สิงคโปร์พบรถไฟฟ้าที่ผลิตในจีน มีจุดเสียหาย 26 ขบวน จากที่วิ่งอยู่ 35 ขบวน

รถไฟฟ้าสิงคโปร์ตรวจพบรอยแตกของตัวรถไฟฟ้ารุ่น C151A จำนวน 26 ขบวน จากทั้งหมด 35 ขบวนที่ผลิตจากบริษัทของจีนชิงเต่า ซิฟาง โดยมีบริษัทคาวาซากิ จากญี่ปุ่นผู้ดูแลการผลิต ทำให้มีการส่งตัวรถคืนให้กับผู้ผลิต โดยในปี 2554 เคยเกิดเหตุรถไฟฟ้าสายเหนือ-ใต้ของสิงคโปร์ขัดข้องเนื่องจากรถไฟฟ้ารุ่น C151A มาแล้ว

รถไฟฟ้ารุ่น C151A ที่อยู่ในรถไฟฟ้า SMRT ของสิงคโปร์ (ที่มา: Wikipedia)

เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2559 ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า SMRT ของสิงคโปร์เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊คว่าวิศวกรของพวกเขาค้นพบว่ารถไฟฟ้ารุ่น C151A มีรอยแตกที่ฐานซึ่งเชื่อมอยู่กับตู้รถไฟกับโบกี้จำนวน 26 ขบวนจากทั้งหมด 35 ขบวน โดยรถไฟฟ้าดังกล่าวมาจากการทางรถไฟสายใต้จีน ชิงเต่า ซิฟาง (CSR Sifang) ของจีนและบริษัทคาวาซากิ เฮฟวี อินดัสทรี จากญี่ปุ่น

เว็บไซต์เอเชียวัน รายงานว่าบริษัทจีนและญี่ปุ่นได้รับสัญญาว่าจ้างให้ทำโครงการจัดหารถไฟฟ้า SMRT สายเหนือ-ใต้ และตะวันออก-ตะวันตกของสิงคโปร์ ตั้งแต่ปี 2552 เป็นวงเงิน 368 ล้านดอลลาร์ พวกเขาส่งรถไฟให้สิงคโปร์ในปี 2556

ในการตรวจพบความเสียหายที่เกิดขึ้นล่าสุดทาง SMRT สิงคโปร์อธิบายว่าหลังจากนั้นพวกเขาก็ทำงานใกล้ชิดกับสำนักงานการขนส่งสิงคโปร์และผู้ประกอบชิ้นส่วนรถไฟเพื่อตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้นและรถไฟที่เสียหายเหล่านี้ยังคงอยู่ในระยะประกันและผู้ประกอบชิ้นส่วนจะเป็นทำการซ่อมแซมให้

โฆษกสำนักงานขนส่งสิงคโปร์ตอบคำถามต่อสื่อว่าส่วนเสียหายที่พบในตัวรถไฟไม่ได้ร้ายแรงในระดับกระทบต่อความปลอดภัยและไม่ได้ส่งผลต่อระบบการทำงานของรถไฟฟ้า โฆษกย้ำอีกว่าทางผู้ประกอบชิ้นส่วนจะเป็นผู้จัดทำรถไฟที่เสียหายใหม่ให้ในฐานะที่ยังอยู่ในสัญญาประกันและพยายามพูดสร้างความไว้วางใจต่อระบบรถไฟฟ้าสิงคโปร์ว่าพวกเขามีการตรวจตรา การทดสอบความปลอดภัย รวมถึงการใช้งานได้ในเชิงโครงสร้างและการปฏิบัติงานอยู่เสมอ

อย่างไรก็ตามข่าวจาก FactWire ระบุว่ามีกรณีที่กระจกรถไฟใกล้กับตัวที่นั่งคนโดยสารแตก รวมถึงมีรอยแตกอยู่ที่รองพื้นฐานรถไฟและส่วนใต้ที่โดยสารซึ่งเก็บเครื่องมือและสายไฟไว้ นอกจากนี้ยังเคยมีกรณีการระเบิดของแบตเตอร์รีในช่วงทีมีการซ่อมแซมในปี 2554 โดยไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บทำให้ผู้ประกอบชิ้นส่วนหันมาใช้แบตเตอร์รีของเยอรมนีแทนของจีน ซึ่งทาง SMRT ตั้งเคยตั้งข้อสมมติฐานว่าเหตุการณ์ที่รถไฟสายเหนือ-ใต้ ใช้การไม่ได้ในปี 2554 เป็นเพราะรถไฟฟ้ารุ่น C151A จนทำให้มีการลดความถี่การเดินรถลงและสั่งให้มีการเลื่อนกำหนดจ่ายเงินให้กับรถไฟใหม่ในรุ่นเดียวกัน

จากข้อมูลประกอบการแถลงข่าวปี 2552 ทางบริษัทคาวาซากิ ซึ่งเป็นผู้ผลิตจากญี่ปุ่นทำหน้าที่คอยดูแลโครงการ ออกแบบ ประกอบชิ้นส่วนโบกี้รถไฟ และจัดซื้อชิ้นส่วนรถไฟใหญ่ๆ ในขณะที่ ชิงเต่า ซิฟาง บริษัทจากจีนเป็นผู้ประกอบชิ้นส่วนตัวรถไฟ ประกอบรวมรถไฟ และทดสอบการใช้งานในระดับโรงงาน อย่างไรก้ตาม Factwire รายงานว่าบริษัท คาวาซากิ เฮฟวี อินดัสทรี ได้เข้าควบคุมการประกอบชิ้นส่วนตัวรถที่มีปัญหาแทนบริษัทจีนตั้งแต่ปี 2558

เรียบเรียงจาก

26 China-made MRT trains shipped back for repairing of defects, Asia One, 05-07-2016 http://news.asiaone.com/news/singapore/26-china-made-mrt-trains-shipped-back-repairing-defects

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท