ศาลปกครองไต่สวนฉุกเฉิน กรณีร้องประกาศ กกต.เกณฑ์แสดงความเห็นประชามติ

 

11 ก.ค.2559 เว็บไซต์มติชนรายงานว่า เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ ศาลปกครองสูงสุดนัดไต่สวนหมายเลขดำ ฟ.14/2559 ที่จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) , เอกชัย ไชยนุวัฒน์ รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม , ศรีประภา เพชรมีศรี อาจารย์ประจำศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยกลุ่มนักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน รวม 13 คน ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กับพวกรวม 3 คน ต่อศาลปกครองสูงสุด กรณีที่ กกต. ผู้ถูกฟ้อง ออกประกาศ กกต.เรื่องหลักเกณฑ์วิธีการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2559 ซึ่งผู้ฟ้องเห็นว่า เนื้อหาในประกาศดังกล่าวละเมิดหลักสิทธิเสรีภาพทำให้ประชาชนไม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี

โดยผู้ฟ้องทั้ง 13 ราย ขอให้ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาเพิกถอน ประกาศ กกต.เรื่องหลักเกณฑ์วิธีการแสดงความคิดเห็น ในการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2559 และขอให้ศาลปกครองสูงสุด ไต่สวนเพื่อกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา โดยขอให้สั่งระงับการใช้ ประกาศ กกต.ดังกล่าว และระงับการออกอากาศรายการ “7 สิงหา ประชามติร่วมใจ” ที่มีการเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ในขณะนี้ ที่เข้าข่ายสนับสนุนให้รับร่างรธน. ไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาในคดี

ผู้ฟ้องคดีเกือบทั้งหมดเดินทางมาศาล ขณะที่ผู้ถูกฟ้อง กกต.มีตัวแทนประกอบด้วย ร.ต.อ.ชนินทร์ น้อยเล็ก ผอ.สำนักกฎหมายและคดี และนายพัฒนะพงษ์ กัลลประวิทย์ ผอ.สำนักบริหารการสนับสนุนโดยรัฐ

ภายหลังการไต่สวนนานถึง 4 ชั่วโมง นายจอน กล่าวว่า วันนี้เป็นการไต่สวนเพื่อพิจารณาว่าศาลจะรับคำฟ้องหรือไม่และจะให้การคุ้มครองหรือไม่ ทาง กกต.ยืนยันต่อศาลว่าการรณรงค์ให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญสามารถกระทำได้ แต่ต้องไม่ก้าวร้าว หยาบคาย และรุนแรง รวมถึงไม่เป็นการปลุกระดมทางการเมือง เห็นว่าการจำแนกให้ชัดเจนนั้นทำได้ยาก จึงทำให้ประชาชนไม่กล้าแสดงออกทางสิทธิเสรีภาพ ตรงนี้เป็นประเด็นที่ต้องให้ศาลปกครองพิจารณาตัดสินว่าจะให้การคุ้มครองชั่วคราวเพื่อไม่ให้ ประกาศของ กกต.มีผลบังคับในระหว่างที่จะถึงวันลงประชามติ โดยพวกตนเห็นว่าเป็นสิทธิที่ประชาชนควรแสดงความคิดเห็นได้เต็มที่ ส่วนเอกสารที่นำมาให้ศาลเพิ่มเติมในวันนี้คือเอกสารที่นำไปสู่การจับกุมหลายครั้งแล้ว โดยอ่านดูเนื้อหาด้านในไม่พบว่ามีคำรุนแรง ก้าวร้าวหรือหยาบคายแต่อย่างใด เป็นเอกสารเชิงวิชาการ ถูกกล่าวหามาตลอดว่าเอกสารดังกล่าวมีเนื้อหาที่เป็นปัญหา

นายจอน กล่าวต่อว่า ประชามติในครั้งนี้จะมีผลต่ออนาคตของประเทศชาติและอนาคตของประชาชนอีกยาวนาน ดังนั้นประชาชนควรมีโอกาสได้เข้าใจสาระสำคัญขอร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง การที่ประชาชนจะตัดสินใจได้ ต้องได้รับฟังความเห็นจากผู้สนับสนุนและผู้คัดค้าน แต่ขณะนี้บรรยากาศไม่ได้เปิดให้ทั้งสองฝ่ายแสดงความเห็นได้ ผู้ที่ออกมาคัดค้านทุกจังหวัดจะปรากฏว่าถูกจับกุมและตรวจสอบ ทำให้ผู้ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญไม่สามารถแสดงความคิดเห็น และประชาชนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลสำคัญประกอบการตัดสินใจ จะทำให้การดำเนินประชามติไม่มีความน่าเชื่อถือและไม่ได้รับการยอมรับของคนในประเทศและทางสากล อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงในอนาคตได้ ดังนั้นหากเราอยากเห็นการลงประชามติที่เป็นธรรม ต้องมีการแก้ไขสถานการณ์ปัจจุบันให้เปิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกที่แท้จริง

ด้านนายเอกชัย กล่าวว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยออกมาโดยเร็วนี้ วันนี้พวกตนมาชี้แจงต่อศาล 2 ประเด็น 1.ศาลปกครองจะรับคำฟ้องหรือไม่ เนื่องจากพวกเราคิดว่าการลงประชามติในครั้งนี้ สำคัญกับประชาชนคนไทยทุกคน และ 2.ศาลจะให้การคุ้มครองชั่วคราวกรณีที่ประกาศ กกต.ว่าด้วยการแสดงความคิดเห็นเป็นการส่งเสริมหรือเป็นการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก โดยการไต่สวนได้ให้ข้อมูลล่าสุดกับศาลว่า กรณีมีการดำเนินคดีที่ศาลจังหวัดราชบุรี การตั้งข้อกล่าวหานายปกรณ์ อารีกุล กับพวกพร้อมนักข่าวประชาไท ในความผิด พ.ร.บ.ประชามติ ศาลรับทราบข้อเท็จจริงนี้ไว้

นายเอกชัย กล่าวต่อว่า ส่วนกกต.ให้การว่าประกาศ กกต.ฉบับดังกล่าวเป็นเพียงคำแนะนำ การไม่ปฏิบัติตามประกาศกกต.จึงไม่มีโทษทางอาญา แต่ถ้าการกระทำที่ผิดประกาศกกต.แล้ว ไปเข้าความผิด พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง ถือเป็นความผิดซึ่งมีโทษทางอาญา ตนมองว่าการมาฟ้องครั้งนี้ไม่ได้มีอคติกับ กกต.อยากให้การลงประชามติครั้งนี้มีความชอบธรรม และอยากให้ทุกฝ่ายมีความมั่นคงทางกฎหมายว่าการกระทำใดที่ผิดประกาศและกฎหมาย

นายเอกชัย กล่าวอีกว่า ศาลได้ซักถามอย่างละเอียดว่าสามารถแจกสติ๊กเกอร์หรือใส่เสื้อได้หรือไม่ ทาง กกต.ตอบว่าทำได้ แต่อย่าให้เข้าข่ายการปลุกระดม ส่วนประเด็นการออกอากาศรายการของกกต. ศาลได้ซักถาม ทางเราตอบไปว่ากกต.ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการจัดว่าบุคคลใดจะออกรายการ เนื่องจากเราคิดว่าการจัดรายการโดยกกต.ร่วมมือกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เป็นการแสดงความเห็นไม่ครบถ้วน เพราะว่าประชามติหลักสำคัญอยู่ที่ต้องฟังบุคคลที่เห็นต่าง จึงขอให้ศาลพิจารณาว่าจะมีมาตรการใดๆที่ออกมาเพื่อให้ประชามติครั้งนี้มีความชอบธรรม ทางกกต.ตอบอย่างไรอยากให้ไปถามเอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผู้ฟ้องทั้ง 13 ราย ประกอบด้วย โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน(ไอลอว์ ) โดยนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการ , สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยนายจตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร ประธาน , นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผอ.ไอลอว์ , นายเอกชัย ไชยนุวัฒน์ รองคณบดีนิติศาสตร์ ม.สยาม , นายไพโรจน์ พลเพชร อดีตคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) , น.ส.ชนกนันท์ รวมทรัพย์ กลุ่มนักศึกษาประชาธิปไตยใหม่ , น.ส.พัชณีย์ คำหนัก นักกิจกรรมจากกลุ่มประชาธิปไตยแรงงาน , นางประภาศรี เพชรมีศรี อาจารย์ประจำศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษา ม.มหิดล , นายเอกพันธุ์ ปิณฑวณิช รักษาการ ผอ.สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล , นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) , นางนฤมล ทับจุมพล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , น.ส.เกศริน เตียวสกุล นักวิชาการสิทธิมนุษยชนเชี่ยวชาญ และ นายประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท