Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา ศาลอนุญาโตตุลาการประจำ หรือ PCA (Permanent Court of Arbitration)   ตั้งอยู่ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ไม่ใช่ศาลโลกที่เข้าใจกัน แต่เป็นคณะผู้ตัดสินพิเศษ ที่เรียกว่า Tribunal ได้ประกาศแจ้งกำหนดวันเวลา ที่จะออกผลคำตัดสินชี้ขาด (Award) ข้อพิพาทเหนือแนวหินโสโครกที่เรียกว่า สการ์โบโรช (Scarborough Shoal) ในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นข้อพิพาทระหว่างประเทศจีน และ ฟิลิปปินส์ ซึ่งคำตัดสินชี้ขาดดังกล่าวนี้จะมีขึ้นในวันอังคารที่ 12 กรกฎาคม 2559 เวลาประมาณ 11:00 a.m. ตรงกับเวลาประเทศไทยในเวลา 16:00 น. ในเบื้องต้นคำตัดสินชี้ขาดจะถูกส่งให้คู่กรณีทางจดหมายอีเลคทรอนิค รวมกับใบแถลงต่อสื่อมวลชน โดยคำตัดสินชี้ขาดจะใช้ภาษาอังกฤษ และ ฝรั่งเศส เป็นทางการ พร้อมกับฉบับแปลอย่างไม่เป็นทางการเป็นภาษาจีน แมนดารีน  นอกจากนี้แล้วสำเนาคำตัดสินชี้ขาดที่ว่านี้ยังจะถูกส่งโดยจดหมายอีเลคทรอนิค แก่ประเทศที่อยู่ในฐานะผู้สังเกตการณ์ ได้แก่ อิดโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย ประเทศไทย เวียดนาม รวมถึงรัฐภาคีสมาชิกของศาลอนุญาโตตุลาการประจำทั้งหมด ทั้งสมาชิกสื่อมวลชนที่ลงทะเบียนไว้กับศาลอนุญาโตตุลาการประจำ  และนำออกเผยแพร่อับโหลดขึ้นไว้ในเวปไซค์ของ ศาลอนุญาโตตุลาการประจำต่อผู้สนใจทั่วไปอีกด้วย  เป็นอันว่าคำตัดสินชี้ขาดที่ว่านี้ จะถูกเปิดเผยไปอย่างกว้างขวางที่จะได้รู้พร้อม ๆ กันหมดทั่วโลกหลังวันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป

ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ บริเวณแนวหินโสโครกกลางทะเล (Scarborough Shoal) ทางตะวันตกของทะเลประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อนบ้านประชาคมอาเซียนของเรานี้ เป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ถือเป็นเรื่องใหญ่สำคัญ แห่งยุคสมัยมาก ที่ผู้คนทั่วทั้งโลกให้ความสนใจติดตามกันอย่างไม่กระพริบตา ไม่หลุดไปจากสายตาของสื่อมวลชนทุกประเทศ ทุกทวีป แม้สื่อใน social medias เป็นว่าสำนักข่าว หนังสือพิมพ์ทั่วโลกร่วมกันตั้งแท่นเตรียมรอ เตรียมสัมภาษณ์บุคคลสำคัญเพื่อรายงานข่าวสด ๆ วันออกคำชี้ขาดข้อพิพาทของศาลอนุญาโตตุลาการประจำ หรือ PCA ที่ต่างเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า  ปัญหาความขัดแย้งพิพาทในทะเลจีนใต้ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์ทางการเมือง (Geo Politics) ของโลกใหม่ นักวิเคราะห์บางสำนักว่าไปถึงจะนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 ที่จะเป็นสงครามที่รวดเร็วนำความเสียหายในวงกว้าง ในท้ายที่สุด

ในฐานะที่เราอยู่ในประชาคมเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ด้วยกัน และ ความยิ่งใหญ่ของปัญหานี้อยู่ไม่ไกลจากเรา มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ทั้งทางตรงและอ้อม ทางเศรษฐกิจ การค้า การเมือง และ ความมั่นคงในภูมิภาค โดยเฉพาะปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ทางการเมืองที่กำลังจะเปลี่ยนแปลง  จะเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ อย่างสุภาษิตไทยโบราณว่าไว้ไม่ได้เด็ดขาด เพราะมหาพายุแห่งความยุ่งยากที่จะเกิดขึ้นตามมา จะวิ่งชน และเข้าสู่การตัดสินใจเลือกเส้นทางเดิน การกำหนดสถานะบทบาทความสัมพันธ์ระหว่างประเทศใหม่ที่เหมาะสม ของราชอาณาจักรไทยจะเกิดขึ้นแน่นอน (หนีไม่พ้น)  เท่ากับเป็นการเดิมพันอนาคตและโอกาสของประเทศที่สูงค่ายิ่ง หากแม้เดินผิดทางไปทางหนึ่งทางใดเพียงนิดเดียวแบบตรรกะที่ตื้นเขิน ซั่ว ๆ แบบภาษาบ้านๆ อีสานว่ากันโดยปราศจากการไตร่ตรองนึกคิดที่รอบคอบ หลาย ๆ ชั้น แยกไม่ได้ว่าอะไรคือ ความสัมพันธ์เก่า อะไรคือความสัมพันธ์ใหม่ อะไรที่เป็นอยู่ อะไรที่เบี่ยงเบน และ อะไรที่ควรจะเป็น  ในทำนองเดียวกับ การตัดสินใจที่ว่านี้ควรอยู่ในมือของกลุ่ม คณะบุคคลใด อย่างไร ไม่นับ ข้อมูล ข้อเท็จจริง เชิงสาระสำคัญประกอบการตัดสินใจมีความรอบด้าน กว้างขวาง เพียงพอเพียงใดแล้ว ปัญหาความยุ่งยากจะมาพัวพันประเทศไทย คนไทย และ อาเซี่ยน จนจะไม่มีเวลาทำเรื่องใหญ่อื่น ๆ ต่อไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงอย่าได้ให้การตัดสินใจเป็นไปตามสุภาษิตไทยเรื่อง ตาบอดคลำช้าง ควรศึกษาเรื่องที่จะเกิดขึ้นนี้ให้ดีในทุก ๆ มิติเข้าไว้

ความน่าสนใจเรื่องข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ระหว่างประเทศจีน และ ฟิลิปปินส์ ที่ศาลอนุญาโตตุลาการประจำ หรือ PCA จะออกคำตัดสินชี้ขาดข้อพิพาท ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2559 นี้ อยู่ที่สาระสำคัญในเนื้อหาคำตัดสินชี้ขาดหรือ ที่เรียกว่า “Award” ที่ถูกร้อยเรียงด้วยภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส แม้คำแปลภาษาจีนแมนดารีนอย่างไม่เป็นทางการ จะให้คู่กรณีฝ่ายใดแพ้หรือชนะตามข้ออ้างสิทธิ หรือ อยู่กับ ผลที่ตามมาของคำวินิจฉัยชี้ขาด จาก ศาลอนุญาโตตุลาการประจำ จากกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ อย่างไหนมีความสำคัญต่อการพิจารณาชี้อนาคตโลกมากกว่ากัน และ ประเทศไทยเราจะให้น้ำหนักการพิจารณาเตรียมการไปในทิศทางใด

เบื้องต้นจากการติดตามศึกษาตรวจสอบกระแสโดยสากลของผมในเวลานี้เห็นว่า ความสนใจเทน้ำหนักไปอยู่กับผลที่ตามมาของคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลอนุญาโตตุลาการประจำ จากกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ คือ หลังจากคำตัดสินชี้ขาดแล้วจะเป็นอย่างไรต่อ มากกว่า ดังจะเห็นได้จากเสียงสะท้อนจากการประชุมผู้เชี่ยวชาญจาก อียู ญี่ปุ่น สหรัฐ และ ออสเตเลีย ได้มาประชุมร่วมกันในวันเดียวกันกับวันที่มีการโหวตออกจากอียูของอังกฤษที่ (Free University of Berlin) เบอร์ลิน เยอรมัน โดยอดีตนักการทูตเยอรมันคุณ Volker Stanzel ได้ให้ความเห็นว่า “ผลจากคำวินิจฉัยชี้ขาดจาก PCA ในปัญหาข้อพิพาททะเลจีนใต้ ไม่ใช่เป็นเรื่องของเอเชียแปซิฟิค เท่านั้น มันเป็นเรื่องที่อยู่ภายใต้การบังคับของประชาคมโลก ที่ว่าโลกจะดำรงรักษาบรรทัดฐาน (norm) และ นิติธรรม (rule of law)ไว้ให้ได้อย่างไร” ประเด็นต่าง ๆ ในคำตัดสิน เพราะทุกฝ่ายพอจะเดาทางออกว่า คำตัดสินชี้ขาดจะออกไปในทิศทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อฟิลิปปินส์ ซึ่งคือความพ่ายแพ้ของจีน หรือ ในทางกลับกันให้ประเทศฟิลิปปินส์ชนะในข้ออ้างสิทธิที่มีมากถึง 15 เรื่องที่ถูกกล่าวอ้าง  กระนั้นก็ตามคนทั่วไปต่างมองออกว่าการออกมาแถลงของประเทศจีนก่อนหน้าแล้ว หลายครั้งหลายหนว่า ประเทศจีน จะไม่ยอมรับคำวินิจฉัยชี้ขาด จากศาลอนุญาโตตุลาการประจำ หรือ PCA (Permanent Court of Arbitration) ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2559 นี้โดยว่าข้อพิพาทจะยุติด้วยการเจรจาเท่านั้น มิใช่จากการตัดสินชี้ขาดของศาลอนุญาโตตุลาการประจำ หรือ PCA (Permanent Court of Arbitration) อันเป็นการส่งสัญญาณบอกก่อนล่วงหน้าแล้วจากคู่กรณี (ประเทศจีน) ประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจจึงมาตกตรงที่ว่า ถ้าคำตัดสินชี้ขาดให้ฟิลิปปินส์ชนะ คือให้ประเทศจีนแพ้ ในข้อพิพาทในครั้งนี้ แล้วจะบังคับให้เป็นไปตามคำตัดสินชี้ขาดกันอย่างไง อียู สหรัฐ และอีกหลายประเทศต่างพร้อมกันประสานเสียงในทิศทางเดียวกัน เตือนเรียกร้องให้ประเทศจีนยอมรับคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลอนุญาโตตุลาการประจำ   


ปัญหาที่น่าคิดตามมาคือการบังคับให้เป็นไปตามคำชี้ขาดและหากจะต้องบังคับกันแบบใช้กำลังจะเกิดอะไรขึ้น ใครจะเข้ามาร่วมวงด้วยบ้าง หากสังเกตกันจริง ๆ เวลานี้ในทะเลจีนใต้มันเป็นสมรภูมิทางด้านการทหารไปนานแล้วอย่างไม่ต้องสงสัย เต็มไปด้วยเรื่อบรรทุกเครื่องบิน เรือดำน้ำ เรือรบเต็มไปหมด เขาคงไม่เอามาจัดงานแสดงวันเด็กแน่ ๆ ประเด็นที่สนทนากันมากไกลถึงว่า แต่ละฝ่ายจะนำอาวุธแบบเทคโนโลยีชั้นสูงทันสมัยที่มีพิสัยการทำลายล้างสูงมาใช้กันอย่างไร  ฝ่ายไหนจะกดปุ่มทำลายกันก่อนหลังอย่างไร เหมือนกับไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่ ที่ต่างฝ่ายต่างรู้ล่วงหน้าแล้วว่าผลในท้ายที่สุดจะเป็นอย่างไร รอแต่ว่าอะไรจะเป็นตัวสับไก หรือ ลั่นไก เกิดการต่อสู้กันด้วยกำลังทางทหารในสมรภูมิทะเลจีนใต้ ดังนั้นวัน ว. เวลา น. จึงมิใช่รายละเอียดของข้อพิพาทที่จะระงับจากศาลอนุญาโตตุลาการประจำ แต่ปัญหาจะไปตกอยู่กับ การบังคับตามคำตัดสินชี้ขาดเป็นแน่แท้ โดยเชื่อว่า มาตรการหลายอย่าง ไม่ว่าในทางเศรษฐกิจ การทหาร หรือ แม้การทูต จะถูกผลักดันออกมาให้เห็นหลังจากการออกคำวินิจฉัยชี้ขาด   ในที่สุดก็จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ทางการเมืองในภูมิภาค และของโลกในท้ายที่สุด บนสถานการณ์เช่นนี้จะเป็นสถานการณ์ที่ราชอาณาจักรไทย จะตัดสินใจอย่างอยากลำบากมากที่สุด ทั้งนี้เนื่องจาก 1.) ราชอาณาจักรไทยเป็นหนึ่งในประชาคมเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ AEC มีทะเลติดต่อกับบริเวณข้อพิพาททะเลจีนใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับมาตรการ กลไก ที่ต้องถูกผลักดันให้ทำหน้าที่ตาม กฎบัตรอาเซี่ยน (Asean Charter)  2.)ราชอาณาจักรไทยในฐานะเป็นหนึ่งในกลุ่มประชาคมอาเซี่ยน ที่ร่วมมือกับ ประเทศจีน บนความตกลง Chaina-ASEAN ที่ได้ประกาศแสดงจุดยืนสำคัญร่วมกันไว้ และ คำประกาศ จุดยืนที่ว่านี้เป็นเอกสารสำคัญที่จีน ใช้เป็นข้อต่อสู้ในประชาคมโลก สะท้อนไปสู่ศาลอนุญาโตตุลาการประจำ หรือ PCA นั้นก็คือ Declaration on the Conduct of Parties in South China Sea (DOC) 2002 ที่ลงนามในคำประกาศนี้โดย อดีตรัฐมนตรีสุรเกีรยติ์ เสถียรไทย ในประเด็นสำคัญที่ว่าจะใช้วิธีการเจรจาแก้ข้อพิพาทกันอย่างฉันมิตร  3.) ในการริเริ่มเอาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ในกรณีนี้ เข้าสู่การพิจารณาของศาลอนุญาโตตุลาการประจำ หรือ PCA ของฟิลิบปินส์ ซึ่งได้รับการต่อต้านคัดค้านจากประเทศจีนอย่างชัดแจ้ง ขณะที่ราชอาณาจักรไทยเข้าร่วมในกระบวนการพิจารณาของ PCA ในฐานะผู้ร่วมสังเกตการณ์ร่วมกับชาติอื่น ๆ ไม่แสดงท่าทีอย่างหนึ่งอย่างใด โดยเฉพาะการนำข้อพิพาทมาสู่การพิจารณาภายใต้ PCA ทั้งๆ ที่โดยก่อนหน้าที่ฟิลิปปินส์เสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาใน PCA ราชอาณาจักรไทย ได้เข้าร่วมแสดงจุดยืนหลายครั้งหลานหนในการใช้กระบวนเจรจา ในการระงับข้อพิพาท ทั้งสามเงื่อนไขข้างต้นนี้ถือว่าเป็นปัญหาที่รออยู่ปลายจมูกหน้าบ้านเราขณะนี้ที่จะต้องแสดงจุดยืนที่แท้จริงต่อปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ล่าสุดเราเห็นนายกรัฐมนตรีกัมพูชา นายกฮุนเซ็น ได้แถลงอย่างเป็นทางการหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า สนับสนุนการเจรจาในการแก้ปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ซึ่งอีกนัยคือปฏิเสธการเข้ามาพิจารณาตัดสินชี้ขาดของ PCA นั่นเอง  ปัญหาคือราชอาณาจักรไทย จะให้สถานการณ์พาไป หรือ จะกำหนดสถานการณ์เองให้อยู่เหนือปัญหา เหนือความขัดแย้ง ให้ความรัก สันติสุข สันติภาพบังเกิดขึ้นในภูมิภาคของเรา ผมไม่ทราบว่ามีใครคิด ใครอ่าน เตรียมการทำอะไรกันไปบ้างในบ้านเรา หลังวันที่ 12 กรกฎาคม 2559 ที่ผลการตัดสินชี้ขาดของ PCA จะเปิดเผยออกมา ประเทศไทยเวลานี้จะทำอะไรได้ไปมากกว่านี้บ้าง จึงน่าเป็นห่วงยิ่ง ดูขนาดความขัดแย้ง แตกความสามัคคี หรือ การปรองดอง ยังไปไม่ถึงไหน เราอยู่กับความขัดแย้งเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ มากเกินไปจนเราขาดการเตรียมตัว เตรียมการณ์ เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของระบบโลก หรือ กระบวนการจัดระเบียบโลกใหม่ (New World Order) มากกว่าเรื่องของตนเอง ของพวกตัวเอง ของพรรคตัวเอง วัน ๆ คิดแต่ข้าดีเองเลว ทำงานการเมืองกันด้วยปากมากกว่าการใช้หัวสมอง จึงขาดข้อมูลที่เพียงพอทั้งทางลึก ทางกว้าง ปัญหาที่จะโถมเข้าใส่เราในอนาคตอันใกล้ ฤาเราจะต้องมาจนแต้ม ยอมสยบอยู่กับวาทะกรรมที่ว่า “ตัวใครตัวมัน” กระนั้นหรือ

เมื่อใคร่ครวญพิจารณาปัญหาข้อพิพาทเหนือเหนือหินโสโครกสการ์โบโรช (Scarborough Shoal) ในทะเลจีนใต้ ระหว่างประเทศจีน กับ ประเทศฟิลิปปินส์ ผมขอฟันธงได้เลยว่า เป็นปัญหาการเมือง (politics) เหตุผลสนับสนุนของผมพิจารณาได้จากข้อพึงสังเกตุว่า ทำไมก่อนปี พ.ศ. 2556 จีน และ กลุ่มประเทศอาเซี่ยน หรือ แม้ระหว่างคู่ขัดแย้ง จีน-ฟิลิปปินส์ ต่างใช้วิธีการทางการฑูตหรือ การเจรจามาโดยตลอด มีเอกสาร คำประกาศตามมาหลายฉบับที่ยืนยันเช่นนั้น  จุดเปลี่ยนมาเกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 จวบจนถึงปัจจุบัน ที่ฟิลิปปินส์ เลิกการเจรจาและหันกลับมาใช้วิธีระงับข้อพิพาทขัดแย้งจากศาลอนุญาโตตุลาการประจำ หรือ PCA (Permanent Court of Arbitration) ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยเป็นการริเริ่มด้วยตนเองของฟิลิปปินส์ ด้วยข้ออ้างสิทธิมากถึง 15 เรื่อง ซึ่งประเทศจีนไม่ได้ยินยอมและเห็นชอบเอาด้วย โดยว่าข้อพิพาทขัดแย้งไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจของศาลอนุญาโตตุลาการประจำ หรือ PCA (Permanent Court of Arbitration)  ที่จะรับเอาข้อพิพาทนี้มา พิจารณาตัดสินชี้ขาด ซึ่งต่อมาในวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2558  ศาลอนุญาโตตุลาการประจำ (PCA) ได้ออกคำวินิจฉัยชี้ขาดสรุปว่า ข้อพิพาทที่ฟิลิปปินส์เสนอมา อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาชี้ขาดของ   ศาลอนุญาโตตุลาการประจำ (PCA) และ รับฟังข้อมูล ข้ออ้างสิทธิ หลักฐาน ต่าง ๆ จากฟิลิปปินส์มาจนถึงปัจจุบัน และ จะกำหนดจะออกคำตัดสินชี้ขาด ในวันอังคารที่ 12 กรกฎาคม 2559 ที่จะถึงนี้

คำตัดสินชี้ขาดที่ศาลอนุญาโตตุลาการประจำ (PCA) ที่ยืนยันเรื่อง การมีความสามารถพิจารณาคำร้องและคำตัดสินชี้ขาดที่ฟิลิปปินส์ยื่นเรื่องเสนอมา ในปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ระหว่าง จีน-ฟิลิปปินส์ วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2558 นั้นถือเป็นคำตัดสินชี้ขาดที่ก้องโลก เป็นที่โจษขานลือเลื่องไปทั่วโลก จากวงการกฎหมายระหว่างประเทศ สั่นสะเทือนต่อหลักประเพณีปฏิบัติระหว่างประเทศในทะเลต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะการจะสร้างปัญหาเงื่อนปมความยุ่งยากตามมาในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในอนาคต ที่จะสะท้อนไปสู่ปัญหาความมั่นคงในภูมิภาคต่าง ๆ ตามมาทั้งนี้เนื่องจากเหตุผลสำคัญทางกฎหมายระหว่างประเทศ หลากหลายประเด็นที่สำคัญได้แก่ 1.) ข้อพิพาท (disputes) ในทะเลจีนใต้ ระหว่างจีน-ฟิลิปปินส์ มีลักษณะเป็นข้อพิพาทหลายฝ่าย (multilateral disputes) ไม่ว่าเวียดนาม บรูไน มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไต้หวัน ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการขีดเส้นอาณาเขตที่เก้า (nine-dash line) ในการอ้างสิทธิของจีน ซึ่งการจะแก้ข้อพิพาทลักษระเช่นนี้ควรมีกรอบในการพิจารณากว้างขวาง หาใช่อยู่ภายใต้บริบทการขจัดความขัดแย้งแบบสองฝ่าย (bilateral disputes) 2.) ข้อพิพาทเหนือ หินโสโครกสการ์โบโรช (Scarborough Shoal) ในทะเลจีนใต้ ระหว่างจีน-ฟิลิปปินส์ นี้ เป็นข้อพิพาทเกี่ยวข้องกับอธิปไตยเหนือดินแดน (over territorial sovereignty) และ เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการปักปันเขตแดนในทะเล (maritime delimitation) ทีเป็นข้อพิพาทนอกเขตอำนาจของคณะผู้ตัดสินพิเศษ (Tribunal) จาก PCA ที่ตั้งขึ้นตามภาคผนวกที่ VII ของสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยกฎหมายทะเล หรือ UNCLOS (1982 United Nation Convention on the Law of the Sea)  กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ข้อพิพาทในอธิปไตยเหนือดินแดน ไม่ใช่เรื่องที่อยู่ภายใต้บังคับ (govern) ตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยกฎหมายทะเล หรือ UNCLOS นั่นเอง 3.) ละทิ้ง ทำลายอย่างไม่ใยดีต่อ ปฏิญญาระหว่างประเทศที่ประกาศไว้โดยชัดแจ้ง  เป็นต้น ฯลฯ   อันเป็นข้อโต้แย้งที่สาหัสสากันมากในทางกฎหมายระหว่างประเทศ  ที่ไม่เป็นยอมรับกัน ส่อแสดงถึงความยุ่งยากตามมาในอนาคตจากกรณีนี้ ตรงตามสุภาษิตที่พูดกันในวงนักกฎหมายที่ว่า กรณีข้อขัดแย้งที่ยุ่งยาก นำไปสู่กฎหมายที่เลว (hard cases make bad law) อย่างกรณีนี้

การออกคำตัดสินชี้ขาด (Award) ของศาลอนุญาโตตุลาการประจำ หรือ PCA ในวันอังคารนี้ จะทิ้งร่องรอยความยุ่งยากตามมามากมาย เพราะเรากำลังเอาข้อพิพาทขัดแย้งที่เจือสมในทางการเมือง  เข้าไปอยู่ภายใต้กระบวนการตัดสินชี้ขาดในบริบทในทางกฎหมาย ที่โจษขานถึงความถูกต้องในการใช้กฎหมาย ดังตัวอย่างข้อพิจารณาจากข้อโต้แย้งที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อเป็นเรื่องการเมือง ที่มีหลายกลุ่ม หลายพวก ทั้งที่เปิดเผยและไม่เปิดเผยตัวตนที่อยู่เบื้องหลังฉาก ซึ่งจะปรากฏตัวออกมาแสดงหลังจากคำตัดสินชี้ขาดของ PCA วันอังคารเป็นต้นไป 

ไม่รู้ว่า ภูมิภาคนี้ และหรือราชอาณาจักรไทยเรา จะแสดงบทบาทต่อไปอย่างไร ไม่ว่าในแง่มุมที่วางอยู่บนความถูกต้อง นิติธรรม สันติภาพ บรรทัดฐานระหว่างประเทศ หรือ ในแง่การเมืองบนภูมิรัฐศาสตร์ทางการเมืองของโลก และภูมิภาค ที่กำลังจะเปลี่ยนคลี่คลายออกไปอย่างไรก็ตาม  ได้เวลาแล้วที่ทุกฝ่าย ทุกกลุ่ม และผู้สนใจในบ้านเมือง จะได้ทบทวนบทบาทตัวเองแล้วว่า  ท่านจะอยู่อย่างไรในสถานการณ์ที่กำลังมาถึง

           

                     

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net