'ผสานวัฒนธรรม' ชี้ใส่ตรวน 7 ผู้ต้องขังรณรงค์ประชามติ เป็นการทรมาน-ประจาน จี้ทบทวนกฎระเบียบ

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร้องรัฐทบทวนการใช้เครื่องพันธนาการ แก้ไขกฎ ระเบียบปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับงานราชทัณฑ์เพื่อให้มีการปฏิบัติหน้าที่ ทำงานสมดุลระหว่างความปลอดภัยและการไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ภาพขณะนำตัว 7 ผู้ต้องขังกรณรรณรงค์ประชามติมาขอฝากขังที่ศาลทหารผัด 2 เมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา

8 ก.ค.2559 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมออกแถลงการณ์ กรณีใส่โซ่ตรวน 7 นักศึกษาที่ขัดคำสั่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และผิดพ.ร.บ.ประชามติ ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขัดกับ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ในการใช้เครื่องพันธนาการ

โดยแถลงกรณ์ระบุว่า ตามที่สื่อต่างๆ ได้นำเสนอข่าว 13 ผู้รณรงค์ถูกจับกุมฐานฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 61(1) วรรคสอง และวรรคสามและความผิดตามประกาศ คมช. ฉบับที่ 25/2549 กรณีไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งเจ้าพนักงาน  เนื่องจากการแจกเอกสารรณรงค์ไม่รับประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ย่านนิคมบางพลี เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ที่ผ่านมา ทั้งนี้ 6 คนได้รับอนุญาตประกันตัวตามคำขอ  แต่ยังมี 7 คนที่ไม่ขอประกันตัว  พนักงานสอบสวนนำทั้ง 7 คนไปควบคุมตัวไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. เป็นต้นมา โดยเมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา  พนักงานสอบสวนได้นำทั้ง 7 คนที่ไม่ได้ขอประกันตัวเข้ายื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาลทหาร โดยในการนำตัวจากเรือนจำมาศาลทหารนั้นปรากฏว่ามีการใส่โซ่ตรวนที่ข้อเท้าทั้งสองข้างปรากฏต่อหน้าสาธารณะชนและสื่อมวลชน

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมมีความห่วงกังวลต่อกรณีดังกล่าว เนื่องด้วยการพันธนาการโดยการใช้โซ่ตรวนต่อผู้ต้องขังหรือนักโทษเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงและลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2479 มาตรา 14 ได้กำหนดไว้ว่าห้ามใช้เครื่องพันธนาการ เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้น ที่กำหนดไว้ 5 กรณีคือ 1) เป็นบุคคลที่น่าจะทำอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายของตนเองหรือผู้อื่น 2) เป็นบุคคลวิกลจริต หรือจิตไม่สมประกอบอันอาจเป็นภยันตรายต่อผู้อื่น 3) เป็นบุคคลที่น่าจะพยายามหลบหนีการควบคุม 4) เมื่อถูกคุมตัวไปนอกเรือนจำ เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ควบคุมเห็นเป็นการสมควรที่จะต้องใช้เครื่องพันธนาการ  และ 5) เมื่อรัฐมนตรีสั่งว่าเป็นการจำเป็นจะต้องใช้เครื่องพันธนาการเนื่องแต่สภาพของเรือนจำหรือสภาพการณ์ของท้องถิ่น

อีกทั้งการใส่ตรวนข้อเท้านั้นเป็นการปฏิบัติที่ขัดต่อบทบัญญัติ ข้อ 1, ข้อ 5 ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ และขัดกับบทบัญญัติข้อ 7, 10(1) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิผลเมืองและสิทธิทางการเมือง และการที่ประเทศไทยไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานพันธกรณีนี้ ยังถือว่าขัดต่อมาตรฐานขั้นต่ำของการปฏิบัติต่อนักโทษขององค์การสหประชาชาติ ข้อ33 ซึ่งแม้ไม่มีผลบังคับทางกฎหมายในประเทศไทยแต่ก็เป็นเอกสารที่ประเทศไทยหนึ่งในสมาชิกองค์การสหประชาชาติให้ความเห็นชอบ

การควบคุมตัวบุคคลใดตามกฎหมายไว้โดยเจตนาเพื่อไม่ให้ผู้ถูกควบคุมตัวหลบหนีโดยใช้เครื่องพันธนาการนั้น (กรณีนี้โซ่ตรวนข้อเท้า) จึงทำได้กรณีที่มีข้อยกเว้นเท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าทั้ง 7 คนที่ถูกควบคุมตัวมีพฤติการณ์ใดที่แสดงให้เห็นว่าจะหลบหนี มีพฤติการณ์ที่น่าอันตรายต่อชีวิตตนเองหรือผู้อื่น หรือเป็นผู้มีจิตไม่สมประกอบ ดังนั้น แม้จะมีการควบคุมตัวออกไปนอกเรือนจำก็ไม่มีความจำเป็นที่เจ้าหน้าที่ต้องพิจารณาใช้เครื่องพันธนาการแต่อย่างใดเนื่องจากการที่ถูกพันธนาการนั้นทำให้ผู้ต้องขังได้รับความเดือดร้อนเกินควร ทำให้เคลื่อนไหวร่างกายไม่สะดวกและได้รับความทุกข์ทรมานทางร่างกาย และเป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

“การใส่โซ่ตรวนนักศึกษาเป็นการละเมิดต่อเสรีภาพในร่างกายและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  มีลักษณะเป็นการทรมานและประจาน  นักศึกษาทั้ง  7 คนไม่มีพฤติกรรมใดๆ ที่ส่อว่าจะมีการพยายามหลบหนี  ตรงกันข้ามกลับแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า จะต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมโดยให้ควบคุมตัว และไม่ใช้สิทธิในการประกันตัวเพื่อพ้นการควบคุม  อีกทั้งนักศึกษาเหล่านี้ยังเป็น ผู้บริสุทธิ์ ที่ต้องไม่ได้รับการลงโทษไม่ว่าในรูปแบบใด” สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรมกล่าว

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนการใช้เครื่องพันธนาการ  (การใส่โซ่ตรวนข้อเท้า) ในการควบคุมตัวผู้ต้องขังหรือนักโทษดังนี้ 1. ให้มีการทบทวนด้านนโยบายการนำโซ่ตรวนมาใช้ในการควบคุมตัวผู้ต้องขังหรือนักโทษเนื่องจากผู้ต้องขังหรือนักโทษที่ต้องอยู่ในอำนาจของราชทัณฑ์ก็เพื่อถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพเท่านั้นราชทัณฑ์ไม่มีสิทธิที่จะกระทำการใดๆต่อเนื้อตัวร่างกายของผู้ต้องขังหรือจำเลยโดยฝ่าฝืนกฎหมายได้

2. ให้มีการทบทวนแก้ไขข้อกฎหมาย กฎ ระเบียบปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับงานราชทัณฑ์เพื่อให้มีการปฏิบัติหน้าที่หรือการทำงานที่มีความสมดุลระหว่างความปลอดภัยและการไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนพร้อมทั้งไม่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และ 3. ให้มีการปรับปรุงสภาพของเรือนจำและการเดินทางมาศาลให้มีความปลอดภัยแทนที่การนำวิธีการพันธนาการโดยโซ่ตรวนควบคุมตัวผู้ต้องขังหรือนักโทษ และให้มีการพิจารณาหาวิธีที่เหมาะสมมาใช้แทนการใช้โซ่ตรวนในกรณีเพื่อความปลอดภัย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท