ว่างงานสูงสุดในรอบ 5 ปี ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคลดต่อเนื่องเดือนที่6 คาดส่งออกติดลบ 2-2.5%

7 ก.ค.2559 ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนมิถุนายน 2559 พบว่า ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 มาอยู่ที่ระดับ 71.6  ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 25 เดือนนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557 เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับผลการลงประชามติของสหราชอาณาจักรสนับสนุนการออกจากสมาชิกสหภาพยุโรป หรือ BREXIT ที่อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวช้า โดยเฉพาะจะมีผลกระทบต่อการส่งออกให้หดตัวลง

ธนวรรธน์  พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า แม้ขณะนี้สถานการณ์ BREXIT ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน เบื้องต้นจะทำให้เม็ดเงินหายไปจากระบบเศรษฐกิจประมาณ  50,000 ล้านบาท จากการส่งออกที่คาดว่าปีนี้จะติดลบร้อยละ 2-0  ภาคการท่องเที่ยวและยังสร้างความกังวลต่อภาคอุตสาหกรรมส่งออก รวมถึงภาคธุรกิจบริการ  ซึ่งสะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำในปัจจุบันก็ปรับตัวลงต่ำสุดในรอบ 53 เดือน มาอยู่ที่ระดับ 55.4

นอกจากนี้  ตัวเลขการว่างงานจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเดือนพฤษภาคมปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 สูงสุดในรอบ 5 ปี ถือเป็นเพียงการชะลอการจ้างงานใหม่และเป็นสัญญาณการปลดคนงาน แต่ยังต้องเฝ้าระวัง โดยภาครัฐจะต้องเร่งขับเคลื่อนเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจจากการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษและการขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิตอล นอกจากนี้ ยังต้องเดินหน้าใช้มาตรการลดต้นทุนช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงที่สถานการณ์ภัยแล้งเริ่มคลี่คลาย ราคาสินค้าเกษตรเริ่มปรับตัวดีขึ้น ตามระดับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น เพื่อมาเป็นตัวพยุงเศรษฐกิจให้ขยายตัวในกรอบร้อยละ 2.7 – 3.2

คาดจีดีพีโตร้อยละ 3 ส่งออกติดลบร้อยละ 2-2.5

ขณะที่วานนี้ (6 ก.ค.59) เกียรติอนันท์ ล้วนแก้ว คณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากการก่อการร้ายที่เริ่มขยับมาใกล้ภูมิภาคเอเชียมากขึ้นและผลกระทบจาก Brexit  จะทำให้นักท่องเที่ยวจากยุโรปลดลง อย่างไรก็ตาม ปีนี้ภาพรวมนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาไทยไม่ต่ำกว่า 35 ล้านคน มากกว่าครึ่งจากเอเชียด้วยกัน  ขณะที่การลงทุนภาครัฐคาดว่าน่าจะเริ่มเห็นการเดินหน้าและทำให้มีการใช้จ่ายงบประมาณเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้นช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ปีนี้ขยายตัวในกรอบร้อยละ 3 ขณะที่การส่งออกทั้งปีอาจติดลบร้อยละ 2-2.5 เนื่องจากความเสี่ยงจากการฟื้นตัวของตลาดหลักที่ยังไม่ชัดเจน

ส่วนผลสำรวจจากผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี หัวข้อ “ครึ่งปีแรกผ่านไป เอสเอ็มอีไทยยิ้มได้หรือยัง”  จากกลุ่มตัวอย่าง 427 ราย ใน 14 จังหวัด พบว่า สถานการณ์เอสเอ็มอีปรับตัวดีขึ้น โดยรายได้ไตรมาส 2/2559 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกปีนี้คิดเป็นร้อยละ 10 โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว กลุ่มธุรกิจสุขภาพ และสินค้าเกษตรแปรรูป แต่ยังน่าห่วงโดยเฉพาะค้าปลีกขนาดเล็กและกลุ่มซื้อมาขายไปที่คาดว่าจะหายไปจากระบบปีนี้ประมาณร้อยละ 5 เนื่องจากยังคงดำเนินธุรกิจแบบเดิม ๆ ที่ยังไม่พัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่ม

ทั้งนี้  ธุรกิจเอสเอ็มอียังขาดสภาพคล่อง โดยมีสภาพคล่องเพียง 30 วันเท่านั้น ไม่สอดคล้องกับการทำธุรกิจ จากที่ควรมีสภาพคล่องเฉลี่ย 60 วัน ธุรกิจขนาดกลางมีเพียง 45 วัน และธุรกิจยังอยู่นอกระบบเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ได้รับความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ จากภาครัฐไม่เต็มที่ ส่งผลให้ครึ่งปีแรกธุรกิจเอสเอ็มอียังยิ้มได้ไม่เต็มที่

สมคิดมั่นใจจีดีพีไตรมาส 2 โตเกินร้อยละ 3

ขณะที่ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานสัมมนา “Bangkok Nikkei Forum 2016” ว่า ไทยต้องการเร่งรัดการเจรจาของกลุ่ม RCEP หรือ กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคของอาเซียน เพื่อให้ได้ข้อยุติ หากรวมตัวกันได้จะมีเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่มีสัดส่วนเป็นจีดีพีถึงร้อยละ 30 ของจีดีพีโลก  เพื่อเชื่อมกับกลุ่มประเทศ TPP โดยมีสหรัฐเป็นแกนนำ จะทำให้การค้าการลงทุนมีพลวัตรมากขึ้น เงินลงทุน เงินออม จะไหลมาสู่อาเซียนมากขึ้น เพราะขณะนี้สภาพคล่องกำลังล้นระบบในตลาดโลก  และอาเซียนเป็นกลุ่มประเทศที่มีความพร้อมในหลายด้าน มีความมั่นคงทางการเมือง และตั้งอยู่แกนกลางของเอเชีย

สมคิด กล่าวตอนหนึ่งถึงเศรษฐกิจไทยด้วยว่า หลังไตรมาสแรกจีดีพีขยายตัวร้อยละ 3.2 หน่วยงานทั้ง สศช. ธปท. มองว่า ไตรมาส 2 จีดีพีจะขยายตัวมากกว่าร้อยละ 3 เนื่องจากดัชนีหลายด้านปรับดีขึ้น เพราะดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมดีต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ดัชนีความเชื่อมั่นสูงสุดในรอบ 10 เดือน เจโทร เผยผลสำรวจความเชื่อมั่นนักธุรกิจญี่ปุ่นขยายตัวร้อยละ 7 หลังจากติดลบในช่วงครึ่งหลังปี 58 และในอีก 6 เดือนข้างหน้าขยายตัวเพิ่มร้อยละ 17 ยอดลงทุนจริงของภาคอุตสาหกรรมทั้งปีอยู่ที่ 6-7 แสนล้านบาท  รวมทั้งยังได้ผลดีจากการปรับระดับจากเทียร์ 3 มาเป็นเทียร์ 2 ในการแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย สัญญาณด้านเศรษฐกิจจึงมีทิศทางดีขึ้น

 

ที่มา สำนักข่าวไทย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท