Skip to main content
sharethis

3 กรรมการ สปสช.ภาคประชาชน แจง ทำไมค้านลงมติไม่รับรองเลขาฯ สปสช. กังขาใช้เสียงข้างมากลงมติรับรองบัตรเสีย

7 ก.ค. 2559 สารี อ๋องสมหวัง, สุนทรี เซ่งกิ่ง และกรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการ สปสช. ออกแถลงการณ์ "เหตุใดจึงคัดค้านการลงมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย" ตอบกรณี นพ.ปิยะสกล สกลศัตยาธร รัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ วิจารณ์ว่ามีกรรมการ สปสช.บางส่วนไม่ยอมรับการคัดเลือกเลขาธิการ สปสช. โดยระบุว่า มีความไม่ถูกต้องหลายประการ ชี้มีบัตรลงคะแนนหนึ่งใบซึ่งเป็นบัตรเสีย แต่ยังถูกนำมานับคะแนนโดยกรรมการเสียงข้างมากให้การรับรอง พร้อมเรียกร้องให้รัฐมนตรีในฐานะประธาน บอร์ด สปสช.เรียกประชุมคณะกรรมการเป็นการด่วนเพื่อยุติปัญหาความไม่ถูกต้องในการรับรองบัตรเสีย ยืนยันพร้อมรับมติเสียงข้างมากที่ถูกต้อง


รายละเอียด มีดังนี้

เหตุใดจึงคัดค้านการลงมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

จากการให้สัมภาษณ์ของ ศ.นพ.ปิยะสกล สกลศัตยาธร รัฐมนตรี สธ.ในฐานะประธาน บอร์ด สปสช.ที่วิพากษ์วิจารณ์กรรมการ สปสช.บางส่วนที่ไม่ยอมรับการคัดเลือกเลขาธิการสปสช. เมื่อวันจันทร์ที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมานั้น มีความไม่ถูกต้องหลายประการ

การประชุมของ สปสช.เพื่อคัดเลือกเลขาธิการนั้น มีบัตรลงคะแนน 1 ใบ ทำสัญลักษณ์เครื่องหมายถูกแทนเครื่องหมายกากบาท ทำให้มีการตีความว่า บัตรดังกล่าวเป็นบัตรเสียหรือไม่ และเป็นเหตุให้อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้

1. การดำเนินการลงคะแนนใช้ระบบการลงคะแนนลับ ขณะที่ลงคะแนน มีการฉาย LCD ให้ใช้เครื่องหมายกากบาท (X) บนจอตลอดเวลาและเขียนชัดเจนในบัตรลงคะแนน สะท้อนว่าคนที่ใช้สัญลักษณ์ “ขีดถูก” ไม่สอดคล้องกับกติกา จะเป็นบัตรที่ดีได้อย่างไร นักกฎหมาย สปสช. ที่จัดการลงคะแนนก็บอกกับพวกเราชัดเจนว่าเป็นบัตรเสีย แต่ไม่กล้าพูดในที่ประชุม

2. เมื่อมีการถกประเด็นนี้ ประธานได้ถามหาเจ้าของบัตร ไม่มีผู้ใดยอมแสดงตัว จนกระทั่งประธานสั่งให้มีการลงมติรับรองเจตนารมณ์ของบัตรดังกล่าว ที่ประชุมใช้เวลาถกประเด็นนี้นานเกือบ 1 ชั่วโมงจึงมีกรรมการท่านหนึ่งเอ่ยขึ้นว่า “ถ้าผมพูดว่า ผมเป็นเจ้าของบัตร ที่ประชุมจะเชื่อหรือไม่ว่า ผมไม่รับรอง” ซึ่งภายหลังการประชุมกลับมีกรรมการอีกคนอ้างว่าตัวเองเป็นเจ้าของบัตร

3. คำถามคือ การลงมติยืนยันเจตนารมณ์ของบุคคลอื่น ในการใช้สัญลักษณ์ “ขีดถูก” ทำได้หรือไม่ เพราะกรรมการที่ไปรับรองว่าบัตรนั้นเป็นบัตรดี เท่ากับเป็นการรับรองการตัดสินใจของบุคคลอื่น ซึ่งทำไม่ได้

4. ที่ประชุมยังใช้เสียงข้างมากด้วยการโหวต ไม่ให้บันทึกเสียงข้างน้อยในสรุปมติที่ประชุม แต่ให้ไปใส่ไว้ในรายงานการประชุมเท่านั้น

5. ในประเด็นที่มีข้ออ้างว่า หากที่ประชุมคัดเลือกผู้สมัครแล้วได้คะแนน 14:13 จะไม่สามารถทำงานได้เพราะเสียงต่างกันเพียงหนึ่งคะแนนเท่านั้น ในอดีตการคัดเลือกเลขาธิการ สปสช. สมัย นพ.สงวน นิตยารัมพงศ์ สมัยที่ 2 ก็ได้รับเลือกภายใต้คะแนนที่ประธานต้องชี้ขาด ยังสามารถบริหารสำนักงานได้เป็นอย่างดี

6. กรรมการหลายคนพยายามเสนอให้ประธานลงคะแนนตัดสินใจ หรือให้ดำเนินการลงคะแนนลับอีกรอบ เพื่อแก้ปัญหาบัตรเสีย แต่ไม่ได้รับการตอบรับ ประธานเพียงแต่บอกว่า เสียงข้างมาก (ซึ่งรวมบัตรเจ้าปัญหาดังกล่าว) ไม่รับรองแล้ว ประธานไม่จำเป็นต้องลงคะแนนชี้ขาด

การคัดเลือกเลขาธิการในครั้งนี้ ต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง รอบคอบ เพราะหากไม่ถูกต้องย่อมเกิดความเสียหาย ไม่เป็นธรรม และกีดกันผู้สมัคร ซึ่งไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการสรรหารอบใหม่ได้ เนื่องจากอายุเกิน 60 ปีแล้ว

ภาคประชาชนไม่ได้ตีรวน แต่การดำเนินการคัดเลือกในครั้งที่ผ่านมา อาจมีปัญหาในทางกฎหมาย และทำให้ผู้ได้รับการสรรหาไม่ได้รับความเป็นธรรมในการคัดเลือกและเสียหายต่อโอกาสในการรับตำแหน่ง สร้างผลกระทบต่อขวัญและกำลังใจของคนที่ทำงานพัฒนาระบบหลักประกันมามากกว่า 10 ปี
จึงขอเรียกร้องให้รัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเรียกประชุมคณะกรรมการเป็นการด่วนเพื่อยุติปัญหาความไม่ถูกต้องในการรับรองบัตรเสีย เราในฐานะกรรมการพร้อมรับมติเสียงข้างมากที่ถูกต้อง

การออกมาชี้แจงครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นการปกป้องตัวบุคคล แต่ต้องการให้กระบวนการคัดเลือกเลขาธิการเป็นไปอย่างถูกต้อง และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพื่อพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพให้ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม สุขภาพมาตรฐานเดียว

สารี อ๋องสมหวัง สุนทรี เซ่งกิ่ง และกรรณิการ์ กิจติเวชกุล
7 ก.ค.59

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net