 250 บาท/แผ่น (หนึ่งแผ่นมีจำนวนไข่ไหม ประมาณ 22,000 ฟอง) ขณะที่ต้นทุนการผลิตไข่ไหมพันธุ์ไทยลูกผสม 3 พันธุ์ คือ พันธุ์ดอกบัว พันธุ์เหลืองไพโรจน์ และพันธุ์เหลืองสุรินทร์ เฉลี่ยอยู่ที่ 280-290 บาท/แผ่น โดยต้นทุนการผลิตไข่ไหมส่วนใหญ่เป็นค่าแรงงานและค่าใบหม่อน
 
ส่วนการวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตรังไหม จะคิดต้นทุนทั้งทางเศรษฐศาสตร์ซึ่งเป็นต้นทุนคงที่ (ค่าใช้จ่ายทั้งหมด เช่น โรงเรือน เครื่องมือและอุปกรณ์เลี้ยงไหม) และต้นทุนทางบัญชีซึ่งเป็นต้นทุนผันแปร (ค่าไข่ไหม ค่าแรงงาน และค่าใบหม่อน) พบว่า เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตรังไหมอุตสาหกรรมหรือไหมลูกผสมเพื่อจำหน่ายรัง โดยมีต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์อยู่ที่ 194 บาท/กิโลกรัม และมีต้นทุนทางบัญชีซึ่งเกษตรกรต้องจ่ายเป็นเงินสดเพื่อการผลิต ประมาณ 94 บาท/กิโลกรัม โดยต้นทุนส่วนใหญ่เป็นค่าแรงงานเช่นกัน ทั้งนี้ เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเกือบ 100% ใช้แรงงานของตนเอง จึงคิดต้นทุนค่าแรงงานมาตรฐานขั้นต่ำอยู่ที่ 300 บาท/วัน
 
"หากเทียบต้นทุนกับรายได้ การผลิตรังไหมเพื่อจำหน่ายรังเป็นอาชีพหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะให้ผลตอบแทนสูงและสร้างความพึงพอใจให้กับเกษตรกร ปัจจุบันราคาซื้อขายรังไหมไม่น้อยกว่า 200 บาท/กิโลกรัม ซึ่งสินค้าหม่อนไหมเป็นสินค้าชนิดหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรมีเงินสดใช้หมุนเวียนในชุมชนค่อนข้างดี เนื่องจากวงจรการผลิตค่อนข้างสั้นใช้ระยะเวลาประมาณ 30-45 วัน ก็สามารถก่อเกิดรายได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตไหมไทยทั้งระบบ เพื่อเป็นแนวทางปรับลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับเกษตรกร” อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าว
 
ด้านนางสมหญิง ชูประยูร ผู้เชี่ยวชาญด้านส่งเสริมการผลิตและจัดการผลิตหม่อนไหม กรมหม่อนไหม กล่าวถึงการวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตเส้นไหมไทยสาวมือว่าจะคิดต้นทุนตั้งแต่การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ได้รังไหม จนถึงขั้นตอนการสาวเส้นไหมเพื่อจำหน่ายหรือเพื่อใช้ทอผ้า ในส่วนของการผลิตเส้นไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้าน จะมีต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์อยู่ที่ 2,985 บาท/กิโลกรัม ขณะที่ต้นทุนทางบัญชีอยู่ที่ ประมาณ 871 บาท/กิโลกรัม ส่วนเส้นไหมพันธุ์ไทยลูกผสม มีต้นทุนการผลิตทางเศรษฐศาสตร์เฉลี่ย ประมาณ 2,296 บาท/กิโลกรัม และมีต้นทุนทางบัญชี ประมาณ 798 บาท/กิโลกรัม ซึ่งค่าแรงงานยังเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ต้นทุนการผลิตเส้นไหมอยู่ในเกณฑ์สูง
 
นอกจากนี้ กรมหม่อนไหมยังได้ศึกษาต่อยอดการเพิ่มมูลค่าเส้นไหมเพื่อสร้างโอกาสให้กับเกษตรกรที่สามารถทอผ้าไหมได้ โดยศึกษาวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตผ้าไหมหัตถกรรมซึ่งเป็นการทอมือและใช้กี่พื้นบ้าน ผลการศึกษาพื้นฐานพบว่า เกษตรกรที่มัดหมี่ 2 ตะกรอ อย่างน้อย 2 สี จะมีต้นทุนการผลิตผ้ามัดหมี่อยู่ที่หลาละ 568 บาท ซึ่งต้นทุนส่วนใหญ่เป็นค่าเส้นไหมและค่าแรงงานทอผ้า
 
 
ข้าราชการเฮ! รัฐบาลแจกไม่อั้น บัญชีกลางเพิ่มค่าเล่าเรียนบุตร เทงบอุ้มอนุบาลถึงปริญญาตรี
 
นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ได้ปรับอัตราเงินบำรุงการศึกษาและค่าเล่าเรียนใหม่ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจได้เปลี่ยนแปลงไปมาก อัตราค่าครองชีพปรับสูงขึ้น ทำให้กรมบัญชีกลางต้องทบทวนอัตราการเบิกค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับสภาพความเป็นจริง และยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ข้าราชการ ลูกจ้างประจำและผู้ได้รับเบี้ยหวัดบำนาญ โดยให้มีผลตั้งแต่ปีการศึกษา 2559 เป็นต้นไป
 
สำหรับการปรับอัตราเงินบำรุงการศึกษาในสถานศึกษาของทางราชการ และค่าเล่าเรียนในสถานศึกษาของเอกชนนั้น กรมบัญชีกลางได้ปรับขึ้นในทุกระดับการศึกษา แบ่งออกเป็น 1.สถานศึกษาของทางราชการ ระดับอนุบาล เดิม 5,110 บาท ใหม่ 5,800 บาท ประถมศึกษา เดิม 3,520 บาท ใหม่ 4,000 บาท มัธยมศึกษาตอนต้น เดิม 4,290 บาท ใหม่ 4,800 บาท มัธยมศึกษาตอนปลาย/ปวช.เดิม 4,290 บาท ใหม่ 4,800 บาท อนุปริญญา เดิม 12,100 บาท ใหม่ 13,700 บาท ปริญญาตรี เดิม 22,000 บาท ใหม่ 25,000 บาท
 
2.สถานศึกษาของเอกชนที่รับเงินอุดหนุน ระดับอนุบาล เดิม 4,260 บาท ใหม่ 4,800 บาท ประถมศึกษา เดิม 3,740 บาท ใหม่ 4,200 บาท มัธยมศึกษาตอนต้น เดิม 2,900 บาท ใหม่ 3,300 บาท มัธยมศึกษาตอนปลาย/ปวช.เดิม 2,870 บาท ใหม่ 3,200 บาท ขณะที่สถานศึกษาที่ไม่รับเงินอุดหนุน ระดับอนุบาล เดิม 11,940 บาท ใหม่ 13,600 บาท ประถมศึกษา เดิม 11,610 บาท ใหม่ 13,200 บาท มัธยมศึกษาตอนต้น เดิม 13,910 บาท ใหม่ 15,800 บาท มัธยมศึกษาตอนปลาย/ปวช.เดิม 14,240 บาท ใหม่ 16,200 บาท
 
และ 3.สายวิชาชีพ แบ่งออกเป็น 1.สถานศึกษาที่รับเงินอุดหนุนคหกรรม เดิม 1,260 บาท ใหม่ 1,400 บาท พาณิชยกรรม เดิม 4,560 บาท ใหม่ 5,100 บาท ช่างอุตสาหกรรม 6,370 บาท ใหม่ 7,200 บาท อุตสาหกรรมท่องเที่ยว เดิม 4,560 บาท ใหม่ 5,100 บาท และอุตสาหกรรมสิ่งทอ เดิม 6,370 บาท ใหม่ 7,200 บาท และ 2.สถานศึกษาที่ไม่รับเงินอุดหนุน คหกรรม เดิม 14,540 บาท ใหม่ 16,500 บาท พาณิชยกรรม เดิม 17,460 บาท ใหม่ 19,900 บาท ช่างอุตสาหกรรม 21,440 บาท ใหม่ 24,400 บาท อุตสาหกรรมท่องเที่ยว เดิม 17,460 บาท ใหม่ 19,900 บาท และอุตสาหกรรมสิ่งทอ เดิม 21,440 บาท ใหม่ 24,400 บาท
 
สำหรับสถานศึกษาของเอกชน ในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรือเทียบเท่า และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิค (ปวท.) หรือเทียบเท่า ให้เบิกได้ครึ่งหนึ่งของจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000-30,000 บาท และหลักสูตรปริญญาตรี ให้เบิกจ่ายครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ได้จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท
 
 
เป็นทางการสหรัฐฯปรับไทยขึ้น'เทียร์ 2 วอทช์ลิสต์' บัญชีค้ามนุษย์
 
จากรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์(TIP) 2016 ทางกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เลือกคงมาเลเซียไว้ที่ระดับ "เทียร์2" เหมือนกับปีที่แล้ว ซึ่งตอนนั้นถูกมองว่าเพื่อขจัดอุปสรรคในการดึงกัวลาลัมเปอร์เข้าเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) ที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา เป็นผู้ผลักดัน ท่ามกลางเสียงวิจารณ์จากนักสิทธิมนุษยชนที่ชี้ว่ารัฐบาลเสือเหลืองแทบไม่ได้แก้ไขปรับปรุงปัญหาการค้ามนุษย์เลย
 
ทางด้านกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างๆแสดงความยินดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการปรับลบอันดับพม่าและอุซเบกิสถาน พันธมิตรทางยุทธศาสตร์สำคัญของสหรัฐฯ และบอกว่าความเคลื่อนไหวนี้จะช่วยกอบกู้ความน่าเชื่อถือของรายงานดังกล่าว แต่แสดงความผิดหวังที่ไทยและมาเลเซียไม่ได้อยู่ในบัญชีดำนี้
 
ทั้งนี้นายจอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ยืนยันว่าการตัดสินใจของการจัดอันดับยึดมั่นพื้นฐานด้านการค้ามนุษย์และไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยทางการเมืองหรืออื่นๆ
 
สำหรับการปรับลดอันดับของพม่า ดูเหมือนมีเป้าหมายกระตุ้นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยของประเทศและกองทัพที่ยังคงมีอำนาจ ให้ดำเนินการมากกว่าที่เป็นอยู่ในการกำจัดการใช้ทหารเด็กและแรงงานบังคับ นอกจากนี้แล้วมันยังมีเจตนาส่งสารความกังวลของสหรัฐฯต่อกรณีที่ยังคงมีการตามประหัตประหารชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮีนจาในประเทศที่มีชาวพุทธเป็นชนกลุ่มใหญ่ ทั้งนี้นายอองซาน ซูจี ผู้นำคนใหม่ของพม่าและเจ้าของรางวัลโนเบล ถูกนานาชาติวิพากษ์วิจารณ์ที่เพิกเฉยต่อประเด็นโรฮีนจา นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งในปีนี้
 
ทางส่วนเพื่อนบ้านของพม่าอย่างไทย รอยเตอร์ระบุว่าการถูกถอดพ้นจากบัญชีดำจะช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและรัฐบาลทหารของไทยราบรื่นขึ้น แต่กลุ่มสิทธิมนุษยชนบางส่วนโต้แย้งว่า ไทย ไม่ควรถูกปรับอันดับขึ้นเพราะว่ายังคงมีการล่วงละมิดต่างๆในอุตสาหกรรมประมงของประเทศที่มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์
 
รายงาน TIP แบ่งเกณฑ์การประเมินประเทศต่างๆ ออกเป็น 4 ขั้น ได้แก่ เทียร์ 1 คือ ประเทศที่ถึงมาตรฐานขั้นต่ำของสหรัฐฯ เทียร์ 2 คือ ประเทศที่มีความพยายามอย่างเห็นได้ชัดที่จะพัฒนาให้ถึงระดับมาตรฐาน ส่วนทียร์ 2 เฝ้าระวังคือ ประเทศที่ควรตรวจสอบเป็นพิเศษ และ เทียร์ 3 คือ ประเทศที่ไม่มีความก้าวหน้าและความพยายามใดที่ชัดเจน
 
ทางด้านสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย นำโดยนายกลิน ที. เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย จัดงานฉลองวันชาติสหรัฐ โดยมีผู้เข้าร่วมงานแสดงความยินดีจากหลายแวดวง ทั้งรัฐมนตรี นักการเมือง และนักธุรกิจ
 
นายเดวีส์ ยืนยันว่า รัฐบาลไทยและสหรัฐยังคงความสัมพันธ์ที่มีมาอย่างยาวนานต่อไป รวมถึงจะส่งเสริมความร่วมมือด้านต่างๆ พร้อมทั้งแสดงความยินดีที่รัฐบาลไทยได้ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์จนมีพัฒนาการที่ดีอย่างมาก จนได้เลื่อนขึ้นเทียร์ 2
 
 
ก.แรงงานเตือนระวังมิจฉาชีพสวมรอยรีดไถต่างด้าว
 
เมื่อวันที่ 2ก.ค. นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) ชี้แจงกรณีที่มีผู้ไม่หวังดีฉวยโอกาสในช่วงที่มีการตรวจแรงงานต่างด้าวเข้มไปแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่เรียกเก็บส่วยจากแรงงานต่างด้าวหรือนายจ้างที่ลักลอบใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย โดยอ้างว่าจะเก็บส่วยส่งให้ กกจ. เพื่อแลกกับการไม่ถูกตรวจจับกุมดำเนินคดี ว่า ไม่เป็นความจริง เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการตรวจแรงต่างด้าวที่ลักลอบค้าขาย และพบสติกเกอร์ที่อ้างว่าเป็นสัญลักษณ์จ่ายส่วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ เคยมีความพยายามปล่อยข่าวว่าสติ๊กเกอร์มาจาก กกจ.ทั้งที่ กกจ.เป็นฝ่ายเข้าไปจับกุมและพบสติ๊กเกอร์พร้อมกับสื่อมวลชนที่ไปรายงานข่าว
 
นายอารักษ์ กล่าวอีกว่า มิจฉาชีพที่สวมรอยเอาการปราบปรามอย่างจริงจังนี้ไปเรียกรับผลประโยชน์ พฤติกรรมของคนเหล่านี่จะไปเพียงลำพัง แล้วแอบอ้างเรียกรับเงินจากกลุ่มเป้าหมายที่ทำผิดกฎหมายและกลัวถูกจับจึงยอมจ่าย และในช่วงนี้จะเรียกเก็บมากขึ้นจากเดิม เพราะมีการตรวจเข้ม ขอเตือนอย่าได้หลงเชื่อ และอย่าให้เงิน หรือหากพบเจอคนลักษณะนี้ขอให้แจ้งมาที่สายด่วนกรมการจัดหางาน 1694
 
สำหรับการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่กองตรวจและคุ้มครองคนหางานที่ออกตรวจอย่างต่อเนื่อง พร้อมจะมีการลงพื้นที่หาข่าว รับแจ้ง หรือลงไปตรวจเจอซึ่งหน้า การตรวจจะแสดงตัวอย่างเปิดเผย ไปเป็นคณะ ไม่ไปคนเดียว ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกคนมีบัตรประจำตัว เครื่องหมายทางราชการชัดเจน และหากตรวจพบกระทำผิดจะจับจริงไม่มีต่อรอง ขณะนี้ยังเดินหน้าตรวจจับเข้มต่อไป
 
นายอารักษ์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงสุดท้ายของการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ ลาว เมียนมา และกัมพูชา ตามมติคณะรัฐมนตรี ครม. เมื่อ 23 ก.พ. ซึ่งเริ่มเปิดจดทะเบียนวันที่ 1 เม.ย. จนถึงขณะนี้มีแรงงานต่างด้าวมารายงานตัวจดทะเบียน 6.9 แสนคน คาดเมื่อครบกำหนดในวันที่ 29 ก.ค. จะมีประมาณ 8 แสนคน จากยอด 1 ล้านต้นๆ ซึ่งยอดที่หายไปร้อยละ 10-20 เป็นเรื่องปกติ ซึ่งจะเกิดขึ้นทุกครั้งที่จดทะเบียน เพราะบางส่วนเดินทางกลับประเทศต้นทาง ส่วนหนึ่งไปอยู่ในระบบของหนังสือเดินทาง ได้เวิร์คเพอร์มิต มีวีซ่า มีเอกสารทำงานอย่างถูกต้อง นายจ้างที่มีแรงงานต่างด้าวกลุ่มเดิมที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุจึงอย่าเพิกเฉย ที่จะนำแรงงานไปรายงานตัวต่อใบอนุญาต เพราะปัญหาความล่าช้าในเรื่องรอผลตรวจสุขภาพ ได้ผ่อนปรนให้นำเอกสารยืนยันเข้ารับการตรวจจากโรงพยาบาล มาแจ้งขอจดทะเบียนได้ก่อนโดยไม่ต้องรอผล เพื่อให้ขั้นตอนเร็วขึ้น หากยังไม่ปฎิบัติตามกฎหมายจะมีความผิด หลังวันที่ 29 ก.ค. จะมีการตรวจเข้มมากขึ้น
 
 
ปธ.หอการค้าไทย-ญี่ปุ่นหนุนไทยบังคับใช้ กม.แรงงานเข้มข้น
 
เมื่อวันที่ 4 ก.ค.59 MR.SHINGO SATO ประธานหอการค้าไทย – ญี่ปุ่น พร้อมคณะ 9 คน เข้าพบ พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อแนะนำตัวในการได้รับเลือกตั้งเป็นประธานหอการค้าฯ คนที่ 52 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา MR.SHINGO SATO กล่าวว่า หอการค้าไทย- ญี่ปุ่นมีสมาชิกที่เป็นบริษัทอยู่ในไทย 1,720 บริษัท ซึ่งที่ผ่านมาความร่วมมือระหว่างไทย – ญี่ปุ่นในภาครัฐบาลกับรัฐบาลมีความแน่นแฟ้นอย่างดียิ่ง สำหรับหอการค้าฯซึ่งเป็นภาคเอกชนจึงมีความประสงค์ที่จะกระชับความสัมพันธ์และสานต่อนโยบายของรัฐบาลให้ดีและใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในปัจจุบันในเวทีโลกมีการแข่งขันสูงมาก
 
ดังนั้นกระบวนการบริหารจัดการด้านแรงงานโดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากร และการที่ไทยจะแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น จะต้องเร่งยกระดับการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ซึ่งการขาดแคลนบุคลากรสาขาวิศวกรรม และคนทำงานระดับหัวหน้างานเป็นปัญหาสำคัญ จึงต้องเร่งดำเนินการในส่วนนี้ และควบคู่การพัฒนาแรงงานขอให้มีการบังคับใช้กฎหมายแรงงานอย่างเข้มข้นโดยเฉพาะปัญหาแรงงานเหมาช่วง นอกจากนี้ขอความร่วมมือดูแลเรื่องขั้นตอนการขออนุญาตทำงานรวมทั้งระเบียบต่างๆซึ่งเอกสารที่ใช้มีจำนวนมาก นอกจากนั้นผู้แทนหอการค้าฯ ได้แจ้งว่าการที่ไทยมีบทบาทสำคัญใน AEC จะทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นมีความสนใจและมั่นใจที่จะเข้ามาลงทุนมากยิ่งขึ้น สำหรับการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานของญี่ปุ่น จะใช้วิธีการวิจัยและการพัฒนามาดำเนินการ
 
ซึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้แจ้งให้ทราบว่า เรากำลังสร้างคนทำงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมในภาคต่างๆ ซึ่งคาดว่าภายใน 3-5 ปี จะได้คนทำงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมต่างๆ มากขึ้น ซึ่งในบางเรื่องไทยต้องขอความร่วมมือจากญี่ปุ่นให้เข้ามาช่วยเหลือ เช่น การพัฒนาฝีมือแรงงานที่ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ซึ่งสามารถรองรับแรงงานจากประเทศกลุ่มแม่น้ำโขง สำหรับการประสานการปฏิบัติในรายละเอียดกับหอการค้าไทย – ญี่ปุ่นได้มอบหมายให้นายสุวิทย์ สุมาลา รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทยเพื่อจะได้มีการปรับปรุงแก้ไขข้อขัดข้องต่างๆ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและรวดเร็วให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและสอดรับกับนโยบายประชารัฐของรัฐบาลอีกด้วย
 
 
พนง.เหมืองทองยื่นหนังสือจี้ สธ.เผยแพร่ข้อมูลสุขภาพ
 
เมื่อตอนสายวันที่ 4 ก.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นายยุทธ ศรีทองสุข ตัวแทนเครือข่ายพนักงาน บมจ.อัครา รีซอร์สเซส และบริษัทโลตัสออล วิศวกรรมเหมืองแร่และก่อสร้างจำกัด จำนวนกว่า 40 คน เดินทางมายื่นจดหมายเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมแก่ประชาชนรอบเหมืองแร่ทองคำชาตรี นายยุทธ เปิดเผยว่า เนื่องจากปัจจุบัน มีการนำข้อมูลเท็จจากหลายแหล่งที่มาใช้กระจายทั้งในชุมชนและในสื่อหลายช่องทาง ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด สร้างความวิตกกังวลในสังคม ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขได้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างคุณภาพ น้ำประปา ปริมาณสารต่างๆ ในพืชผัก ดิน ฝุ่นอย่างต่อเนื่อง โดยไม่พบการปนเปื้อนของสารหนูและโลหะมีพิษในน้ำประปาและพืชผักแต่อย่างใดยกเว้นเหล็กและแมงกานีสซึ่งพบได้ทั่วไปในหลายพื้นที่ของประเทศ แต่กลับไม่มีการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ
 
นายยุทธ กล่าวอีกว่า จึงขอเร่งรัดให้เปิดเผยข้อมูลการตรวจวัดทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่ดำเนินการโดยหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ได้รับทราบข้อเท็จจริง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องคลายความกังวล และสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ เพื่อให้บริษัทฯ และหน่วยงานรัฐอื่นๆ นำข้อมูลไปดำเนินการให้เกิดประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชาวบ้านในชุมชนรอบเหมืองต่อไปได้ การได้รับสารโลหะหนักปริมาณใดถึงจะถือว่าเป็นผู้ป่วย เนื่องจากมีข้อมูลทางด้านพิษวิทยาที่ถูกนำเสนอโดยนายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวเวชศาสตร์ว่าการตรวจหาสารโลหะหนักในเลือดหรือปัสสาวะเป็นการตรวจหาการสัมผัสเท่านั้น ไม่ใช่การตรวจสุขภาพ และไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นผู้ป่วย การที่ชาวบ้านมีสารหนูและแมงกานีสในร่างกายเกินเกณฑ์มาตรฐานนั้นเกิดจากสาเหตุใด แตกต่างอย่างไรจากพื้นที่อื่นๆ ที่อยู่ไกลจากพื้นที่เหมืองแร่ทองคำชาตรี
 
ทางเครือข่ายฯ ขอเรียกร้องให้นำข้อมูลการตรวจสุขภาพตามมาตรการ EHIA ที่ บมจ.อัคราฯ จัดตรวจให้กับประชาชนโดยนำส่งผลการตรวจเลือดและปัสสาวะจากห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ รพ.รามาธิบดีมาใช้พิจารณา ในคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ปัญหาข้อขัดแย้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทอัคราฯ ทั้ง 2 ชุด ร่วมกับผลการตรวจของกระทรวงสาธารณสุขและของมหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อให้เกิดการพิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้าน โปร่งใส และเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ทั้งนี้ยังได้นำเอกสารอ้างอิงกว่า 20 รายการมาแสดง อาทิ ข้อมูลผลวิเคราะห์น้ำพื้นที่รอบเหมืองของกรมอนามัย ข้อมูลคุณภาพน้ำจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เอกสารสรุปข้อมูลผลวิเคราะห์พืชผักรอบเหมืองของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 3 นครสวรรค์
 
รายงานปัจจัยที่มีผลกระทบต่อระดับ แมงกานีสในเลือดของบุคลากร รพ.ระยอง ผลสรุปผลการเฝ้าระวังและดูแลสุขภาพประชาชนรอบเหมืองทองคำของกรมควบคุมโรค สรุปผลการดำเนินงาน การเฝ้าระวังและดูแลสุขภาพประชาชนรอบเหมืองทองคำโดย นพ.ไชยนันท์ ทยาวิวัฒน์และงานความเห็นเกี่ยวกับการตรวจเลือดและปัสสาวะของประชาชน โดย ศ.นพ.วินัย วนานุกูล เป็นต้น ซึ่งมี นพ.กิตติศักดิ์ กลับดี เลขานุการ รมว. สาธารณสุข เป็นผู้ออกรับมอบหนังสือขอเรียกร้องเพื่อดำเนินการต่อไป
 
 
โตโยต้าโละพนักงานชั่วคราวกว่าพันคน
 
รายงานจากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ระบุถึงตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ถึงโครงการสมัครใจลาออกสำหรับพนักงานรับเหมาช่วงของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย 3 โรงงานรวมกว่า 1,000 คน ทางบริษัทขอชี้แจงว่าจากเศรษฐกิจในประเทศที่ยังคงชะลอตัว และความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่มีผลต่อการส่งออก ทำให้กระทบธุรกิจรถยนต์ทั้งในและต่างประเทศต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี
 
ทั้งนี้ ผลดังกล่าวทำให้บริษัทต้องลดกำลังผลิตลงและมีพนักงานเกินความจำเป็นในการผลิต รวมทั้งต้องลดจำนวนชั่วโมงทำงานล่วงเวลา ทำให้รายได้รวมต่อเดือนของพนักงานลดลง ดังนั้นเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานได้มีทางเลือก บริษัทจึงเปิดโครงการ "จากด้วยใจ" ให้พนักงานรับเหมาช่วงเข้าร่วมโครงการสมัครใจลาออก ซึ่งพนักงานที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับเงินชดเชยครบถ้วนตามกฎหมายแรงงาน และบริษัทยังจ่ายเงินเพิ่มพิเศษให้พนักงานที่เข้าร่วมโครงการอีกด้วย
 
อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ตลาดรถยนต์ดีขึ้นทางบริษัทยินดีที่จะรับพนักงานที่สมัครใจร่วมโครงการนี้กลับเข้าทำงานเป็นลำดับแรก โดยคงอัตราค่าจ้างพร้อมสวัสดิการตามเดิม รวมทั้งจะนับอายุงานต่อเนื่อง บริษัทขอยืนยันว่า ตลอดกว่า 50 ปีที่ผ่านมาในไทย บริษัทไม่มีนโยบายปลดพนักงานออก โตโยต้ายังมั่นใจว่าไทยยังมีศักยภาพเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ในภูมิภาคนี้ต่อไป
 
นายวิชัย จิราธิยุต ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวว่า สัดส่วนการ จ้างงานในลักษณะพนักงานชั่วคราว (ซับคอนแทรกต์) กับพนักงานประจำในอุตสาหกรรมยานยนต์ปัจจุบันมีสัดส่วน 20% ต่อ 80% ตามลำดับ ซึ่งจากกรณี ดังกล่าวอาจเป็นการหมุนเวียนในช่วง โลว์ซีซั่นของการผลิตเฉพาะพนักงานชั่วคราวเท่านั้น
 
นายธนวัฒน์ คุ้มสิน นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กล่าวว่า หากดูจากปริมาณการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ในช่วงครึ่งปีแรกปี 2559 เติบโตเล็กน้อยเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ถึงจะยังไม่โตอย่างมีนัยสำคัญก็ไม่น่าจะกระทบให้เลิกจ้างงาน และแรงงานฝีมือในอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยตลาด มีความต้องการสูงหาพนักงานยาก ทางสมาคมจึงเชื่อว่าแต่ละบริษัทน่าจะรักษาพนักงานไว้มากกว่าเลิกจ้าง
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net